โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จับมือ สธ. หนุนผลิตแพทย์เพิ่ม-ตั้ง รพ.นครปฐมเป็นศูนย์แพทย์ศึกษา

MATICHON ONLINE

อัพเดต 20 ธ.ค. 2566 เวลา 08.18 น. • เผยแพร่ 20 ธ.ค. 2566 เวลา 07.41 น.
ปก-ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จับมือ สธ. หนุนผลิตแพทย์เพิ่ม

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จับมือ สธ. หนุนผลิตแพทย์เพิ่ม-ตั้ง รพ.นครปฐมเป็นศูนย์แพทย์ศึกษา

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการสนับสนุนการเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสมทบในการผลิตแพทย์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพ เพิ่มอัตรากำลังคนในระบบสาธารณสุขให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รวมถึงสนับสนุนให้โรงพยาบาลในสังกัดเป็นโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสมทบในการร่วมผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้เป็นบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติที่ดี มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา โดยความร่วมมือในครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะร่วมกันผลิตแพทยศาสตรบัณฑิต และสนับสนุนให้โรงพยาบาลนครปฐม เป็นโรงพยาบาลหลักจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกในการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ

“ปัจจุบันโรงพยาบาลนครปฐมเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญในหลายด้าน อาทิ โรคหัวใจ ทารกแรกเกิด มะเร็ง หลอดเลือดสมอง และการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งจะเริ่มในปี 2567 เบื้องต้น 32 คน แต่อาจจะขยายเพิ่มเติมได้” ปลัดสธ.กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า รพ.นครปฐม ยังมีภารกิจในโครงการร่วมสอนและผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในระดับก่อนและหลังปริญญากับสถาบันต่างๆ ได้แก่ สถาบันร่วมสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 สถาบันฝึกปฏิบัติแพทย์ประจำบ้านสาขาต่างๆ และเป็นสถาบันหลักฝึกปฏิบัติแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ เป็นต้น จึงมีความพร้อมเป็นสถานที่รองรับการฝึกทักษะวิชาชีพของนักศึกษาแพทย์ในชั้นปีที่ 5-7 ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เริ่มตั้งแต่ 14 มิถุนายน 2567 นี้ เป็นต้นไป อีกทั้ง ยังร่วมกันจัดทำแผนการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในชุมชน และพัฒนาอาจารย์แพทย์และบุคลากรของศูนย์แพทย์ฯ ในด้านแพทยศาสตรศึกษาและทางคลินิก ให้มีความก้าวหน้าในวิชาชีพด้วย ทั้งนี้ จะดำเนินการตามความร่วมมือตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 จนถึงปีการศึกษา 2576 รวมระยะเวลา 10 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะอะไรถึงเลือกรพ.นครปฐม เป็นแหล่งฝึกอบรม นพ.โอภาส กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกรพ.นครปฐมนั้น จริงๆเรามีรพ.หลายแห่งเหมาะสม โดยเฉพาะรพ.นครปฐม เป็นรพ.ศูนย์ที่มีศักยภาพ มีบุคลากร มีสถานที่พร้อม เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เป็นไปตามเกณฑ์กำหนด และด้วยผอ.รพ.นครปฐม มีความมุ่งมั่นในการยกระดับบริการ ซึ่งเราพบว่า ระยะหลังรพ.ของกระทรวงฯ ที่มีศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษานั้นพบว่า บุคลากรเรามีความเชี่ยวชาญและต้องการพัฒนาตนเองมากขึ้น ตรงนี้จึงเป็นหมุดหมายที่ดีในการพัฒนาและยกระดับเป็นอะคาเดมี (Academy) ในการผลิตบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขต่างๆในอนาคต อย่างที่ผ่านมาเราผลิตพยาบาลจำนวนมาก และผลิตแพทย์ปีละ 1,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผลิตแพทย์จำนวนมากที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาค อีกทั้งคาดว่าอาจมากที่สุดในโลกก็เป็นได้

เมื่อถามว่าในอนาคตมีแผนฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรในรพ.อื่นๆอย่างไร ปลัดสธ. กล่าวว่า อยากให้โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ทุกแห่งเป็นแหล่งฝึกอบรม ผลิตบุคลากรทุกระดับ ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง นี่คือเป้าหมายสำคัญของกระทรวงในการยกระดับบริการ

ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะเป็นสถาบันการวิจัยวิชาการชั้นสูงและจัดการศึกษาทางวิชาการ วิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การแพทย์และการสาธารณสุข มีแผนเปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน โดยจะดำเนินการจัดการเรียนการสอนแพทยศาสตรบัณฑิต ในชั้นปีที่ 1-4 รวมถึงจะช่วยกำกับดูแลและส่งเสริมการพัฒนาอาจารย์ การเรียนการสอน และการประกันคุณภาพการศึกษาของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลนครปฐม และสถาบันสมทบ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานและบริการสุขภาพ รวมถึงสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาแพทยศาสตร์ของแพทยสภาด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น