เศรษฐกิจไทยดีขึ้นทำไมไม่รู้สึก? “รวยจนเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก” คือเศรษฐกิจดี?
รัฐบาลชุดปัจจุบันออกมากล่าวว่า “เศรษฐกิจไทย” กำลังดีขึ้น ให้ประชาชนตาดำ ๆ อย่างเราได้ชื่นใจ แต่ก็ค่อนข้างจะไม่รู้สึกกันสักเท่าไหร่ หลายคนเก็บความรู้สึกไว้ในใจ จนเมื่อมีการนำรายงานขององค์กร Credit Suisse ถึงสถานการณ์ความมั่งคั่งทั่วโลกหรือGlobal Wealth Report ประจำปี2018 มากล่าวถึงกันในวงกว้างถึง “สภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” โดยประเมินจากการถือครองทรัพย์สินของประชาชนในประเทศ
ซึ่งน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ผลการสำรวจนั้นออกมาสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาก่อนหน้า ว่าเศรษฐกิจไทยนั้นดีขึ้น แต่เป็นเฉพาะกับคนรวยเท่านั้น ! เพราะสำหรับเมืองไทยเรานี้มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแซงหน้าตุรกีรัสเซียและอินเดียไปค่อนข้างจะขาดลอย หลังจากที่ในการสำรวจครั้งก่อนนั้น ไทยเราอยู่อันดับที่สาม (ซึ่งก็ไม่น่าภาคภูมิใจสักเท่าไหร่) อันเป็นเหตุให้สรุปได้ว่าสภาพเศรษฐกิจของไทยเรานั้น คนรวยยิ่งรวย คนจนยิ่งจน ขึ้นไปทุกวัน !
“เหลื่อมล้ำ” อย่างไรและสะท้อนอะไรให้บ้านเราบ้าง ?
ถ้าหากจะอธิบายผลการสำรวจอย่างง่ายๆ นั้น ก็ต้องบอกว่าผลสำรวจนี้ยึดตามรูปแบบการถือครองทรัพย์สินของประชากร สิ่งที่ Global Wealth Report ประจำปี 2018 นำเสนอเกี่ยวกับประเทศไทยค่อนข้างน่าตกใจทีเดียว เพราะเมื่อนำทรัพย์สินของประชากรทั้งประเทศมากองรวมกันแล้ว พบว่าทรัพย์สินกว่าร้อยละ 66.9 นั้น เป็นของเหล่าเศรษฐีที่คิดเป็นจำนวนประชากรเพียง 1 % ของประเทศเท่านั้น !!
นั่นหมายความว่า ประชากรไทยอีก99 % เป็นเจ้าของทรัพย์สินเพียงร้อยละ33.1 ที่เหลือเรียกได้ว่าทรัพย์สินของประชากรรวมกันทั้งประเทศ69.11ล้านคนยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินของมหาเศรษฐีไทยที่มีจำนวนเพียง46,000 คน ซึ่งพุ่งขึ้นยิ่งกว่าการสำรวจเมื่อปี 2016 (พ.ศ. 2559) ที่ผ่านมา ซึ่งมหาเศรษฐีเหล่านี้ถือครองทรัพย์สินรวมไว้ร้อยละ 58 เพิ่มขึ้นเกือบ 10 % ภายในสองปี !!!
ทั้งยังมีแนวโน้มความรวยนั้นก็จะยิ่งรวยยิ่งขึ้น และความจนนั้นก็จะยิ่งจนเข้าไปใหญ่แน่นอน เพราะวัดกันด้วยพื้นฐานของการทำมาหากินของเกษตรกรนั่นก็คือ “ที่ดิน” พบว่า การถือครองที่ดินนั้น (นับเฉพาะที่ถือครองได้ ไม่นับเขตป่าสงวน ที่ดินของหลวง เป็นต้น) สัดส่วนที่ดินกว่าร้อยละ80 เป็นของประชากรเพียง20% ของประเทศ นั่นหมายความว่า ที่ดินอีกร้อยละ 20 นั้น เป็นของประชากรที่เหลือกว่า 80 % ซึ่งชาวนาชาวไร่ ชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางต่างมารวมตัวกันอยู่ในจุดนี้ แล้วถ้าเทียบความเป็นจริง เอาง่าย ๆ แค่ตัดชนชั้นกลางที่ครองที่ดินในฐานะบ้านจัดสรรออกไปล่ะ ยังจะเหลือที่ดินทำกินสำหรับเกษตรกรและชนชั้นแรงงานเท่าไหร่
และความจริงที่น่าหดหู่ใจที่สุด คือภาพเศรษฐกิจที่ผู้กำหนดระบบเป็นนายทุนและมหาเศรษฐี การเกิดขึ้นของหนี้นอกระบบ บีบบังคับให้พวกเขาเหล่านี้ต้องขายที่ดินไปอีกเท่าไหร่ จะสู้ต่อไปได้นานแค่ไหนกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ต้นทุนการเกษตรต่าง ๆ ที่ดีดตัวพร้อม ๆ กับการกดราคาของนายทุน และลงเอยด้วยการที่พวกเขาต้องขายที่ทำกิน เข้าสู่ระบบการเช่าที่นาทำกินไปวัน ๆ ซึ่งต้องยอมรับว่า แทบจะไม่มีทางลืมตาอ้าปากต่อไปได้เลย
ข้อมูลที่นำเสนอว่าไทยเรานั้นเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกเชื่อได้จริงหรือ ?
ในขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการหลายท่านออกมาโต้แย้งถึงการใช้ข้อมูลในการประเมินผลของ Credit Suisse ว่าเป็นมูลเก่าตั้งแต่ปี 2549 ตามมาด้วยการที่รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ได้ออกมาอธิบายกับสังคมโดยใช้สถิติความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ยืนยันว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้แย่มากอย่างที่กล่าวไว้ แถมยังดีขึ้นเสียด้วย
คำถามต่อมาคือ การออกมาชี้แจงจากทางฝั่งรัฐบาลนั้น แสดงให้เห็นว่าไทยเราไม่ได้มีสภาพเศรษฐกิจแย่ขนาดนั้นจริงหรือ คำตอบก็คือการชี้แจงของรัฐบาลและสภาพัฒน์นั้น สมควรที่จะ “ไม่นับแต้ม” ในการแย้งครั้งนี้ เพราะใช้ตัวชี้วัดคนละประเภทกับความเหลื่อมล้ำของทรัพย์สิน !
เพราะสิ่งที่สภาพัฒน์นำมาชี้แจงนั้นคือ“รายได้” ซึ่งเป็นคนละส่วนกันกับ“ทรัพย์สิน” เสียด้วยซ้ำ! พูดง่าย ๆ นั่นคือรายได้คือจำนวนเงินในระบบที่ประชาชนนำออกมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ทรัพย์สินนั้น เป็นเงินที่อยู่ในคลังของประชาชน เป็นมูลค่าการถือครองที่มีค่าความต่างมากกว่ารายได้มากนัก
ง่ายที่สุด นึกถึงเวลาเราเอาเงินไปฝากธนาคาร เงินที่เราฝากนั้นคือ ทรัพย์สิน ในขณะที่ ดอกเบี้ย / ปันผลจากกองทุนนั้นคือ รายได้ ดังนั้น รายได้ไม่มีทางเทียบเท่าแล้วชี้ชัดให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินแน่นอน !!
ส่วนการใช้ข้อมูลของ Credit Suisse นั้น ถึงแม้จะเป็นข้อมูลเก่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเลขความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินในครั้งนี้เชื่อถือไม่ได้เสียทีเดียว และแท้จริงแล้วตัวเลขนี้อาจจะให้ภาพความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินที่ดีเกินไปด้วยซ้ำ เนื่องจากรายงานนี้ใช้ข้อมูลการกระจายรายได้จากข้อมูลสำรวจครัวเรือน เพื่อทำให้ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเหล่าเศรษฐีให้มากที่สุด ทำให้ภาพรวมการใช้ข้อมูลในครั้งนี้ ใช้คาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจไม่ได้เลยเสียทีเดียว
ที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าตัวเลขของการวิจัยจากสำนักไหน ก็ตรงกันกับความรู้สึกของคนไทยที่ว่าประชากรประเทศเรานั้น รวยแล้วก็รวยอีกจนแล้วก็จนอีกอยู่ร่ำไป !
***********************
ข้อมูลเพิ่มเติม:
https://www.the101.world/inequality-in-the-21st-century/?fbclid=IwAR3Wqqw_sLrN61KZukyMJTqAqYdd_33QuvrfiP6PyNIYvrrD6ON-LohG8N8
https://www.facebook.com/waymagazine/posts/10155723355491456
ภาพประกอบ
http://www.haniotika-nea.gr/antifasis/
http://douglasawilson.com/blogs/2016/4/23/great-reads-for-purpose-driven-leaders
ความเห็น 72
500฿ออกบ้านแป๊บเดียวหมด อย่างงงอ่าคับโผมมม
25 ธ.ค. 2561 เวลา 17.03 น.
Mr.kit \7✅
ถ้าเศรษฐกิจดีจริง มันก็คงไม่มีบัตรคนจนเกิดขึ้น
22 ธ.ค. 2561 เวลา 12.46 น.
noom
25ปีไม่เคยหากินลำบากขนาดนี้เลยผมก็ขับรถไปทั่วไม่เคยมีตรงไหนบอกเศษฐกิจดีเลยผมขายข้าวเหนียวหมูห่อละ10บาทตอนเช้าเป็นอาชีพเสริมมา3ปีตอนนี้ต้องเลิกขายละแถวบ้านเงียบสนิดความรู้สึกเหมือนประเทศกำลังจะล้มละลายเลยอะ
21 ธ.ค. 2561 เวลา 12.54 น.
ZeazerTH
รายได้จากงานประจำทั้งปี ได้เท่ากับสิบปีที่แล้ว อืม..แย่ของจริง ไม่รุ้ไปดีที่ใคร
20 ธ.ค. 2561 เวลา 11.49 น.
เรือง ฤทธิ์คุณ
ถ้าอพเพียง ก็เพียงพอผมีที่ดินอยุ่สิบไร่ทำเกษตรผสมผสาร ทำเกษตรแนวใหม่ผมอยุ่ได้สบายๆ
ไม่เห็นเดือดร้อน ใครอยากรวยๆไป
18 ธ.ค. 2561 เวลา 09.01 น.
ดูทั้งหมด