ใครเลยจะรู้ว่าวันหนึ่งเชนร้านให้เช่าวิดีโอรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอย่าง “Blockbuster” ต้องทยอยปิดสาขา (Physical Store) กว่า 9,000 สาขาทั่วโลก
ใครเลยจะรู้ว่าวันหนึ่งผู้ผลิตฟิลม์รายใหญ่ของโลกอย่าง “Kodak” ต้องตกอยู่ในสภาวะล้มละลาย
ใครเลยจะรู้ว่าวันหนึ่งสายการบินยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง “Pan Am” ต้องปิดกิจการลง
แต่นั่นคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ แม้จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม หรือเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จ และมีฐานลูกค้ามากเพียงใด ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าองค์กรหนึ่งๆ จะดำรงอยู่ได้ตลอดกาล เพราะหากองค์กรไหนที่ยึดติดความสำเร็จในอดีต ทะนงตนว่าไม่มีใครมาล้มได้ และปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง
นั่นเท่ากับว่าองค์กรนั้นกำลังเดินถอยหลัง !! หรือหยุดอยู่นิ่งกับที่ ปล่อยให้คู่แข่งวิ่งแซง ที่สำคัญคู่แข่งในทีนี้ อาจเป็นรายใหม่ที่กล้าคิด และกล้าสร้าง Business Model กระทั่งโมเดลธุรกิจนั้นสามารถพลิกโลกธุรกิจ ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่ที่อยู่มาก่อน ไม่ทันตั้งตัว และต้องล้มไปในที่สุด !!!
เวลานี้ หนึ่งในองค์กรที่กำลังถูกพูดถึงมากสุดในฐานะเข้ามา Disrupt อุตสาหกรรมบันเทิงทั่วโลก คือ “Netflix” ผู้ให้บริการ Online Streaming รายใหญ่จากสหรัฐ
ในงาน “AIS Digital Intelligence Nation 2019” ได้เชิญ “Mr. Mitch Lowe, Co-founding Executive of Netflix” มาพูดในหัวข้อ “How Netflix Disrupted the Entertainment World” มาดูกันว่าเบื้องหลังความสำเร็จของยักษ์ Online Streaming รายนี้คือใคร และท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจ Streaming รุนแรงขึ้นทุกขณะ อีกทั้งล่าสุดผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ของโลกอย่าง“ดิสนีย์” กระโดดเข้ามาสู่สมรภูมินี้เต็มตัวแล้วในชื่อ “Disney+” เพราะฉะนั้นแล้ว ใครคือคู่แข่งตัวจริงของ “Netflix” ?!? ไปค้นหาคำตอบกัน
ออกแบบประสบการณ์การรับชมที่ง่าย – สะดวก – เฉพาะบุคคล”
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว “Netflix” มีวิสัยทัศน์ว่าต่อไปความความบันเทิงกำลังจะเปลี่ยนไปสู่ “รูปแบบดิจิทัล” และต้องการส่งมอบความบันเทิง ทั้งซีรีย์ และภาพยนตร์ถึงบ้านผู้ชม ผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล, โทรศัพท์มือถือ, ทีวี ส่งมอบเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นซีรีย์ หรือภาพยนตร์ แต่เวลานั้นยังไม่มีเทคโนโลยีสามารถทำแบบนั้นได้ จึงเริ่มต้นธุรกิจจากให้เช่า DVD ผ่านอินเทอร์เน็ต แล้วจัดส่งทางไปรษณีย์
กระทั่งในช่วงปี 2007 – 2008 ได้เกิดเทคโนโลยี “Video Streaming” ที่ทำให้ Netflix สามารถส่งมอบภาพยนตร์ และซีรีย์ไปสู่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และสมาร์ททีวี สมาร์ทโฟนได้ และมองว่าเทคโนโลยีดังกล่าว จะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการรับชมความบันเทิง
ในที่สุด “Netflix” ปรับธุรกิจเข้าสู่ “Video Streaming”
Photo Credit : pixinoo / Shutterstock.com
*“ลองนึกดูว่าวันนี้ถ้ามีกล่องเคเบิล และบริษัทเคเบิลทั่วโลกใช้วิธีเดิมๆ ในการรับชมซีรีย์ ถ้าไปถึงช่วงท้ายของตอน 1 ของ Game of Thrones ถ้าจะดูตอน 2 ต่อ ต้องกดปิด ย้อนกลับไปค้นหาซีรีย์เรื่องนั้น พอเจอ ค่อยกดเล่น เรามองว่าทำไมต้องยุ่งยากแบบนั้น *
*ดังนั้นเราในฐานะที่เคยเป็นลูกค้าเคเบิลมาก่อน เข้าใจในความยุ่งยากนั้นเป็นอย่างดี จึงมองวิธีการใหม่ๆ ที่สะดวก ง่าย และสนุกยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อจบตอน เราข้ามไป next episode โดยอัตโนมัติ ทำให้ตอนแรกตั้งใจดูแค่ตอนเดียว แต่ดูไปดูมา ถึงตี 4 ตายังไม่หลับเลย รวมถึงมีบริการแบบ Personalization ที่ช่วยสมาชิกหารายการทีวี หนัง และซีรีย์แบบที่เขาชอบ ให้เจอได้ง่าย และเร็วขึ้น ในขณะที่คู่แข่งของเราจำนวนมากไม่เคยคิดถึงตรงนี้มาก่อน *
สิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันของสมาชิกผู้รับชม เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับคนดู และทำให้ Netflix มีความพิเศษ มีความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น”
ปัจจุบัน Netflix ให้บริการมากกว่า 130 ประเทศ และธุรกิจมากกว่า 50% มาจากนอกสหรัฐฯ โดยยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง และมีการลงทุนมากกว่า 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปกับการสร้างคอนเทนต์ใหม่
“CEO ของเราถูกถามว่า คู่แข่งของคุณคือใคร คนส่วนใหญ่จะมองว่า Amazon Prime หรือผู้ให้บริการสตรีมมิ่งอื่น หรือบริษัทไหนก็ตาม แต่คู่แข่งสำคัญที่สุดของเรา คือ ความง่วง ช่วงที่คนดูไม่ไหวแล้ว”* *
Photo Credit : wutzkohphoto / Shutterstock.com
“คน – วัฒนธรรมองค์กร – ภาวะความเป็นผู้นำ” 3 ปัจจัยความสำเร็จ
ปัจจุบัน Netflix ให้บริการ 190 ประเทศ ฐานสมาชิก 139 ราย หัวใจสำคัญที่ทำให้ยักษ์ Online Streaming รายนี้ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยคือ
1. “People” จ้างคนเก่ง – ไม่หยุดพัฒนา – ไม่ปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ใช่งานของตัวเอง
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ สิ่งที่ “Netflix” ให้ความสำคัญมาตลอด คือ บุคลากร ที่นี่จ้างคนเก่ง และต้องมั่นใจว่าคนที่จ้างมานั้น ตระหนักถึงตัวเขาเอง – สร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับคนอื่น พร้อมทั้งต้องเป็นคนที่ไม่หยุดเพิ่มขีดความสามารถของตัวเอง ด้วยการส่งเสริม สร้างแรงจูงใจในการทำงาน และผู้นำทีมเปิดให้ลูกทีมมีอิสระ และมีความกล้าในการลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์
นอกจากนี้ ต้องมีภาวะความเป็นผู้นำ รักในธุรกิจนี้ และไม่ปฏิเสธลงมือทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง เช่น เห็นขยะอยู่บนพื้น ต้องเก็บขึ้นมานำไปลงถังขยะ ไม่เมินเฉย เพราะคิดว่านั่นไม่ใช่งานของตนเอง และให้การส่งเสริม-สนับสนุน ด้วยการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
“คนแบบที่ Netflix ต้องการเข้ามาร่วมงานในธุรกิจของเรา คือ คนที่พยายามเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองตลอด ความรู้ของเขาเอง เพื่อเขาจะได้เก่งขึ้น”
*2. “Culture” ไม่ควบคุม – ให้อิสระในการคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ – ให้รางวัลกับคนทำงานสำเร็จ เพื่อรักษาคนเก่งอยู่กับองค์กร *
วัฒนธรรมองค์กรใน Netflix เน้นสร้างความชัดเจนกับพนักงานในด้านยุทธศาสตร์องค์กร ที่แจ้งกับลูกทีมว่าองค์กรจะไปในทิศทางไหน อย่างไรก็ตามระดับหัวหน้าทีม หรือผู้นำจะไม่บอกถึงวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์องค์กร แต่จะปล่อยให้ทีม คิดวิธีการของเขาเอง
โดยที่การทำงาน ไม่ควบคุม และหลีกเลี่ยงการบริหารงานที่ทุกอย่างมาจากตำแหน่งระดับบน สั่งการมายังระดับปฏิบัติการ แล้วให้เอาไปทำตาม แต่ที่ “Netflix” เน้นสร้างการเติบโต และพัฒนาพนักงาน ด้วยการให้อิสระเต็มที่ในการสำรวจ พัฒนา และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่คนอื่นไม่กล้าทำ
นอกจากนี้ ใน Netflix ไม่สนใจว่าพนักงานต้องเข้าออฟฟิศเท่านั้น แต่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ตามที่เขาสะดวก เพราะสิ่งที่บริษัทสนใจคือ พนักงานทำงานจริง
ส่วนนโยบายลาพักร้อน ไม่ได้กำหนดจำนวนวันตามแบบบริษัททั่วไป แต่ใช้วิธียืดหยุ่น โดยพนักงานสามารถลาหยุด – ลาพักร้อนกี่วันก็ได้ ตราบเท่าที่พนักงานทำงานเสร็จ และบรรลุผลสำเร็จ ดังนั้นคนที่ทำสำเร็จได้มาก ย่อมลาพักผ่อนได้มากเช่นกัน
“เราไม่ให้รางวัลกับคนทำงานหนัก แต่เราให้รางวัลกับคนทำสำเร็จ ใครก็ตามที่ทำงานหนัก แต่ทำไม่เสร็จ ทำไม่สำเร็จสักที ในที่สุดแล้วเขาจะต้องออกไปจากองค์กร และใน Netflix ให้อิสระในการพัฒนา สำรวจ คิดค้น เพราะคนเก่ง คนมีความสามารถ ถ้าเราให้อิสระเขา คนเหล่านี้จะสามารถคิดค้น และสร้างสรรค์ในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ”
3. “Leadership” สร้างพนักงานให้มีภาวะความเป็นผู้นำ และแสวงหาวิธีการสร้างประสบการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้กับลูกค้าเสมอ
ความเป็นผู้นำ ถือเป็นสิ่งสำคัญใน Netflix และต้องสำรวจสถานการณ์ตลาด – การแข่งขัน – ผู้บริโภคตลอดว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
*“Blockbuster เคยมองบริษัทสตาร์ทอัพอย่าง “Redbox” และ “Netflix” ว่าไม่มีทางที่จะมาแข่งกับ Blockbuster ได้ เพราะเขามองตัวเขาเองอยู่ในธุรกิจบันเทิงมานาน และรู้ธุรกิจนี้มากกว่าเรา *
*ครั้งหนึ่ง CEO ของ Blockbuster เคยพูดว่า ทั้ง Netflix และ Redbox ไม่ได้อยู่ในเรดาร์การแข่งขันของ Blockbuster เลยแม้แต่น้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเขานึกถึงประสบการณ์ลูกค้าสำคัญมาเป็นลำดับแรก เขาคงไม่พูดเช่นนั้น เพราะเราจะพบว่าหลายบริษัทไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะผู้บริหาร และพนักงานไม่ได้คิดสร้างนวัตกรรม และการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาเล็ก และปัญหาใหญ่ให้กับลูกค้า ซึ่ง Netflix ไม่ต้องการจะเป็นบริษัทแบบนั้น” *
ดังนั้น ต้องสำรวจตัวเองว่า ถ้าองค์กรเราเคยพูดแบบนี้เกี่ยวกับคู่แข่ง ไม่ว่าคู่แข่งจะเล็กขนาดไหน ต้องเปลี่ยนทัศนคติด่วน เพราะทุกวันนี้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนเร็ว ไม่มีทางที่องค์กรไหนจะปลอดภัย หรือมั่นคงในธุรกิจได้ตลอดเวลา แต่องค์กรธุรกิจต้องเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
อยากฝากข้อคิดว่า อย่ากลัวที่จะตัดสินใจผิด เพราะส่วนหนึ่งของการสร้างนวัตกรรม คือ การทำอะไรผิด แต่ก็ไม่มีทางที่เราจะทำทุกอย่างผิดไปหมด และเราต้องมีทีมที่กล้าลองสิ่งใหม่ๆ โดยที่ผู้บริหารต้องสร้างวัฒนธรรมเอื้อให้คนสามารถทำอะไรผิดพลาดได้บ้าง”
อ่านบทความทั้งหมด ที่ MarketingOops.com
ความเห็น 0