โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที

เปิด “ความหมาย” ที่แฝงไว้ในพระปฐมบรมราชโองการในรัชกาลก่อน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 31 มี.ค. 2565 เวลา 10.53 น. • เผยแพร่ 04 พ.ค. 2562 เวลา 12.09 น.
IMG_20190504_165326-1

ในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  หลังจากพราหมณ์ทูลเกล้าฯ ถวาย เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภคแล้ว พระมหากษัตริย์จะพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่ประชาชน เพื่อแสดงถึงพระราชปณิธานในฐานะทรงเป็นผู้รับพระราชภาระแห่งบ้านเมือง

โดยในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒  เมื่อเวลา๑๒.๑๙ น. วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

แต่หากย้อนดู “พระปฐมบรมราชโองการพระมหากษัตริย์ ๑๐ รัชกาลแห่งกรุงรัตนโกสินทร์”

จะพบว่า พระปฐมบรมราชโองการในรัชกาลที่ ๑ ถึง ๕  ที่พระราชทานมีเนื้อความคล้ายคลึงกัน “พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรปรารถนาเถิด”

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมต้องมีพรรณพฤกษ ชลธี มีสมณชีพราหมณาจารย์ราษฎร  “ประชาชาติธุรกิจ”รวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์มาไขข้อสงสัย

โดย “พลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์  เกษมศรี”  ได้กล่าวในการปาฐกถาชุด “สิรินธร” ครั้งที่ ๒๘ เรื่อง“การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเชิงวิเคราะห์สถาบันพระมหากษัตริย์ในปริบทสังคมไทย” เมื่อวันพฤหัสที่ ๑๔ กุมภาพันธุ์ ๒๕๕๖  ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า

“...ในสมัยรัตนโกสินทร์ สิ่งสำคัญคือ พระปฐมบรมราชโองการในรัชกาลที่ ๑ ความว่า “พรรณพฤกษ ชลธี แลสิ่งของในแผ่นดิน ทั่วเขตพระนคร ซึ่งหาผู้หวงแหนมิได้นั้น ตามแต่สมณชีพราหมณาจารย์ราษฎรปรารถนาเถิด” เป็นสัญญาประชาคมคือการให้เสรีภาพในทรัพย์สินว่า หากไม่มีใครหวงแหน ประชาชนก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ นี่คือพระราชกรณียกิจของพระองค์ในการอุปถัมภ์ประชาชน…

 

ขณะที่ “ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายถึงความหมายในพระปฐมบรมราชโองการรัชกาลก่อนหน้านี้ ในการบรรยายพิเศษเรื่อง“สถาบันพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ไทย” เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ ในงาน สัมมนาวิชาการเรื่อง “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” ของกระทรวงวัฒนธรรม มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า

“…กฎหมายยังเขียนในสมัยอยุธยาว่าที่ดินในแว่นแคว้นของนครศรีอยุธยาเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน จะพระราชทานผู้อื่นหามิได้ ฟังแล้วเหมือนกับเป็นเจ้าของแผ่นดินทุกตารางนิ้ว แต่เอาเข้าจริงก็ไม่เคยได้ทรงใช้สิทธิ์ในฐานะเจ้าของแผ่นดินทุกตารางนิ้วเลย เพราะว่ามีหน้าที่มีพระคุณที่จะต้องใช้แผ่นดินนั้นเพื่อประชาชนไม่ใช่เพื่อตัวเอง

ดังนั้น พระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนกระทั่งถึงสมัยกรุงเทพฯ ที่เมื่อเวลาบรมราชาภิเษก คือสวมมงกุฎ พระองค์ท่านจะต้องพูดเหมือนๆ กันหมด จะยกเว้นก็แต่รัชกาลที่ ๙  นี่แหละ เพราะเป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยไปแล้ว”

แต่ถ้าไปดูตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ – ๗  เรื่อยไปจนถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง ปฐมบรมราชโองการ กษัตริย์ทุกพระองค์ในอดีตจะต้องมี ดูกร พราหมณ์ทั้งหลาย บรรดาพรรณพฤกษ์ชลธี ฤๅสิ่งของใดในพระราชอาณาเขตนี้ ซึ่งมิได้มีผู้ใดหวงกัน เราให้สมณชี พราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎร ใช้สอยตามปรารถนาเถิด”

“ก็ไหนว่าทรงเป็นเจ้าแผ่นดิน ก็ใช่ แต่ทรงอนุญาตตั้งแต่ในวันที่สวมมงกุฎให้ … ดูกร คือตรัสกับพราหมณ์ พรรณพฤกษ์คือต้นไม้ ชลธี คือแม่น้ำ หรือสิ่งของในพระราชอาณาเขตนี้ที่ยังไม่มีผู้ใดหวงกันคือยังไม่มีเจ้าของครอบครอง เราให้บรรดาชีพราหมณ์ สมณพราหมณาจารย์ บรรดาราษฎรทั้งปวง ใช้สอยตามปรารถนาเถิด ไปใช้เถิด ไปจับจองเถิด ไม่มีหรอก คำว่าป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ ไม่ต้องไปดูกันแล้ว ไปจับไปจอง เว้นแต่หลวงเขาหวงกันไว้ก่อน ถ้าไม่ได้หวงก็ไปเถอะ”

 

แต่ในรัชกาลที่ ๙  พระบรมราชโองการแรก ได้ตรัสว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ไม่ได้ตรัสว่า ดูกร พราหมณ์ พรรณพฤกษ์ชลธีสิ่งของทั้งหลายในพระราชอาณาเขต ไม่มีผู้ใดหวงกัน เราอนุญาตให้สมณพราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎรใช้สอยตามปรารถนาเถิด  เพราะในระบอบประชาธิปไตย พระองค์ไม่ได้ทรงเป็นเจ้าของพรรณพฤกษ์ชลธีสิ่งของเหล่านั้นอีกแล้ว ก็ต้องตรัสอย่างอื่น

“และอย่างอื่นก็คือเราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม แล้วโดยมากจำแค่นี้ รู้แค่นี้ จบแค่นี้ ความจริงพิธีบรมราชาภิเษกยังเดินต่อไม่เสร็จ หลังจากได้ตรัสเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทรงหลั่งทักษิโณทก แล้วก็ทรงตรัสสัตยาวาจา สัตยาธิษฐาน “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” นั่นคือพระปฐมบรมราชโองการ นั่นคือคำสั่ง”

แต่ประโยคที่ตรัสต่อจากนั้นไปไม่ใช่คำสั่งแต่เป็นความปรารถนา หรือเป็นการปฏิญาณ หรือเป็นการสมัครใจ ผูกพันตนเอง

“คำพูด ต่อจากเราจะครองแผ่นดินโดยธรรมนั้นคือคำพูดที่พูดกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง นั่นคือตั้งสัตยาธิษฐาน หลั่งทักษิโณทก ว่า จะขอยึดและทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมจรรยา ซึ่งเป็นประโยคที่ต้องตรัส เพื่อความสบายใจของอาณาประชาราษฎร แล้วเป็นคำสัญญาที่ผูกมัดระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎร ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง นั่นคือความสำคัญของทศพิธราชธรรม”

 

ภาพประกอบ:
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0