โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

40 ปี การสังหารหมู่ที่ควังจู: ช็อนดูฮวัน ภาพความทรงจำ และความยุติธรรมที่ยังเปลี่ยนไม่ผ่าน

The101.world

เผยแพร่ 18 พ.ค. 2563 เวลา 03.55 น. • The 101 World
40 ปี การสังหารหมู่ที่ควังจู: ช็อนดูฮวัน ภาพความทรงจำ และความยุติธรรมที่ยังเปลี่ยนไม่ผ่าน

จักรกริช สังขมณี เรื่องและภาพ

 

 

“추모와 계승은 역사적 진실을 확인하고 기억하는 것으로 부러 시작됩니다.”

“การรำลึกถึงผู้วายชนม์ และการสืบสานเจตจำนงของพวกเขา

เริ่มต้นจากการค้นหาและจดจำความจริงที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์”

~ สุสานแห่งชาติ 18 พฤษภาคม เมืองควังจู เกาหลีใต้

 

ข้อความข้างต้นถูกเขียนไว้ในห้องสุดท้ายของหออนุสรณ์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสุสานแห่งชาติ 18 พฤษภาคม (May 18 National Cemetery) เมืองควังจู เกาหลีใต้ หออนุสรณ์แห่งนี้เป็นพื้นที่ของการบันทึกเรื่องราวของผู้คน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นพื้นที่ซึ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ของการล้อมปราบ และการใช้ความรุนแรงต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไร้มนุษยธรรม ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 และดำเนินไปเป็นเวลา 10 วัน

 

ชายหูหนวกและพิการทางการรับรู้ อายุ 30 ปี ถูกทุบตีด้วยกระบองจนเสียชีวิต

เด็กสาววัย 19 ปี ถูกแทงที่หน้าอกและถูกยิงซ้ำเข้าที่ท้อง

ชายชราวัย 60 ปี ซึ่งพยายามเข้าไปห้ามปรามการฆ่าผู้บริสุทธิ์ กลับถูกตีจนตายคาที่

ผู้หญิงคนหนึ่งถูกยิงเข้าที่ตัว 13 นัด ในขณะที่กำลังเดินทางไปร่วมพิธีไหว้บรรพบุรุษของเธอ

หญิงตั้งครรภ์ 8 เดือน ถูกยิงเสียชีวิต ในขณะที่เธอกำลังหลบรอสามีอยู่ในซอยแคบๆ

เด็กผู้ชายชั้น ป.4 ถูกยิงจนเสียชีวิต ในขณะที่เขากลับไปหารองเท้าข้างหนึ่งซึ่งหลุดหายไปในช่วงที่วิ่งหนีเหตุการณ์ชุลมุน

หญิงชราคนหนึ่งซึ่งหลบอยู่ในท่อระบายน้ำ และชายชราอายุ 70 ปี อีกคนหนึ่งซึ่งหลบอยู่ในบ้านอย่างเงียบๆ ทั้งสองถูกทหารตามเข้าไปยิงจนเสียชีวิต

เด็กน้อยวัย 5 ขวบ ถูกฆ่าตายอย่างเลือดเย็น ร่างไร้วิญญาณของเขาถูกโยนใส่รถบรรทุก และนำไปฝังรวมกับคนอื่นๆ อย่างไร้ศักดิ์ศรี

รัฐบาลเผด็จการทหารเรียกการกระทำเหล่านี้ว่าเป็น “การปราบจราจลซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคง” จนถึงวันนี้ ประชาชนผู้รักความยุติธรรมก็ยังคงเรียกร้องข้อเท็จจริงและคำอธิบายที่ถูกต้องต่อการกระทำดังกล่าว เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีให้กับ—และแสดงความเคารพต่อ—ผู้วายชนม์เหล่านี้

 

วัตถุและภาพถ่ายในหออนุสรณ์ สุสานแห่งชาติ 18 พฤษภาคม

 

วัตถุและภาพถ่ายในหออนุสรณ์ สุสานแห่งชาติ 18 พฤษภาคม

 

วัตถุและภาพถ่ายในหออนุสรณ์ สุสานแห่งชาติ 18 พฤษภาคม

 

วัตถุและภาพถ่ายในหออนุสรณ์ สุสานแห่งชาติ 18 พฤษภาคม

 

หนึ่งทศวรรษให้หลัง เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้รับหยิบยกขึ้นมาสะสาง เรียกขาน และจดจำใหม่ ภายใต้ยุคสมัยของผู้นำพลเรือนประธานาธิบดีคิมย็องซัม ในชื่อที่สมเกียรติว่า “การเรียกร้องประชาธิปไตยที่ควังจู” (광주 민주화 항쟁)[1] แม้ว่าคิมย็องซัมจะมีท่าทีประนีประนอมต่อการค้นหาความจริง และการนำผู้กระทำผิดจากการสังหารหมู่ที่ควังจูมาลงโทษ

คำพูดของเขาที่ว่า “ปล่อยให้ความจริงเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่จะเยียวยารักษาตัวมันเอง”[2] ได้สร้างความขุ่นเคืองอย่างมากต่อญาติผู้สูญเสียและพลเมืองในการเรียกร้องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ถึงกระนั้น แรงกดดันจากประชาสังคมผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ก็ได้ทำให้จุดเริ่มต้นในการค้นหาและจดจำความจริงที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์นั้นเกิดขึ้นได้[3]

สี่ทศวรรษให้หลัง ในเดือนพฤษภาคม 2020 นี้ อดีตประธานาธิบดีช็อนดูฮวันในวัย 89 ปี กำลังถูกนำตัวมายังศาลพิจารณาความเมืองควังจู เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการค้นหาความจริงอีกครั้ง ก่อนหน้านี้เขาและพวก ซึ่งรวมถึงอดีตประธานาธิบดี โนแทอู เคยถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมาแล้ว ในปี 1996 ศาลจังหวัดในกรุงโซลพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ศาลสูงกลับคำพิพากษาและให้ลงโทษจำคุกช็อนดูฮวันตลอดชีวิต ในเดือนธันวาคมปีถัดมา ช็อนดูฮวันและพวกก็ได้รับการอภัยโทษ

แม้ว่าเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม จะล่วงเลยมาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว เหตุใดความยุติธรรมของการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวยังคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อะไรที่ทำให้สังคมและประวัติศาสตร์ยังคงมีเรื่องราวที่น่าคลางแคลง เป็นปมที่กัดกินหัวใจของบรรดาญาติผู้วายชนม์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมในครั้งนั้น มาจนถึงวันนี้

เมื่อช็อนดูฮวันเดินทางออกจากบ้านพักของเขาในกรุงโซลไปยังเมืองควังจู เพื่อเริ่มกระบวนการให้ปากคำในศาล เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา[4] มีประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมากออกมาโห่ร้องประณามการกระทำของเขาอย่างรุนแรง มีการสร้างรูปปั้นช็อนดูฮวันนั่งคุกเข่าอยู่ในกรงขัง มือสองข้างถูกมัดไพล่หลัง หากแต่ยังคงเงยหน้าท้าทาย ไร้ซึ่งความรู้สึกสำนึกต่อการกระทำในอดีต รูปปั้นดังกล่าวถูกนำไปวางไว้ตามพื้นที่สาธารณะทั้งที่กรุงโซลและเมืองควังจู เพื่อให้ประชาชนได้ออกมาระบายความโกรธแค้น[5]

 

ประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าใหม่

 

ในบทความนี้ ผมจะขอชวนผู้อ่านย้อนกลับไปพิจารณาเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม และการใช้อำนาจที่ไร้มนุษยธรรมในช่วงที่ช็อนดูฮวันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ (1980-1988) อย่างไรก็ตาม มีงานเขียนและงานแปลในภาษาไทยที่พูดถึงการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนในช่วงเวลาที่ว่านี้อย่างละเอียดอยู่แล้ว[6] ในที่นี้ ผมจึงขอเล่าถึงภาพของเหตุการณ์ดังกล่าวในลักษณะที่ต่างออกไป ผ่านมุมมองของความทรงจำ ประสบการณ์ การตีความ และการให้ความหมายผ่านภาพยนตร์

การนำเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์มาบอกเล่าผ่านภาพยนตร์นั้นมีข้อดีหลายอย่าง ประการแรก ภาพยนตร์เป็นสื่อทัศนาและเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่ดี ที่สามารถใช้ในการปลดปล่อยปมความรู้สึก และความรู้สึกอยุติธรรมที่มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อน และซ่อนลึกอยู่ในจิตใจ ซึ่งเรียกว่า “ฮัน” (한)[7] ให้สามารถสื่อสารออกมาเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้อื่นสามารถรับรู้และร่วมแบ่งปันความรู้สึกดังกล่าวในพื้นที่สาธารณะที่กว้างออกไปได้

ประการที่สอง เรื่องเล่าและฉากทัศน์ของภาพยนตร์ทำหน้าที่ในการสื่อสารความรู้สึก ความสัมพันธ์ และความเป็นมนุษย์ ซึ่งยากที่จะถ่ายทอดออกมาผ่านตัวอักษรในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ หรือการจัดนิทรรศการในรูปแบบใดได้ การเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนและช่วงเวลาของประวัติศาสตร์นี้ สำคัญอย่างมากต่อการสร้างการรับรู้ และการสืบทอดเจตจำนงทางประวัติศาสตร์ให้กับคนรุ่นใหม่ในสังคมต่อไป

ประการที่สาม ภาพยนตร์อนุญาตให้ประวัติศาสตร์สามารถถูกตีความ ให้ความหมาย และเลือกนำเสนอในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ดังที่เราจะได้เห็นต่อไป เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หนึ่งๆ นั้นสามารถพิจารณาทำความเข้าใจได้จากตัวแสดง และตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมที่แตกต่างกัน ภาพยนตร์ทำให้การสร้างข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้ถูกเขียนโดยผู้มีอำนาจหนึ่งใดแต่เพียงผู้เดียว

ผมเลือกภาพยนตร์มา 12 เรื่อง เพื่อนำพาผู้อ่านกลับไปพิจารณาที่มา ปฏิบัติการและผลพวงจากเหตุการณ์การล้อมปราบในเดือนพฤษภาคม 1980 เช่นนั้นแล้ว เรื่องราวที่จะได้พบจากนี้ จึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 10 วันที่เมืองควังจูเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนและหลังที่ช็อนดูฮวันดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่ซึ่งความทรงจำในสังคมยังคงไม่จางหาย และความยุติธรรมยังคงเปลี่ยนไม่ผ่านจนถึงปัจจุบันนี้ด้วย

 

เกาหลีใต้ภายใต้การผลัดมือของทรราช

 

ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผมอยากพาไปรู้จักคือ The Presidents Barber (2004) ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของเกาหลีใต้ ผ่านสายตาของ ฮันมู ช่างตัดผมที่พักอาศัยและเปิดร้านอยู่ในย่านฮโยจาดงใกล้ๆ กับทำเนียบประธานาธิบดี หรือที่รู้จักกันในนาม “ชองวาแด” (청와대; Blue House) ฮันมูมีชีวิตอยู่ในช่วงการประท้วงของนักศึกษาและประชาชนในปี 1960 เพื่อขับไล่ประธานาธิบดี อีซึงมัน ซึ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจให้กับตนเอง

การลี้ภัยออกนอกประเทศของอีซึงมัน เปิดโอกาสให้รัฐบาลพลเรือนได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศแทน แต่ก็เพื่อที่จะถูกรัฐประหารโดยนายพลพัคจองฮีในปีถัดมา ฮันมูจับพลัดจับผลูกลายมาเป็นช่างตัดผมส่วนตัวให้กับประธานาธิบดีพัคจองฮีที่ชองวาแด เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายการสร้างภาพที่น่าหวาดกลัวของคอมมิวนิสต์ การสร้างลัทธิบูชาผู้นำสูงสุด ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างบรรดานายพล หน่วยสืบสวนกลาง ชนชั้นนำ นักการเมืองและนักธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่การลอบสังหารประธานาธิบดีพัคจองฮีโดยผู้อำนวยการหน่วยสืบสวนกลาง (KCIA) ในเดือนตุลาคม ปี 1979

 

President’s Barber

 

สถานการณ์ของความวุ่นวายและสุญญากาศทางการเมืองดังกล่าวเปิดทางให้เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง ช็อนดูฮวัน ผู้บัญชาการกองบัญชาการรักษาความมั่นคงกลายมาเป็นนายทหารผู้นำประเทศ จากการยึดอำนาจจากประธานาธิบดี ชเวคยูฮา ผู้ซึ่งขึ้นมาทำหน้าที่ประธานาธิบดี ภายหลังจากการที่ประธานาธิบดี พัคจองฮี ถูกลอบสังหาร

ไม่กี่เดือนหลังการทำหน้าที่ของชเวคยูฮา ช็อนดูฮวันและพวกเข้าแทรกแทรงการทำงานของรัฐบาล ทั้งในการสืบสวนกรณีการลอบสังหาร การบริหารกิจการความมั่นคง และการใช้จ่ายงบประมาณ ในเดือนเมษายน 1980 ช็อนดูฮวันสถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้อำนวยการของหน่วยสืบสวนกลางสำเร็จ เขาเริ่มปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง เข้าควบคุมสื่อ และสั่งการห้ามชุมนุมและการจัดกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งโดยขบวนการนักศึกษา ที่ก่อตัวขึ้นในช่วงปี 1979-1980 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม Seoul Spring

ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 1980 ช็อนดูฮวันประกาศกฎอัยการศึก และเที่ยงคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ก็ประกาศใช้มาตรการควบคุมสูงสุดภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน มหาวิทยาลัยทั่วประเทศและพื้นที่สาธารณะถูกสั่งปิด ในช่วงสัปดาห์ของการรัฐประหารดังกล่าว มีประชาชนและผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกจับกุมหลายพันคน นักข่าวถูกปลดออกจากตำแหน่งกว่า 400 คน ผู้นำแรงงานหลายร้อยคนถูกไล่ออกจากงาน มีการรวบผู้ชุมนุมบนท้องถนนกว่า 15,000 ครั้ง[8] ความไม่พอใจของนักศึกษาและประชาชนขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การลุกฮือครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของเกาหลีใต้

 

การลุกฮือที่ควังจู

 

เช้าวันที่ 18 พฤษภาคม ที่เมืองควังจู นักศึกษามหาวิทยาลัยชอนนัมรวมตัวกันหน้ามหาวิทยาลัยเพื่อประท้วงต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ การชุมนุมดังกล่าวถูกตำรวจและทหารเข้าสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง ส่งผลให้การชุมนุมประท้วงเคลื่อนตัวเข้ามาสู่บริเวณถนนกึมนัม บริเวณน้ำพุหน้าศาลาว่าการเมืองควังจู

ก่อนเที่ยงคืนวันที่ 20 นักศึกษาสองคนถูกทำร้ายจนเสียชีวิตบริเวณสถานีรถไฟควังจู การต่อต้านการใช้อำนาจของช็อนดูฮวันขยายตัวอย่างรวดเร็ว และได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากประชาชนในเมือง ซึ่งทนเห็นการปราบปรามการชุมนุม และการใช้ความรุนแรงต่อลูกหลานของพวกเขาไม่ได้

คนขับแท็กซี่และคนขับรถประจำทาง นักเรียนมัธยม และชาวบ้านกว่าสองหมื่นคนเข้าร่วมประท้วงในเช้าวันรุ่งขึ้น ศาลาว่าการถูกควบคุมโดยพลทหารรบพิเศษหลายร้อยนาย พร้อมๆ กับอากาศยานและรถถัง ที่ระดมสรรพกำลังเข้ามาปราบปรามเหล่าบรรดาผู้ประท้วง เวลาบ่ายโมงตรงของวันที่ 21 เสียงเพลงชาติเกาหลีถูกบรรเลงผ่านลำโพงจากศาลาว่าการ เป็นสัญญาณคำสั่งให้พลทหารลั่นไกกระบอกปืน ระดมยิงผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ตรงหน้าอย่างไม่ละเว้น

การชุมนุมและการต่อสู้ดำเนินต่อไปอย่างยาวนาน ในวันถัดๆ มามีจำนวนผู้ชุมนุมประท้วงเพิ่มมากขึ้นร่วมแสนคน และสามารถจัดตั้งกองกำลังพลเรือนพร้อมอาวุธที่ยึดมาจากคลังแสงและจากการปะทะกับกองกำลังทหารแบบซึ่งหน้า อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาวะสงครามกลางเมืองดังกล่าว เมืองควังจูกลับถูกตัดขาดจากการสื่อสารกับโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง สถานการณ์ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการต่อสู้ที่รุนแรงนี้ แทบไม่มีเพื่อนร่วมชาติรับรู้จากสื่อสารมวลชนใดๆ หรือแม้กระทั่งจากการติดต่อกับญาติมิตรในควังจูได้เลย

ในช่วงตีสามของวันที่ 27 พฤษภาคม ภายใต้คำสั่งปฏิบัติการที่ชื่อว่า “สุขสันต์วันพักร้อน” (화려한 휴가) กองกำลังปราบปรามเฉพาะกิจจำนวน 20,000 นายถูกส่งตรงจากฐานทัพเข้ายึดฐานที่มั่นการชุมนุมในควังจู เพื่อจัดการให้การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลยุติลงโดยเร็วที่สุด ในช่วงตีห้าก่อนรุ่งสาง ปฏิบัติการล้อมปราบและสังหารหมู่ผู้ชุมนุมที่ควังจูก็จบสิ้นลง การปราบปรามที่ป่าเถื่อนในครั้งนั้นนำมาซึ่งผู้เสียชีวิตกว่า 150 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายพันคน[9]

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ May 18

 

เรื่องราวทั้งหมดที่ผมเล่ามานี้ปรากฏให้เห็นผ่านภาพยนตร์ May 18 (2007) หรือ “สุขสันต์วันพักร้อน” ในภาษาเกาหลี ภาพยนตร์คลาสสิคตลอดกาลเรื่องนี้ฉายภาพเหตุการณ์การต่อสู้ในช่วง 10 วัน โดยไล่เรียงให้เห็นพัฒนาการและจุดจบของเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา[10]

ในขณะที่ May 18 ฉายภาพของเหตุการณ์ไล่เรียงตามลำดับเวลา แต่ก็มีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่เลือกหยิบยกความโหดร้ายของเหตุการณ์ในครั้งนั้น มานำเสนอผ่านสายตาและความทรงจำของผู้คนที่แตกต่างกันออกไป ภาพยนตร์ A Petal (1996) บอกเล่าเหตุการณ์ผ่านประสบการณ์ของสาวน้อยวัย 15 ปี ผู้ซึ่งกลายมาเป็นเด็กกำพร้า จากการที่แม่ของเธอเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ประสบการณ์ในการผ่านความรุนแรง การไม่สามารถช่วยเหลือแม่ของเธอเอาไว้ได้ ได้กลายมาเป็นบาดแผลในจิตใจ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเธอในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ The Old Garden (2006) ซึ่งสร้างจากนวนิยายของ ฮวังซ็อคย็อง นักเขียนชื่อดัง ที่พูดถึงนักศึกษาหนุ่มนักกิจกรรม ผู้ซึ่งต้องเลือกระหว่างความรักในช่วงวัยที่งดงาม กับการออกเดินทางตามอุดมการณ์ เพื่อต่อสู้กับอำนาจเผด็จการในช่วง Seoul Spring และเหตุการณ์ที่ควังจู นี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์รักโรแมนติกบนบริบททางการเมืองที่บ้าคลั่งวุ่นวาย ซึ่งนอกจากจะนำเสนอเรื่องราวของความสัมพันธ์ การเสียสละ ความซื่อสัตย์ และการอดทนรอคอยได้อย่างจับใจแล้ว เรายังจะได้ทำความเข้าใจความยากลำบากของคนหนุ่มสาว ในยุคสมัยของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกด้วย[11]

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ A Petal

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ The Old Garden

 

นอกจากการย้อนกลับไปมองเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ผ่านมุมมองของผู้ถูกกระทำแล้ว ยังมีภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่พยายามชี้ให้เห็นถึงผู้มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ด้วยเช่นกัน Peppermint Candy (1999) ของผู้กำกับ อีชางดง ชี้ให้เห็นว่าบาดแผลในจิตใจจากการต่อสู้ทางการเมืองนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และยากที่จะข้ามพ้นในห้วงคำนึงของชีวิต

แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้ผ่านไปนานแล้ว Peppermint Candy นำพาเราเข้าไปสำรวจจิตใจของยองโฮ ชายหนุ่มผู้ซึ่งการเกณฑ์ทหารทำให้เขากลายมาเป็นพลทหารประจำการ และมีส่วนในการเข้าไปปฏิบัติการณ์ในการสลายการชุมนุมที่ควังจู หลายปีต่อมา ยองโฮยังได้เป็นตำรวจทำหน้าที่ในการสอบสวนนักโทษทางการเมือง ในช่วงท้ายๆ ของการดำรงตำแหน่งของช็อนดูฮวัน โดยใช้ความรุนแรงบีบบังคับและวิธีการทรมานผู้ต้องหาอย่างไร้มนุษยธรรม ความเลวร้ายของอำนาจเผด็จการที่กระทำผ่านตัวเขานั้น นำพาให้ยองโฮพบกับจุดจบที่น่าสะเทือนใจ

นอกจากนี้ ความทรงจำที่เลวร้ายของเหล่าบรรดาพลทหารรบ ซึ่งมีส่วนในเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ยังถูกนำเสนอในภาพยนตร์ Fork Crane (2017) ซึ่งเขียนบทและผลิตโดยผู้กำกับ คิมคิด็อก เช่นเดียวกัน

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ Peppermint Candy

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ Fork Lane

 

ความจริงที่ถูกเปิดเผย

 

อย่างที่ผมได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ในช่วงของการต่อสู้และการปราบปรามที่รุนแรงในควังจูนั้น ทั่วทั้งเกาหลีแทบไม่มีใครรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น เมืองควังจูถูกปิดล้อม ถนนทุกสายที่มุ่งเข้าเมืองถูกปิดกั้น โทรศัพท์และเครือข่ายการติดต่ออื่นๆ ถูกตัดขาด สถานีวิทยุและโทรทัศน์ออกอากาศประกาศข้อความที่มีเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาล และแจ้งถึงความจำเป็นในการปิดล้อมเมืองเพื่อปราบปราม “คอมมิวนิสต์” และ “บรรดาผู้ฝักใฝ่เกาหลีเหนือ”[12]

วันที่ 19 พฤษภาคม หรือหนึ่งวันหลังจากจุดเริ่มต้นของการลุกฮือที่ควังจู เจอร์เกน  ฮินส์ปีเตอร์ (Jürgen Hinzpeter) นักข่าวชาวเยอรมันซึ่งประจำการอยู่ในญี่ปุ่น บินตรงมายังกรุงโซล และลักลอบเดินทางเข้าไปยังควังจูได้สำเร็จ ในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 20 ฮินส์ปีเตอร์ได้บันทึกภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในควังจูในช่วงวันที่ 20-21 และได้นำฟิล์มจำนวนกว่าสิบม้วนกลับมายังกรุงโซล เพื่อรีบส่งภาพดังกล่าวไปยังสำนักงานข่าวที่กรุงโตเกียว

ภาพเคลื่อนไหวจากแผ่นฟิล์มของฮินส์ปีเตอร์ได้รับการเผยแพร่ออกไปทั่วโลก และทำให้นานาชาติรับรู้ว่าเกิดความรุนแรงขึ้นในเมืองที่ถูกปิดตายในเกาหลีใต้ ฮินส์ปีเตอร์เดินทางกลับมายังควังจูอีกครั้งในวันที่ 23 เพื่อถ่ายภาพของเหตุการณ์ที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นในควังจู

การลักลอบเข้าไปในเมืองควังจูของฮินส์ปีเตอร์ ได้รับการช่วยเหลือจาก คิมซาบก ไกด์และคนขับรถผู้ทำหน้าที่ต้อนรับแขกต่างชาติ ซึ่งประจำอยู่แถวโรงแรมพาเลซ ในกรุงโซล คิมซาบกนั้นได้ตัดสินใจอย่างกล้าหาญในการที่จะพาฮินส์ปีเตอร์ฝ่าด่านและการดักล้อมของเจ้าหน้าที่ในเวลานั้นเพื่อเดินทางไปให้ถึงควังจู การที่คิมซาบกได้เข้าไปมีส่วนรู้เห็นความรุนแรงในเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้กลายมาเป็นบาดแผลและความหวาดกลัวที่หลอกหลอนเขาในเวลาต่อมา คิมซาบกเสียชีวิตลงในไม่กี่ปีหลังจากเหตุการณ์ โดยแทบไม่มีใครรับรู้ถึงวีรกรรมที่เขาได้กระทำ

ในปี 2005 ฮินส์ปีเตอร์เดินทางกลับมายังเกาหลี เพื่อเข้าร่วมพิธีรำลึกถึงผู้วายชนม์ที่ควังจู ในครั้งนั้นเขาได้พยายามตามหาคิมซาบก แต่ก็ไม่ได้รับข่าวคราวหรือข้อมูลใดๆ มากนัก ฮินส์ปีเตอร์เสียชีวิตลงในปี 2016 โดยแสดงเจตจำนงที่จะให้นำศพของเขามาฝังไว้ที่ควังจู อย่างไรก็ตาม โดยความเห็นแย้งจากญาติ ทุกวันนี้ จึงได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานให้กับฮินส์ปีเตอร์เอาไว้ที่สุสานแห่งชาติ 18 พฤษภาคม เมืองควังจู โดยเก็บเอาปลายเล็บและเส้นผมที่ฮินส์ปีเตอร์ได้มอบให้ไว้ในครั้งที่เขามาร่วมพิธีบรรจุไว้แทน

ภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายของฮินส์ปีเตอร์ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีที่มูลนิธิอนุสรณ์ 18 พฤษภาคม (May 18 Memorial Foundation) จนถึงวันนี้ มูลนิธิยังคงทำงานรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ และทำงานวิจัยเพื่อชำระประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ทางการเมืองในครั้งนั้นอย่างต่อเนื่อง

การค้นหาความจริงและการต่อสู้เชิงกฎหมายนั้นยังไม่สิ้นสุด ผมมีโอกาสได้เข้าไปดูห้องเก็บเอกสารของมูลนิธิ ที่เก็บเอกสารจำนวนมากกว่า 43,000 ชิ้น ที่ได้รับการบริจาคจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาพถ่าย เอกสารครอบครัว บันทึกความทรงจำ หมายศาล ฯลฯ เพื่อการสร้างข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ให้ชัดเจนมากที่สุด ส่วนเรื่องราวชีวิตของฮินส์ปีเตอร์นั้น ก็ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดี ในชื่อว่า 5.18 Hinzpeter Story (2018) รวบรวมคำสัมภาษณ์ภรรยาของเขา ตลอดจนภาพเคลื่อนไหว และภาพถ่ายที่ฮินส์ปีเตอร์ได้ถ่ายจากเหตุการณ์เอาไว้ด้วย

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ A Taxi Driver

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ 5.18 Hinzpeter Story

 

นอกเหนือจากเรื่องราวของฮินส์ปีเตอร์แล้ว ยังมีภาพยนตร์เรื่องสำคัญ นั่นก็คือ A Taxi Driver (2017) ซึ่งสร้างขึ้นจากข้อมูลบางส่วนที่ได้จากตอนที่ฮินส์ปีเตอร์พยายามตามหา “เพื่อนคนขับแท็กซี่” ของเขา ภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ ความกล้าหาญ และความพยายามของฮินส์ปีเตอร์และคิมซาบก ในการนำความจริงออกมาเปิดเผยให้สังคมโลกได้รับรู้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี และทำให้มีการพูดถึงและตามหาคนขับแท็กซี่ ผู้ซึ่งนำพานักข่าวฮินส์ปีเตอร์บุกทะลวงเข้าไปถึงควังจูได้สำเร็จ เรื่องราวของคิมซาบกได้รับการเปิดเผยภายจากลูกชายของเขาภายหลังจากที่ภาพยนตร์ได้ออกฉาย[13] หลังจากที่เวลาผ่านไปเกือบสี่ทศวรรษ ในปี 2019 ทั้งฮินส์ปีเตอร์และคิมซาบกก็ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง โดยที่เถ้ากระดูกของคิมซาบกนั้นได้รับการย้ายมาฝังไว้ใกล้ๆ กับปลายเล็บและเส้นผมของฮินส์ปีเตอร์ที่สุสานเมืองควังจู[14]

 

ตำรวจความคิดกับคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีจริง

 

ภายหลังการล้อมปราบผู้ชุมนุมที่ควังจู รัฐบาลช็อนดูฮวันได้ใช้ที่ทำการทหารจังหวัดชอนลามาเป็นพื้นที่พิเศษในการกักขัง สอบสวน และตัดสินคดีความ โดยศาลทหารที่ได้รับการตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษในเวลานั้น

ในภายหลัง ผู้นำทหารซึ่งขึ้นมามีอำนาจหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ตัดสินใจที่จะย้ายที่ทำการทหารประจำจังหวัดออกไปไว้ที่อื่น และพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อการพาณิชย์และการสร้างที่พักอาศัยเพื่อลบร่องรอยของประวัติศาสตร์การใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

บรรดาญาติพี่น้องของผู้ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการอยุติธรรมดังกล่าว ได้เรียกร้องให้เก็บรักษาอาคารที่ทำการดังกล่าวไว้ เพื่อเตือนใจถึงความรุนแรงและกระบวนการที่ไร้ความชอบธรรม แม้ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ที่ดินดังกล่าวก็ได้กลายมาเป็นสวนสาธารณะแทน และในปี 1999 อาคารจำลองคุกและศาลทหารก็ได้รับการสร้างกลับขึ้นมาใหม่ โดยใช้วัสดุจากซากอาคารเดิมที่ถูกทำลายไป

 

จำลองเหตุการณ์ของการสอบสวน กักขัง และทำร้ายร่างกายผู้เห็นต่าง จัดแสดง ณ พื้นที่เดิมของที่ทำการทหารในเมืองควังจู

 

จำลองเหตุการณ์ของการสอบสวน กักขัง และทำร้ายร่างกายผู้เห็นต่าง จัดแสดง ณ พื้นที่เดิมของที่ทำการทหารในเมืองควังจู

 

การจัดการกับพลเมืองผู้เห็นต่างภายหลังเหตุการณ์ที่ควังจูนั้น ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในยุคสมัยของช็อนดูฮวัน

ในปี 1981 ได้มีการบุกเข้าจับกุมนักศึกษาและประชาชนจำนวน 19 คน ซึ่งรวมตัวกันอ่านหนังสือในลักษณะชมรม (book club) และยัดเยียดข้อหาซ่องสุมทางการเมืองภายใต้กฎอัยการศึก ละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ จากการที่พวกเขาเหล่านั้นอ่านหนังสือต้องห้าม ตลอดจนมีแนวคิดฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และเกาหลีเหนือ ผู้ต้องหาเหล่านี้ถูกนำไปคุมขังโดยไม่มีหมายศาล ถูกบีบบังคับให้สารภาพ และถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในนาม “กรณีปูริม” (부림; Burim Case)[15]

ภาพยนตร์ The Attorney (2013) ฉายภาพให้เห็นถึงเหตุการณ์และกระบวนการในชั้นศาลของกรณีปูริม ท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในช่วงเวลาดังกล่าว มีนักกฎหมายซึ่งพยายามเข้าไปช่วยเหลือว่าความให้กับเหยื่อผู้ต้องหาทางการเมือง การต่อสู้ในชั้นศาลนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบากในยุคสมัยที่ศาลอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลเผด็จการ ข้อความตอนหนึ่งที่ทนายความผู้ต้องหากล่าวในห้องพิจารณาคดี ในตอนที่อัยการอ้างถึงความมั่นคงของรัฐคือ

“มาตรา 1 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลีระบุว่า อำนาจอธิปไตยของสาธารณรัฐเกาหลีเป็นของประชาชน อำนาจรัฐทั้งหมดเกิดขึ้นจากประชาชน … รัฐจึงหมายถึงประชาชน”

แม้ว่าจะมีความพยายามในการชี้ให้เห็นถึงกระบวนการสืบสวน และการรับสารภาพของผู้ต้องหาที่ผิดไปจากหลักกฎหมาย มีการกักขังหน่วงเหนี่ยว การประทุษร้ายทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง แต่ข้อแก้ต่างเหล่านี้ก็แทบจะไม่มีผล ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกตัดสินให้มีความผิด

ทนายความผู้อาสาเข้าไปว่าความให้กับผู้ต้องหาในกรณีปูริม มีชื่อว่า โนมูฮย็อน โนได้กลายมาเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนในช่วงของการต่อสู้กับเผด็จการ และได้รับการเลือกตั้งให้เป็นเป็นประธานาธิบดีของเกาหลีใต้สองทศวรรษต่อมา ภาพยนตร์ The Attorney ซึ่งฉายให้เห็นชีวิตในช่วงการเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนเรื่องนี้ แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงถึงเรื่องความถูกต้องของเนื้อหาอยู่บ้าง[16] แต่ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และติดอยู่ในสิบอันดับแรกของภาพยนตร์เกาหลีที่มีผู้ชมมากที่สุดตลอดกาล

ในปีถัดมาหลังจากที่ภาพยนตร์ออกฉาย อดีตนักโทษคดีปูริมยื่นเรื่องต่อศาลให้มีการพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง ศาลตัดสินให้ผู้ต้องหาทั้งหมดพ้นผิดจากข้อกล่าวหา หลังจากที่พวกเขาต้องติดคุกในคดีความที่ไม่มีมูลความจริงเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ[17]

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ The Attorney

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ National Security

 

นอกจากที่ปูซานแล้ว การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการจัดการกับผู้เห็นต่างในรัฐบาลช็อนดูฮวันนั้น ยังเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายกรณี กรณีที่เป็นที่ฉาวโฉ่อีกกรณีเกิดขึ้นในปี 1985 ที่ย่านนัมยองดง ใจกลางของกรุงโซล คิมกึนแท อดีตผู้นำนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยถูกลักพาตัว กักขัง และทรมาน ในกระบวนการสืบสวนและบีบบังคับให้รับสารภาพเป็นเวลา 23 วัน เช่นเดียวกับกรณีปูริม คิมกึนแทถูกยัดเยียดข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์และฝักใฝ่อุดมการณ์เกาหลีเหนือ[18]

รูปแบบและประสบการณ์ของการทรมานที่เลวร้ายนั้น ถูกเสนอผ่านภาพยนตร์ National Security (2012) หรือชื่อ “นัมยองดง 1985” (남영동 1985) ในภาษาเกาหลี วิธีการทรมานมีตั้งแต่การเปลื้องผ้า การทุบตี การบังคับให้อดนอนและอดอาหาร การกดหัวให้จมน้ำ waterboarding หรือการกรอกน้ำใส่เข้าไปในปากและจมูกที่มีผ้าบางๆ ปิดไว้ ในขณะที่ผู้ถูกทรมานถูกตรึงให้นอนหงาย เพื่อให้ผู้ถูกทรมานอยู่ในภาวะเหมือนกับการจมน้ำ รวมไปถึงการรัดคอ และการช็อตด้วยไฟฟ้า

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากการเคลื่อนไหวของประชาชนครั้งใหญ่ในปี 1987 คิมกึนแทได้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง เขาได้กลายมาเป็นผู้นำพรรครัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสวัสดิการและสาธารณสุขภายใต้สมัยของประธานาธิบดีโนมูฮย็อน อย่างไรก็ตาม คิมกึนแทต้องเผชิญกับภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder) และเสียชีวิตในปี 2011 ขณะอายุได้ 64 ปี จากโรคพาร์กินสันและอาการเลือดคั่งในสมอง ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากประสบการณ์การถูกทรมานที่รุนแรงนั่นเอง

ในปี 2018 พื้นที่และห้องที่เคยใช้สอบสวน และทรมานนักกิจกรรมทางการเมืองที่นัมยองดง ได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ[19] นอกจากคิมกึนแทแล้ว ยังมีนักกิจกรรมทางการเมืองอีกหลายคนที่ถูกยัดเยียดข้อหา และทรมานร่างกายในพื้นที่แห่งนี้ หนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกซ้อมทรมานและเสียชีวิตที่นี่ คือ พัคจงชอล[20] ผมจะเขียนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อีกครั้งในโอกาสหน้า

 

ความยุติธรรมที่ยังเปลี่ยนไม่ผ่าน

 

ความทรงจำ การตีความ การสะสางความจริง และการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษนั้นยังคงดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

ความคับแค้นของผู้คนที่มีต่อช็อนดูฮวัน และโทษที่เค้าได้รับอย่างไม่สาสมนั้น ยังเป็นปมที่ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองที่แสดงออกมาได้โดยง่าย ภาพยนตร์ 26 Years (2012) เป็นภาพสะท้อนที่ดีของความคับแค้นใจดังกล่าว ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเรื่องแต่งฉบับการ์ตูน พูดถึงการรวมตัวกันของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การล้อมปราบและการสังหารหมู่ที่ควังจู ในการวางแผนลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีช็อนดูฮวัน ภายหลังจากที่เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไป 26 ปี

ภาพสมมติหรือจินตนาการที่นำเสนอในภาพยนตร์นั้น ชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความพยายามในของประชาชนในการชำระล้าง “ฮัน” และความอยุติธรรม ที่แม้เวลาจะล่วงเลยมาเนิ่นนาน ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนหรือข้ามผ่านได้

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ 26 Years

 

โปสเตอร์ภาพยนตร์ Kim-gun

 

ข้อเท็จจริงที่ถูกขุดค้น ตีความ และถกเถียงเกี่ยวกับกรณีควังจูนั้นไม่เคยจบสิ้น ในปี  2015 มีอดีตนายทหารคนหนึ่งออกมาชี้ว่า ในบรรดาเอกสารหลักฐานเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่ควังจูนั้น มีภาพถ่ายพลเมืองติดอาวุธคนหนึ่ง ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษของเกาหลีเหนือ ที่เข้ามาปฏิบัติการปลุกระดมต่อต้านรัฐบาลในตอนนั้น ข้ออ้างที่ว่านี้ เป็นความพยายามที่จะย้อนกลับไปตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของขบวนการประชาชนที่ควังจู และก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และความขุ่นเคืองเป็นอย่างมากต่อบรรดาญาติผู้วายชนม์ การพยายามแสวงหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้จึงเกิดขึ้น ผ่านภาพยนตร์สารคดีที่ชื่อว่า Kim-Gun (2018) ซึ่งย้อนรอยสืบหาผู้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ในการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “คิมกุน” ชายหนุ่มที่ปรากฏอยู่ในภาพ และทวงคืนอำนาจชอบธรรมให้กลับมายังขบวนการประชาชนอีกครั้ง

ในที่นี้ ภาพสมมติที่ถูกสร้างขึ้นในโลกของภาพยนตร์นั้น ดำเนินไปพร้อมๆ กับภาพที่เกิดขึ้นในปริมณฑลของโลกความเป็นจริงอยู่เสมอ

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ควังจู และเหตุการณ์ของการใช้ความรุนแรงกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองในยุคสมัยของช็อนดูฮวัน เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการลุกฮือของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยครั้งสำคัญของเกาหลีใต้ในปี 1987 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ได้เปิดโอกาสให้เกิดการชำระข้อเท็จจริงใหม่ เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนมีการนำผู้เกี่ยวข้องในการปราบปรามการชุมนุมที่ไร้มนุษยธรรมมาลงโทษ[21]

การแสวงหาความจริงในหน้าประวัติศาสตร์การเมือง เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตย การพยายามปกปิดบิดเบือนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน และการใช้อำนาจของรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมนั้น มีแต่จะสร้างบาดแผลและความบาดหมางให้กับคนในชาติ หนึ่งในหนทางของการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ดี ต้องเริ่มจากค่านิยมของการทำความจริงให้ปรากฎ หาใช่กระบวนการสร้างความปรองดองที่ปราศจากเสรีภาพ ความจริงใจ และข้อเท็จจริง

 

 

อ้างอิง

[1] Kuk Cho. 2007. “Transitional Justice in Korea: Legally Coping with Past Wrings after Democratization”Washington International Law Journal 16(3): 579-611.

[2] Waters, David. 1996. “Korean Constitutionalism and the Special Act to Prosecute Former Presidents Chun Doo-Hwan and Roh Tae-Woo” Columbia Journal of Asian Law 10(2): 461-490.

[3] Baik, Tae-Ung. 2013. “Fairness in Transitional Justice Initiatives: The Case of South Korea” Buffalo Human Rights Law Review 19: 169-191.

[4] "The significance of Chun Doo-hwan’s trialHankyoreh, April 28, 2020.

[5] “'Chun Doo-Hwan's Disgrace Statue', kneeling and hammering ahead of trialTeller Report, April 27, 2020.

[6] ดู พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. 2554. “การลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตย ณ เมืองกวางจู สาธารณรัฐเกาหลี ค.ศ. 1980 และการพิจารณาคดีการปราบปรามประชาชน”  ฟ้าเดียวกัน 9, 1 (ม.ค.-มี.ค. 2554): 174-184. และ งานแปลที่ชื่อว่า 18 พฤษภาคม การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เมืองกวางจู โดย คณะกรรมการรวบรวมประวัติศาสตร์ของเมืองกวางจู 18 พฤษภาคม

[7]  "อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ เติบโตพร้อมกับการสร้างประชาธิปไตย” ใน The Matter, 24 พฤษภาคม 2563

[8] Shorrock, Tim. 1986. “The Struggle for Democracy in South Korea in the 1980s and the Rise of Anti-Americanism” Third World Quarterly 8(4): 1195-1218.

[9] 5.18 Archives. 2015. The May 18 Gwangju Democratic Uprising. Gwangju: Gwangju Metropolitan City Historiography Commission.

[10] สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ที่ควังจู ดูเพิ่มเติมใน Shin Gi-Wook and Hwang Kyung Moon. 2003. Contentious Kwangju: The May 18 Uprising in Korea’s Past and Present. Lanham: Rowman & Littlefield Publishers. และ Lewis, Linda S. 2002. Laying Claim to the Memory of May: A Look Back at the 1980 Kwangju Uprising. Honolulu: University of Hawai'i Press.

[11] ดูเพิ่มเติมใน Morris, Mark. 2010. “The New Korean Cinema, Kwangju and the Art of Political Violence” The Asia-Pacific Journal 8(5): 1-21.

[12] Sohn, Donald. 1998. Chun Doo Hwan’s Manipulation of the Kwangju Popular Uprising. MA Thesis, Cornell University.

[13]  "Real-life heroes of “A Taxi Driver” pass away without having reunited” Hankyoreh, May.14,2018 และ “Taxi driver’s identity is confirmedKorea JoonAng Daily, September 6, 2017.

[14] “Two real-life heroes of movie ‘Taxi driver’ meet in 40 yearsThe Dong-A Ilbo, December. 25, 2018.

[15] ชื่อเหตุการณ์ “ปูริม” (Burim Case -- 부림) เป็นคำผสมระหว่างคำว่า “ปูซาน” (부산) และพยางค์ที่สองของคำว่า “ฮัคริม” (학림) ร้านกาแฟที่อยู่ในย่านแทฮัคโน (대학로) ในกรุงโซล ซึ่งนักเรียนสังคมศาสตร์และนักเคลื่อนไหวทางสังคมมักรวมตัวกัน และตำรวจเคยเข้าไปจับกุมตัวเมื่อปี 1980 กรณีปูริม จึงหมายถึงเหตุการณ์ที่มีลักษณะเดียวกัน หากแต่เกิดขึ้นที่ปูซาน (부산의 학림) นั่นเอง

[16] "‘Attorney’ a huge success, but blurs facts” , Korea JoonAng Daily, January 19, 2014

[17] "Better late than never for victims in the Burim CaseHankyoreh, Feb.14,2014

[18] Hanley, Paul. 2014. “Transitional Justice in South Korea: One Country’s Restless Search for Truth and Reconciliation”East Asia Law Review 9(2): 139-166.

[19] "Former police torture facility to be turned into human rights memorial hallKorea Times, December 26, 2018

[20] Han Sang-Joo. 1988. “South Korea in 1987: The Politics of Democratization” Asian Survey 28(1): 52-61.

[21] Gentilucci, Geoff. 2005. “Truth-telling and Accountability in Democratizing Nations: The Cases against Chile’s Augusto Pinochet and South Korea’s Chun Doo-Hwan and Roh Tae-Woo” Connecticut Public Interest Law Journal 5(1): 79-108.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0