"บิ๊กตู่" ลั่นทำทุกวิถีทางให้ได้วัคซีนตามแผน หลังบางบริษัทอ้างการผลิตไม่เป็นไปตามแผนส่งมอบ ยันยึดหลักการกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล "อนุทิน" หวังผู้ผลิตวัคซีนจากยุโรปส่งมอบภายใน ก.พ. ศบค.เผยติดเชื้อใหม่ 829 ราย มาจากค้นหาเชิงรุก 731 ราย ลุยตรวจสมุทรสาครต่อเนื่อง สธ.ห่วงผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ชายแดนไทย-มาเลเซียนำไปสู่การแพร่ระบาดในครอบครัว อว.มั่นใจมหาวิทยาลัยพร้อมเปิดเรียนในสถานที่ตั้งแต่ 1 ก.พ. พร้อมกำชับใช้มาตรการป้องกันการระบาดอย่างเคร่งครัด เมื่อวันอาทิตย์ เวลา 15.55 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า "ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีความวุ่นวายเกิดขึ้นกับกำหนดการส่งมอบวัคซีนของหลายประเทศทั่วโลก หลังจากที่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนออกมาเปิดเผยว่าการผลิตวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน ถึงขั้นที่บางบริษัทออกมาชี้แจงว่าจำนวนวัคซีนที่จะส่งมอบให้ผู้สั่งจองจะได้ไม่ถึงครึ่งนึงของจำนวนที่วางแผนไว้ด้วยซ้ำ ส่งผลให้หลายประเทศต้องรื้อแผนการฉีดวัคซีน และหลายประเทศอาจจะไม่สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนได้ถึงเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ในปีนี้ เราต้องยึดแนวทางที่ทำมาตั้งแต่ต้น ที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าเป็นแนวทางที่ได้ผลถูกต้อง คือดำเนินการเชิงรุกอย่างเข้มงวดตั้งแต่ต้น ควบคุมและป้องกันไม่ให้โควิดเข้ามาในประเทศไทย และหากเจอเล็ดลอดเข้ามาเราต้องจัดการโดยทันที คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน แบบนี้คือหนทางที่จะช่วยทำให้เราอยู่ในสถานการณ์ที่พอจะสามารถใช้ชีวิตและทำมาหากินกันได้บ้างในระดับหนึ่ง แทนที่จะเลือกใช้ชีวิตกันแบบสบายๆ แล้วฝากความหวังไว้ว่าวัคซีนจะมาแก้ปัญหา" พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า "นี่คือแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเห็นแล้วว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการมีโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และอาจเกิดขึ้นใหม่ได้อีก ผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า วัคซีนปัจจุบันจะสามารถปกป้องเราจากโควิดทุกสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น อาวุธสำคัญที่จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ในมือของเรา นั่นคือทุกคนต้องทำหน้าที่เพื่อชาติ คือสวมหน้ากากอนามัย ปฏิบัติตามแนวทางสาธารณสุข และอย่าปกปิดข้อมูล ขอให้ทุกท่านอย่าคิดว่าการไม่ทำตามมาตรการบ้างนิดๆ หน่อยๆ จะไม่เป็นอะไรนะครับ สิ่งเล็กๆ ที่ทุกคนทำมีผลต่อประเทศทั้งสิ้น สิ่งที่พวกเราได้ทำกันมา ช่วยทำให้วันนี้พวกเราไม่ต้องเจอกับปัญหาแบบที่ประเทศอื่นยังต้องเผชิญกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการล็อกดาวน์ ปิดร้านค้า หรือห้ามออกจากบ้าน ผมขอให้ทุกคนตระหนักและร่วมมือกันต่อไปครับ ในขณะเดียวกันรัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ และจะยังคงต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้ประเทศไทยได้รับวัคซีนตามแผน" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมอบแนวทางเกี่ยวกับการบริหารวัคซีนโควิด-19 ยึดหลักให้มีการกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรมและเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจะบริหารแผนการฉีดวัคซีนและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะติดตามประเมินผลการฉีดวัคซีนอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนคนไทยคนแรกได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 2/2564 ได้มีการรายงานลำดับกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด ดำเนินการในพื้นที่ที่มีการระบาด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ จะดำเนินการฉีดวัคซีนโควิดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ผู้มีโรคประจำตัว 6 โรคกำหนด คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย หวัง ก.พ.ได้วัคซีนตามแผน ระยะที่ 2 ช่วงที่มีวัคซีนเพิ่มขึ้น ขยายพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ โดยกำหนดฉีดวัคซีนโควิดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่นอกเหนือจากด่านหน้า เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อโควิด ผู้ประกอบอาชีพที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมาก และผู้เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศ และระยะที่ 3 ช่วงที่วัคซีนมีปริมาณเพียงพอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร จะดำเนินการฉีดวัคซีนโควิดให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ นายอนุชากล่าวว่า นายกฯ ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแผนปฏิบัติงานในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแผนปฏิบัติการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแต่ละกลุ่มในรายละเอียด รวมทั้งการขนย้าย การขนส่งและการจัดเก็บวัคซีนเพื่อรักษาประสิทธิภาพวัคซีน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่สหภาพยุโรป (EU) มีคำสั่งห้ามส่งออกวัคซีนโควิด-19 ออกนอก EU ว่า ประเด็นดังกล่าวมีการหารือกับทีมผู้ผลิตต่างประเทศแล้ว ซึ่งทีมผู้ผลิต กำลังหาทางช่วยเหลืออยู่ ก็หวังว่าจะได้วัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์ตามแผนล่าสุดที่วางไว้ คาดว่าการนำเข้าวัคซีน น่าจะประสบความสำเร็จ เพราะประเทศไทยได้ตกลงเรื่องการจัดหากับผู้ผลิตไว้ตั้งแต่ก่อนที่ EU จะมีคำสั่งห้ามส่งออกวัคซีน ตรงนี้น่าจะใช้เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่ได้หารือกับผู้ผลิตวัคซีนเพียงเจ้าเดียว ดังนั้นหากวัคซีนแบรนด์หนึ่งไม่สามารถนำเข้าไทยได้ทันเดือนกุมภาพันธ์ ก็ยังมีโอกาสจากผู้ผลิตรายอื่นอยู่ ส่วนความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนจากประเทศจีน ล่าสุดองค์การเภสัชกรรมกำลังทำเอกสารการจัดซื้อ ในขณะที่ อย.กำลังรอเอกสารด้านความปลอดภัยจากประเทศต้นทาง ประเทศไทยพยายามเตรียมทุกอย่างเพื่อให้การจัดหาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว นายอนุทินกล่าวด้วยว่า กรณีที่หลายประเทศได้รับวัคซีนไปก่อนหน้าไทยนั้น ต้องดูด้วยว่าแต่ละประเทศมีการระบาดหนักมากเมื่อเทียบกับประเทศไทย สำหรับประเทศไทยการจัดหาวัคซีนสิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุด คือเรื่องของความปลอดภัยเป็นสำคัญ และสถานการณ์ในไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติที่จะต้องรีบจัดหาวัคซีนเข้ามาอย่างเร่งด่วน ประเทศไทยยังควบคุมการระบาดได้ดี ทำให้มีโอกาสเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อมาให้บริการคนไทย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "คนไทยกับวัคซีนโควิด-19" จำนวน 1,570 คน สำรวจวันที่ 22-29 มกราคม 2564 พบว่า สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ ผลข้างเคียงของวัคซีน ร้อยละ 82.71 โดยต้องการจะฉีดวัคซีน แต่ขอดูผลข้างเคียงก่อน ร้อยละ 65.99 ทั้งนี้ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะป้องกันโควิด-19 ได้ ร้อยละ 63.88 และหลังจากฉีดวัคซีนแล้วจะยังดูแลสุขภาพตัวเองเหมือนช่วงที่ผ่านมา ร้อยละ 60.83 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 829 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 822 ราย โดยมาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 91 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 731 ราย ในจำนวนนี้มาจากการค้นหาเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร 722 ราย, มหาสารคาม 4 ราย, กทม. 1 ราย, ชลบุรี 1 ราย, ปทุมธานี 1 ราย, ระยอง 1 ราย และสมุทรสงคราม 1 ราย นอกจากนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 18,782 ราย หายป่วยสะสม 11,615 ราย อยู่ระหว่างรักษา 7,090 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 77 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 103,132,381 ราย เสียชีวิตสะสม 2,229,405 ราย เขตดอนเมืองใส่หน้ากากต่ำ 90% พญ.พรรณประภากล่าวว่า หากดูจากแผนที่ประเทศไทยจะพบว่าสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเหลือเพียง 12 จังหวัด แตกต่างจากสัปดาห์ที่หนึ่งและสัปดาห์ที่สี่ของเดือน ม.ค.ที่มีจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อถึง 63 จังหวัด อย่างไรก็ตาม สำหรับ จ.สมุทรสาครจะยังทำการค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน โดยจะค้นหาเชิงรุกให้ได้มากที่สุด และจะมีการปรับมาตรการของแต่ละพื้นที่ในจังหวัดให้เหมาะสมกับการแพร่ระบาด เพราะการระบาดในแต่ละอำเภอมีความแตกต่างกัน พญ.พรรณประภากล่าวด้วยว่า ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้รับรายงานเรื่องการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ได้มีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย หรือ ระบบ AIMASK โดยใช้กล้องซีซีทีวีตามเขตพื้นที่ต่างๆ ทำการวิเคราะห์การใส่หน้ากากอนามัยของประชาชน โดยทำใน 15 เขตของ กทม.ก่อน โดยพบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 21-27 ม.ค. ภาพรวมของ กทม. ใส่หน้ากากถูกต้อง 97.53% ใส่ไม่ถูกต้อง 1.42% และไม่ใส่หน้ากาก 1.05% แต่พบว่าที่เขตดอนเมือง ใส่หน้ากากน้อยกว่า 90% นอกจากนี้ยังพบอีกว่าประชาชนมีแนวโน้มใส่หน้ากากไม่ถูกต้องและใส่หน้ากากน้อยลงในช่วงเย็น และกลุ่มที่ใส่หน้ากากไม่ถูกต้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเสาร์-อาทิตย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่ดีขึ้น มีผู้ติดเชื้อราว 500,000 คนต่อวัน ขณะที่ประเทศในเอเชียยังมีการแพร่ระบาดที่รุนแรง เช่น อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น รวมทั้งมาเลเซียและเมียนมา ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราววันละ 3,000 คน สำหรับประเทศไทยวันนี้มีผู้เชื้อรายใหม่ 829 ราย ส่วนมากเป็นการคัดกรองเชิงรุก พบมากที่จังหวัดสมุทรสาคร โดย สธ.บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งเป้าคัดกรองเชิงรุกให้ได้ 10,000 รายต่อวัน ส่วนสถานการณ์ภาพรวมในต่างจังหวัดพบว่าดีขึ้นมาก ขณะที่ สธ.กำลังจับตาอย่างใกล้ชิดกับการระบาดในประเทศมาเลเซีย ที่ในประเทศมีการล็อกดาวน์ยาวนาน มีการปล่อยผู้ต้องขังที่ไม่ใช่คนมาเลเซียกลับประเทศ ทำให้มีการเดินทางกลับเข้ามายังไทยแล้วส่วนหนึ่ง และเข้าสู่ระบบกักกันหลายคนแล้ว แต่ยังมีคนไทยหลายคนลักลอบเข้ามาตามด่านพรมแดน ตัวอย่างหญิงไทยอายุ 31 ปี ทำงานที่สถานบันเทิงในมาเลเซีย มีอาการป่วยเมื่อวันที่ 14 ม.ค. เดินทางเข้ามาวันที่ 27 ม.ค. แต่ไม่เข้าตามช่องทางปกติ ร่วมกับเพื่อนอีกสองคน ตามไทม์ไลน์พบว่ามีการเดินทางไปยังที่ต่างๆ เมื่อตรวจพบเชื้อโควิดจึงต้องกลับมารักษาที่จังหวัดสมุทรปราการ จึงอยากสื่อสารให้คนไทยที่มีญาติอยู่มาเลเซีย ช่วยสื่อสารให้พวกเขาเข้ามาตามช่องทางที่ถูกกฎหมาย รัฐบาลไทยและ สธ.พร้อมดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องทุกอย่างเป็นอย่างดี และจากกรณีหญิงวัย 31 ปีนี้ยังทำให้ผู้เป็นสามีติดเชื้อด้วย ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อ 21 รายที่จังหวัดสมุทรปราการ คลัสเตอร์ใหญ่เป็นการติดเชื้อภายในบริษัทแห่งหนึ่ง จากการตรวจหาเชื้อในพนักงาน 281 ราย พบเชื้อ 18 ราย เกี่ยวเนื่องกับ 2 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้เป็นเมียนมา 15 ราย ไทย 2 ราย กัมพูชา 1 ราย ซึ่งถือว่าควบคุมได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้าไปอยู่ในสถานที่กักตัวแล้ว แต่ถ้าหากผู้ใดที่อยู่ในชุมชนที่มีการแพร่ระบาดดังกล่าว ให้ขอเข้ารับการกักตัวโดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้ สำหรับกรณีการติดเชื้อของพนักงานในร้านอาหาร ที่ไอคอนสยามพบ 7 ราย ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ขอนแก่นวุ่น! กักตัว 8 บุคลากร ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และคณะแถลงข่าวหลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ของจังหวัด ซึ่งรายที่ 11 เป็นชาย อายุ 57 ปี ชาว จ.มหาสารคาม ขณะนี้เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากปอดมีอาการติดเชื้อลุกลามจากปอดด้านขวาไปซ้าย ขณะนี้อาการดีขึ้นตามลำดับและอยู่ในการดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์อย่างใกล้ชิด ในส่วนของบุคลากรโรงพยาบาลเอกชนซึ่งรับตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาลนั้น มีบุคลากรที่มีความเสี่ยงต่ำจำนวน 6 คน ขณะนี้ได้เข้าสู่กระบวนการสังเกตตัวเองและรายงานต่อทีมงานทุกวัน ขณะเดียวกันยังคงมีบุคลากรที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 8 คน ซึ่งโรงพยาบาลได้มีคำสั่งกักตัว 14 วัน และเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อทั้งหมดแล้ว ตามมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังสูงสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีดีเจชื่อดังติดโควิดและในไทม์ไลน์มีการเปิดเผยเรื่องการเข้าร่วมปาร์ตี้ โดยบางคนในกลุ่มปกปิดไทม์ไลน์ว่า ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นผับบาร์ต้องปิด ร้านอาหารเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม และห้ามให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คลัสเตอร์นี้ ผิดข้อไหนต้องให้กระบวนการทางกฎหมายจัดการ ส่วนเรื่องปกปิดข้อมูลขอให้คำนึงถึงส่วนรวมให้มาก และขอให้เชื่อมั่นในจรรยาบรรณบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่จะช่วยดูแลข้อมูลของประชาชนอย่างดีที่สุด สำหรับผู้ที่ปกปิดข้อมูลขอให้ทราบไว้ โทษนั้นมีทั้งจำทั้งปรับ หลังจากที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสาทรเข้าลงบันทึกประจำวันกับตำรวจ สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อขอให้ตรวจสอบความผิดดีเจมะตูมและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่จัดงานปาร์ตี้วันเกิดจนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดภายในโรงแรมบันยันทรี เขตสาทร เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ชัยพันธุ์ เพ็ชรสดศิลป์ ผู้กำกับการ สน.ทุ่งมหาเมฆ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานและสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นฝ่ายสืบสวนได้เริ่มตรวจสอบไปบางส่วนแล้ว เช่น ภาพวงจรปิดที่จะบอกช่วงเวลาที่เกิดเหตุว่า โรงแรมเปิดให้บริการเกินเวลาหรือไม่ ส่วนเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องรอสอบสวนพนักงานเสิร์ฟที่ทำงานในวันดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างกักตัว 14 วัน คาดว่าจะครบกำหนดช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนการดำเนินคดีกับดีเจมะตูมและผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องรอเอกสารสอบสวนโรค จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสอบปากคำอีกหลายปาก นอกจากนี้ยังต้องเรียกสอบปากคำดีเจมะตูม เพื่อซักถามข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุด้วย แต่หากพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ชัดเจนแล้ว ก็จะออกหมายเรียกดีเจมะตูมเข้ารับทราบข้อกล่าวหาทันที ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด คาดว่าจะชัดเจนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เตรียมการเปิดการเรียนการสอนในสถานที่ได้ตามมาตรการของ ศบค.แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ซึ่ง อว.ได้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งดูแลช่วยเหลือนักศึกษาอย่างเต็มที่ และให้เตรียมความพร้อมเพื่อจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีการผ่อนคลายตามที่ ศบค.กำหนด โดยกำชับให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง เรียนแบบไหน ห่างไกลโควิด กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,079 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28-30 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 47.8 ระบุ เรียนที่สถาบันการศึกษา แบบเดิม เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย นักเรียน นักศึกษาเสี่ยงจะติดโควิด-19 ระดับมากถึงมากที่สุด รองลงมาคือ ร้อยละ 25.6 ระบุ การเรียนแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์กับสลับไปโรงเรียน นักเรียนนักศึกษาเสี่ยงจะติดโควิด-19 มากถึงมากที่สุด และร้อยละ 11.7 ระบุ การเรียน ออนไลน์ที่บ้านอย่างเดียว นักเรียน นักศึกษาเสี่ยงจะติดโควิด-19 มากถึงมากที่สุด.
ความเห็น 0