โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อ ‘ความตาย’ กลายเป็น ‘ความสะใจ’.. เรารู้สึกสาแก่ใจกันได้จริงๆ หรือ

LINE TODAY

เผยแพร่ 30 เม.ย. 2564 เวลา 19.53 น. • pp.p

เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร.. จุดที่มองเห็น ‘ความตาย’ กลายเป็นบทลงโทษอันสาสม จุดที่เกิดความรู้สึกสะใจเมื่อเห็นคนที่รู้สึกเกลียดต้องล้มตาย หากลองมาพิจารณากันให้ดี ความรู้สึกแบบนี้อาจเป็นเหมือนด้านมืดในจิตใจที่เก็บซ่อนความเกลียดชังแบบสุดขีดเอาไว้ที่ก้นบึ้งของความรู้สึก รอวันที่จะปะทุออกมาด้วยน้ำมือของตัวเอง.. หรืออาจเป็นใครสักคนที่มีความเกลียดแค้นร่วมกัน หรือแม้แต่การฝากความหวังเอาไว้กับสิ่งที่เรียกว่า ‘เวรกรรม’ ให้ตามลงทัณฑ์ให้เห็นทันตาทีเถิด

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

การที่เรารู้สึกโกรธ เกลียด แค้น ชังน้ำหน้า อยากจะฆ่าเสียให้ตาย แค่คิดก็เป็นบาปในใจแล้ว หรือแม้แต่การรู้สึกยินดีเมื่อเห็นคนที่เราเกลียดมีอันเป็นไป เผลอคิดว่า 'ตายซะได้ก็ดี' ก็เป็นบาปแทบไม่ต่างกัน

ก่อนอื่นมาเริ่มกันที่การทำความรู้จักกับบาปทางความคิดกันก่อน.. รู้หรือไม่ว่าความรู้สึกยินดีในความตายของผู้อื่นนั้นถือเป็นการ ‘อนุโมทนาบาป’ ซึ่งการอนุโมทนานั้นส่วนใหญ่ถูกใช้กันในเรื่องดีๆ เช่นการทำบุญ ร่วมอนุโมทนาบุญรับบุญไปด้วยกัน แต่ในส่วนของบาปนั้นการรู้สึกยินดีกับเรื่องชั่ว หรือเรื่องร้ายๆ ก็เป็นการรับบาปเข้าตัวเช่นกันไม่ต่างจากอนุโมทนาบุญเลย 

ยกตัวอย่างเช่น เห็นข่าวโจรผู้ร้ายถูกตัดสินโทษให้ประหารชีวิตแล้วเรารู้สึกถูกใจ สะใจ มันช่างดีเหลือเกิน หารู้ไม่ว่าได้อนุโมทนาบาปเข้าให้แล้ว การไปยินดีต่อการปลิดชีวิตของใคร แม้ทางโลกอาจจะมองว่าเขาทำความชั่วมาเยอะ สมควรแล้วที่จะต้องถูกฆ่า แต่ในทางธรรมนั้นใครก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปฆ่าใคร หากเกิดการเอาฆ่า บาปก็เกิดแก่ผู้ฆ่า และหากไปอนุโมทนาต่อการฆ่านั้น เราก็จะพลอยได้บาปไปด้วย หรือเวลาเห็นคนที่เราชังน้ำหน้าต้องตกเป็นเป้าถูกรังแก เรามักดีใจหรือสมน้ำหน้าเขา นั่นก็เป็นการอนุโมทนาบาปเช่นกัน พลอยให้เราได้รับบาปไปด้วย ถึงแม้จะเป็นคนที่ไม่ถูกกัน แต่นั่นก็ถือเป็นคนละเรื่องกันกับบาปที่เราอนุโมทนามา 

นอกจากนี้ยังเคยมีคำพระท่านว่า 

“หากเราดีใจหรือสะใจกับความตายของผู้อื่น แสดงว่าบางส่วนในตัวเรากำลังตายไปด้วย ส่วนนั้นคือความเป็นมนุษย์” 

(พระไพศาล วิสาโล) 

ประโยคนี้คงเป็นเครื่องเตือนสติให้รู้ระลึกเสมอว่าอย่าได้เผลอตัวเผลอใจยินดีในบาป หากแต่ได้ข่าวมาก็เพียงรับรู้รับทราบก็เท่านั้นเป็นพอ

ภาพจาก facebook : ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล
ภาพจาก facebook : ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล

‘คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ’ สุภาษิตนี้มีความหมายถึงคนที่จะรักเราชอบเรานั้นมีปริมาณน้อยกว่าคนที่ไม่ชอบเรา ซึ่งเป็นถือเรื่องธรรมดา แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนทุกคนล้วนเป็นที่รักของใครสักคน อย่างน้อยก็ครอบครัวของเขา บรรดาเพื่อนสนิทมิตรสหาย บริวาร ฯลฯ มนุษย์เรามีคนที่รักฉันใดก็มีคนที่เกลียดชังด้วยฉันนั้น คนที่เรารู้สึกเกลียดชังอยากให้เขาหายไปจากโลกใบนี้ แต่การหายไปของเขาก็เป็นเรื่องเศร้าสะเทือนใจต่อคนที่รักเขาด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ ‘ทฤษฎีหกช่วงคน’ (Six degrees of separation) ที่กล่าวไว้ว่า มีเป็นไปได้ว่า บุคคลทุกคนในโลกนี้นั้นสามารถรู้จักกัน หรืออาจจะรู้จักกันได้โดยผ่านตัวกลางที่เป็นเพื่อนหรือคนรู้จักอีกไม่เกิน 6 คน ซึ่งสัมพันธ์กับ ทฤษฎีโลกใบเล็ก (Small World Problem) และทฤษฎีโลกย่อส่วน (Shrink World) ที่เชื่อว่าทุกคนในโลกนี้มีจุดเชื่อมถึงกันหมด เราอาจรู้จักกันผ่านเพื่อนเป็นช่วงๆ เป็นคนๆ ไป 

ดังนั้นหากมองตามทฤษฎีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ การเจ็บการตายของคนที่เราไม่ชอบอาจส่งผลต่อกันเป็นทอดๆ มาเกี่ยวกับคนรู้จักของเราก็เป็นได้ และคงเป็นเรื่องน่าเศร้าหากผลกระทบนั้นมาถึงคนที่อยู่ในวงโคจรที่ใกล้ตัวของเราเอง คงไม่มีใครมีความสุขหากคนรู้จักหรือคนใกล้ตัวตกอยู่ในภาวะโศกเศร้าเสียใจ

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

ว่าแต่ทำไมเราจึงมีความคิดยินดีที่เห็นคนอื่นที่เราเกลียดถึงแก่ความตายล่ะ?… มีศัพท์หนึ่งเป็นภาษาเยอรมันคือคำว่า ‘Schadenfreude’ (ชาเดนฟรอยด์) เป็นคำที่ใช้เรียกอาการของความบันเทิงใจที่ได้เห็นผู้อื่นต้องประสบเคราะห์กรรม เป็นคำที่อธิบายความรู้สึกดำมืดบางอย่างในจิตใจของมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกที่เป็นพื้นฐานทางความคิดในการแบ่งพรรคแบ่งพวก จึงมีความรู้สึกสะใจหรือมีความสุขเมื่อได้เห็นคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามต้องทนทุกทรมาน

ขอยกแนวคิดของนักปรัญชาวฝรั่งเศส เรอเน เดการ์ต (René Descartes) ที่ว่า ความรู้สึกสะใจหรือยินดีที่ได้พบเห็นความทุกข์ของผู้อื่น ถูกแสดงออกมาในฐานะผลลัพธ์ของความยุติธรรมอะไรบางอย่างบนมาตรวัดของตน เพราะเมื่อพวกเขาเห็นใครบางคนที่ทำผิดแปลกไปจากมาตรฐานความดีของพวกเขา การที่คนพวกนั้นได้รับผลอะไรบางอย่างที่เจ็บปวดจึงดูเสมือนว่ามันเป็นโทษที่พวกเขาควรได้รับ

นอกจากนี้ยังมี มีเชล เดอ มงแตญ (Michel de Montaigne) ปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ได้เคยพูดถึงความสุขของการได้เห็นผู้อื่นพบกับความทุกข์ทรมานด้วยเช่นกัน เขาได้เสนอสิ่งที่น่าสนใจว่า ความรู้สึกดังกล่าวเป็นความรู้สึกที่บ่งชี้ว่า คนที่รู้สึกดีใจที่ได้เห็นผู้อื่นประสบเคราะห์กรรมนั้นเกิดจากความรู้สึกว่าตน ‘ปลอดภัย’ จากภยันตรายทั้งปวง เนื่องจากมีผู้ประสบเคราะห์กรรมนั้นแล้ว และตนเองยังปลอดภัยดี

และยังมีแนวคิดของกวีชาวฝรั่งเศส ชาลส์ โบเดอแลร์ (Charles Baudelaire) กล่าวว่าความรู้สึกดังกล่าวลำพังมิใช่แค่รู้สึกว่าตนปลอดภัย แต่คือความรู้สึกที่ว่าตนนั้นมีภาวะอยู่เหนือกว่าอีกฝ่าย ความรู้สึกดังกล่าวทำงานภายใต้จิตสำนึกส่วนลึก และหวนย้อนกลับมายกชูความทระนงในตนเองว่าตนเหนือกว่าหรือดีกว่าอีกฝ่ายที่ประสบเคราะห์กรรม

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

ความตาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใคร ก็ไม่ควรเป็นเรื่องน่ารู้สึกสะใจหรือรู้สึกยินดี เพราะในความยินดีที่เรามีอยู่นั้นตั้งอยู่บนความสูญเสีย บนความทุกข์ของผู้อื่น และนอกจากจะปลุกมารในใจของตัวเอง ยังเป็นการเปิดประตูรับสารพิษเข้ามาในจิตใจ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งนั้น 

พุทธศาสนามีเรื่องของการ ‘อโหสิกรรม’ ซึ่งก็คือ กรรมที่เลิกแล้วต่อกัน ไม่ส่งผลแก่ผู้กระทำกรรมในภพชาติต่อๆ ไป การให้อโหสิกรรม คือ การให้อภัยต่อความผิดพลาดพลั้งที่ผู้อื่นกระทำต่อตน นอกจากจะเป็นการตัดกรรมซึ่งกันและกันในภาพชาตินี้และภพชาติไหนๆ และยังได้อานิสงส์เป็นอภัยทาน ที่เกิดขึ้นได้จากความเมตตาที่มีอยู่เพียงพอในจิตใจ มีอานิสงส์ใกล้เคียงกับธรรมทานและเป็นการยกระดับจิตใจให้ผ่องแผ้ว 

มนุษย์เราแม้จะมีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง แต่หากรู้จักควบคุมจิตใจไม่ให้ไฟโทสะครอบงำได้ เราก็จะพบกับความสงบเย็น ดีกับใจของเราเอง เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีจุดหมายที่แตกต่างกันตามแต่กรรมของแต่ละคนจะเป็นตัวกำหนด อย่ามัวเสียเวลาไปกับการสาปแช่งหรือสมน้ำหน้าใคร เพราะสุดท้ายเราทุกคนล้วนต้องตาย ‘เมื่อถึงเวลาอันสมควร’

ข้อมูลบางส่วนจาก blogspot.com / THE MATTER / facebook.com : ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล , มูลนิธิพื้นที่ปัญญ์รัก - โรงเรียนพ่อแม่ลูก / kalyanamitra.org / proverbthai.com / dharayath.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0