โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ผ้ามัดหมี่ของไทยพวน อนุรักษ์ผ้าไทย ที่บ้านหมี่ ลพบุรี

เทคโนโลยีชาวบ้าน

เผยแพร่ 14 ก.พ. 2562 เวลา 06.05 น.
ผ้ามัดหมี่ 14กพ

เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น ลวดลายสีสันที่งดงามบนผืนผ้าช่วยเสริมบุคลิกภาพผู้สวมใส่ให้ดูสวยและสง่างาม เสื้อผ้าอาภรณ์ถูกตัดเย็บจากผืนผ้าหลายชนิด สำหรับผ้ามัดหมี่เป็นงานทำมือที่มีการอนุรักษ์สืบต่อกันมา เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีผู้นิยมใช้อย่างแพร่หลายพร้อมกับเลือกนำไปเป็นของฝากของขวัญในวันเทศกาลหรือวันปีใหม่ และด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ส่งถึงมือผู้ใช้จึงเป็นก้าวที่ส่งผลให้เกษตรไทยมั่นคง

คุณประทีป อยู่สุข เกษตรอำเภอบ้านหมี่ เล่าให้ฟังว่า ชาวไทยพวนหรือชาวพวนเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง สปป.ลาว โดยเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านพวน ตำบลหินปัก และทำนาเป็นอาชีพหลักเพื่อผลิตข้าวไว้บริโภคในครัวเรือนและขาย พร้อมกับทำอาชีพเสริมด้วยการทอผ้ามัดหมี่ใช้ในครัวเรือนหรือเป็นของให้กับผู้มาเยือน

ผ้ามัดหมี่เป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านที่ลูกหลานชาวไทยพวน ได้สืบทอดศิลปวัฒนธรรมมาจากปู่ย่าตายาย เป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสู่การพัฒนาที่ได้ผืนผ้าที่มีลวดลายสีสันงดงามตามแบบฉบับชาวไทยพวน

การทอผ้ามัดหมี่ของชาวไทยพวนมีมานานแล้ว แต่เป็นไปในแบบที่ต่างคนต่างทำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมี่ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อทอผ้าและทำผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ในเชิงการค้า ด้วยการนำศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญามาสู่พัฒนาการผลิตให้ได้ผ้ามัดหมี่คุณภาพ

ได้ส่งเสริมการทอผ้ามัดหมี่โบราณที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติ เช่น สีแดงที่ได้จากครั่ง หรือสีน้ำเงินที่ได้จากคราม ส่งเสริมให้สมาชิกร่วมกันพัฒนาการทอผ้าและทำผลิตภัณฑ์มัดหมี่ให้มีลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์ของชุมชน สนับสนุน จัดหาตลาดเพื่อขายผลิตภัณฑ์ ให้เป็นศูนย์รวมในการรองรับองค์ความรู้จากภาครัฐและเอกชน จัดให้เป็นศูนย์เรียนรู้วิถีชุมชน ส่งเสริมการใช้ปัจจัยในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนการผลิตเพื่อนำไปสู่การยกระดับรายได้ครัวเรือน

ป้าน้อย หรือ คุณวนิดา รักพรม ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านพวน เล่าให้ฟังว่า ประชาชนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพวนที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวาง สปป.ลาว มาอยู่ที่บ้านพวนนานกว่า 70 ปี ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมไทย ได้ทำนาเป็นอาชีพหลักและทอผ้ามัดหมี่เป็นอาชีพเสริม

เมื่อปี 2543 แม่บ้านเกษตรกรที่ทอผ้ามัดหมี่ได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านพวน” โดยการสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านหมี่ และภาคเอกชน ปัจจุบันกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านพวนมีสมาชิกรวม 60 คน สมาชิกเป็นคนชุมชนเดียวกันหรือใกล้กัน

วัตถุประสงค์การรวมกลุ่มเพื่อให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการทอผ้ามัดหมี่ เป็นการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ให้ได้ลวดลายหรือรูปแบบแปลกใหม่ที่ได้คุณภาพ ได้ผืนผ้าที่งดงามเป็นที่พึงพอใจของตลาดผู้บริโภค และสร้างงานเพื่อการยกระดับรายได้ครัวเรือน

วิธีดำเนินงาน เมื่อรวมกลุ่มกันแล้วกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านพวนได้แบ่งงานกันไปทำตามความถนัด เช่น บางคนถนัดมัดหมี่เส้นฝ้ายหรือไหม บางคนถนัดด้านกรอไหมหรือทอผ้า และเมื่อสมาชิกทอผ้ามัดหมี่เสร็จแล้วกลุ่มก็จะรับซื้อไว้และจ่ายเงินให้ตามสัดส่วน หรือพิจารณาให้ตามความงดงามของผ้ามัดหมี่หรืองานแต่ละชิ้น และจุดเด่นของผ้าแต่ละผืนจะอยู่ที่การมัดหมี่ สีสัน หรือความประณีตในการทอ

การมัดหมี่ เป็นการนำเชือกมามัดบนเส้นด้าย ฝ้ายหรือเส้นไหมที่จัดมัดไว้เป็นกลุ่ม จากนั้นนำมาย้อมสีธรรมชาติ เช่น จากครามจะย้อมได้สีน้ำเงินหรือจากครั่งจะย้อมได้สีแดง เสร็จแล้วนำเส้นด้าย ฝ้ายหรือเส้นไหมที่ย้อมและไปขึ้นกี่ทอเป็นผืนผ้าตามรูปแบบที่กำหนดก็จะได้ผืนผ้าที่มีลวดลาย สีสันสวยสดงดงาม

ซึ่งความหมายของการ “มัดหมี่” ก็คือเป็นกรรมวิธีการสร้างสีสันเส้นด้ายหรือเส้นฝ้ายหรือเส้นไหม ด้วยการนำเชือกมา “มัด” เส้นฝ้ายหรือเส้นไหมที่จับไว้เป็นกลุ่มๆ ส่วนคำว่า “หมี่” ก็คือเส้นด้าย ฝ้ายหรือเส้นไหมที่ดูคล้ายๆ เส้นหมี่ และเมื่อมัดแล้วนำไปย้อมสี ผึ่งตากแห้ง จึงเรียกกันว่า “มัดหมี่” เมื่อนำไปทอก็จะได้ลวดลายสีสันงดงามบนผืนผ้า

การทอ ได้นำเส้นด้ายที่ย้อมสีแล้วมากรอใส่หลอดด้ายเล็กๆ แล้วนำไปใส่ในกระสวย นำหลอดหมี่ที่กรอไว้มาพุ่งผ่านเส้นด้ายยืนที่กี่ทอผ้าทีละเส้นกลับไป-มา สมาชิกต้องทอให้ได้ผืนผ้าที่ปรากฏลวดลายชัดเจนสวยงาม หรือการขึ้นเครือด้ายต้องขึ้นให้ด้ายมีความตึงเสมอกันทุกเส้น เส้นด้ายพุ่งที่กำหนดไว้ในแต่ละลายต้องมีความยาวเท่ากับหน้าผ้าพอดี ฝีมือหรือความประณีตการทอต้องให้น้ำหนักมือสม่ำเสมอ เมื่อทอผ้าได้ยาวระดับหนึ่งต้องม้วนผ้าเข้าแกนม้วนผ้า ทุกขั้นตอนการทอนี้เป็นงานทำมือที่ต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษจึงจะได้ผืนผ้ามัดหมี่คุณภาพงดงาม

คุณวนิดา เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า จุดเด่นของผ้ามัดหมี่คือ การได้อวดลวดลายโบราณ ลายพระปรางค์สามยอด ดอกทานตะวัน หรือลายลิง ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี ผ้ามัดหมี่ทุกชิ้นล้วนมีความประณีตมีความงดงาม เป็นงานทำมือทั้งสิ้น ใช้เวลาผลิตที่แตกต่างกัน ความยากง่ายขึ้นอยู่กับลวดลายที่ออกแบบไว้ บางชิ้นใช้เวลาผลิตนาน 10 วันจึงจะได้ผ้ามัดหมี่ที่งดงามมาให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้

ตลาด ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่คุณภาพมีหลายรูปแบบ ราคาขายเริ่มต้นอยู่ที่ชิ้นละ 100 บาทขึ้นไป เลือกซื้อได้ที่ศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของจังหวัดหรือที่กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านพวน ด้วยคุณภาพทุกผืนผ้าจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และเป็นสินค้าราคาประหยัดขายดี

สมาชิกกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านพวนก็ขอเชิญชวนท่านที่อ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้พิจารณาเลือกหาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากผ้ามัดหมี่คุณภาพมาตรฐานไปเป็นของขวัญของฝากด้วย เพื่อสนับสนุนเกษตรกรให้มีพลังสู้ได้พัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่คุณภาพที่แปลกใหม่ต่อไป

อย่าลืม !!!…เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ไทย อนุรักษ์ไทย ด้วยฝีมือชาวไทยพวนให้คงอยู่สืบไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ ป้าน้อย หรือคุณวนิดา รักพรม เลขที่ 81 หมู่ที่ 10 บ้านพวน ตำบลหินปัก อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โทร. (089) 052-1899 หรือโทร. (036) 471-872 หรือคุณภูวิชย์ ยิ่งเจริญ สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี โทร. (036) 411-296 ก็ได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0