โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

‘มองข้างหน้า’ เศรษฐกิจสังคมไทย 2022 วันที่เรายัง ‘มองข้างนอก’ น้อยเกินไป กับ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

The101.world

เผยแพร่ 20 ม.ค. 2565 เวลา 04.25 น. • The 101 World
‘มองข้างหน้า’ เศรษฐกิจสังคมไทย 2022 วันที่เรายัง ‘มองข้างนอก’ น้อยเกินไป กับ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

กิตติ พันธภาค ภาพถ่าย

ตลอดห้วงเวลาสองปีของปี 2020-2021 คนทั่วโลกล้วนมีคำอธิษฐานเดียวกันคือขอให้โควิด-19 จบสิ้นไปเสียที แต่แล้วปี 2022 ก็เปิดศักราชมาด้วยโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างโอมิครอนที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสายพันธุ์ไหนๆ แต่ความหวังเล็กๆ ก็เกิดขึ้นจากคำแถลงการณ์ของผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แสดงความเชื่อมั่นว่าโควิด-19 จะปิดฉากการระบาดภายในปีนี้

แม้โควิด-19 อาจจบสิ้นลงไปจริงภายในปี 2022 นี้ นั่นไม่ได้แปลว่าประเทศไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากวิกฤตการระบาด จนเราจะต้องมาสาละวนกับการวิ่งตามโลกให้ทัน อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีอุปสรรคใหญ่ที่อาจฉุดรั้งไม่ให้เราก้าวตามทันโลกได้ นั่นคือประเทศเรายังสนใจความเป็นไปของโลกภายนอกน้อยเกินไป นี่ถือเป็นหนึ่งในข้อกังวลใหญ่ที่ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เน้นย้ำตลอดการสัมภาษณ์ เมื่อเขามองไปยังอนาคตประเทศไทย

สำหรับ ดร. สมเกียรติ การไม่ค่อยมองออกไปข้างนอกของไทยคือปัญหาเรื้อรังอันเป็นต้นตอของอีกหลายปัญหา ที่ดึงให้ประเทศติดหลายต่อหลายกับดักมายาวนาน ไม่เพียงแต่ในมิติเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังเป็นอีกหนึ่งรากเหง้าสำคัญที่นำให้สังคมไทยติดในทางตันของวิกฤตความขัดแย้งอย่างยากที่จะหาทางออกมาร่วมสิบปี

ท่ามกลางมรสุมโรคระบาด มรสุมเศรษฐกิจ และมรสุมความขัดแย้งทางการเมือง ที่กระหน่ำถาโถมประเทศไทยสืบเนื่องมาจนถึงปี 2022 101 ชวน ดร. สมเกียรติ ร่วมมองอนาคต ผ่าทางตัน เสนอทางออกเศรษฐกิจสังคมไทย ในวันที่เรากำลังต้องการการมองออกไปยังโลกภายนอกมากกว่านี้ ก่อนที่เราจะเดินถอยหลังสู่หุบเหวอย่างไม่มีวันกลับขึ้นมาได้   

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI

คุณมองเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2021 ที่ผ่านมาอย่างไร และในปี 2022 นี้ คุณคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มไปทางไหน  

ปี 2021 เป็นปีที่ไทยเผชิญกับโควิด ซึ่งถือว่าเป็นวาระใหญ่มากในทางเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากปีก่อนหน้า แต่ฟื้นด้วยอัตราที่ต่ำมาก เมื่อปี 2020 เศรษฐกิจไทยติดลบไป 6% แต่ปี 2021 โตขึ้นมาได้ 1% กว่าๆ ส่วนปี 2022 TDRI คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตประมาณ 3% กว่าๆ แต่ตัวเลขการฟื้นตัวปี 2021 กับ 2022 รวมกันยังไม่พอที่จะชดเชยกับเศรษฐกิจที่ติดลบไป 6% เมื่อปี 2020 เพราะฉะนั้นถือได้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นอย่างช้าๆ

หลายประเทศสามารถฟื้นตัวจากโรคระบาดได้เร็ว แต่ทำไมไทยถึงฟื้นตัวช้า

การที่ไทยฟื้นตัวได้ช้า โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น สะท้อนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก แต่ในปี 2021 มีนักท่องเที่ยวเพียงประมาณ 3 แสนคน แล้วในจำนวนนี้ก็ไปอยู่ที่ภูเก็ตเสียเยอะ ไม่ต้องพูดถึงว่า ครึ่งหนึ่งคือคนไทยที่กลับมาจากเมืองนอกแล้วไปอยู่ที่ภูเก็ตกันระยะหนึ่ง ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับตัวเลข 40 ล้านคนก่อนโควิด-19 เม็ดเงินตรงนี้จึงไม่เพียงพอต่อการช่วยอัดฉีดให้เศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นมาได้เท่าไหร่นัก ในปี 2022 คิดว่าการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นเหมือนกัน เพราะนักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่ได้ออกมาเร็ว เนื่องจากจีนยังคงใช้นโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’ (zero-Covid policy)

นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว การฟื้นตัวช้ายังบ่งบอกถึงความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอีก 3 เรื่อง เรื่องแรกคือความไม่พร้อมต่อการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีโควิด-19 เข้ามาเร่ง ถึงแม้เราจะปรับตัวได้ในระดับหนึ่ง แต่ส่วนมากเราใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศ เพราะฉะนั้นกำไรที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจดิจิทัลต่อเศรษฐกิจไทยจะยังไม่สูงมาก เรื่องที่สองคือ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ที่ผลักให้เราต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ และอีกเรื่องก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งแรงกดดันจากโลกกำลังเร่งให้เราต้องเปลี่ยนแปลง เช่น การลดการปล่อยคาร์บอน แต่ไทยมีความพร้อมน้อยมาก และจะเป็นโจทย์ใหญ่มากในอนาคต  

ในเวลาเดียวกัน เราต้องรอดูด้วยว่าแผลเป็นจากโควิด-19 เกิดขึ้นมากขนาดไหน เท่าที่เห็นข้อมูล แม้จะไม่ได้สูงมากอย่างที่ผมเคยคิดไว้ตอนแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับมาพอสมควร ถนนหนทางเริ่มแน่น รถเริ่มกลับมาติด หรือห้างฯ ก็มีคนเดินเยอะ ซึ่งก็สะท้อนในข้อมูลความถี่สูงอย่าง Google Mobility แต่ก็น่าเป็นห่วงอยู่เพราะหนี้ครัวเรือนสูงมาก คิดเป็นราวๆ 90% ของ GDP ซึ่งแปลว่าการบริโภคก็จะไม่ได้ฟื้นตัวเร็วมาก และการสูญเสียการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งจะส่งผลเสียในระยะยาว

อีกหนึ่งตัวเลขที่ต้องจับตามองคือการว่างงาน ถึงแม้ไทยจะมีตัวเลขคนว่างงานอยู่ระดับต่ำมาตลอด แต่เราควรต้องนับรวม ‘คนเสมือนว่างงาน’ ซึ่งก็คือคนที่ทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ด้วย ถ้ารวมตัวเลขคนเสมือนว่างงานเข้าไปก็ทำให้ตัวเลขคนว่างงานจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน เทียบกับประเทศอื่นๆ ตัวเลขนี้อาจจะไม่ขี้เหร่ แต่มันบ่งบอกถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ดูไม่ดีเท่าที่ผ่านมา

คุณเคยวิจารณ์ว่า ประเทศไทยมองออกไปข้างนอกน้อยมากและตามโลกไม่ค่อยทัน อยากให้ขยายความสักหน่อย เพราะถ้าดูจากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ จะเห็นว่า เราพึ่งพิงโลกสูงมากทั้งภาคส่งออกและการท่องเที่ยว

เป็นความจริงที่เราพึ่งพาโลกสูงมากทั้งในแง่ของการส่งออกและการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่ปัญหาคือเราสนใจความเป็นไปของโลกน้อยเกินไป เศรษฐกิจโลกไปเร็วมาก เกิดดิสรัปชั่นขึ้นมามากมาย แต่คนไทยเพียงกระจุกเดียวเท่านั้นที่สนใจเรื่องเหล่านี้ สังคมไทยยังมีช่องว่างในเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกสูงมาก โดยเฉพาะภาครัฐเองที่ตามไม่ทัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เรื่องดิจิทัลดิสรัปชั่น (digital disruption) ภาครัฐพูดเยอะมาก แต่แทบไม่ไปสู่การปฏิบัติ กว่าที่นโยบายระดับบนจะลงไปสู่ระบบราชการถือว่านานมาก ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2021 กรมการปกครองเพิ่งประกาศว่าให้เลิกขอสำเนาทะเบียนบ้านกับสำเนาบัตรประชาชน ทั้งที่รัฐบาลสั่งการน่าจะเกิน 3 ปีมาแล้ว นี่คือตัวอย่างของการไม่ได้มองออกไปข้างนอก มองไม่เห็นว่าโลกไปถึงไหนแล้ว และไม่เห็นว่าเราจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน

อีกกรณีตัวอย่างหนึ่งคือ การทำ Thailand Pass เพื่อให้คนต่างชาติลงทะเบียนเข้าประเทศไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติก็บ่นกันเยอะว่าเราใช้ปีพุทธศักราช ซึ่งเขาไม่รู้ว่าคืออะไร แทนที่จะเป็นคริสต์ศักราช หรือการใช้ตัวเลขไทยในเอกสารราชการก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

เรื่องเหล่านี้ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็มีอีกหลายเรื่องเหมือนกันที่เป็นเรื่องใหญ่ เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคนไทยตื่นตัวกันน้อยมาก ถ้าคุยกับคนในประเทศพัฒนาแล้ว เขามองว่านี่คือเรื่องใหญ่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะในช่วง 1-2 ปีมานี้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติถี่มากทั่วโลก นี่เป็นเรื่องที่คนไทยควรจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่านี้

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI

จริงๆ ประเทศไทยเองก็เจอภัยพิบัติต่างๆ เยอะเหมือนกัน ทั้งน้ำท่วม ไฟป่า ฝุ่นละออง ฯลฯ

แต่เราไม่รู้สึกว่ามันคือเรื่องด่วน!! ทั้งที่ประเด็นนี้กำลังเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของทั้งโลก แรงกดดันเรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับโลกมีสูงมาก และเกี่ยวโยงกับแทบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การลดการปล่อยคาร์บอนฯ เราต้องคิดแล้วว่าภาคส่วนไหนเราจะได้รับผลกระทบ เพราะอีกไม่นานเราจะได้รับแรงกดดันแน่ๆ

อุตสาหกรรมที่โดนกดดันไปแล้วก็คือรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งพัฒนาเร็วกว่าที่เคยคาดหมายกันไว้มาก แต่ไทยปรับตัวได้ช้ามาก ในขณะที่ภาคพลังงานก็กำลังมีการเปลี่ยนผ่านขนานใหญ่ นอกจากนี้การลดการปล่อยคาร์บอนฯ จะส่งผลกระทบอีกหลายเรื่องทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม การขนส่ง และการเดินทาง ฯลฯ เรียกได้ว่าไม่มีสาขาไหนเลยที่จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่คนในสาขาต่างๆ ยังตื่นตัวและเตรียมการน้อยมาก

เศรษฐกิจไทยต้องปรับอย่างไร นโยบายแบบไหนที่ช่วนสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ที่ผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากเศรษฐกิจเติบโตต่ำแบบนี้ได้

ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ทันกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง เรื่องแรกคือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีคอขวดสำคัญคือ การขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว ถ้าอยากดึงการลงทุนเข้ามาได้อย่างจริงจัง เราจำเป็นต้องแก้โจทย์นี้ ต้องเปิดให้แรงงานมีทักษะจากต่างประเทศเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น แต่นโยบายนี้ก็จะเจอแรงต่อต้านจากกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นคนไทยกลุ่มที่น่าจะเก่ง แต่กลับไม่กล้ารับความท้าทายจากต่างประเทศ ไหนจะมีกฎระเบียบภาครัฐที่ไม่ค่อยเอื้ออีก เช่น ถ้าจะจ้างแรงงานต่างชาติ 1 คน จะต้องจ้างคนไทยอีก 4 คน ทั้งที่หาคนไทยเองก็ไม่ง่าย แล้วคนต่างประเทศที่เข้ามาแล้วยังต้องรายงานตัวหยุมหยิมตลอด ซึ่งเหมือนช่วงเกิดสงครามเย็นในอดีต ดังนั้น การหวังจะดึงดูดการลงทุนเลยทำได้ยาก

การลงทุนทำวิจัยและพัฒนาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้เป็นโจทย์เก่าพูดกันมานาน ภาครัฐเคยพูดด้วยซ้ำว่าอยากจะเพิ่มเม็ดเงินตรงนี้ แต่กลับกลายเป็นว่า ปีนี้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ที่ทำวิจัยกลับถูกตัดงบ แทนที่จะได้รับงบวิจัยเพิ่มเพื่อมาสร้างเศรษฐกิจใหม่

คุณมีหวังกับเศรษฐกิจไทยบ้างไหม

จริงๆ แล้วประเทศไทยมีโอกาสที่จะกลับมาฟื้นได้เยอะ ก่อนโควิด-19 สังคมไทยอยู่ในความขัดแย้ง เรามีวิกฤตการเมือง รัฐบาลบริหารกันแบบมือสมัครเล่น เศรษฐกิจก็ยังโต 3% ได้ ดังนั้น ถ้าเราทำได้ดีพอ เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้มากกว่านี้อีกมาก

หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาวคือ การเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งต้องอาศัยการทำวิจัยพัฒนา การพัฒนาและออกแบบสินค้าใหม่ การใช้ระบบอัตโนมัติ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) นี่คือสิ่งที่ทั่วโลกทำ แล้วเราก็ต้องทำ เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสอีกหลายเรื่องที่จะสร้างการเติบโตได้

มีนโยบายอะไรบ้างไหมที่สามารถเป็น Quick win ให้กับเศรษฐกิจไทยได้

ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของทีดีอาร์ไอ ผมเสนอไว้ว่ามีวิธีการที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาโตได้สัก 4-5% ด้วยชุดนโยบายที่ทำให้คนสามารถทำงานได้เต็มที่มากที่สุด นั่นคือ การลดการสูญเสียทรัพยากรคนและการฟื้นฟูทรัพยากรคน

การลดการสูญเสียทรัพยากรคนมี 3 แนวทาง หนึ่ง คือ การจัดการอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ทำให้คนตายไปประมาณปีละกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งเรื่องนี้เราจัดการไปพอสมควรแล้วด้วยการติด GPS ให้กับรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ เพื่อควบคุมความเร็ว ควบคุมเส้นทางเดินทาง และควบคุมพฤติกรรมคนขับได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่เหลืออยู่ในปัจจุบันคืออุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์ซึ่งเป็น 75% ของอุบัติเหตุทั้งหมด ดังนั้น โจทย์สำคัญคือการลดความสูญเสียจากมอเตอร์ไซค์ หากลดได้จริง ผลประโยชน์ก็จะค่อนข้างมาก เพราะคนขี่มอเตอร์ไซค์คือคนหนุ่มสาวเกือบทั้งสิ้น

แนวทางที่สอง คือ การจัดการเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ เพราะโรคพวกนี้ทำให้แต่ละปี คนไทยต้องเสียปีสุขภาวะไป 4 ล้านปี หลายคนตายก่อนอายุ คนในวัยทำงานเจ็บป่วย ไม่สามารถทำงานได้ ถ้าลดตัวเลขนี้ได้ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

แนวทางที่สาม คือ การลดการเกณฑ์ทหาร ปัจจุบันมีคนไปเกณฑ์ทหารประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก หากประเทศไทยลดความสูญเสียส่วนนี้ได้ จะทำให้แรงงานชายอายุ 21-22 ปีประมาณ 160,000-200,000 คน สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ทันที

ลำพังการลดการสูญเสียทรัพยากรคนทั้ง 3 แนวทางนี้จะช่วยให้ GDP เพิ่มจากปัจจุบันได้อีกประมาณ 0.6% ซึ่งหมายความว่า แทนที่เศรษฐกิจจะโตได้ 3% ก็จะโตได้ 3.6% โดยคุณภาพของการเติบโตก็จะดีมากขึ้นด้วย

อีกแนวทางหนึ่งที่ควรทำคือการฟื้นฟูคุณภาพประชากรโดยการลงทุนด้านการศึกษา ถ้าเราเอาเด็กเข้าโรงเรียนได้มากขึ้น ไม่ให้ตกหล่นมากมายเหมือนปัจจุบัน แล้วสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำได้ ตามเกณฑ์ของ PISA (Programmed for International Student Assessment) ของนักเรียนวัย 15 ปี ก็จะทำให้เราได้ GDP มาอีก 0.2% ตัวเลขอาจจะดูน้อยเพราะเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ทำ กว่าจะปฏิรูปได้ครบหมดก็ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี แต่มันจะส่งผลดีในระยะยาว แล้วจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วย

นอกจากนี้ ถ้าปฏิรูปภาครัฐ โดยยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัยและทำบริการรัฐบาลดิจิทัลด้วย ก็จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เร็วขึ้นอีก ถ้าทำรวมๆ กันทั้งหมดที่กล่าวมาก็จะทำให้เศรษฐกิจโตได้ปีละ 5% ต่อเนื่องไปได้อีก 20 ปี และกระจายประโยชน์เต็มที่ให้แก่ประชาชน

สังคมไทยพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษามาเป็นเวลาหลายสิบปี และตลอดระยะเวลาที่เราไม่ได้ปฏิรูป โลกก็เปลี่ยนไปอย่างมหาศาล ถ้าจะพัฒนาการศึกษาให้เรามีแรงงานที่ตอบโจทย์โลกใหม่ รัฐควรมีแนวทางอย่างไร

สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยเป็นของรัฐ วิทยาลัยอาชีวศึกษาครึ่งหนึ่งก็เป็นของรัฐ แม้กระทั่งโรงเรียนเอกชน หรือมหาวิทยาลัยเอกชน รัฐก็ยังมีส่วนอุดหนุนด้วย ต่อให้รัฐจะไม่ได้เป็นเจ้าของก็ตาม ดังนั้นในภาคการศึกษา รัฐคือผู้เล่นรายใหญ่และไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบเรื่องนี้ได้

โจทย์ของโลกใหม่ คือ การสร้างระบบการศึกษาพื้นฐานให้ดี แล้วต่อยอดด้วยการฝึกทักษะแรงงานต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังนั้น รัฐต้องปรับบทบาทจากการเป็นคนทำเองไปเป็นคนจัดสรรเงิน แล้วให้ภาคเอกชน รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาทำหน้าที่ฝึกทักษะคนให้บรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเองและตอบโจทย์ตลาด รัฐควรมีบทบาทเฉพาะการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ในระดับปลายๆ ก่อนจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เช่น อาชีวศึกษา อุดมศึกษา ไปจนถึงหลังจบอุดมศึกษา รัฐควรจะปรับเปลี่ยนไปเป็นผู้สนับสนุนมากกว่า

ในอนาคต เราต้องการการฝึกทักษะที่ไม่ใช่แค่สถาบันของรัฐรับเงิน แล้วไม่ต้องรับผิดชอบว่าคนจะหางานรายได้ดีได้หรือไม่ แต่มีความรับผิดชอบตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง เช่น การฝึกให้คนมีทักษะสูง ทำงานได้รายได้ดี จะต้องเริ่มจากจัดหลักสูตรให้เหมาะสม คัดเลือกคนให้ตรงคุณสมบัติ มีการใช้ระบบทวิภาคีหรือสหศึกษาที่มีนายจ้างมาช่วยฝึกทักษะ แล้วรับผู้เรียนเข้าทำงานด้วย และติดตามต่อเมื่อเข้าทำงานแล้ว จากนั้นเอาข้อมูลทั้งหมดมาประเมินผล ต้องทำให้ครบวงจร ตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ ส่วนรัฐที่เป็นคนจ่ายเงินอุดหนุนก็ต้องเป็นการอุดหนุนให้เกิดความรับผิดชอบ คือถ้าคนเรียนจบไปแล้วหางานทำไม่ได้ หรือได้รายได้ไม่ดีก็ไม่ต้องเก็บค่าเล่าเรียน

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI

เรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่คนพูดกันเยอะมาก ในทางการเมืองก็เป็นนโยบายที่นำมาขายได้ อย่างรถไฟความเร็วสูง หลายคนก็อยากให้ประเทศไทยมี เราควรจะมองโจทย์โครงสร้างพื้นฐานของเราอย่างไร

อีกไม่กี่ปี คนกรุงเทพก็จะมีรถไฟฟ้าใช้กันเป็นสิบสาย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็กำลังดำเนินการ รวมถึงรถไฟความเร็วสูงไปนครราชสีมาก็ก่อสร้างไปบางส่วนแล้ว ซึ่งถ้าถึงเวลาก็คงได้ใช้กัน โจทย์ด้านโครงสร้างพื้นฐานต่อไปจะต้องไม่ได้อยู่แค่ในกรุงเทพฯ แต่ต้องเป็นโจทย์ของหัวเมืองใหญ่ๆ ด้วย อย่างขอนแก่น ภูเก็ต และเชียงใหม่ ที่มีความพร้อม มีประชากรที่หนาแน่นและอยากทำรถราง รัฐต้องช่วยอุดหนุนให้เขาทำให้ได้ ซึ่งต้องดูว่าในแต่ละพื้นที่ควรลงทุนสร้างแบบไหน อย่างไร เช่น เรื่องสนามบิน เมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยวก็จำเป็นต้องขยายสนามบิน โดยเฉพาะที่ที่มีคอขวดมากอย่างเชียงใหม่และภูเก็ต อาจจะต้องคิดเรื่องการมีสนามบินแห่งที่สอง

เรื่องรถไฟความเร็วสูง ส่วนที่สร้างแล้วก็ต้องสร้างต่อไปให้เสร็จ แต่ผมไม่คิดว่าเราควรขยายไปมากกว่านี้ เพราะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจต่ำ ส่วนที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าคือรถไฟทางคู่ ซึ่งได้ทำรางไว้เยอะมากและใกล้ทยอยเสร็จกันแล้ว แต่ยังวิ่งไม่ได้เพราะไม่มีหัวรถจักร ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ย้อนแย้ง และสะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการบริหารที่ยังไม่ทันสมัย  อีกปัญหาก็คือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑลที่จะมีราคาแพง จนทำให้คนใช้น้อย

โครงสร้างพื้นฐานลำดับต่อไปที่เราควรมอง คือ โครงสร้างพื้นฐานในชนบท เช่น แหล่งน้ำขนาดเล็ก นี่เป็นโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตแบบยั่งยืน และการป้องกันภัยพิบัติ เราต้องคิดเรื่องการทำแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ออกแบบเพื่อป้องกันน้ำท่วม ช่วยให้มีน้ำจืดที่มีคุณภาพดีสำหรับการทำเกษตรกรรม สามารถเป็นเขตชลประทานได้มากขึ้น ช่วยให้มีผลผลิตมากขึ้น รวมถึงการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากเรื่องนี้ เรายังต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยยกคุณภาพของคนให้มากขึ้นด้วย อย่างสถานดูแลเด็กเล็ก ซึ่งทุกวันนี้มีอยู่พอสมควรแต่ยังไม่ได้คุณภาพนัก เราต้องยกระดับคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานส่วนนี้ ซึ่งถ้าทำได้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาวได้มาก

ก่อนหน้านี้คุณพูดถึงประเด็นดิจิทัลไว้ว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี แล้วถ้ามองจากสภาพความเป็นจริง ก็คงยากมากที่เราจะไปเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่เหมือนต่างประเทศ ในฐานะที่เราเป็นผู้เล่นหรือเป็นคนใช้เทคโนโลยี เราจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โจทย์ใหญ่คือ การเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มผลิตภาพในสาขาต่างๆ อย่างการทำการเกษตรหรือการท่องเที่ยวโดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ในภาครัฐเองก็สำคัญ รัฐควรนำดิจิทัลมาช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ทำอย่างให้ประชาชนได้รับความสะดวก ลดขั้นตอน และต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้เกิดการเรียนรู้ในเด็กอย่างแท้จริง หรือการลดความสูญเสียจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยการปรึกษาแพทย์ทางไกล (telemedicine) ฯลฯ

ประเทศไทยยังมีช่องว่างให้ยกระดับอีกมาก สิ่งสำคัญคืออย่าไปมองว่าดิจิทัลแยกขาดจากสิ่งอื่น (standalone) แต่ต้องเอามาเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจจริงได้

ปีที่ผ่านมามีกระแสเรื่องการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) เพราะได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จจากเกาหลีใต้ เราจะสามารถทำเรื่องนี้ให้เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราได้ไหม

การจะใช้โมเดลแบบเกาหลีใต้มีสมมติฐานว่ารัฐต้องเก่งมาก โดยรัฐมาร่วมมือกับเอกชนทำการตลาดจนสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่แค่ช่วยทีละบริษัท แต่ใช้วิธีสร้างแบรนด์ประเทศเลย แล้วมีการบูรณาการกันทุกภาคส่วน อย่างเช่นการโปรโมตละครเกาหลี เขาเห็นว่าตลาดจีนตลาดใหญ่ ขณะที่โทรทัศน์ของจีนก็อยากเอาละครเกาหลีไปฉาย รัฐบาลเกาหลีก็มีทุนให้ไปทำซับไตเติลเป็นภาษาจีนได้เลย นโยบายนี้ใช้เงินไม่เยอะมาก แต่ช่วยให้ผู้ประกอบการแต่ละตลาดยอมรับคอนเทนต์เกาหลีง่ายขึ้น

ถ้ารัฐไทยจะทำเรื่องนี้ อันดับแรกคือ ต้องเอาออกจากระบบราชการ แล้วใช้วิธีส่งเสริมจ้างเอกชนโดยอิงจากศักยภาพของแต่ละเจ้า หรืออีกวิธีก็คือสนับสนุนสมาคมต่างๆ สมาคมอีสปอร์ต สมาคมภาพยนตร์ สมาคมละคร ที่อยากจะทำการตลาดต่างประเทศ

ถ้าทำซอฟต์พาวเวอร์นี้ได้ดี มันก็จะเชื่อมต่อไปถึงเรื่องการท่องเที่ยว เรื่องอาหาร หรือเรื่องต่างๆ ที่เราอยากจะขาย เหมือนอย่างที่เกาหลีใต้ทำ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ เราสามารถแทรกมันเข้าไปได้อย่างเนียนๆ อย่างเมื่อก่อนมีหนังจีนเรื่อง Lost in Thailand มาถ่ายทำที่เชียงใหม่ แค่นี้ก็ดึงนักท่องเที่ยวมาได้มากมายแล้ว ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจจะสอดแทรกอะไรเข้าไปเลย

ประเทศไทยควรมีแพลตฟอร์มของตัวเองไหม เพราะมีช่วงหนึ่งได้ข่าวว่ารัฐอยากทำ Thaiflix

ถ้าจะทำ รัฐไม่ควรเข้าไปทำเอง แต่ควรใช้วิธีการเข้าไปสะกิดภาคเอกชนให้ทำ เช่น ในเศรษฐกิจสร้างสรรค์อาจเข้าไปสะกิด ช่อง 3, Grammy หรือ GDH ที่มีคอนเทนต์อยู่แล้ว ให้มารวมตัวพูดคุย อาจจะทำแพลตฟอร์มร่วมกัน แล้วรัฐให้เงินสนับสนุน เพราะเวลาไปดีลกับต่างประเทศ การรวมตัวกันจะทำให้ได้ราคาดีกว่า เป็นต้น หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็คือการตลาด (marketing) แล้ววิธีการที่จะทำการตลาดสำเร็จก็คือต้องใช้เงิน รัฐจึงช่วยตรงนี้ได้ แต่ถ้ารัฐคิดจะทำ Thaiflix เองอย่างที่เคยเป็นข่าว โอกาสสำเร็จก็จะยากมาก

เกาหลีใต้ไม่ได้ทำได้ดีแค่ซอฟต์พาวเวอร์ แต่อุตสาหกรรมเกาหลีก็ไปไกลจนกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกได้ เช่น Samsung อย่างนี้แสดงว่าเกาหลีใต้คิดวางแผนกันอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมทุกด้านเลยไหม

ไม่ขนาดนั้น Samsung เกิดขึ้นจากการเป็นบริษัทใหญ่ที่อยากจะก้าวสู่ตลาดโลก ในด้านหนึ่ง บริษัทเหล่านี้ถือว่าได้อานิสงส์อะไรจากรัฐพัฒนาในอดีต เช่น ในสมัยของประธานาธิบดีพัค จุงฮีที่ผลักดันอุตสาหกรรมต่างๆ ไว้เยอะในช่วงตั้งต้น แต่ในช่วงหลังก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสามารถของภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

เกาหลีใต้เป็นประเทศมีสัดส่วนการลงทุนในการทำวิจัยและพัฒนาสูงถึง 4% ของ GDP ซึ่งสูงที่สุดในโลก เขาทำแบบนี้มาเป็นสิบๆ ปี เลยมีองค์ความรู้สะสมอยู่มหาศาล ขณะที่ไทยลงทุนด้านนี้เพิ่งจะถึง 1% ของ GDP แล้วตอนนี้ตัวเลขก็ตกลงไปอีกแล้ว

มีโอกาสไหมที่ไทยจะยกระดับอุตสาหกรรมไฮเทคไปแข่งในระดับโลก

ผมไม่แนะนำ!! อุตสาหกรรรมไฮเทคอย่างโทรศัพท์มือถือ หรือรถยนต์ไร้คนขับไม่ใช่สนามของเรา อย่างน้อยก็ยังไม่ใช่ตอนนี้ แต่สนามที่เราแข่งได้คือ อุตสากรรมเทคโนโลยีขนาดกลาง (mid-tech) และตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่เรามีจุดแข็งอยู่แล้ว

ในตลาดประเทศเพื่อนบ้านของเราในภูมิภาคนี้ สินค้าไทยมีภาพลักษณ์และแบรนด์ที่ดีมาก เราอาจจะค่อยๆ ยกระดับสินค้าของเราให้พรีเมียมมากขึ้น แล้วก็ใช้ซอฟต์พาวเวอร์เข้ามาเสริมช่วยขายของได้ ผ่านละครไทยหรือดาราไทยที่เป็นที่นิยมในประเทศแถบนี้กันอยู่แล้ว

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI

นอกจากทั้งหมดที่คุยกันมาแล้ว ประเทศไทยยังมีปัญหาเร่งด่วนเรื่องหนึ่งที่ต้องแก้ก็คือความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งโควิด-19 เข้ามาทิ้งแผลเป็นไว้ใหญ่มาก แล้วแน่นอนว่าจะเป็นอุปสรรคใหญ่มากในการพัฒนาประเทศ เราจะต้องคิดเรื่องนี้กันอย่างไร

ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำสูงมาก เรื่องนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไขอยู่แล้ว แต่ในเรื่องผลกระทบจากโควิด-19 ข้อมูลล่าสุดจาก ดร.สมชัย จิตสุชนที่นำเสนอในงาน TDRI Annual Public Virtual Conference 2021 กลับให้ภาพที่น่าแปลกใจมาก ในขณะที่เราเห็นอยู่ว่ามีคนตกงานและคนที่ต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก แต่ความยากจนและความเหลื่อมล้ำจากการบริโภคไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะรัฐอัดฉีดเงินเข้าไปผ่านโครงการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง เราชนะ และอีกสารพัด ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นข้อดีของการมีสวัสดิการอย่างชัดเจน แต่อย่างไรเสีย โครงการแบบนี้ก็ไม่ทั่วถึงอยู่ดี

วิธีการปรับระบบสวัสดิการตามข้อเสนอของอาจารย์สมชัยคือ ต้องทำสวัสดิการแบบถ้วนหน้า (universal) อย่าไปเจาะจงกลุ่มคน เพราะมีโอกาสตกหล่นสูง และคนที่ตกหล่นมักเป็นคนจนที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ทั้งนี้ต่อให้เป็นโครงการสวัสดิการที่มีชื่อเสียงระดับโลกและทำมาหลายปีแล้วก็ตาม ก็มีปัญหาคนตกหล่นจำนวนมากมาตลอด แล้วยิ่งประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่มากเกิน 50% ของแรงงาน การจะเจาะจงบุคคลยิ่งทำได้ยากมาก

อาจารย์สมชัยยังคำนวณให้เห็นด้วยว่า สวัสดิการแบบถ้วนหน้าอยู่ในวิสัยที่รัฐสามารถทำได้ ไม่ได้ใช้เงินมากเกินไปเมื่อเทียบกับความคุ้มค่า ข้อเสนอของอาจารย์ไม่ใช่สวัสดิการแบบรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (universal basic income) แต่เป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ช่วยให้คนที่เปราะบางที่สุดพอเอาตัวรอดได้เมื่อเจอวิกฤต แล้วค่อยเพิ่มเติมเอาตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น ให้นายจ้างเติมสวัสดิการในส่วนที่เกินกว่าสวัสดิการขั้นพื้นฐาน หรือการให้เงินเพิ่มในกลุ่มที่ยากจนพิเศษ เป็นต้น

ถ้ามองระยะสั้น การเยียวยาทางเศรษฐกิจอาจจะยังจำเป็นอยู่ คุณคิดว่าโครงการเยียวยาต่างๆ ของรัฐตอนนี้ อย่างโครงการตระกูล ‘ชนะ’ ต่างๆ ควรทำต่อไปไหม หรือควรจะเปลี่ยนรูปแบบอย่างไร

ผมอ้างอิงจากอาจารย์สมชัยเหมือนกัน ข้อแรกได้พูดไปแล้วคือ ต้องทำให้โครงการเป็นแบบถ้วนหน้า ทุกวันนี้โครงการต่างๆ ต้องลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์มือถือ ใครที่ไม่มีมือถือ หรือไม่มีความเข้าใจในความซับซ้อนของโครงการต่างๆ ก็มีโอกาสตกหล่นสูง เพราะฉะนั้นทางที่ดีก็คือการเยียวยาแบบทั่วถึง ทุกคนจะได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องลงทะเบียน

อีกปัญหาหนึ่งที่ควรต้องแก้คือ รัฐมักทำโครงการแต่ละอย่างออกมาทีละนิดละหน่อย ทำออกมาทีเงื่อนไขก็เปลี่ยนที ลงทะเบียนกันใหม่ที ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมาก และทำให้ไม่สามารถสร้างฐานข้อมูลดีๆ ที่จะใช้สร้างระบบสวัสดิการระยะยาวได้ เพราะสุดท้ายแต่ละส่วนยิบย่อยไม่ได้บูรณาการข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน

มีหลายคนที่วิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐไทยในช่วงวิกฤตนี้ว่ารัฐยังอัดฉีดเงินน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ คุณคิดว่าอย่างไร

จริงๆ มีความเห็นจากทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งก็จะด่ารัฐบาลว่ากู้เยอะ เก่งแต่สร้างหนี้ แต่อีกมุมก็จะมองว่าประเทศไทยยังใช้จ่ายหรือกู้มากกว่านี้ได้ ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่มีคนเดือดร้อนเยอะ แล้วตอนนี้ต้นทุนการกู้เงินหรือดอกเบี้ยทั่วโลกก็ต่ำมาก ก็เป็นสองฝั่งที่เถียงกันอยู่

ส่วนตัวผมคิดว่า การกู้ตอนนี้อาจไม่ใช่ปัญหาเท่ากับว่ากู้ไปแล้วใช้จ่ายอย่างไร โจทย์สำคัญคือ การใช้เงินกู้มาลงทุนเพื่อทำให้ GDP โตขึ้นได้ รัฐบาลตอนนี้เน้นเยียวยาเฉพาะกิจและมีคนตกหล่นมาก ไม่ค่อยมีโครงการลงทุนเพื่ออนาคตมากอย่างที่ควรจะเป็น เลยทำให้หนี้ขึ้นแต่ GDP ไม่ขึ้น ถือเป็นเรื่องน่าห่วง

เท่าที่คุยมาทั้งหมด ดูเหมือนว่าภาครัฐจะอยู่ในทุกปัญหาที่คุณพูดมา แล้วคุณกับ TDRI ก็เคยทำเรื่องการปฏิรูปภาครัฐมาตลอด ถ้าอย่างนั้นหลักการของการปฏิรูปรัฐควรเป็นอย่างไร ด้านหนึ่งเราอาจเห็นว่าในเมื่อภาครัฐเป็นปัญหา ก็ควรมีขนาดเล็กลง แต่อีกด้านคนก็คาดหวังว่าภาครัฐควรจะทำสิ่งใหญ่ เช่นระบบสวัสดิการถ้วนหน้า สมดุลของเรื่องนี้ควรอยู่ตรงไหน

คงต้องว่าไปเป็นเรื่องๆ ถ้าเป็นเรื่องสวัสดิการ รัฐคงต้องใหญ่ขึ้น ใช้เงินเยอะขึ้นแน่ แต่ถ้าจะให้ภาครัฐเข้าไปลงทุนทำอุตสาหกรรมไฮเทค หรือซอฟต์พาวเวอร์เอง สิ่งเหล่านี้อาจเกินกว่าความสามารถของภาครัฐไทยในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นรัฐต้องไม่เข้าไปทำเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง

ภาครัฐสามารถลงทุนได้ กู้มาลงทุนเพื่อสร้างความเติบโต ลดความเหลื่อมล้ำ ทำสวัสดิการได้ แต่รัฐไม่ควรทำเรื่องที่เกินความสามารถ และไม่ควรทำในเรื่องที่เอกชนทำได้ดีอยู่แล้ว

ถ้ามองตามหน้าสื่อหรือข้อถกเถียงในพื้นที่สาธารณะ คุณกับ TDRI มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสรีนิยมใหม่ ที่เชื่อมั่นในตลาด แล้วอยากให้รัฐมีขนาดเล็กลง คุณเห็นด้วยไหมกับข้อวิจารณ์เหล่านี้

คนชอบมองว่าความรู้ทางเศรษฐศาสตร์แบ่งเป็นแค่สังคมนิยมกับเสรีนิยมใหม่ ไม่ได้มองว่ามีเฉดตรงกลางอยู่เยอะไปหมด ขนาดสีเทายังมี fifty shades เลย (หัวเราะ) เวลาเราเสนอให้รัฐลดกฎระเบียบที่ล้าสมัย บางคนก็มองว่าเป็นเสรีนิยมใหม่ พอเสนอให้รัฐทำสวัสดิการ ก็ถูกมองอีกว่าเป็นสังคมนิยม ทั้งที่จริงนโยบายแต่ละเรื่องมีหลายมิติและหลายเฉดมาก แต่คนมักจะคิดลดทอนแบบไบนารีเหลือแค่ 2 ทางเลือก

ผมคิดว่ารัฐควรมีบทบาทเพิ่มขึ้นแน่นอนในเรื่องสวัสดิการต่างๆ แต่มีหลายเรื่องที่รัฐควรปลดตัวเองออก เช่น การจะทำกิจกรรมหลายเรื่องที่ประชาชนต้องขออนุญาตจากภาครัฐ จนบางทีทำให้ประชาชนทำมาหากินไม่ได้ อย่างกรณีคนที่เปิดร้านขายลาบแล้วก็โดนจับด้วยกฎหมายควบคุมสุรา เพราะในเมนูมีรูปขวดเบียร์อยู่ หรือคนที่จะทำธุรกิจรีไซเคิลก็ต้องเจอกับกฎหมายค้าของเก่า ซึ่งที่จริงเป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบมาสำหรับควบคุมการค้าโบราณวัตถุอย่างการตัดเศียรพระไปขาย นี่ก็ส่งผลต่อธุรกิจรีไซเคิล หรือคนที่เป็นหมอนวดก็ต้องไปจดทะเบียนเอง ทั้งที่ผ่านมาจากสถาบันอบรมที่ได้รับการรับรองอยู่แล้ว บทบาทของรัฐลักษณะนี้ควรจะเลิกให้หมด ถ้าจะมองข้อเสนอแบบนี้ว่าเป็นเสรีนิยมใหม่ ตรงนี้ผมเต็มใจนะ

เราต้องดูว่าความล้มเหลวในการแก้ปัญหาแต่ละเรื่องเป็น 'ความล้มเหลวของตลาด' หรือ 'ความล้มเหลวของรัฐ' ถ้าเป็นความล้มเหลวของรัฐ รัฐต้องถอยออกมา ถ้าเป็นความล้มเหลวของตลาด รัฐก็ต้องเข้าไปช่วย ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องให้ตลาดทำหมด ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI

ตอนนี้สังคมไทยกำลังเจอปัญหาความขัดแย้งอย่างหนัก ก่อนหน้านี้คุณได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ซึ่งอาจารย์ได้มีข้อเสนอแนะอย่างหนึ่งว่าคนฝั่ง establishment ควรออกมาเตือนกันเองมากขึ้น ในฐานะที่คุณเองมักจะถูกมองว่าเป็นหนึ่งใน establishment หรืออาจจะมีโอกาสได้เจอกับคนในกลุ่ม establishment อยู่บ่อยๆ เช่น กลุ่มนักธุรกิจหรือผู้บริหารระดับสูงต่างๆ พวกเขามีข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตอนนี้ไหม

ผมไม่ได้เป็น establishment นะ (หัวเราะ) แต่ผมมีข้อสังเกตว่า การที่ชนชั้นนำไทยจำนวนมากไม่เข้าใจปัญหานี้เป็นเพราะยังมองออกไปข้างนอกไม่เยอะพอ ไม่ได้เห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไม่ได้เห็นว่าคุณค่าประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าสากล พวกเขามองว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องของฝั่งตะวันตก ไม่ได้มองเป็นมาตรฐานโลกที่ประเทศไทยก็ควรจะยอมรับ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการที่เรามองออกไปข้างนอกมากขึ้นแล้วยึดหลักสากลเป็นมาตรฐาน จะทำให้เราทำอะไรสุ่มเสี่ยงน้อยลง อาจจะถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกอ้างว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษ มองออกไปข้างนอกให้มาก และไม่ควรปฏิเสธคุณค่าสากล

ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองเท่านั้น เรื่องสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อธุรกิจพวกเขาโดยตรง ยังตื่นตัวน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ ผมเคยไปบรรยายที่หนึ่งที่มีผู้บริหารธุรกิจเข้าร่วมเยอะ แล้วปรากฏว่าคนถามประเด็นนี้เยอะมาก เพราะเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าตอนนี้โลกภายนอกตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขนาดนี้แล้ว ซึ่งวิธีที่ผมเล่าก็ไม่ได้ถึงขั้นเทศนาว่าคุณต้องเป็นพลเมืองดีของโลก แต่ให้รู้ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้โลกกำลังมุ่งหน้าสู่การลดการปล่อยคาร์บอนฯ ซึ่งจะกระทบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรีบปรับตัวรองรับแต่เนิ่นๆ แต่เวลาเดียวกันก็มีธุรกิจไทยจำนวนหนึ่งที่เริ่มให้ความสำคัญกับหลักสากลต่างๆ จริงจังเหมือนกัน ภายใต้คอนเซปต์ ESG (Environmental Social Governance) อย่างการระวังเรื่องธรรมาภิบาล การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ส่วนหนึ่งเพราะ กลต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) กำหนดให้ต้องรายงานเรื่องพวกนี้ทุกปี อีกส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนตะวันตกเขาก็สนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น เช่น ปัจจุบันโครงการทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะหานักลงทุนหรือธนาคารให้ปล่อยกู้ยากขึ้นมาก

เป็นไปได้ไหมว่า สำหรับกลุ่มชนชั้นนำเรื่องการเมืองก็เป็นเหมือนเรื่องโลกร้อนคือ มองไม่เห็นว่าเรื่องการเมืองจะกระทบธุรกิจและผลประโยชน์ของพวกเขาได้ในอนาคต

ถ้าเป็นเรื่องการเมืองมากๆ ก็มีความยากอยู่ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ธุรกิจมักจะไม่อยากแสดงตนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ไหนแต่ไรเราไม่ค่อยเห็นนักธุรกิจหรือกลุ่มทุนออกมาวิจารณ์รัฐบาลกันมากเท่าไหร่ ไม่ใช่แค่รัฐบาลชุดนี้เท่านั้น แต่กับทุกรัฐบาล ที่เราพอเห็นบ้างก็มีคุณบรรยง (พงษ์พาณิชย์) หรือคุณบัณฑูร (ล่ำซำ) ซึ่งนานๆ ออกมาที แต่คนอื่นนี่นึกไม่ออกเลย ผมเคยได้ยินผู้นำธุรกิจพูดว่าพวกเขาเป็นพ่อค้า มีหน้าที่คือทำมาค้าขาย หรือถ้ามีอะไรพอช่วยประเทศชาติได้บ้างก็ช่วยเท่านั้น

อย่างที่ทุกคนรู้กันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ใหญ่กว่าแค่เรื่องรัฐบาล แต่เป็นเรื่องระบบโครงสร้างทางการเมือง แล้วเราก็จะเห็นว่าขนาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาส่งเสียงเรื่องนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่คนในสังคมให้ความเชื่อถือว่าไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร มีเพียงอุดมการณ์ ยังโดนเล่นงานขนาดนี้ นักธุรกิจก็คงไม่กล้าเอาผลประโยชน์ตัวเองไปเสี่ยง

อีกเรื่องคือ ชนชั้นนำทางธุรกิจเขาเลือกได้ว่าจะ voice หรือ exit ถ้า voice ก็ออกมาส่งเสียง ส่วน exit ก็คือออกไปลงทุนต่างประเทศเลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เลือกวิธีหลังกัน ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เพราะเรื่องการเมืองอย่างเดียว คือก่อนที่ประเด็นการเมืองจะรุนแรง เศรษฐกิจไทยก็โตช้าลงอยู่แล้ว คนกลุ่มนี้ก็ออกไปลงทุนข้างนอกมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเศรษฐกิจโตเร็วกว่าเรามาก ภายใต้โครงสร้างผลประโยชน์แบบนี้ การอยู่เงียบๆ ก็เป็นทางเลือกที่ดูสมเหตุสมผลกว่า แต่ผมก็ยังหวังว่าจะมีใครบางคนใน establishment ไทยที่เห็นปัญหาอย่างที่อาจารย์ธงชัยชี้ไว้

แล้วกับตัวคุณ ซึ่งอาจรวมถึงทีดีอาร์ไอในภาพรวมด้วย ที่ผ่านมาคิดว่า ออกมาพูดเรื่องนี้น้อยเกินไปไหม เพราะในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ผู้มีอำนาจอาจจะฟังเสียงเตือนของคุณมากกว่าคนที่ออกมาด่าเขาทุกวันอยู่แล้ว

เขาไม่ได้ฟังเราหรอก (หัวเราะ) พวกคุณรู้จักทีดีอาร์ไอน้อยไป เลยให้ความสำคัญกับทีดีอาร์ไอมากเกินไป หลายคนเข้าใจว่า เราอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ หรือมีอิทธิพลกับคนชนชั้นนำ ซึ่งจริงๆ แล้ว เราไม่ได้มีอิทธิพลอะไรแบบนั้น รัฐบาลไหนๆ ก็จะเลือกฟังเราเฉพาะเรื่องที่สอดคล้องกับ agenda ของเขา ถ้าจะให้รัฐบาลฝืนใจ ก็ต้องมีแรงกดดันแรงๆ จากสังคม

แต่ประเด็นหนึ่งที่ผมคิดกับมันอย่างซีเรียสคือ เรื่อง value added ถ้าให้ผมพูดเรื่องการศึกษา ผมคิดว่าผมมี value added อยู่ เพราะคิดว่าเข้าใจปัญหาและกระบวนการนโยบายต่างๆ ดีระดับหนึ่ง หรือเรื่องนิคมจะนะ ตรงนี้นักวิจัยทีดีอาร์ไอก็ออกมาพูดค่อนข้างมาก และพูดได้อย่างมีน้ำหนักด้วย เพราะเป็นเรื่องที่เราติดตามศึกษามาอย่างถ่องแท้ ปี 2022 นี้ ผมก็จะชวนเพื่อนร่วมงานที่ทีดีอาร์ไอให้สื่อสารแลกเปลี่ยนกับสาธารณะในการช่วยกันหาทางออกให้ประเทศในเรื่องต่างๆ มากขึ้นด้วย

แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมือง ผมไม่แน่ใจว่าเรามี value added จริงๆ หรือ

ทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันวิจัยเชิงนโยบายที่เลือกทำโจทย์สำคัญของประเทศ ซึ่งในแง่หนึ่งก็เข้าใจได้ว่า การเมืองไม่ใช่ความถนัดของทีดีอาร์ไอโดยตรง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยติดกับดักทางการเมืองมาเกือบสองทศวรรษแล้ว อาจถึงเวลาแล้วไหมที่ทีดีอาร์ไอจะต้องนำโจทย์การเมืองเข้ามาเป็นเป็นโจทย์ของตัวเอง เพราะถ้าเราแก้ปัญหานี้ไม่ได้ นโยบายอื่นๆ ก็จะเป็นไปได้ยากหมด

ผมคิดว่า โจทย์เรื่องประชาธิปไตยมีโจทย์สำคัญสองโจทย์ โจทย์แรกคือเรื่อง democratization ซึ่งในประเทศนี้มีนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้เยอะอยู่แล้ว และผมเชื่อมาตลอดว่า อย่างไรเสียประเทศไทยก็จะกลับไปสู่ประชาธิปไตยได้ ตอนนี้อาจจะฟังดูยาก เพราะสถานการณ์ไปไกลขึ้นทุกวัน แต่ที่ผมเชื่ออย่างนี้เพราะประเทศก็เคยเป็นประชาธิปไตยมาได้แล้วหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็นหลัง 14 ตุลาหรือพฤษภาทมิฬ แต่ปัญหาคือรักษาประชาธิปไตยไว้ไม่ได้

จึงมีอีกโจทย์ที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้กันคือโจทย์เรื่อง democratic consolidation คือเมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้ว จะทำอย่างไรให้ลงหลักปักฐานได้ ซึ่งผมเชื่อว่า ประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐานได้มันต้องขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้ด้วย ไม่งั้นคนก็จะเสื่อมศรัทธารัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งโจทย์เหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องระบบราชการ ระบบธรรมาภิบาล การปฏิรูปภาครัฐ ฯลฯ ซึ่งเป็นโจทย์ที่เราถนัดและน่าจะมี value added ได้มากกว่า อีกส่วนหนึ่งของโจทย์นี้ก็คือ การสร้างสถาบันและวัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งนักวิชาการด้านอื่นน่าจะถนัดกว่าเรา

แต่เมื่อตีโจทย์แบบนี้ก็ชวนให้เข้าใจผิดว่า คุณไม่สนใจความเดือดร้อนทางการเมืองของผู้คนในสถานการณ์ปัจจุบันเลย

ในระยะเฉพาะหน้า โจทย์สำคัญของการเมืองไทยคือ การหาทางออกการเมืองที่จะนำไปสู่การปฏิรูปและประนีประนอม (compromise) ได้ ในแง่นี้ เราต้องไปให้ไปไกลกว่าการปฏิรูปด้วยการด่า ซึ่งผมก็เข้าใจว่าต้องด่านะ แต่การด่าเป็นจุดเริ่มต้น และจำเป็นต้องไปให้ไกลกว่านั้น

ผมเชื่อว่า เราต้องการองค์ความรู้ใหม่ในการจัดการความขัดแย้ง กรณีอย่างแอฟริกาใต้ที่เคยมีความขัดแย้งคล้ายไทยตอนนี้ หรือไอร์แลนด์ที่เคยถึงขั้นทำสงครามกลางเมืองกัน ต้องดูว่าเขาหาทางออกกันมาได้อย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องการเรียกร้องขอให้เป็นประชาธิปไตย หรือขอให้ไม่ใช่ความรุนแรงแค่นั้นจบ แต่มันมีรายละเอียดอะไรอีกเยอะมาก คนที่ออกมาพูดและนำเสนอก็ควรต้องเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่ศึกษาและรู้จริงในเรื่องเหล่านี้ ในด้านกลับผมก็อยากตั้งคำถามด้วยว่า คุณคาดหวังให้ผม หรือนักวิชาการคนอื่นในทีดีอาร์ไอทำโจทย์เหล่านี้จริงหรือ

อันที่จริงคำถามของคุณสะท้อนอะไรที่น่าสนใจอยู่ ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งสูงมากๆ เวลาใครนำเสนออะไรที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของผู้คน จะถูกทัวร์ลงทันที และโดนแต่ละทีก็แรงด้วย เช่น ถ้ามีข้อเสนออะไรที่ดู compromise ก็จะโดนด่าก่อนเลยว่า “ก้าวหน้าไม่พอ” หรือ “แรงเกินไป” เป็นกันทั้งสองฝ่ายนะ

การทำงานความคิดในบรรยากาศแบบนี้ไม่ค่อยสนุก แล้วที่สำคัญคือ มันทำให้การหาทางออกให้ประเทศไปต่อยากนะ

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0