โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เปิดมุมมอง ‘กม.สมรสเท่าเทียม’ แต่งงานเป็นแค่สเต็ปแรก มีอีกหลากเรื่องที่ต้อง…ดันต่อ!

เดลินิวส์

อัพเดต 20 มิ.ย. เวลา 17.55 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. เวลา 23.00 น. • เดลินิวส์
เปิดมุมมอง ‘กม.สมรสเท่าเทียม’ แต่งงานเป็นแค่สเต็ปแรก มีอีกหลากเรื่องที่ต้อง…ดันต่อ!
รอมานาน!!! สำหรับชาว LGBTQIAN+ หลังที่ประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ 130 เสียง “เห็นชอบ” กฎหมายสมรสเท่าเทียม ส่งผลให้ไทยสร้างประวัติศาสตร์ ประเทศแรก “ในอาเซียน” ใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม นับไปอีก 120 วัน นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

จะมีผลบังคับใช้จริง หรือประมาณปลายปีนี้ ได้ใช้แน่นอนซึ่งครั้งนี้มาฟังมุมมอง “ชาว LGBTQIAN+” มองเรื่องนี้อย่างไร เป็นความต้องการที่แท้จริง หรือว่ายังมีอะไรที่ต้องขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดขึ้นอีกหรือไม่!

เริ่มจาก “โกโก้ เทียมไสย์” นักวิชาการอิสระด้าน Gender ให้มุมมองประเด็นนี้ว่า เรื่องนี้มีการต่อสู้พูดถึงมาอย่างยาวนาน สิ่งที่ได้รับครั้งนี้ อยากให้มองว่า เป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ เป็นสเต็ปแรก เป็นประตูเป็นโอกาสที่เปิดขึ้น เพื่อทำให้ตระหนักถึงสิทธิต่าง ๆ ที่พึงมี และไม่ใช่เพียงแค่การสมรสเท่านั้น แท้จริงแล้วสิทธิที่กระทบกับ LGBTQ ยังมีอีกเยอะมากในสังคม

สิทธิหนึ่งที่ควรได้รับเหมือนกันเป็นเรื่อง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์เพศสภาพ เป็นสิทธิที่ทำให้มีการรองรับอัตลักษณ์บุคคลข้ามเพศในประเทศไทย ซึ่งคนทั่วไปมักมองว่า เป็นแค่การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ นาย เป็นนางสาว หรือนางสาว เป็นนาย แต่จริง ๆ แล้ว ตัวสิทธินี้ยังก้าวต่อไปยังสิทธิอีกหลายเรื่องที่ทำให้การใช้ชีวิตของบุคคลข้ามเพศในประเทศไทย มีคุณภาพชีวิตที่ทัดเทียมผู้อื่นอีกด้วย

“โกโก้” ขยายความว่า ที่มองว่า ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ผ่านสภา ถือเป็นก้าวแรก เนื่องจากยังมีอีกหลากหลายเรื่องในความเท่าเทียม และถ้าถามถึงความเหมือนหรือต่างกับต่างประเทศ ในเรื่องของLGBTQIAN+ ยังคงมีความต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น โกโก้เรียนที่ประเทศอังกฤษ ในความต่างที่เห็นได้อย่างชัดมาก ๆ คือ ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่อยู่ที่สังคม มีความเคารพ ให้เกียรติ ไม่ก้าวข้ามเส้นกัน โดยตอนที่ไปเรียนจะไม่มานั่งจับผิด หรือจับกลุ่ม ถามกันว่า เขาเป็นเกย์หรือเปล่า? แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นเยอะในสังคมไทย สิ่งนี้ดูเหมือนจะเป็นแค่คำพูด แต่ก็เป็นคำพูดที่หยั่งรากลึกถึงการมีอคติทางเพศหรือเปล่า? ทำไมถึงต้องอยากรู้ และการอยากรู้ว่าเขาเป็นอะไรมีผลอะไร ฯลฯ การเคารพกันและกันจึงเป็นความต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน

“โกโก้” ยังให้มุมมองเพิ่มอีกว่า นอกจากกฎหมายที่มีออกมาแล้ว การสร้างความตระหนักรู้ การเคารพความหลากหลายของผู้คนในสังคมเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป อย่างที่กล่าวความเสมอภาคไม่ใช่แค่เรื่องการแต่งงาน แต่เป็นชีวิตประจำวันของเรา รวมถึงสิทธิในการทำงาน การเข้าถึงโอกาสงานที่มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือโดนอคติ เพียงแค่เป็น LGBTQIAN+

“การออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรื่องสิทธิของ LGBTQIAN+ อยากบอกว่า ไม่ใช่เรื่องสิทธิพิเศษใด ๆ แต่เป็นสิทธิที่พึงได้รับในฐานะประชาชนผู้อยู่ภายใต้ประชาธิปไตย ผู้เสียภาษี ผู้ที่ทำหน้าที่พลเมือง ดังนั้นเป็นสิทธิที่เราเองก็สมควรต้องได้รับมานับแต่แรกอยู่แล้ว การขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นเป็นการส่งเสียง สื่อสารในเรื่องราวเหล่านี้ หรืออย่างในงานไพรด์ ทุกครั้งที่มีการเรียกร้องสิทธิไม่ใช่เรื่อง love win เรื่องความรักซะทุกอย่าง! ความรักเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้มองถึงเรื่องความเสมอภาค อยากให้มองเห็นความจริง ให้เห็นถึงจุดมุ่งหมาย และยังมีอีกหลายเรื่อง หลายวาระ อย่างเช่นที่กล่าว การผลักดันพ.ร.บ.อัตลักษณ์ทางเพศของคนข้ามเพศที่ยังคงต้องทำต่อไป ไม่ใช่แค่เพียงเราแต่งงานกันได้จะหมายความว่าชีวิตของ LGBTQIAN+ จะถึงจุดหมายของชัยชนะความเสมอภาค แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องขับเคลื่อน”

ส่วน“เอกภพ พันธุรัตน์” หรือเอก นักประชาสัมพันธ์ที่โลดแล่นและครํ่าหวอดอยู่ในโลกธุรกิจวงการพีอาร์ ที่มักเรียกตัวเองว่า “Princess of PR” ให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับกลุ่มเพศทางเลือก ที่ปัจจุบันมีการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม แม้ส่วนตัวอาจจะเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้โฟกัสชีวิตคู่แบบว่าจะต้องมีเรื่องของทะเบียนสมรส แต่ในความฝันของชีวิตก็อยากมีงานแต่งงานได้ใส่ชุดเจ้าสาว “เอก” เลยเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีความสำคัญสำหรับหลาย ๆ คน ที่เขาตั้งตารอคอยอยากจะใช้ชีวิตร่วมกันโดยมีข้อกฎหมายรับรองการใช้ชีวิตคู่อย่างเหมาะสมและเปิดเผยได้อย่างภาคภูมิ ซึ่งมองว่านี่คือ “โอกาส” ที่เราได้เห็นว่า สังคมเปิดกว้างสำหรับ LGBTQIAN+ มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การยอมรับ แต่ยังมีกฎหมายที่เอื้อประโยชน์มาสู่กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย

นอกจากนี้สิ่งที่อยากจะเห็นหรืออยากให้มีสำหรับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็คือ อยากให้มีการเปิดกว้างและยอมรับตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัว มองว่ามายด์เซตเดิม ๆ ที่ต้องวางกรอบว่าลูกต้องเป็นเพศตามเพศที่เกิดมา แต่ถ้าเขามีการเบี่ยงเบนไปเป็นเพศไหนอย่างไร ตรงนี้ควรมีการปรับเปลี่ยน และสร้างความตระหนัก หรือกระตุ้นเตือนใจให้ครอบครัวได้มีมุมมองใหม่ว่าถึงจะเป็นเพศทางเลือกแต่เด็กเหล่านี้สามารถเติบโตเป็นคนดีและประสบความสำเร็จได้

ดังนั้นนอกจากสถาบันครอบครัวแล้ว สถานศึกษาก็ต้องเป็นส่วนสำคัญที่เปิดกว้าง ให้โอกาสอย่างเหมาะสม ไม่ใช่เพียงแค่ได้รับการยอมรับในระดับอุดมศึกษา แต่สถานศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยก็ควรที่จะมีกระบวนการให้คำแนะนำ หรือแนะแนวเด็กที่เป็นกลุ่มเพศทางเลือกอย่างถูกต้อง เหมาะสม เพื่อวางรากฐานให้เขาเหล่านี้มีความภาคภูมิใจในตัวเองให้การสนับสนุนพัฒนาในด้านที่ดี ความถนัด ความสามารถพิเศษ หรือความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนได้เลือกเส้นทางชีวิตที่ดี เหมาะกับตนเอง และสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพได้

“เอกภพ” มองว่า ในปัจจุบันกระแส“ความยั่งยืน หรือ Sustainable” ได้ถูกกล่าวถึงในแทบจะทุกเวที ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือกระทั่งในแวดวงสังคม เนื่องจากท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ผู้คนต่างต่อสู้ แข่งขัน จนต่างต้องก้าวมาสู่ในจุดที่ทุกการแข่งขัน ทุกกิจกรรมในโลกธุรกิจต้องปรับบริบทของตนมาโฟกัสที่“ความยั่งยืน” นอกจากในแวดวงธุรกิจแล้ว“ความยั่งยืน” ยังกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลบ่งชี้ถึงความเป็นปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เป็นเพียงแค่กระแสอีกต่อไป แต่จะถูกตีความอย่างครอบคลุมของความเป็นมนุษย์และบริบทของความหลากหลายทางเพศ ที่เป็นแรงบันดาลใจและแรงขับเคลื่อนให้เห็นถึงพลังของการบริหารจัดการชีวิต ที่สามารถต่อยอดสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืน โดยไร้ข้อจำกัดของเพศ ความต่างของไลฟ์สไตล์.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น