โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

Others

เบื้องหลังอาสากู้ภัย การทำดีที่ไม่สวยหรู คุยกับ ร.อ.ณัฏฐพงศ์ วัลลภศิริ อาสากู้ชีพบัวเพชร

The MATTER

อัพเดต 01 ต.ค. 2564 เวลา 11.45 น. • เผยแพร่ 01 ต.ค. 2564 เวลา 23.30 น. • Branded Content

หากจะพูดถึงงานอาสา ภาพเบื้องหน้าในมุมมองของคนส่วนใหญ่ คือการทำความดีที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ผู้ให้เองก็อิ่มเอมใจที่ได้ช่วยเหลือ แต่สำหรับงานอาสากู้ภัย ภาพเบื้องหลังจริงๆ กลับไม่ได้สวยหรูเหมือนกับงานอาสาอื่นๆ

เพราะงานอาสากู้ภัย นอกจากผู้ที่ทำงานต้องสละทั้งเวลา แรงกาย แรงใจแล้ว ยังต้องแบกรับภาระหน้าที่อันหนักหน่วงในการช่วยเหลือชีวิตคน อยู่บนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นความตายไม่น้อยไปกว่าแพทย์เลยทีเดียว และที่สำคัญยังมีเบื้องหลังสีเทาๆ บางอย่างที่ไม่สวยหรูเหมือนเบื้องหน้าอีกด้วย

ชวนไปพูดคุยกับ ร.อ.ณัฏฐพงศ์ วัลลภศิริ จากทีมอาสากู้ชีพบัวเพชร ถึงอุปสรรคและบทพิสูจน์ที่ต้องพบเจอในการทำงานอาสา รวมไปถึงอุดมการณ์ที่ผลักดันให้ทำงานอาสากู้ภัยมานานกว่า 30 ปี

อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการมาทำงานอาสา

คือเราเป็นผู้ใช้รถใช้ถนนมาก่อน พอเจออุบัติเหตุแต่ไม่สามารถที่จะเข้าไปช่วยเหลือคนเจ็บได้ เพราะไม่มีความรู้ บังเอิญว่ามีเพื่อนทำงานอาสากู้ภัยอยู่ ก็เลยให้เพื่อนพาไปสมัครดู รู้สึกว่าหากเราเป็นกู้ภัยจะได้มีความรู้ช่วยเหลือคนเจ็บในตอนนั้นได้

การสมัครเข้ามาเป็นอาสากู้ภัยถือว่ายากไหม

ผมว่าไม่ยาก หากว่าใจรักที่จะช่วย เพราะคนที่เข้ามาทำงานอาสากู้ภัยในยุคนั้น ต้องเข้ามาด้วยใจรักความเป็นอาสาสมัครจริงๆ ตอนที่ผมเข้ามาการฝึกการอบรมยังไม่มีเลย ผมก็เป็นน้องใหม่ เรียนรู้จากรุ่นพี่ในการช่วยเหลือคน การฝึกอบรมจริงๆ มาเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งการเป็นกู้ภัยกู้ชีพปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรขั้นต่ำ 40 ชั่วโมง ถึงจะให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยได้

จำเคสแรกที่ไปลงงานได้ไหม เป็นยังไงบ้าง

เคสแรกที่ผมไปปฏิบัติงานคือเคสผู้เสียชีวิตเลย เป็นความรู้สึกที่เหมือนการต้อนรับน้องใหม่ คือผู้เสียชีวิตไส้ทะลัก อวัยวะภายในออกมาข้างนอก แล้วเราต้องไปเก็บทุกชิ้นใส่ถุง ส่งนิติเวช และต้องทำความสะอาดถนน เราก็ไม่คุ้นเคยกับกลิ่นคาวเลือด จะรู้สึกแปลกๆ มันเป็นเคสแรกที่เราก็รู้สึกว่ามันหนักไปไหม เป็นอะไรที่เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน

หน้าที่ประจำวันอาสากู้ภัยต้องทำอะไรบ้าง

อันดับแรกคือความเป็นอาสาสมัครต้องใช้เวลาว่างที่มีสแตนด์บายวิทยุให้การช่วยเหลือ บางคนอาจจะทำงานกลางคืน กลางวันก็มาทำงานกู้ภัย หรือถ้าบางคนทำงานกลางวัน ก็มาทำงานกู้ภัยกลางคืน สลับกัน อย่างของผมเอง คือเลิกจากงานประจำ เคลียร์ธุระส่วนตัวเรียบร้อยแล้วก็ออกมาสแตนด์บาย จะอยู่ถึงดึกแค่ไหนก็อยู่ที่ตัวเรา อาจจะอยู่ถึงเที่ยงคืนหรืออยู่ถึงเช้า เพราะว่าบางทีถ้าไม่มีเหตุก็นอนในรถกันอยู่แล้ว งานกู้ภัยเป็นงานที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ช่วยคนเจ็บคนป่วยอย่างเดียว ประชาชนร้องให้ช่วยจับสัตว์เลื้อยคลาน ลืมกุญแจบ้าน ลืมกุญแจรถ เราก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ

มองว่าอะไรเป็นคุณสมบัติสำคัญ ที่คนมาทำงานอาสากู้ภัยทุกคนต้องมี

อันดับแรกคือต้องมีใจรักงานอาสา เพราะว่างานอาสาคือการเสียสละเวลาส่วนตัว เวลาความสุขที่ต้องนอนอยู่บ้านสบายๆ บนเตียงนุ่มๆ และอีกอย่างคือทักษะในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย ที่ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากการช่วยเหลือผิดวิธี อาจกลายเป็นการซ้ำเติมผู้บาดเจ็บ จึงจำเป็นต้องผ่านการอบรม และการใช้อุปกรณ์ของกู้ภัยก็สำคัญ อย่างเช่นตึกถล่ม ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในอาคาร เกิดอุบัติเหตุจะใช้อุปกรณ์อะไรในการที่จะช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ต้องมีทักษะ ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝน เพราะเราเป็นหน่วยงานแรกที่เข้าไปถึงตัวผู้บาดเจ็บ การประเมินอาการสำคัญที่สุด จะช่วยเหลือเขาถูกวิธีไหม จะเป็นการซ้ำเติมการบาดเจ็บมากขึ้นไหม มันอยู่ที่ตัวอาสากู้ภัยทั้งหมด

ในบรรดาเคสที่ลงปฏิบัติงาน มีเคสไหนที่ทำแล้วรู้สึกดีที่ได้ทำงานตรงนี้

ถือว่าทุกเคสที่เราช่วยเลย มีบางเคสที่เขาหยุดหายใจไปแล้ว เพราะว่าจับชีพจรไม่เจอ แต่เราวิเคราะห์แล้วพบว่าสาเหตุไม่น่าจะทำให้เสียชีวิตได้ ผมก็ต้องใช้เครื่องกระตุกหัวใจ ทำการปั๊ม CPR แล้วให้พยาบาลเช็กดูอีกที จนมีชีพจรกลับมา แล้วนำส่งโรงพยาบาล เพราะบางทีผู้บาดเจ็บอยู่ผิดท่า ทำให้ชีพจรอาจจะไม่เต้นก็ได้ ถ้าปล่อยเอาไว้ เขาอาจจะเสียชีวิต การที่เราช่วยให้เขาฟื้นขึ้นมา ได้พบเจอหน้าครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นความสุขทุกครั้ง เป็นความภูมิใจที่เราได้ช่วยเขา

แล้วมีเคสที่รู้สึกว่ามันเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำแล้วรู้สึกดีเหมือนกันบ้างไหม

ตั้งแต่ผมเป็นอาสากู้ภัยมา ผมไม่เคยปิดโทรศัพท์เลย ตี 3 มีคนโทรมา บอกให้จับตุ๊กแกให้หน่อย ผมก็วิทยุไปให้ทีมช่วยจับ แมวโดนเหล็กดัดเสียบ ก็ต้องเอาเครื่องตัดถ่างไปตัดเหล็ก แล้วเอาไปส่งโรงพยาบาล ตัวเงินตัวทองโดนรถทับ ก็ต้องหิ้วไปโรงพยาบาล บางทีชาวบ้านเจอเต่าเดินอยู่บนถนน ก็เรียกให้กู้ภัยเอาไปปล่อยหน่อย คือทำทุกอย่างเพื่อที่จะไม่ให้เขาเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือคนก็แล้วแต่ ความเดือดร้อนของคนมีหลากหลายรูปแบบ เราก็ต้องช่วยเหลือเขาทั้งหมด

ภาพจาก Bangkok Breaking

ได้ดูตัวอย่าง Bangkok Breaking แล้วรู้สึกยังไงบ้าง

ถือว่าตัวละครในเรื่องทำถูกต้องเลย เป็นการช่วยเหลือที่ถูกวิธี หากผู้บาดเจ็บใกล้หมดสติ ต้องมีคนอยู่กับผู้บาดเจ็บ เรียกเขา เพื่อให้เขามีสติกลับมา ให้รู้ว่ามีเราอยู่กับเขาตลอด ให้เขายังมีกำลังใจสู้ เพราะว่าหากช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องถูกวิธี จะเป็นภาพจำของประชาชนว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะต้องช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยยังไง คิดว่าคนดูน่าจะชอบซีรีส์แบบนี้ เพราะได้เห็นอีกมุมหนึ่งของอาสากู้ภัย

เคยเจอเหตุการณ์จริงแบบในเรื่องไหม

จะมีเรื่องของชาวบ้านหรือไทยมุงที่กดดันเรา บอกว่าทำไมไม่ช่วยให้เร็วกว่านี้ ทำไมไม่รีบช่วยเหลือเขาออกมา ขอให้เข้าใจกันนิดหนึ่งว่าการช่วยเหลือที่ช้าแต่ปลอดภัย สำคัญกว่าการช่วยเหลือเร็ว แล้วผู้บาดเจ็บไม่ปลอดภัย อาจไปซ้ำเติมให้เขาพิการตลอดชีวิตได้ ตรงนี้สำคัญมาก ต้องช่วยเหลืออย่างถูกวิธี ใจเย็นๆ เรียงลำดับการช่วยเหลือให้ถูกต้อง

ภาพจาก Bangkok Breaking

อะไรเป็นอุปสรรคในการทำงานอาสากู้ภัย

อุปสรรคเด่นๆ ไม่มี แต่จะมีเรื่องของตัวแปร หรือการเอาความเป็นกู้ภัยไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง อย่างที่พบเจอก็คือใช้รถกู้ภัยในการขนยาเสพติด ตบตาด่านตรวจ ทำสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้วงการกู้ภัยเสื่อมเสีย นั่นคือด้านมืดอีกด้านหนึ่งที่คนในวงการเองอาจจะรู้ แต่ไม่กล้าที่จะไปยุ่งอะไรกับเขามาก เพราะว่าถ้าไปยุ่ง ก็อาจมีอิทธิพลกลับมาได้ ซึ่งเราเองเห็นแล้วก็ทำให้รู้สึกหดหู่กับการที่ทำให้วงการกู้ภัยแปดเปื้อน คนที่เข้ามาเป็นอาสาจะมาด้วยอุดมการณ์อยากช่วยเหลือ แต่ด้วยปัญหาอะไรก็ตาม ทำให้เขาต้องบิดอุดมการณ์ของเขาไป อาจจะยอมทำสิ่งผิดกฎหมายเพื่อที่จะได้เงิน ก็อยากขอให้ช่วยกันดีกว่า เตือนได้ก็เตือน แต่ถ้าเตือนไม่ได้ก็ต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการไป เพื่อให้คนเหล่านี้หมดไปจากการวงการอาสากู้ภัย

อะไรที่ทำให้ทำงานอาสามาได้นานถึง 30 ปี

อุดมการณ์นี่แหละ ถามว่าเหนื่อยไหม การเป็นอาสาเหนื่อยอยู่แล้ว แต่ถามว่าท้อไหม ไม่ท้อ อาจจะมีพักไปบ้าง หากว่าเรามีใจที่จะช่วยเหลือจริงๆ โดยที่ไม่หวังผลประโยชน์ ไม่ต้องไปบอกใครว่าเราทำเพื่ออะไร คนอื่นจะเห็นเราเองว่าเราทำ มันจึงทำให้ผมอยู่ได้นาน จนถึงเวลานี้ 30 ปีแล้ว

อยากบอกอะไรกับคนที่อยากมาทำงานอาสากู้ภัยบ้าง

ทุกคนที่เข้ามา อยากเข้ามาช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว แต่เพียงแค่ว่าขอให้ยึดมั่นในอุดมการณ์และยึดมั่นในความรู้สึกที่ตัวเองมี หากมีสิ่งล่อใจหรือผลประโยชน์เข้ามา คุณต้องหนักแน่น จะทำให้ความเป็นอาสาอยู่แบบยั่งยืนตลอดไป เพราะหากคุณไปมีผลประโยชน์ จะไม่ใช่การเป็นอาสาแล้ว แต่มันจะกลายเป็นอาชีพ

แยกให้ถูกว่าเวลานี้คุณสวมหมวกความเป็นอาสาอยู่ เวลานี้คุณสวมหมวกความเป็นอาชีพอยู่ อยากจะฝากน้องๆ ทุกคนที่จะเข้ามาในวงการนี้เท่านี้เอง

Content by Wichapol Polpitakchai
Illustration by Rojjanaon Yailaibang

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0