โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ใจละลาย หรือจะสู้น้ำแข็งละลาย : อันตรายของวิกฤต ‘ธารน้ำแข็งทเวทส์' ผลจากโลกร้อน

The MATTER

เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2562 เวลา 11.43 น. • Byte

หากคุณมีที่พักอาศัยที่ดูๆ ไว้อยู่ริมชายฝั่ง ก็ขอเตรียมใจได้ว่า น้ำทะเลจะหนุนสูงจนท่วมแน่ๆ แต่คำถามคือตอนไหนหรือเมื่อไหร่ที่จะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายเท่านั้นเอง ซึ่งหนึ่งในฟางเส้นสุดท้ายของโลกคือ 'ธารน้ำแข็งทเวทส์' (Thwaites Glacier) ที่หากละลายก็เท่ากับเปลี่ยนเมืองท่าทั่วโลกให้กลายเป็นเมืองบาดาลในบัดดล

ธารน้ำแข็งกำลังละลาย น้ำทะเลกำลังเพิ่มสูงขึ้น พวกเราทราบกันดีว่ามหาสมุทรกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นักวิทยาศาสตร์กังวลว่า โลกของเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ธารน้ำแข็งในธรรมชาติจะละลายอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อนหน้านี้ คำเตือนต่างๆ ที่บอกกันมามักไม่เห็นผลอันเป็นประจักษ์นัก จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์พบว่า ธารน้ำแข็งทเวทส์ ธารน้ำแข็งขนาดมหึมาที่อยู่บริเวณแอนตาร์กติกาฝั่งตะวันตก กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะมันกำลังละลายอย่างรวดเร็วจนเกิดปรากฏการณ์ลูกโซ่ที่มีผลกระทบต่อทุกชีวิต

(ภาพจาก: pri.org)

ปัจจุบันน้ำทะเลของโลกหนุนสูงขึ้น 1 ฟุตในทุกๆ ศตวรรษ ซึ่งน้ำทะเลจำนวนหนึ่งกลายเป็นน้ำแข็งที่สามารถกักเก็บน้ำทะเลไว้จนมีความสูงถึง 200 ฟุต แต่น้ำแข็งทั่วโลกเองกำลังละลายในอัตราที่รวดเร็ว โดยเฉพาะธารน้ำแข็งทเวทส์ที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับรัฐฟลอริดา ซึ่งหากละลายนั้นจะทำให้น้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 2 ฟุต และการละลายนี้จะส่งผลกระทบต่อธารน้ำแข็งอื่นๆ ด้วย และเป็นไปได้ว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้น 11 ฟุตเป็นอย่างต่ำ

ในความสูงขนาดนี้ หากเมืองบริเวณใกล้ชายฝั่งไม่มีโครงสร้างใดๆ ปกป้อง หรือเรายังไม่มีวิทยาการใหม่ๆ รับมือ เมืองเหล่านี้ก็จะจมอยู่ใต้บาดาลอย่างแน่นอน ประชากรหลายร้อยล้านคนจะไม่มีที่อยู่โดยทันที มนุษย์อาจสูญเสียแหล่งอาหารสำคัญ และเกิดการอพยพขึ้นที่สูงครั้งประวัติศาสตร์

(ภาพ: pri.org)

นักวิทยาศาสตร์จับตาดูธารน้ำแข็งทเวทส์มานานกว่า 10 ปี มันเป็นธารน้ำแข็งที่ขึ้นชื่อว่า 'ไม่มีความเสถียรเป็นอย่างยิ่ง' พื้นผิวด้านล่างของธารน้ำแข็งแทรกตัวไปในแผ่นทวีป ซึ่งหากแผ่นธารน้ำแข็งเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ก็จะไปแล้วไปลับ ไม่มีทางหยุดยั้งได้ ธารน้ำแข็งทเวทส์กำลังอยู่ในช่วงสลายตัวอย่างรวดเร็ว นักวิจัยIan Joughin จากมหาวิทยาลัย University of Washington ตีพิมพ์การคำนวณในวารสารNature ปีค.ศ. 2016 ว่า หากนำสภาพธารน้ำแข็งทเวทส์ในปัจจุบันมาคำนวณด้วยโมเดลคอมพิวเตอร์ ธารน้ำแข็งนี้อาจมีเวลาเหลือแค่ 200 - 500 ปี ก่อนจะละลายจนหมด  แต่นักวิจัยอีกหลายฝ่ายมองว่า เป็นไปได้ที่ธารน้ำแข็งจะละลายเร็วกว่านี้ เมื่อภาวะโลกร้อนเหนือการควบคุมจากผลกระทบที่มนุษย์สร้างขึ้น

เวลาของธารน้ำแข็งทเวทส์ จึงเปรียบเสมือนเส้นตายไปโดยปริยายที่เรายังไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ เราอาจจะหาเวลาที่ชัดเจน แต่สามารถวางแผนเตรียมพร้อมรับมือ เตือนให้ประชาคมโลกวางแผนป้องกัน หรืออย่างน้อยก็อาจทุ่มทรัพยากรรับมือบริเวณเมืองใกล้ชายฝั่งทั่วโลกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ให้ได้เสียก่อน

ลักษณะของธารน้ำแข็งทเวทส์ (ภาพ :://doi.org/10.1016/j.gloplacha.2017.04.008)

จากผลสำรวจนี้ทำให้ช่วงเวลาสุดท้ายของธารน้ำแข็งทเวทส์ถูกหยิบมาเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องมีการวิจัยอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมีจุดหมายว่าภายใน 5 ปีนี้ต้องมีคำตอบที่น่าเชื่อถือให้ได้ มีการทุ่มงบประมาณราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่มาจากทางด้านสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร รวมทีมวิจัยได้ 8 ทีม หลากหลายเชื้อชาติที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน พวกเขาจะศึกษาว่าลักษณะของน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นนั้นมีผลต่อการละลายพื้นผิวใต้น้ำแข็งอย่างไร การทรุดตัวของชั้นน้ำแข็งแต่ละชั้น และการสมดุลการทรงตัวของธารน้ำแข็ง รวมไปถึงสร้างโมเดลเพื่อคาดการณ์ว่า ธารน้ำแข็งจะถล่มลงมาในลักษณะใด

อุปสรรคหนึ่งในการศึกษาธานน้ำแข็งนี้ หนึ่งในนั้นคือการเดินทางไปสู่ธารน้ำแข็งทเวทส์ที่ค่อนข้างสาหัสทีเดียว ทีมวิจัยต้องโดยสารด้วยเรือตัดน้ำแข็ง (icebreaker) ขนาด 300 ฟุต ที่ค่อยๆล่องตัดธารน้ำแข็งไปอย่างช้าๆ อย่างน้อยใช้เวลา 1 เดือนกว่าจะถึงจุดหมาย การเดินทางจึงเต็มไปด้วยการผจญภัย หนาวเหน็บ และอ้างว้าง ราวกลับไปสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง โชคดีที่ยุคนี้มีระบบดิจิตอลในการสื่อสารและนวัตกรรมที่ทำให้ทีมวิจัยยังติดต่อกับโลกภายนอกได้

เบื้องต้นงานวิจัยได้คำนวณว่า พื้นที่ของโลกที่จะได้ผลกระทบจากธารน้ำแข็งทเวทส์ละลายโดยตรงที่สุดคือ รัฐไมอามี ของสหรัฐอเมริกา และเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย

ทีมวิจัยบนเรือตัดน้ำแข็ง (ภาพ: pri.org)

ข้อมูลมหึมาที่ต้องรีบเก็บให้ทันวิกฤต

การจะมีข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมที่แน่นปึ๊ก น่าเชื่อถือได้ ก็ต้องเก็บกันละเอียดไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่เมื่อภารกิจสำรวจธารน้ำแข็งทเวทส์ถูกจำกัดไว้แค่ 5 ปีเท่านั้น ทีมวิจัยจึงต้องเก็บข้อมูลทุกรูปแบบเท่าที่นึกออก (และทำได้ในเชิงปฏิบัติ) หนึ่งในทีมวิจัยLars Boehme นักสมุทรศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of St. Andrews ถึงกับติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้กับแมวน้ำหลายตัวที่หากินบริเวณธารน้ำแข็งทเวทส์ น่าอัศจรรย์ที่แมวน้ำผู้ร่วมวิจัย (ที่ทำวิจัยฟรีๆ) สามารถให้ข้อมูลความเค็มของมหาสมุทร อุณหภูมิเฉลี่ยได้ในขณะที่พวกมันแหวกว่าย

นอกจากนั้นยังมีการใช้เรือดำน้ำไร้คนขับขนาดเล็ก เพื่อสำรวจในมิติที่ละเอียดขึ้นของน้ำอุ่นที่ดันหนุนขึ้นมาจากใต้มหาสมุทร

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจก็มีภาครัฐนำไปปรับใช้บ้างแล้วเพื่อการรับมือ อาทิ 'เมืองนิวออร์ลีนส์' เป็นเมืองท่าสำคัญของสหรัฐอเมริกา ได้นำข้อมูลเตรียมทำแบริออร์ขนาดใหญ่ วางแผนสร้างบ้านที่ยกใต้ถุนสูง ปรับปรุงการไหลของน้ำในชุมชนไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง มีการทำแผนที่น้ำท่วม (flood map) และที่สำคัญคือการให้การศึกษาของคนในพื้นที่ ให้เตรียมการรับมือกับน้ำท่วมก่อนเนิ่นๆ เพื่อที่ทุกคนจะไม่ตื่นตระหนกภายหลัง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากงานวิจัยในภารกิจทเวทส์

โมเดลลักษณะทางกายภาพของธารน้ำแข็งทเวทส์ เมื่ออุณหภูมิในมหาสมุทรสูงขึ้น (ภาพ //doi.org/10.1016/j.gloplacha.2017.04.008)

ธารน้ำแข็งทเวทส์จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน

เรื่องที่น่ากังวลอาจมาใกล้กว่าที่คาดคิด จากการสำรวจ ธารน้ำแข็งทเวทส์อาจอยู่ได้อีกเพียง 1 ศตวรรษก่อนที่จะละลายและเพิ่มปริมาณน้ำในมหาสมุทรโลก และใช้เวลาอีก 20-30 ปี ที่จะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ไปกระทบธารน้ำแข็งลูกอื่นๆ แม้ทีมวิจัยเชื่อว่าการคำนวณผ่านกระบวนการที่ล้ำหน้าและเป็นโมเดลที่น่าเชื่อถือ แต่ก็ยังต้องเผื่อใจกับกรณีที่อาจแย่กว่านั้น ซึ่งอาจกลายเป็นการเร่งเวลาที่ทำให้วิกฤตครั้งนี้เกิดเร็วมากขึ้น

อนาคตของธารน้ำแข็งยักษ์ยังมีหลายปัจจัยกำหนด โครงสร้างของมันจะยืนหยัดอยู่ได้อีก 1 ศตวรรษหรือไม่ เมื่อแผ่นน้ำแข็งแตกและฉีกออกแล้ว จะลอยไปกระทบธารน้ำแข็งอื่นๆ ไหม อุณหภูมิน้ำทะเลจะเปลี่ยนอย่างไร กระแสลมผันผวนหรือไม่ ยังมีหลายคำถามที่ต้องหาคำตอบ

แต่ที่แน่ๆ ธารน้ำแข็งทเวทส์จะเป็นตัวตัดสินสำคัญว่าพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลกจะ 'ท่วมหรือไม่ท่วม' และต่อจากนี้ไป เมื่อมนุษย์มองเห็นธารน้ำแข็งใดๆในธรรมชาติ พวกเราจะไม่มองเห็นเพียงแต่ความสวยงาม แต่มองมันดั่งนาฬิกาทรายที่นับถอยหลังบอกเล่าถึงหายนะทางธรรมชาติกำลังมาเยือน

อ้างอิงข้อมูลจาก

How Much, How Fast?: A Science Review and Outlook for Research on the Instability of Antarctica’s Thwaites Glacier in the 21st Century.

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0