บ้าไปแล้ว! นั่งแท็กซี่เดือนละ 12,000 ต้องมีเงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะได้นั่งแท็กซี่?
จะทำได้ไหมทำได้หรือเปล่า? ไม่ต้องกลัวการไม่รับเพราะส่งรถหรือแก๊สหมดอีกต่อไป! เมื่อแท็กซี่ไทยจำนวนนึงจะโบกมือบ๊ายบายไม่เอาแล้วมิเตอร์ขอแค่ผู้โดยสารสมัครสมาชิกเพื่อชำระค่าบริการเป็นรายเดือนเดือนละ12,000 บาทก็ไปได้ทุกที่นั่งรถได้ทุกคันที่ร่วมโครงการคุณว่าคุ้มไหมจะเป็นไปได้จริงหรือเปล่า
ไปไงมาไงพี่ถึงจะให้เหมาละ?
คือเรื่องของเรื่องเนี่ย กรมขนส่งเค้าอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาแท็กซี่ขึ้น 8% ภายในปีนี้ เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่รถติด แต่ก็มีกลุ่มแท็กซี่ที่ไม่เห็นด้วยเพราะการขึ้นราคาจะทำได้เฉพาะแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการ Taxi OK ซึ่งเจ้าของแท็กซี่จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการเองเพราะจะมีการเพิ่มเติมอุปกรณ์ในรถทั้ง ระบบ GPS Tracking ติดตามรถ, ระบบยืนยันตัวตนผู้ขับรถ, กล้องบันทึกภาพในรถ, ปุ่มแจ้งเหตุร้องเรียน ทำให้มีแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการเพียง 13,000 คัน ในขณะที่ประมาณ 7 หมื่นคันที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ และอาจไม่ได้เห็นตรงกันกับแนวคิดนี้เท่าไหร่นัก
จากกรณีนี้กลุ่มแท็กซี่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเค้าเลยผุดไอเดียที่จะร่วมมือกับนักลงทุนต่างประเทศทำบริษัท มาย แท็กซี่ (My Taxi) ขึ้นมา ให้บริการรถแท็กซี่รูปแบบใหม่ ซึ่งมาตรการแรก ก็คือเมินค่าโดยสารจากกรมการขนส่งทางบกไปเลย บอกลาระบบการกดมิเตอร์และใช้การเหมาจ่ายโดยให้ผู้โดยสารสมัครสมาชิกรายเดือน 12,000 บาทแทนแต่ ใช้ได้ไม่จำกัดเที่ยวใน กทม. และปริมณฑล แถมน้ำผลไม้ให้ 6 ขวด เรียกรถจากแอพได้ ไม่เกี่ยงที่หมาย ไม่เลือกผู้โดยสารด้วย
แต่ในมุมผู้โดยสารอย่างเราๆ ชาวกรุง เรื่องนี้คุ้มไหม? มีความเป็นไปได้แค่ไหนกันแน่?
ตกวันละ 400 เห็นราคาแล้วถอยกรูด
เปิดมาด้วยเรื่องตัวเลขกันก่อน จริงอยู่ว่าทุกวันนี้รถติดสาหัส นั่งแท็กซี่ทีไรก็แบงค์ร้อยปลิวออกไป 2 ใบแทบจะทุกที แต่ถ้าหากจ่ายค่าสมาชิกไปแล้ว 12,000 บาท หาร 30 วัน ตามมาตรฐาน 1 เดือน รายจ่ายอยู่ที่ประมาณวันละ 400 แบบกลม ๆ นี่เรียกได้ว่าแซงค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว เราจะมาสามารถนั่งได้คุ้มกันจริงหรือไม่?
ถ้านั่งไปทำงานไป-กลับวันละ 2 รอบก็ตกรอบละ 200 ซึ่งก็ไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเลย ครั้นจะพยายามเรียกให้คุ้มด้วยการพยายามใช้บริการให้มากกว่า 2 รอบ ก็ยังติดปัญหาว่าปริมาณรถที่เข้าร่วมโครงการจะเพียงพอหรือไม่? แล้วในสภาพการจราจรแบบกรุงเทพมหานครของเราจะมีรถในโครงการ มาย แท็กซี่ ผ่านมาให้เราใช้บริการกันได้มากน้อยแค่ไหน เกิดเรียกไปแล้วรถดันติด มาไม่ถึงสักทีจะทำยังไง
ยังไม่นับรวมประเด็นที่ว่า หากเรียกเก็บค่าสมาชิกถึงเดือนละ 12,000 บาทผู้ใช้บริการจะต้องมีรายได้อยู่ในระดับไหน เพราะแท้จริงแล้วจำนวนเงินเท่านี้ถ้าต้องจ่ายทุกเดือนก็มากพอที่จะผ่อนรถยนต์ส่วนตัวได้เลยทีเดียว
ทั้งนี้ความติดขัดเรื่องจำนวนเหมาจ่ายก็ได้รับการแก้ต่างจากทางมายแท็กซี่มาว่า สุดท้ายแล้วยังสรุปกันไม่ลงตัวว่าจำนวนค่าสมาชิกจะจบลงที่จำนวนเท่าไหร่ 12,000 บาทเป็นตัวเลขที่ปรับกันได้ และอาจจะมีแพคเกจที่จ่ายน้อยลงกว่านี้ในอนาคต ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป
ความสะดวกความปลอดภัยเมื่อโครงการนี้ไม่มีภาครัฐมาเอี่ยว
สิ่งนึงที่ผู้โดยสารต้องคำนึงถึงเมื่อเดินทางไม่ว่าจะในระบบไหนก็คือ ความปลอดภัยอยู่แล้ว ยิ่งถ้าหากโครงการนี้ไม่ได้อยู่ภายในการควบคุมดูแลของกรมขนส่ง เกิดเหตุฉุกเฉินเช่น แท็กซี่ปล้น เมายา ลวนลามผู้โดยสารขึ้นมา ผู้เสียหายจะเรียกร้องกับใคร วางใจได้แค่ไหน?
แต่ก่อนตอน grab กับ uber เป็นที่นิยมมาก ๆ ทั้งคนขับทั้งผู้โดยสารในบางพื้นที่ก็ต้องเผชิญหน้ากับผู้ให้บริการที่ไม่ได้อยู่ในโครงการเป็นประจำแบบที่เราจะมีโอกาสได้เห็นตามข่าวบ่อย ๆ กรณีนี้ก็น่าจะมีโอกาสเช่นกัน เพราะถือเป็นการทับซ้อนในเรื่องผู้โดยสาร แนวทางตรงนี้ก็ไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก
และเพราะความไม่แน่นอนเรื่องนี้ ทำให้แท็กซี่ไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแท็กซี่ OK, กลุ่ม มาย แท็กซี่และกลุ่มที่ยังไม่เลือกข้างปะปนกัน ซึ่งจะต้องกระทบกับผู้ใช้งานในอนาคต อย่างน้อยก็สร้างความสับสนว่าเรียกรถส่วนไหนไป ส่วนไหนยังเป็นมิเตอร์ ส่วนไหนจะจ่ายเหมา
แล้วที่สำคัญแท็กซี่ที่เข้าโครงการไปแล้ว ไม่ว่าจะโอเคแท็กซี่ หรือมายแท็กซี่ จะสามารถรับผู้โดยสารได้ทั่วไปตามปกติหรือไม่ในกรณีที่ไม่มีผู้โดยสารของตัวเองในขณะนั้น แล้วดูจากรถเฉย ๆ ผู้โดยสารจะสามารถดูออกได้เลยหรือไม่ว่านี้คือแท็กซี่ส่วนไหนกันแน่
คิดแค่นี้ก็ต้องขอยาดมกันแล้วละ เฮ่อ!
ถ้าปัญหาคือรถติดการไม่รับผู้โดยสารเราจัดการวิธีอื่นได้ไหม ?
คุณกำลังคิดเหมือนกันไหม? ว่าไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าบริการ 8% หรือเปลี่ยนให้มาชำระแบบเหมาจ่าย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาโดยใช้เงินทั้งสิ้น แถมยังเป็นเงินของผู้โดยสารตาดำๆ แบบเราๆ อีกต่างหาก
แล้วปัญหาที่ว่าก็คือ รถติด รถเยอะ แท็กซี่เองก็มีปริมาณมาก ทำรอบไม่ได้ ไปไม่ทันเวลา ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็ไม่ใช่ปัญหาที่มาจากผู้โดยสารแต่อย่างใด
ทำไมต้องเป็นเราที่จ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้นทุกปีๆ เพื่อให้ตัวเองได้นั่งรถ? จำกันได้ไหมว่า การขอปรับขึ้นราคามิเตอร์นั้นมีอยู่เรื่อย ๆ อยู่แล้วทุกปี โดยที่ไม่มีเลยสักปีที่เราได้ยินว่าแท็กซี่บริการดีขึ้น มาตรฐานการให้บริการคงเดิม ปัญหาเดิม ๆ เพิ่มเติม คือจ่ายเงินมากขึ้น ทั้งตอนรถติดและตอนรถวิ่งอีกต่างหาก
นอกจากจะไม่ยุติธรรมแล้ว แสดงว่าการขึ้นค่าโดยสารอย่างเดียวไม่สามารถเยียวยาปัญหานี้ได้ถูกต้องหรือไม่
ทำไมเราไม่ลองมาจับมือคุยกับในหลาย ๆ ส่วนว่า จะจัดการเรื่องนี้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร เพราะสุดท้ายแล้วถ้าการบริหารจัดการทั้งจำนวนรถและถนนยังไม่ดี ปัญหาแท็กซี่ก็ยังคงวนเวียนอยู่ที่เรื่องเลือกผู้โดยสารและบริการที่ไม่ได้มาตรฐานเหมือนเดิม ไม่ว่าจะจ่ายเงินแพงแค่ไหนก็ตาม
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.matichon.co.th/economy/news_1204099
http://www.komchadluek.net/news/hotclip/350351
https://www.thairath.co.th/content/1230987
https://thestandard.co/taxi-ok-fee-12000thb-month-ideas/
https://voicetv.co.th
ความเห็น 128
BEST
ความคิดบ้าๆ เอาเงิน12000ไปผ่อนรถสบายๆเลยดีกว่า
08 พ.ย. 2561 เวลา 01.11 น.
Bill สุรพล
BEST
ขึ้นค่าTaxi ไปมากๆด้วย
คนจะไม่ขึ้นเอง
08 พ.ย. 2561 เวลา 01.09 น.
พ่อหม้ายครวญ
BEST
คิดได้ พูดได้ แต่ผู้โดยสารไม่เอาแน่ๆ เจ๊งแน่ๆมึง
08 พ.ย. 2561 เวลา 01.17 น.
J.Pop
ขึ้นรถเมล์เก็บตังไปซื้อ iphone ipad ผ่อนรถดีกว่ามั๊ย ส่วนคนมีตังจ้างคนขับรถดีกว่ามั๊ย ถ้าทำจริงก็ดีจะได้เจ๊งและถนนจะได้โล่งขึ้น จะได้ขับรถสบายหน่อย
08 พ.ย. 2561 เวลา 01.17 น.
มากกว่าเงินเดือนผมอีกจะเอาที่ไหนไปจ่าย
08 พ.ย. 2561 เวลา 01.09 น.
ดูทั้งหมด