โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยกัน 7 วันหน : เปิดเหตุผล ‘ปูติน’ จะเยือนเปียงยาง

แนวหน้า

เผยแพร่ 03 ก.พ. เวลา 17.00 น.

ปกติแล้ว ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศมากนักนอกจากหมายการประชุมสำคัญๆแต่แผนการเดินทางเยือนเกาหลีเหนือที่กำลังจะมีขึ้นนั้น ถือเป็นการประกาศย้ำชัดถึงนโยบายต่อเกาหลีเหนือ

โดยระหว่างการหารือกับโช ซอน ฮุย ของรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ ที่เดินทางมาเยือนกรุงมอสโก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีปูตินได้แสดงความสนอกสนใจที่จะเยือนกรุงเปียงยาง เพื่อหารือร่วมกับ คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ซึ่งหากได้รับการยืนยันตามนั้น นี่จะเป็นการเดินทางเยือนเกาหลีเหนือของปูติน ในรอบกว่า 23 ปี ซึ่งรอบก่อนนั้น เป็นการหารือร่วมกับคิม จอง-อิล บิดาของผู้นำคนปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการหารือกันของผู้นำทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังจากเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว คิม จอง-อึน ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการเดินทางด้วยรถไฟขบวนพิเศษข้ามพรมแดนไปยังรัสเซีย และพบหารือกับประธานาธิบดีปูตินมาแล้ว

รามอน ปาเชโค ปาร์โด นักวิชาการด้านเกาหลี แห่งสถาบันGovernance ในกรุงบรัสเซลส์ ของเบลเยียม ระบุว่า ปูตินไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากนัก จากการคว่ำบาตรจากนานาชาติ และการเยือนเกาหลีเหนือนี้ จะเป็นการช่วยคิม จอง-อึน ในการส่งสัญญาณไปยังจีนด้วยว่า คิมยังคงมีพันธมิตรอยู่ หลังจากในช่วงที่ผ่านมา บรรดานักวิเคราะห์หลายคนพากันชี้ว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ไม่เต็มใจที่จะยืนเคียงข้างผู้นำคิมอย่างเปิดเผยนัก ดังนั้น หากมีภาพถ่ายร่วมกับปูติน ในดินแดนเกาหลีเหนือจะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้นำเกาหลีเหนือ

ก่อนหน้านี้ ปูติน เพิ่งพบกับ คิม จอง-อึน เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ที่เมืองวลาดิวอสตอก ทางตะวันออกไกลของรัสเซีย เพื่อหารือเรื่องการทหาร และการแบ่งปันเทคโนโลยีระหว่างกัน ขณะที่คิม จอง-อึน พบกับประธานาธิบดีสีในกรุงเปียงยาง ครั้งหลังสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2019

นับตั้งแต่ที่รัสเซียปฏิบัติการทางการทหารต่อยูเครน เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน ผู้นำรัสเซียเดินทางออกนอกประเทศเพียงครั้งเดียว คือ การเยือนคีร์กิซสถาน ประเทศในเอเชียกลาง เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งมีขึ้นหลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ออกหมายจับเขาเมื่อเดือนมีนาคม กรณีการก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน

นักวิชาการ ระบุว่า การที่รัสเซียแสดงการหนุนหลังเกาหลีเหนือ จะยิ่งทำให้เกาหลีเหนือเปิดหน้าชนกับเกาหลีใต้และสหรัฐฯได้มากขึ้น และรัสเซียยังออกหน้ารับหรือวีโต นโยบายต่างๆ ต่อเกาหลีเหนือในเวทีสหประชาชาติอีกด้วย

ปาร์โด ระบุว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา เกาหลีเหนือต้องพึ่งพิงรัสเซียในด้านการทูต, เศรษฐกิจหรือการทหาร ..แต่นี่จะเป็นครั้งแรกที่รัสเซีย กำลังต้องการความช่วยเหลือ จากเกาหลีเหนือ ซึ่งนั่นอาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของรัสเซีย และอยู่ห่างไกลจากมหาอำนาจหลักของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา และจีน มากโข

ขณะที่ เรียว ฮินาตา-ยามากุจิ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ระบุว่า ในขณะที่การส่งผ่านเทคโนโลยีของรัสเซียกำลังดำเนินการอยู่นั้น เกาหลีเหนือก็ต้องแสดงขีดความสามารถด้านการทหารมากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า เกาหลีเหนือไม่ได้พึ่งพาต่างชาติ หากแต่ก็สามารถพึ่งพาตนเองได้เช่นกัน

เช่นเดียวกับ ลีฟ-เอริค อีสลีย์ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเอฮวา วูแมนส์ ในกรุงโซล ระบุว่า เกาหลีเหนือกำลังใช้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์ “สงครามเย็น 2.0” ในการพึ่งพาซึ่งกันและกัน กับจีน และรัสเซียมากขึ้น ..มากกว่าที่จะเป็นการ “พึ่งพิง” จีนและรัสเซียเพียงฝ่ายเดียว

อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ ในช่วงที่คิม จอง-อึน เยือนรัสเซียนักวิเคราะห์ต่างพากันชี้ว่า อาจเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลกรุงเปียงยางต้องการอะไรจากมอสโก ซึ่งอาจรวมถึงการแลกเปลี่ยนกระสุนปืนใหญ่ที่รัสเซียต้องการกับอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ของรัสเซีย หรืออาจรวมถึงเทคโนโลยีดาวเทียมและขีปนาวุธของกองทัพรัสเซียด้วย ซึ่งในเวลาต่อมา การคาดคะเนดังกล่าวก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะถูกต้อง หลังจากพบหลักฐานว่า รัสเซียใช้ยุทโธปกรณ์ที่เชื่อว่าได้จากเกาหลีเหนือโจมตียูเครน

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่า ความร่วมมือทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียอาจรวมถึงการช่วยพัฒนากองทัพอากาศของเกาหลีเหนือให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น เนื่องจากเครื่องบินรบที่เปียงยางใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่มาจากสมัยทศวรรษ 1980เมื่อครั้งที่รัสเซียยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

ข้อมูลจาก Global Firepower2024 ที่รายงานด้านความแข็งแกร่งทางการทหาร พบว่า เกาหลีใต้ เพื่อนบ้านคู่รักคู่แค้น จัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ในแง่ของความแข็งแกร่งทางการทหาร ขณะที่เกาหลีเหนืออยู่อันดับที่ 36 แต่หากเกาหลีเหนือได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซีย ก็อาจยกระดับการป้องปรามบนคาบสมุทรเกาหลีได้

…และก็แน่นอนว่า จะยิ่งทำให้สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีเพิ่มความตึงเครียด และความไม่แน่นอนต่อไป

โดย ดาโน โทนาลี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0