สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงาน CEO Innovation Forum 2017 "นวัตกรรมนำไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว" โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน พร้อม เสวนาพิเศษในหัวข้อ "นโยบายและยุทธศาสตร์ประเทศในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยนวัตกรรม" ร่วมกับ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารจากภาคเอกชน ดร.วิไลพร เจตนจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
สวทน
ดร.อรรชกา กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงวิทย์ฯ จึงมีบทบาทสำคัญในการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ขับเคลื่อนประเทศในด้านต่าง ๆ โดยหนึ่งในหน้าที่สำคัญซึ่งเราได้รับมอบหมายจากรัฐบาล คือ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้ได้มีการตั้ง "สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ" (สวนช.) ขึ้นมาแทน คณะกรรมการชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 3 คณะที่ได้มีการยกเลิกไป เพื่อให้ความมีเอกภาพและลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน
กระทรวงวิทย์ฯ ได้กำหนดมาตรการแรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ได้แก่ มาตรการด้านยกเว้นภาษีสำหรับค่าใช้จ่าย RDI 300% สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม กองทุนสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) จำนวน 2,500 ล้านบาท กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ร่วมดำเนินการกับ BOI มาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งและผลิตภาพของเอสเอ็มอี ทั้ง iTAP ที่ช่วยสนับสนุน SMEs เพิ่มมูลค่าทางเทคโนโลยีสู่ตลาดโลก การพัฒนานวัตกรรมสำหรับ เอสเอ็มอี ด้วยคูปองนวัตกรรม และคูปองโอท็อป มาตรการผลิตและพัฒนากำลังคนที่ใช้นวัตกรรมเข้มข้น ผ่านโครงการวิล (WiL) โรงเรียนในโรงงาน ที่ถอดความรู้ด้านอุตสาหกรรมมาสอนนักเรียนสายอาชีวะ ให้เรียนและปฏิบัติงานจริงในโรงงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อกิจกรรมวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีโครงการนำร่องไปแล้วคือเมืองนวัตกรรมอาหาร และสุดท้าย คือสนับสนุนให้มีเกิดการอุดหนุนผลงานวัตกรรมของไทย โดยการอนุญาตให้หน่วยงานรัฐดำเนินการด้วยวิธีพิเศษในการจัดซื้อจัดจ้างนวัตกรรมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย
"จากการนำเสนอดัชนีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทาง สวทน. นำเสนอในงานนี้ ทำให้เห็นได้ว่าปัจจุบัน ภาคเอกชนเริ่มให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ซึ่งโจทย์หนึ่งที่ท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้กระทรวงวิทยาศาสตร์สามารถเชื่อมต่อกับภาคเอกชนได้ ซึ่งการลงทุนของภาครัฐทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ก็น่าจะเป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงดูดและสนับสนุนให้เอกชน มาลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยสร้างการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้เป็นอย่างดี" รมว.วิทย์ฯ กล่าว
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. เปิดเผยถึงตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านการการวิจัยและพัฒนาของไทยว่า เป็นที่น่ายินดีกว่าตัวเลขการวิจัยและพัฒนาของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากในปี 2557 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการลงทุนทั้งสิ้น 63,490 ล้านบาท คิดเป็น 0.48% ของ GDP แต่ในปี 2558 ขยับขึ้นมาเป็น 84,671 ล้านบาท คิดเป็น 0.62% ของ GDP ที่สำคัญเรายังพบว่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของเอกชนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาจากอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ และเคมี โดยในปี 2558 มีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา มากถึง 73% นับเป็นสัญญาณที่ดีว่าภาคเอกชนให้ความสนใจด้านวิจัยและพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ก็ทำให้ตั้งเป้าหมายได้ว่า สิ้นปี 2561 ไทยจะมีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา 1% ของ GDP
อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไยที่มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากในปี 2557 มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งสิ้น 84,216 คน แบ่งเป็นบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ 54% ภาคเอกชน 46% คิดจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาต่อประชากร 10,000 คน เท่ากับ 12.9 คน แต่ในปี 2558 พบว่ามีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้นเป็น 89,617 คิดเป็นสัดส่วน 13.6 คน ต่อประชากร 10,000 คน และสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนในปี 2558 แซงหน้าภาครัฐไปแล้ว นั่นคือมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาเอกชนมากถึง 55% ส่วนภาครัฐคือ 45% ซึ่งทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ภาคเอกชนในบ้านเราหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เหตุผลเพราะการวิจัยและพัฒนาสามารถเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรเขาได้ บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งในบ้านเราที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาก็เห็นตัวเลขที่ชัดเจนว่า ยิ่งเพิ่มตัวเลขเงินลงทุนด้านนี้มากขึ้น รายได้หรือผลประกอบการของบริษัทก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในทิศทางที่สอดคล้องกัน
ความเห็น 0