โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

มข.พัฒนาแพลตฟอร์มหนุนแอปฯ ช่วยคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ

สยามรัฐ

อัพเดต 24 ต.ค. 2565 เวลา 04.25 น. • เผยแพร่ 24 ต.ค. 2565 เวลา 04.25 น.
  มข.พัฒนาแพลตฟอร์มหนุนแอปฯ   ช่วยคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ

นักวิจัย มข. ต่อยอดงานวิจัยท้าทายไทย:ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ พัฒนาแพลตฟอร์มบนมือถือ ช่วยเก็บข้อมูลจากชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว OV-RDT พร้อมใช้เอไอวิเคราะห์ภาพถ่ายผลตรวจ ช่วยติดตามผลการระบาดวิทยาในเชิงพื้นที่ ช่วยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาได้อย่างทั่วถึง ทำให้ทราบถึงแผนที่การระบาดของผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับในแต่ละพื้นที่

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกิดจากการบูรณาการสหสาขาวิชา เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ เช่น ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ที่เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน

ซึ่งที่ผ่านมา วช. ได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับแก่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 โดยโครงการวิจัยดังกล่าว ฯ ได้มีการพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในการควบคุมโรคในพื้นที่จริง และได้มีการต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้นวัตกรรมสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มบนมือถือที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid Diagnosis Test-OV-RDT) ที่ช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการข้อมูลจากชุดตรวจอย่างเป็นระบบ สามารถนำไปวิเคราะห์ ติดตามผลทางระบาดวิทยา และพัฒนาเป็นฐานข้อมูลที่จะช่วยในวางแผนการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว

ด้านดร.ธนพงศ์ อินทระ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าผู้ประดิษฐ์ “แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สำหรับคัดกรอง จัดการและสนับสนุนสารสนเทศเพื่อการวางกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาการระบาดของโรคพยาธิใบไม้ในตับ” เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการรณรงค์ในการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ในตับโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น ทำให้ความหนาแน่นของการติดเชื้อและอัตราชุกลดลง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำชุดตรวจสำเร็จชนิดเร่งด่วน (OV-RDT) ที่พัฒนาและผลิตโดย ศ.ดร.ไพบูลย์ สิทธิถาวรและคณะ ที่ได้รับทุนสนับสนุนภายใต้โครงการวิจัยท้าทายไทยฯ ไปใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับในชุมชนตามแผนยุทธศาสตร์ “กำจัดโรคพยาธิใบไม้ในตับและมะเร็งท่อน้ำดีปี 2559-2568” ซึ่งสามารถช่วยให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ได้อย่างทันท่วงที เพราะสามารถตรวจคัดกรองประชาชนได้จำนวนมากและขั้นตอนในการตรวจไม่ซับซ้อน

อย่างไรก็ตามชุดตรวจดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในเรื่องการเก็บข้อมูลที่ยังต้องอาศัยการถ่ายรูปและการบันทึกรายละเอียดต่างๆ ในเอกสารโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขฯ ซึ่งอาจมีผลในเรื่องข้อผิดพลาดและการเก็บข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน

ทีมวิจัย จึงได้พัฒนา “แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สำหรับคัดกรอง จัดการและสนับสนุนสารสนเทศเพื่อการวางกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาการระบาดของโรคพยาธิใบไม้ในตับ” ขึ้น โดยพัฒนาเป็น “Mobile Application” ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเก็บข้อมูลสำหรับผู้ใช้งานชุดตรวจ OV-RDT ทั้งบนระบบ Android และ iOS มีการพัฒนาตัวแบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ สำหรับการวิเคราะห์ภาพถ่ายชุดตรวจเพื่อแปลผลอัตโนมัติและควบคุมมาตรฐานการเก็บข้อมูลการใช้งานชุดตรวจฯ และมีการพัฒนาระบบสนับสนุนสารสนเทศในรูปแบบแดชบอร์ดอัจฉริยะ (Intelligent Dashboard) สำหรับการวิเคราะห์การตรวจการระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับเชิงพื้นที่แบบเรียลไทม์

“โครงการนี้เป็นการนำเทคโนโลยีโมบายล์และระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยส่งเสริมการเข้าถึงการคัดกรองผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับได้ง่ายและแม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งระบบยังสามารถประมวลผลและส่งผลการทดสอบแบบเรียลไทม์ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลในรูปแบบแดชบอร์ดเพื่อให้เห็นภาพรวมและข้อมูลเชิงลึก สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาบริหารจัดการกลยุทธ์เชิงพื้นที่แบบเรียลไทม์ ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาได้อย่างทั่วถึง ช่วยลดการระบาดของโรคพยาธิใบไม้ในตับ ลดทรัพยากรที่ต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี”

ปัจจุบันระบบนี้มีการใช้งานจริงแล้วใน 851 สถานพยาบาล ช่วยคัดกรองผู้มีความเสี่ยงไปแล้วทั้งหมด 62,389 คน และทำให้ผู้ติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ในตับ ได้รับการรักษาที่เหมาะสมแล้วจำนวน 27,353 คน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น