เราอยากชวนไปดูไวรัลขนาด 4.2 ล้านวิวในโลกโซเชียลของชาวเน็ตญี่ปุ่น เมื่อ Hikaru Mizobe อินฟลูเอนเซอร์สาวได้ทำคลิปพูดถึงผลสำรวจเรื่อง “งานอดิเรกของผู้ชายที่ผู้หญิงไม่ชอบ” จำนวน 5 ข้อที่เธอเจอมาจาก X ซึ่งทำให้หลายคนแวะเข้ามาแสดงความคิดเห็น ทั้งตั้งคำถามถึงบางข้อในลิสต์ ให้เหตุผลสนับสนุนบางข้อในลิสต์ และอีกหลายส่วนก็พูดตรงกันว่า “อยากให้มีการทำแบบสำรวจงานอดิเรกของผู้หญิงที่ผู้ชายไม่ชอบด้วยเหมือนกัน”
และ 5 ข้อจากผลสำรวจที่ Hikaru Mizobe หยิบมาบอกเล่าก็ได้แก่
1. ตามติดไอดอล (39.3%)
2. ไตรกีฬา (37.7%)
3. วิ่งมาราธอน (26.2%)
4. กิจกรรมแนวอนิเมะ (23.3%)
5. กอล์ฟ (20.4%)
ขณะที่ข้อ 1. และ 4. เป็นสิ่งที่หลายคนเข้าใจได้ แน่นอนว่าข้อ 2. 3. และ 5. ที่ว่าด้วยกีฬานั้นทำให้หลายคนงงไปตามๆ กัน เพราะไม่เข้าใจว่าการเล่นกีฬาซึ่งถือเป็นการดูแลสุขภาพชั้นยอดนั้นมันไม่น่าอภิรมณ์ตรงไหน? แต่หากลองมองลึกลงไป มันอาจหมายถึงการใช้เวลานอกบ้านอย่างเอาเป็นเอาตาย และอาจส่งผลต่อการละเลยคนในความสัมพันธ์ได้ไม่ยาก ซึ่งตัวของ Mizobe เองยังเสริมว่าโดยส่วนตัวแล้วงานอดิเรกของผู้ชายที่เธอไม่ชอบคือการหมกมุ่นกับรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ ซึ่งหากลองมองลึกลงไปอีก ก็อาจบอกได้ว่าผู้หญิงญี่ปุ่นที่ร่วมทำแบบสำรวจนี้ กำลังต้องการ ‘เวลา’ และ ‘การเอาใจใส่’ จากคนรักของพวกเธอมากกว่าที่เป็นอยู่หรือเปล่า? เพราะลำพัง ‘การงาน’ ก็ดึงเอาเวลาในชีวิตของพวกเขาไปมากแล้ว และถ้ามองกันอย่างแฟร์ๆ การที่ผู้ชายบางคนจะแบ่งเวลาให้กับงานอดิเรกมากหน่อยก็ไม่อาจนับเป็นเรื่องผิด ประเด็นอาจอยู่ที่การตกลงกันและหาตรงกลางที่เฮลตี้กับทุกฝ่ายให้ได้เสียมากกว่า
และหากจะบอกว่าการทำแบบสำรวจเหล่านี้ไม่มีประโยชน์เสียทีเดียวก็พูดได้ยาก เพราะที่สุดแล้วมันก็สะท้อนแนวโน้มที่หลายๆ คนมีร่วมกันและพอจะทำให้เห็นสถิติบางอย่างและความเชื่อมโยงกับตัวเราเองได้ ซึ่งโดยบริบทแล้ว แต่ละสังคมก็มีแนวโน้มที่ต่างกันออกไป
อย่างเช่นผลสำรวจในฝั่งตะวันตก ก็พบว่า 5 งานอดิเรกของผู้ชายที่ผู้หญิงไม่ปลื้มก็ต่างออกไป ได้แก่
1. การอ่านการ์ตูน (33.6%)
2. การคอสเพลย์ (32.1%)
3. การดีเบต (30.5%)
4. การดื่มเหล้า (29.0%)
5. การเล่นการ์ดเกม (28.5%)
อย่างไรก็ตาม คอนเทนต์แนว ‘สิ่งที่เพศหนึ่งๆ ชอบหรือไม่ชอบ’ ค่อนข้างเป็นที่นิยมมากทีเดียวบนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะยุคไหนๆ เพราะในแง่หนึ่งมันเป็นพื้นที่ให้เราทุกคนได้ตรวจสอบตัวเองว่าเรานั้นเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายตามแนวโน้มความชื่นชอบของคนส่วนใหญ่บ้างหรือเปล่า แต่อีกแง่หนึ่งมันก็เป็นตัวจุดชนวนข้อถกเถียงชั้นดีเสมอมา เพราะแนวโน้มเหล่านี้ที่ว่ามักจะหนีไม่พ้นการเหมารวม ซึ่งอาจลามไปถึงการตีตราคนบางกลุ่มและวนเข้าสู่การจับคนยัดเข้าสู่กรอบบางอย่าง
อย่างเรื่องของ ‘งานอดิเรก’ เป็นเพียงความสนใจส่วนตัวที่อาจสะท้อนได้บ้างถึงรสนิยมและแนวคิดความเชื่อของคนคนหนึ่ง แต่คงไม่อาจใช้ตัดสินความเป็นตัวเขาทั้งหมดได้ และแม้บุคคลที่มีงานอดิเรกหนึ่งๆ จะมีแนวโน้มเป็นคนแบบหนึ่งๆ แต่การชี้ชัดตัดสินอย่างเหมารวมก็อาจทำให้เราพลาดอะไรบางอย่างไปได้ เช่นคนที่กำลังมองหาแฟนก็อาจพลาดคนที่เข้ากับตัวเองได้มากกว่าที่คิด เพียงเพราะเขามีงานอดิเรกที่ไม่ตรงใจได้ และคนที่ถูกตัดสินอย่างเหมารวมก็ถูกตัดสินล่วงหน้า ซึ่งไม่แฟร์กับเขาเหมือนกัน
ที่มา