FootNote กระแส การเลือกตั้ง ทะยาน ผ่าน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ไม่ว่าการขยับของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไม่ว่าการขยับของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ไม่ว่าการขยับของ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ล้วนอยู่ในแสงแห่งสปอตไลต์ เป็นการขยับในช่วงขาลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการขยับเมื่อ "โหมดเลือกตั้ง" คืบคลานเข้ามาเป็นลำดับ
สังคมมีความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่า ไม่ว่าชะตากรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในห้วงก่อนและหลังเดือนมีนาคม 2566
แม้จะมีบางกลุ่มบางฝ่ายอาจงัดเอา "เงื่อนไขพิเศษ" ในทางการเมืองเพื่อบิดผันและเบี่ยงเบนมิให้มีการเลือกตั้งก่อนและหลังอายุของสภาผู้แทนราษฎรจะครบเทอมตามกำหนด
กระนั้น สังคมก็รับรู้ว่าการตัดสินใจเช่นนั้นไม่น่าจะเป็นหนทางเลือกที่ดีและเหมาะสม เนื่องจากสังคมไทยได้พัฒนามาเป็นอย่างมากและมิได้ต้องการหนทางเช่นนั้นอีกแล้ว
บทเรียนจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นอย่างไร การผลิตซ้ำผ่านกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นอย่างไร ในเมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รู้อยู่เป็นอย่างดี มีหรือที่คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่รู้
การประกาศนำเอา นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ มาอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ คือความพยายามสปักธงว่าองค์ประกอบอันเป็นคนรุ่นใหม่ยังแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับการขยับและปรับตัวของพรรคกล้า พรรคชาติพัฒนา รวมถึงพรรคสร้างอนาคตไทย
มีความเป็นไปได้ที่พรรคชาติพัฒนาจะนำเอาความเจนจัด ทางการเมืองของ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประสานเข้ากับความจัดเจนทางด้านเศรษฐกิจของ นายกรณ์ จาติกวณิช
ขณะเดียวกัน น่าจะถึงเวลาแล้วที่พรรคสร้างอนาคตไทยจะนำเอาความโดดเด่นของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาจุดประกาย และสร้างความหวังในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะเมื่อตีคู่ไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
มั่นใจได้เลยว่าทุกพรรคการเมืองได้มองข้ามต่ออนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และต่ออนาคตของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปแล้วโดยสิ้นเชิง เพราะแม้แต่พรรคไทยสร้างชาติก็ประกาศแคนดิเดตของตน ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคสร้างอนาคตไทย ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคชาติพัฒนา ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนแสดงแนวโน้มที่ปี่กลองการเลือกตั้งได้ประโคมขึ้นแล้ว
ความเห็น 0