โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

FootNote:บทบาท รัฐบาล รัฐธรรมนูญ อ่านรหัส เร้นลึก นิกร จำนง

Khaosod

อัพเดต 24 ต.ค. 2566 เวลา 04.19 น. • เผยแพร่ 24 ต.ค. 2566 เวลา 03.38 น.
FootNote

FootNote:บทบาท รัฐบาล รัฐธรรมนูญ อ่านรหัส เร้นลึก นิกร จำนง

การออกมายอมรับของ นายนิกร จำนง ในเรื่องของ "ประชามติ" ในเรื่องของการจัดทำ "รัฐธรรมนูญ" ไม่เพียงสะท้อนความจัดเจนในทางการเมือง หากยืนยันถึงทิศทางของ "รัฐธรรมนูญ" ได้เด่นชัด

นั่นก็คือ การออกมายอมรับถึง "ความเป็นจริง" ที่ข้อเสนอในปมว่าด้วย "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ว่าจะดำเนินไปอย่างไร

ความต้องการของภาคประชาชนที่ยืนยันผ่านกว่า 200,000 รายชื่อ ที่จะให้มีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนร้อยละร้อยนั้น ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นในทางเป็นจริง

แม้ว่าบทสรุปนี้จะมาจาก "ความเชื่อ" ยังมิได้เป็นมติของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ และแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเหตุผลของ นายนิกร จำนง น่ารับฟัง

เชื่อได้เลยว่า นางสิริพรรณ สวัสดี นกสวน ซึ่งร่วมอยู่ในรายการ "ตอบโจทย์" ของไทยพีบีเอส ก็อาจจะแอบพยักหน้าอย่างขรึมๆ อยู่ภายในใจเหมือน นายสุทธิชัย หยุ่น

เพราะความเชื่อเช่นนี้ได้มีการยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมผ่าน การเผยแพร่ "คลิป" ที่เน้นออกมาและกลายเป็น "ไวรัล" มีการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางด้วยความรวดเร็ว

เนื่องจากความเชื่อของ นายนิกร จำนง หนักแน่นอย่างยิ่ง

หนักแน่นประการหนึ่งเพราะว่า นายนิกร จำนง ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเป็น โฆษกของคณะกรรมการ อันทรงความหมายยิ่งต่อรัฐธรรมนูญและต่อการทำประชามติ

ประการหนึ่ง เพราะว่า นายนิกร จำนง ผ่านประสบการณ์และมีบทเรียนในการจัดทำรัฐธรรมนูญมาอย่างโชกโชน

โดยพื้นฐานก็คือมีส่วนร่วมคิดร่วมตัดสินใจในการเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายของพรรคชาติไทย ร่วมกับ นายบรรหาร ศิลปอาชา ก่อนการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2539

และต่อมาก็มีส่วนอย่างสำคัญในการแปรนามธรรมในทางความคิดแห่งนโยบาย ให้กลายเป็นรูปธรรมทางการปฏิบัติที่เป็นจริงกระทั่งได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาในที่สุด

บทเรียนนี้เองที่ทำให้สถานะของ นายนิกร จำนง ในสายตาของรัฐบาลและของพรรคเพื่อไทยมีความหมายเป็นอย่างสูง

คำถามที่เสนอเข้ามาก็คือ รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายแท้จริงอย่างไรในการจัดตั้งคณะกรรมการและในการมอบหมายให้ นายนิกร จำนง เข้าไปมีส่วนร่วม

ต้องการให้ "ประชามติ" เป็นอย่าง "รัฐธรรมนูญ" เป็นอย่างไร

ต้องการให้ผลงานของ "คณะกรรมการ" ปรากฏเป็นจริงภายในเวลาที่ 4 ปีที่กำหนด หรือต้องการให้ทุกอย่างดำเนินไปใน แบบคดเคี้ยววกวนอันเป็นการถ่วงเวลาและสร้างความชอบธรรม

นี่ย่อมเป็นคำถามต่อพรรคเพื่อไทย เป็นคำถามต่อรัฐบาลที่มุ่งก้าวข้ามความขัดแย้งและดำรงอยู่อย่างเป็น "รัฐบาลพิเศษ"

ถามต่อ นายภูมิธรรม เวชยชัย ถามต่อ นายนิกร จำนง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น