พันธุ์ปลาพระราชทาน นิลจิตรลดา สร้างอาชีพเกษตรกร และความมั่นคงทางอาหาร
ดร.จรัลธาดา กรรณสูต อดีตอธิบดีกรมประมง กล่าวถึงที่มาของโครงการพัฒนาสายพันธุ์ปลานิลจิตรลดา ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2489 ขณะนั้น ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อันเป็นผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานโครงการพระราชดำริมากมายเพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชน
รวมถึงโครงการพันธุ์ปลานิล ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าฯ ถวายปลาทิโลเปีย นิโลติกา (Tilapia Nilatica) จำนวน 50 ตัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และได้พระราชทานลูกปลานิล 10,000 ตัว ให้กรมประมง ได้ดำเนินการขยายพันธุ์และได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรเพื่อนำไปเพาะเลี้ยงตามพระราชประสงค์
ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ทางประตูพระยมอยู่คุ้น ฝั่งถนนศรีอยุธยา จะมีบ่อปลาตัวอย่าง จำนวน 3 บ่อ ที่เลี้ยงปลานิลไว้ในกระชัง ลักษณะของบ่อปลาเป็นบ่อดินมีขนาด 150 ตารางเมตร เลี้ยงแม่พันธุ์จำนวน 60 ตัว และพ่อพันธุ์จำนวน 30 ตัว โดยการเลี้ยงเป็นไปอย่างเรียบง่าย เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงนำปลานิลไปขยายพันธุ์ต่อและแจกจ่ายให้กับเกษตรกร พร้อมพระราชทานนามว่า ปลานิล เพราะมีสีเทาๆ ดำๆ นับจากนั้น ปลานิลได้กลายเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมของคนไทยทั้งประเทศ สร้างความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรและประชาชน นอกจากนี้ ยังเป็นปลาเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลด้วย
ไม่เพียงแต่การหาแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมให้ปวงชนชาวไทยเท่านั้น พระองค์ ยังทรงสอนถึงวิธีการจับปลาด้วยว่า ให้จับตัวเล็ก เพื่อที่จะได้มีแม่พันธุ์ไว้ขยายต่อไป เมื่อมีข่าวว่าประชาชนประสบภัย พระองค์จะรับสั่งว่า “ที่ฉันเลี้ยงไว้ เอาไปช่วยได้ไหม” ทรงห่วงใยราษฎรอยู่เสมอ
เมื่อปลานิลขยายพันธุ์รวดเร็วและออกไข่จำนวนมาก ทำให้ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีตัวเล็ก ในปี พ.ศ. 2531 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมง พัฒนาสายพันธุ์ปลานิลให้มีขนาดใหญ่ แข็งแรงมากขึ้น ทำให้มีปลานิลพันธุ์จิตรลดา 1 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าปลานิลทั่วไป ให้ผลผลิตและอัตราการรอดเพิ่มขึ้น ต่อมาพัฒนาเป็นปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 2 ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 3 และปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 4 จากนั้นได้พระราชทานให้เกษตรกรในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นปีมหามงคล “3 ปีติ” ที่คนไทยพร้อมใจกันเฉลิมฉลอง 70 ปีการขึ้นครองราชย์ของมหาราชา ตลอดจนเป็นวาระครบรอบ 50 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพันธุ์ปลานิลให้กับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้เกษตรกรทำการเพาะเลี้ยง พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการด้วยระบบสหกรณ์ ยังผลให้ธุรกิจปลานิลเจริญก้าวหน้า ก่อเกิดทั้งรายได้ และการมีซึ่งอาหารโปรตีนสำหรับการบริโภคของราษฎรไทย
ความเห็น 0