Exclusive Interview : “อาจารย์ปิง” ชี้! แก้ปัญหาการศึกษาให้ตรงจุด อย่าเหมารวม ด้วยการยกเลิกทั้งระบบ!
ระบบ TCAS หรือ Thai University Central Admission System เป็นระบบแอดมิชชั่นแบบใหม่ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติใช้ในปี 2561 นี้ ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางกับปัญหาของระบบที่ทำให้เกิดความล่าช้า คะแนนเฟ้อ เปิดโอกาสให้เด็กเก่งๆได้มีที่นั่งมากกว่าซึ่งกันสิทธิ์เด็กคนอื่นๆในการที่จะได้ที่เรียนที่ต้องการ และอื่นๆอีกมากมาย ในวันนี้ เรามีโอกาสได้คุยกับ "อาจารย์ปิงดาว้องก์"ติวเตอร์ผู้คร่ำหวอดในวงการการศึกษาและเป็นที่รักของนักเรียนรุ่นต่อรุ่นในบรรยากาศสบายๆ ซึ่งอาจารย์ปิงได้กรุณาเปิดสถาบันดาว้องก์ อันเป็นดั่งบ้านหลังที่สองของหลายๆคนต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง เพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องระบบแอดมิชชั่น TCAS และถกเรื่องปัญหาการศึกษาไทย
TCAS มีเจตนาดีที่จะแก้ปัญหา…แต่ยังไม่“ครบ”
“ครูมองว่าความคิดเบื้องหลังระบบ TCAS เนี่ย เป็นเจตนาดีนะ เพราะในระบบแอดมิชชั่นที่ใช้ก่อนหน้านี้ นักเรียนต้องไปวิ่งรอกในสนามสอบหลายครั้ง ในหลายพื้นที่ บางทีต้องสอบตั้งแต่ ม.หก เทอมหนึ่ง หรือต้องมาสอบใกล้ๆช่วงมิดเทอมด้วยซ้ำ มันก็ไม่สัมพันธ์กับเวลาเรียน เด็กก็ต้องมากังวล ไหนจะสอบมิดเทอม ไหนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย”
“TCAS ก็เลยถูกคิดขึ้นมาเพื่อจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้โดยการย้ายการสอบทุกอย่างไปไว้หลัง จบ ม.หก ทีเดียว เพื่อที่นักเรียนจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการสอบเข้ามหาลัยฯในช่วงที่ยังเรียนอยู่ และก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายรอบ”
“แต่ทีนี้ปัญหามาอยู่ที่ว่า เขายังคิดไม่ครบทุกมิติ สิ่งที่ขาดไปคือเรื่องของ “เงื่อนไขเวลา” คือหนึ่ง อย่าลืมว่าคุณทำงานกับวัยรุ่น และวัยรุ่น…ไม่ได้พูดเล่นนะ…วัยรุ่นใจร้อน เขาต้องการรู้ที่เรียนกันเร็วๆ มันเหมือนคนหิวน่ะ ถ้าเธอหิวเธอก็ต้องกินใช่ไหม แต่นี่คือหิวแล้วไม่ได้กิน ไม่ทันใจ…ขณะที่คนอื่นติดกันไปหมดแล้ว เรายังไม่มีที่เรียน เด็กก็เครียดหรือเปล่า…คือระบบที่ออกแบบมามันลืมคิดให้ครอบคลุมตรงนี้…ทั้งๆที่มีเจตนาดีเลยนะ แต่มันยังไม่ครบ ยังแก้ปัญหาได้ไม่ครบทุกด้าน”
แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบ TCAS ไม่ดี?
“คือระบบมันมีปัญหา เราก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะจุดไป ตรงไหนควรแก้ เราก็ไปแก้ที่ตรงนั้น…สำหรับ TCAS ปัญหามันอยู่ตรงที่เรื่องเงื่อนไขเวลาเพราะการให้สิทธิ์ที่นั่งกับเด็กที่ได้คะแนนสูงมากๆก่อน เช่นพวกที่ตั้งใจจะสอบหมอ พอมี TCAS ที่ให้สิทธิ์ที่นั่งกับคนพวกนี้ กลายเป็นหมอติดนิเทศ หมอติดรัฐศาสตร์ หมอติดเศรษฐศาสตร์ แล้วพอหมอไม่เอา ที่นั่งถึงจะว่างมาให้คนที่สอบรอบหลังๆ ซึ่งมันไม่แฟร์กับเขา เพราะมันทำให้เขาต้องรอนาน และเสียโอกาสหลายๆอย่างในชีวิต”
“แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบ TCAS ไม่ดี มันถูกออกแบบมาด้วยเจตนาดี อย่างที่บอก…เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่ามีปัญหาอะไรในระบบ ก็ควรจะแก้เป็นกรณีๆไป ไม่ใช่ยกเลิกทิ้งหรือเปลี่ยนระบบใหม่ทั้งหมด”
การมองปัญหาด้านการศึกษาแบบ “เหมารวม” ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร
“เวลาอ่านข่าวประเภท “การศึกษาไทยเข้าขั้นวิกฤต” หรือ “เด็กไทยไม่เก่งภาษาอังกฤษ” ครูจะมีความคิดหนึ่งอยู่เสมอ…ก็คือ…นี่คือ “การเหมารวม”…บางทีคนที่อยู่ในวงการการศึกษาเอง พอได้ยินคำว่า “การศึกษาไทยเข้าขั้นวิกฤต” เขาก็ถามกันว่า “วิกฤตยังไง? อะไรล่ะที่วิกฤต?” หรือพอได้ยินคำว่า “เด็กไทยไม่เก่งภาษาอังกฤษ” เราก็จะตั้งคำถามว่า “เด็กไทยกลุ่มไหนล่ะที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ?” …คือเราชอบเหมารวมกันมากเกินไป มันทำให้ทุกอย่างดูเป็นปัญหาที่ใหญ่ไปหมด วุ่นวายไปหมด”
“สมมติเราจะแก้ปัญหาเรื่องเด็กไทยที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ แทนที่จะปรับหลักสูตรใหม่แล้วบังคับใช้กับทุกพื้นที่ให้เหมือนๆกัน เราควรที่จะมองดูก่อน…เด็กที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ เขาไม่เก่งอะไร…สมมติเด็ก กทม. เก่งพูดไม่เก่งแกรมม่า…แต่เด็กต่างจังหวัดเก่งแกรมม่าไม่เก่งพูด…ความไม่เก่งตรงนี้มันก็ต่างกันแล้ว เราไม่สามารถจะเหมารวมได้ว่าวิธีการแก้ปัญหาวิธีเดียวจะใช้ได้กับทุกๆคน”
“ก็เหมือนที่ครูพูดถึงปัญหา TCAS นั่นแหละ…คือถ้าเกิดมันมีปัญหาตรงไหนก็ต้องแก้ ณ จุดๆนั้น ไม่ใช่เหมารวมว่ามันไม่ดีทั้งระบบแล้วก็ยกเลิก ยกทิ้ง…เหมือนถ้าเรามีปลาเน่าตัวเดียวในเข่ง เราไม่ควรจะทิ้งปลาทั้งเข่ง แต่ควรจะหยิบปลาเน่าตัวนั้นออก…เพราะฉะนั้นครูถึงบอกว่าการมองปัญหาแบบเหมารวมไม่ได้ช่วยอะไร และการแก้ปัญหาแบบเหมารวมก็อาจจะไม่ได้ตรงจุดขนาดนั้น”
“เด็กเก่ง” ไม่ได้มีแบบเดียว
“ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ก็คือ เราไปมองว่า ทุกๆคนต้องเก่งแบบเดียวกัน ทุกๆคนต้องเก่งวิชาการ ต้องสอบได้คะแนนดีๆ เพื่อที่จะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ…ซึ่งเรากำลังผลักให้เด็กที่ไม่เก่งวิชาการแบบคนอื่นไปอยู่ชายขอบ ทั้งๆที่เขาอาจจะมีข้อดีด้านอื่น บางคนไม่เก่งเลข แต่อาจจะเก่งเกษตร ปลูกต้นไม้เก่งมาก ที่บ้านเป็นเกษตรกร…มันก็พัฒนาประเทศได้เหมือนกัน”
“นิ้วห้านิ้วยังไม่เท่ากัน แต่ก็ทำให้เราหยิบจับอะไรได้สะดวกขึ้น ทำไมเราถึงคาดหวังให้เด็กทุกคนเก่งเท่ากัน เด็กเก่งๆไม่ได้มีแบบเดียวเสมอไป”
แก้ปัญหาการศึกษาด้วยสมองไม่พอ…ต้องใช้หัวใจด้วย
“จริงๆสิ่งที่เป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วนในวงการการศึกษาเลยก็คือ “นักจิตวิทยาเด็ก” นะ…เราลืมไปหรือเปล่าว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้ดำรงชีวิตด้วยสมองอย่างเดียว แต่มีหัวใจด้วย เวลาเราคิด ออกแบบหลักสูตร หรือออกแบบระบบอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการศึกษา เราต้องคิดเผื่อหัวจิตหัวใจของเด็กที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบด้วย ไม่ใช่ออกแบบมาเพื่อให้มันวัดผลความสามารถทางสมองอย่างเดียว”
เชื่อในพลังคนรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาแบบ “เรียลๆ”
“คือถ้าถามครูว่า แล้วสุดท้ายระบบ Admission แบบไหนมันจะดีที่สุด ครูก็ตอบไม่ได้หรอก…ระบบ Admission คือระบบสำหรับคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัย…มันก็อยู่ที่คนรุ่นหลัง คือรุ่นพวกเธอ ว่าต้องการคนแบบไหน…วันที่เธอขึ้นมาเป็นพ่อแม่ เธออยากให้เยาวชนรุ่นหลังเธอเป็นแบบไหน มันอยู่ที่พวกเธอ”
“แต่ครูเชื่อว่าอนาคตมันอยู่ในมือคนรุ่นใหม่เนี่ยแหละ ครูเชื่อมั่นในคนรุ่นนี้ที่เขาโตขึ้นมากันแบบเรียลๆ เรียลๆคือจริงๆน่ะ พวกที่ไม่ได้โตมาแบบต้องทำดีสร้างภาพ กล้าคุยกับผู้ใหญ่ กล้าถกเถียง คนพวกนี้แหละที่จะทำให้เกิดความจริง เราก็จะเห็นปัญหาจริงๆ และแก้มันได้จริงๆ”
เขาว่า “ครูไทย” ไม่มีคุณภาพ?
“ไม่จริงนะ…อย่างครูจบใหม่สมัยนี้เก่งๆก็เยอะ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คร่ำครึ หัวโบราณเหมือนคนยุคเก่าแล้วนะ ที่ครูมีโอกาสได้ไปคลุกคลีมาก็คือแบบ…ส่วนใหญ่ก็พูดคุย เฮฮากับเด็กๆได้ เหมือนอยู่กันเป็นเพื่อนมากกว่านักเรียนกับครู บางอย่างไม่รู้ก็บอกเด็กว่าไม่รู้…ให้เด็กไปช่วยหามา เด็กก็จะรู้สึกว่าเขาได้ช่วยครู…”
“คือการที่ครูยอมเผยแง่มุมความเป็นมนุษย์มากขึ้น พอเด็กเขาเห็นว่าเออ มันก็มีบางอย่างที่เราไม่รู้ มันก็มีบางอย่างที่เราผิดพลาดบ้าง เด็กก็กล้าพูด กล้าถาม กล้าคุยกับเรามากขึ้น มันก็วินวินทั้งคู่”
แต่ครูบางคนก็ยังลงโทษเด็กด้วยวิธีผิดๆอยู่
“เช่นยังไง? (ทีมงาน: “เช่นข่าวที่มีครูลงโทษให้เด็กที่ไม่ได้ใส่เสื้อซับในมาถอดเสื้อใน”) อันนั้นคงต้องย้อนถามกลับไปที่ครูคนนั้นนะว่า ว่างมากใช่ไหมคะ (เน้นเสียง) เอ้า จริงๆนะ ถ้าไม่ว่างทำไม่ได้ (หัวเราะ) เอาจริงๆถ้าสมมติเด็กที่คุณลงโทษเป็นลูกเป็นหลานคุณ คุณจะทำเขาถึงขนาดนั้นมั้ย?…ครูว่าไม่…ใจเขาใจเราไง จริงๆแล้วถ้าเกิดว่าเรารักเขา เมตตาเขาอย่างที่เด็กคนนึงสมควรได้รับ เราจะไม่เกิดปัญหานี้เลย…”
“คือคุณอาจจะบอกว่าหวังดี แต่แล้วถ้าความหวังดีนั้นมันอยู่บนวิธีการที่ไม่ถูกต้องเราก็ต้องกลับมาพิจารณาแล้วว่าความหวังดีนั้นจะมีประโยชน์กับใคร กับตัวเด็กจริงๆหรือเปล่า?”
ใครคือครู…ครูคือใคร…ในวันนี้
“สำหรับครู สิ่งที่สำคัญของคนเป็นครูคือหนึ่งต้องสอนเป็น ต้องถ่ายทอดเป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากมาก…คนเก่งๆมีมากมาย แต่คนที่สอนได้มีไม่กี่คนนะ…และข้อสองที่สำคัญมาก ที่ครูพูดไปแล้วก็คือต้องรักเด็ก เพราะพอเรารักเขา เราก็จะเมตตาเขา เข้าใจเขาในแบบที่เขาเป็น บทบาทหน้าที่ของครูควรจะเป็นแบบนั้น”
“ครู (อาจารย์ปิง) เองเปิดสอนโรงเรียนกวดวิชาแบบนี้ก็เพราะว่ารักเด็กๆ ชอบอยู่กับเด็ก ชอบเห็นเด็กเจริญเติบโตไปในแบบที่เขาควรจะเป็น ไม่ใช่มองเขาเป็นธุรกิจ ครูถึงอยู่ได้มาทุกวันนี้ ไม่เคยท้อ ไม่เคยหมดไฟในการสอนเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน (หัวเราะ)”
“ถ้าสมมติวันหนึ่งอาจารย์ปิงจะไปจาก ดาว้องก์ คนที่จะมาแทนครู ครูก็ขออย่างเดียว คือขอให้เป็นคนที่รักเด็กๆของครูแบบที่ครูรักก็พอค่ะ (ยิ้ม) แต่ตอนนี้ครูยังไม่ไปไหนนะ ไฟในการสอนยังไม่เคยมอดลงก็เพราะยังมีคนที่อยากเรียนกับเราอยู่นี่แหละ บางคนจูงลูกจูงหลานมาเรียนแล้ว ซึ่งมันแปลว่าพอเขาเติบโตได้ดิบได้ดี เขาก็ยังคิดถึงเรา ซึ่งมันก็เป็นหนึ่งกำลังใจให้เรายังคงอยากสอนต่อไปไม่หยุดเลย”