“สูกรมัททวะ” เป็น “พระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า” ที่นายจุนทะ บุตรนายช่างทอง นำมาถวายพระองค์ เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จดำเนินไปยังเมืองปาวา ซึ่งระหว่างทางคณะขอพระพุทธเจ้าแวะพักอยู่ที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ เขาจึงกราบอาราธนาพระพุทธเจ้าไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของเขาในวันรุ่งขึ้น
ซึ่งนั่นคือ “พระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า” ที่เป็นข้อถกเถียงว่ามันคืออะไร?
เพราะเช้าวันรุ่งขึ้น นายจุนทะนำอาหารที่เรียกว่า “สูกรมัททวะ” มาถวาย เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยแล้วก็ให้นายจุนทะนำส่วนที่เหลือไปกลบฝัง พร้อมรับสั่งว่า
“เราตถาคตมองไม่เห็นใครในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่บริโภคสูกรมัททวะแล้วจะย่อยได้ดีนอกจากเราตถาคต”
สูกรมัททวะที่ว่าคืออาหารประเภทไหนกันแน่
ทำไมพระพุทธเจ้าเสวยไม่นานก็เกิดอาพาธอย่างแรง พระโรคที่เรียกว่า “ปักขันทิกาพาธ” ก็กำเริบ ทำให้ทรงประชวรลงพระโลหิต (ถ่ายเป็นเลือด) พระอาการเพียบหนัก
เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ (เสียชีวิตแล้ว) อธิบายว่าในสายเถรวาท สูกรมัททวะหมายถึงเนื้อหมูอ่อน ทั้งค้นคว้าเพิ่มว่า ในหนังสือชั้นอรรถกถาชื่อ สุมังคลวิลาสินี แต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดีย ตีความ “สูกรมัททวะ” ไว้ 3 ทรรศนะด้วยกันดังนี้
1. สูกรมทฺทวนฺติ นาติชิณฺณสฺส เอกเชฎฺฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ สูกรมัททวะ ได้แก่ ปวัตตะมังสะ (เนื้อที่ขายตามตลาด) ของสุกรที่เจริญเต็มที่ ซึ่งไม่หนุ่มเกินไป ไม่แก่เกินไป
ทรรศนะนี้บอกว่าเป็นเนื้อสุกร และอธิบายเพิ่มเติมว่า เนื้อสุกร ที่ไม่แก่เกินไป ไม่หนุ่มเกินไป นุ่มสนิทดี ปรุงอาหารอร่อย นายจุนทะนำเนื้อชนิดนี้มาปรุงอาหารถวายพระพุทธเจ้า
2. เอเก ภณนฺติ สูกรมทฺทวนฺติ ปน มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามนฺติ ว่าสูกรมัททวะ ตรงข้ามทรรศนะแรก คือแทนที่จะเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ กลับเป็นอาหารประเภทพืชไป คือข้าวหุงด้วยนมโค
3. เกจิ ภณนฺติ สูกรมทฺทวํ นาม รสายนวิธิ ตํ ปน รสายนสตฺเถ อาคาจฺฉติ ตํ จุนฺเทน ภควโต ปรินิพฺพานํ ภเวยฺยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตนฺติ อีกมติหนึ่งว่า รสายนวิธีชื่อว่าสูกรมัททวะ รสายนวิธีนั้นมาในคัมภีร์รสายนศาสตร์ นายจุนทะตกแต่งอาหารตามคัมภีร์รสายนศาสตร์ เพื่อมิให้พระพุทธเจ้าปรินิพพาน
ในคัมภีร์ฝ่ายสันสกฤต (คัมภีร์มหายาน) ตีความสูกรมัททวะว่า ได้แก่เห็ดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ไม้จันทน์ เห็ดชนิดนี้หมูชอบกิน จึงเรียกว่าสูกรมัททวะ มติฝ่ายมหายานนี้เข้ากันได้กับทรรศนะที่ 3 ที่ว่าสูกรมัททวะเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง
สรุปแล้ว สูกรมัททวะตีความกันได้ 3 นัย คือ 1. เนื้อสุกรอ่อนนุ่มที่ปรุงอย่างดี 2. ข้าวอ่อนหุงด้วยนมโค 3. ยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง (เห็ดไม้จันทน์)
มาลองวิเคราะห์กันดูว่า “สูกรมัททวะ” ควรเป็นอะไร
หากเป็น “เนื้อสุกรอ่อน” ทำไมพระองค์จึงไม่ให้นายจุนทะถวายแก่พระสาวกรูปอื่น อาหารที่เหลือยังสั่งให้เอาไปฝัง และตรัสว่าสูกรมัททวะนี้พระองค์เท่านั้นเสวยแล้วจึงสามารถย่อยได้ มันจึงไม่ใช่อาหารธรรมดาที่ปรุงด้วยเนื้อหมู
หากเป็น “ข้าวอ่อนหุงด้วยนมโค” ก็ไม่น่าจะย่อยยาก และไม่น่าจะต้องห้ามนายจุนทะถวายแก่พระรูปอื่น แต่ในพระสูตรกล่าวว่า สูกรมัททวะนี้ย่อยยาก
หากเป็น “ยาปรุงพิเศษ” ด้วยตำรับรสายนศาสตร์ (ทางฝ่ายมหายานว่าเป็น เห็ดไม้แก่นจันทน์) ก็น่าจะมีความเป็นไป ด้วยเหตุลผล
1. นายจุนทะรู้ว่าพระพุทธเจ้าประชวร จึงขวนขวายหาตัวยาต่างๆ มา และใช้เวลาปรุงยาตลอดทั้งคืน ถ้าเป็นอาหารธรรมดาไม่น่าจะต้องใช้เวลามากกมายเพียงนี้
2. พระพุทธเจ้ารับสั่งห้ามถวายสูกรมัททวะ แก่พระสงฆ์รูปอื่น เพราะมันเป็นยา ใครไม่ป่วยก็ไม่ควรกินยา และยายังเป็นการรักษาเฉพาะบุคคล
3. ชื่อ สูกรมัททวะ ไม่จำเป็นต้องเป็น “หมู” หรือ “เนื้อหมู” เสมอไป เช่น น้ำนมราชสีห์-พืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่นำมาปรุงยาน้ำนมราชสีห์ ไม่เกี่ยวกับสิงโต
พระพุทธเจ้าทรงทราบดี ว่าอาจมีผู้เข้าใจผิดว่านายจุนทะวางยาพิษพระองค์ถึงกับดับขันธปรินิพพาน จึงตรัสกับพระอานนท์เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่นายจุนทะในกาลข้างหน้าว่า
“ดูก่อนอานนท์ อาจเป็นไปได้ว่าใครคนหนึ่งพึงทำความร้อนใจ ให้เกิดแก่นายจุนทะกัมมารบุตรว่า นี่แน่ะนายจุนทะ ไม่เป็นลาภผลของท่านเสียแล้ว พระตถาคตเจ้าเสวยบิณฑบาตของท่านแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน
อานนท์พวกเธอควรดับความร้อนใจของนายจุนทะเสีย โดยชี้แจงว่า นี่แน่ะจุนทะ เป็นลาภผลของท่านนักหนา พระตถาคตเจ้าเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้วดับขันธปรินิพพาน…บิณฑบาตสองครั้ง มีวิบากเสมอกัน มีอานิสงส์มากกว่า บิณฑบาตอย่างอื่น คือตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณครั้งหนึ่ง
เสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุครั้งหนึ่ง กรรมที่ให้อายุ วรรณ สุข ยศ สวรรค์ และความเป็นใหญ่ ชื่อว่านายจุนทะได้สั่งสมไว้แล้ว”
สูกรมัททวะจึงน่าจะหมายถึงยาสมุนไพรชนิดหนึ่งมากกว่าเนื้อสุกร ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ไขจิตรกรรม พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ภาพเขียนวัดในกลาง จ.เพชรบุรี
- ค้นหลักฐาน “พระพุทธเจ้า” เคยเสวยพระชาติเป็น “เหี้ย”
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก เสฐียรพงษ์ วรรณปก. วาระสุดท้ายของพระพุทธองค์, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 6 สิงหาคม 2552.
เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2566
ความเห็น 0