โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กทม.ทุ่ม 9.8 พันล้าน แก้ปัญหาน้ำรอระบาย

BLT BANGKOK

อัพเดต 01 ส.ค. 2562 เวลา 04.16 น. • เผยแพร่ 31 ก.ค. 2562 เวลา 08.37 น.
87b2220f1c9e14aaca39e8abc79026e1.jpg

วิกฤติน้ำรอระบายที่เกิดจากฝนตกหนัก ท่อระบายไม่ทัน เกิดน้ำท่วมขัง จนส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัด เป็นปัญหาที่พยายามแก้ไขกันมายาวนาน ซึ่งในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา กทม. ได้ใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหานี้ไปแล้วกว่า 61,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ได้ตั้งงบไว้อีก 9,863.02 ล้านบาท ซึ่งต้องติดตามกันว่าปัญหาที่เป็นวาระแห่งชาตินี้จะแก้ได้เบ็ดเสร็จเมื่อใด
รัฐบาลเน้นย้ำแก้ปมระบบระบายน้ำ  
สำหรับการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำและระบบบําบัดน้ำเสีย รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 เองก็ได้เน้นย้ำความสำคัญ โดยได้บรรจุไว้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่จะดำเนินการ ซึ่งระบุว่าจะแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาระบบระบายน้ำ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนไม่ทิ้งขยะหรือของเหลือใช้ลงในท่อระบายน้ำ แม่น้ำ และทะเล รวมถึงจะพัฒนาระบบรวบรวมและบําบัดนํ้าเสียในเขตเมือง โดยใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายในการบริหารจัดการน้ำเสีย 

กทม. เร่งโครงการแก้น้ำท่วมขัง 
ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง ในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่รอยต่อจังหวัดปริมณฑล ก็มีหลากหลายโครงการที่ดำเนินการอยู่เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 สำนักการระบายน้ำ จะดำเนินโครงการปรับปรุงบ่อสูบน้ำถนนเพชรบุรี ตอนสถานทูตอินโดนีเซีย เขตราชเทวี แล้วเสร็จ ซึ่งบ่อสูบน้ำดังกล่าวเป็นบ่อสูบน้ำชั่วคราวที่ใช้งานมานานจนมีสภาพชำรุด ช่องทางน้ำเข้าบ่อสูบมีขนาดเล็ก มีกำลังสูบไม่เพียงพอ และมีบ่อน้ำเสียกีดขวางทางเข้าทำให้น้ำระบายเข้าบ่อสูบได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงต้องปรับปรุงโดยเพิ่มกำลังสูบจากเดิม 6 ลบ.ม./วินาที เป็น 8 ลบ.ม./วินาที พร้อมก่อสร้างบ่อสูบน้ำ 1 บ่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้ากำลังสูบ 1 ลบ.ม./วินาที 2 เครื่อง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้ากำลังสูบ 2 ลบ.ม./วินาที 3 เครื่อง ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบนถนนเพชรบุรีบริเวณแยกมิตรสัมพันธ์ และถนนพญาไทบริเวณหน้ากรมปศุสัตว์ ลงสู่คลองแสนแสบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
จากนั้น ในเดือนสิงหาคมนี้ โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล.คลองขุนจันทร์ ช่วงจากถนนริมทางรถไฟถึงถนนบรมราชชนนี ที่สำนักการระบายน้ำ รับผิดชอบการก่อสร้างความยาว 379 ม. และสำนักงานเขตตลิ่งชันรับผิดชอบความยาว 2,380 ม. จะแล้วเสร็จ โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้ เขตตลิ่งชัน บริเวณถนนฉิมพลี ช่วงจากอู่สง่าถึงถนนบรมราชชนนี และถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ฝั่งขาออก บริเวณวงเวียนชัยพฤกษ์ ซึ่งถือเป็น 2 ใน 56 จุดเฝ้าระวังน้ำท่วม มีระบบแก้ปัญหาน้ำท่วมขังที่เป็นระบบถาวร มีประสิทธิภาพในการระบายมากยิ่งขึ้น และแก้ปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วมในบริเวณนี้ได้

นอกจากนั้น กทม. ยังมีโครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำของกรุงเทพ มหานคร โดยการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) ซึ่งเป็นโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังทั่วกรุงเทพฯ 4 แห่ง ประกอบด้วย 1 บริเวณสถานีตำรวจนครบาลบางเขน เขตบางเขน แล้วเสร็จเปิดใช้งานแล้ว ซึ่งเป็นบ่อเก็บน้ำมีความจุ 1,000 ลูกบาศก์เมตรแก้ปัญหาจุดอ่อนน้ำท่วมย่านแจ้งวัฒนะวงเวียนบางเขน ขณะนี้กำลังดำเนินการ แห่งที่ 2 บริเวณปากซอยสุทธิพร 2 ถนนอโศกดินแดง เขตดินแดง เป็นบ่อเก็บน้ำความจุ 1,200 ลูกบาศก์เมตร คาดจะเสร็จเปิดใช้งานได้ในเดือนสิงหาคม 2562 เช่นเดียวกัน ส่วนแห่งที่ 3 บริเวณใต้สะพานข้ามแยกถนนกรุงเทพกรีฑาตัดกับถนนศรีนครินทร์ เขตบางกะปิ ขนาดความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร และแห่งที่ 4 บริเวณ สวนสาธารณะใต้สะพานข้ามแยกถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร ขนาดความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร อยู่ระหว่างเตรียมเข้าพื้นที่ก่อสร้างส่วนที่บริเวณหมู่บ้านเศรษฐกิจนั้นเนื่องจากประชาชนคัดค้านจึงได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยวิธีอื่นๆ
อีกทั้งยังมี โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) โดยการวางท่อขนส่งน้ำขนาดใหญ่ 1.5-2 เมตร ก่อสร้างโดยใช้วิธีดันท่อเพื่อลดพื้นที่การเปิดหน้าดินในระหว่างดำเนินการทำให้กระทบต่อผู้ใช้ เส้นทางน้อยที่สุด ที่มีทั้งหมด 14 โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 11 โครงการ ที่เสร็จแล้วเป็นแห่งแรก คือ บริเวณถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช แห่งที่ 2 คือ บริเวณถนนเจริญกรุง ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 ถนนสวนพลู ส่วนที่คาดว่าจะแล้วเสร็จเป็นแห่งที่ 3 คือบริเวณซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา

11 ปีใช้งบกว่า 61,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กทม. จะสามารถลดพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังจากกว่า 50 จุด จนเหลือ 14 จุด กับจุดเฝ้าระวัง 56 จุด และสามารถเปิดใช้งานอุโมงค์ระบายน้ำได้แล้ว 8 แห่ง รวมถึงเมื่อย้อนไปดู มติ ครม. ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน กทม. พบว่ามีหลายโครงการที่อนุมัติผ่านกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ กทม. ดำเนินการ เช่น โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 2,483,548,000 บาท โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำในถนนสายหลักพื้นที่ กทม. 11 โครงการ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในถนนสุขุมวิท ถนนศรีอยุธยา ถนนพหลโยธิน ฯลฯ วงเงิน 2,208,790 บาท รวมถึง โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร จากถนนเทศบาลสงเคราะห์ถึงสุดเขต กทม. วงเงิน 3,443 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
ขณะที่งบประมาณของกทม. ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา ทั้งในช่วงที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงช่วงที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่า กทม. จนถึงปัจจุบัน ใช้งบด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสียไปแล้ว   กว่า 61,000 ล้านบาท และล่าสุด กทม. ยังสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงินรวม 83,398.92 ล้านบาท โดยมีส่วนของการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 9,863.02 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.88% ทั้งนี้จากผลงานที่ปรากฏ เป็นที่น่าสังเกตุว่าผลงานกับงบประมาณที่ใช้ไปนั้นดูจะไม่สอดคล้องกัน

สจล. เสนอแบบแผนทำแก้มลิงใต้ดิน 
จากปัญหาน้ำรอระบายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จึงได้เสนอแผนการก่อสร้าง แก้มลิงใต้ดิน BKK โดยแนะให้นำร่องที่สวนเบญจกิติ เนื้อที่ 130 ไร่ สามารถรองรับปริมาณน้ำได้กว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร และจะช่วยจัดการปัญหาน้ำท่วมขังอย่างมีประสิทธิภาพได้ภายใน 15 นาที โดยคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ครอบคลุมพื้นที่ 900,000 ตารางเมตร ใน 4 เขต คือ เขตคลองเตย เขตวัฒนา เขตสาทร และเขตยานนาวา ซึ่งหากแล้วเสร็จจะทำให้พื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ ชั้นในบริเวณย่านพระราม 4 สุขุมวิท คลองเตย และสาทร ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังหรือน้ำรอระบายอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขอขอบคุณแนวคิดดังกล่าวของ สจล.ซึ่ง กทม. ได้มีการวางแผนดำเนินการมาเป็นระยะ โดยมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพของแก้มลิงทั้งบนดินและใต้ดินอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามแผนการแก้ปัญหาที่ ผู้ว่าฯ กทม. ได้เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการธนาคารน้ำใต้ดินหรือ Waterbank รวม 5 แห่ง รวมถึง โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยไปป์แจ็กกิ้ง 14 จุดทั่วกรุงเทพฯ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จครบทุกจุดประมาณเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ดี สำหรับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่หน่วยงานใดอยากเสนอแนะ กทม. ก็พร้อมรับฟังและนำมาศึกษาเพื่อปรับใช้ โดยพิจารณาตามลำดับความสำคัญ งบประมาณ และพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์น้ำรอระบายที่ผ่านมา นอกจากจะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ไม่ทิ้งขยะลงท่อระบายน้ำ คู คลองต่างๆ แล้ว รัฐบาล กรุงเทพมหานคร รวมถึงภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรม และนอกเหนือจากการแก้ไขท่อระบายน้ำที่มีอายุการใช้งานมานาน การสร้างอุโมงค์ระบายน้ำหรือบ่อหน่วงน้ำต่างๆ เพิ่ม การแก้ปัญหาด้านผังเมือง ตลอดจนการวางแผนการสร้างโครงการในพื้นที่เดียวกันของแต่ละหน่วยงาน ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจัดการให้ชัดเจน เด็ดขาด เพื่อไม่ให้วิกฤติน้ำรอระบายยังเกิดขึ้นซ้ำซากอีก  

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง - ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
“นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อแนะนำในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ กทม. คือเรื่องของการบำบัดน้ำเสียจากการระบายน้ำ ให้จัดการคุณภาพน้ำเสียให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ (Reuse) เช่น รดน้ำต้นไม้ หรือทำประโยชน์อื่น ผ่านระบบจัดการคุณภาพน้ำของโรงควบคุมคุณภาพน้ำ 8 แห่ง ที่สามารถบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม./วัน แต่ไม่เพียงพอต่อปริมาณน้ำเสียที่มี 3 – 4 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งต้องมีโรงควบคุมคุณภาพน้ำประมาณ 20 แห่ง โดยปีนี้จะพิจารณาของบประมาณก่อสร้างเพิ่มอีก 2 แห่ง รวมถึงให้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยใช้พื้นที่ใต้คลองต่างๆ เพิ่มท่อระบายน้ำด้วยระบบ Pipe Jacking ซึ่ง กทม. จะพิจารณาดำเนินการต่อไป”

[English]
Flood remains unresolved crisis
Over the past 11 years, Bangkok Metropolitan Administration (BMA) has spent over 61 billion baht on solving flood problems in the Thai capital city and already set another 9.86 billion baht for the 2020 fiscal year to tackle this issue.
As BMA continues its work, the new government of Thailand has declared drainage-related problems as pressing issues and included them in its major policies, which also cover water treatment plans.
Nevertheless, BMA, which is directly in charge of Bangkok and surrounding areas, has already started a pump system on Petchburi Road, which was originally a temporary system that has been found with damages from years of heavy use.
In August, BMA has planned to complete the construction of a 2,759-meter levee on Borom-Rachachonnee Road, which has been included in the list of 56 flood-prone locations, in order to equip the area with a permanent and efficient system to solve flooding.
In addition, BMA has started building water banks to boost the drainage capability in four flood-risk areas in Bangkok, including Bang Khen, Asoke-Dindaeng, Srinakarin-Krungthep Kreetha, and Ratchadapisek-Viphavadi Rangsit.  
Other projects on its drawing board include the pipe-jacking plan, which involves the construction of large water tunnels in 14 areas across the city.  Eleven of them are already in progress.
King Mongkut's Institute of Technology Ladkrabang Rector Dr. Suchatvee Suwansawat has proposed the BKK water retention project throughout Bangkok to effectively ease and solve floods, which BMA has agreed and revealed that similar initiatives have been under

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0