โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โกหกผิดศีล ถ้าโกหกเพื่อความสบายใจจะบาปแค่ไหน

LINE TODAY

เผยแพร่ 06 ต.ค. 2560 เวลา 10.21 น.

ศีล 5 เป็นศีลพื้นฐานที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนทุกคนยึดถือปฏิบัติเป็นหลักของชีวิตเพื่อให้การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีความสุข และความปลอดภัยในชีวิต

คำว่า “ศีล” คือ “เจตนา” และศีลห้าก็คือสิ่งที่วัดความเป็นปกติของมนุษย์ แต่ศีลไม่ใช่ข้อห้ามอย่างที่ทุกคนเข้าใจ คนรักษาศีลไม่ใช่คนที่ถูกห้ามทำโน่นทำนี่ แต่เป็นคนที่มีเจตนางดเว้นการกระทำทางกายและวาจาที่จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนเสียมากกว่า

แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้คนเราทุกวันนี้ห่างไกลจากศีลพื้นฐานอย่างศีล 5 เข้าไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามลักขโมย ห้ามประพฤติผิดในกาม ห้ามพูดเท็จ และห้ามดื่มสุรา โดยเฉพาะศีลข้อ 4 มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ หมายถึงการละเว้นจากการพูดปด งดเท็จ พูดเพ้อเจ้อ พูดไม่อยู่กับร่องกับรอย ฯลฯ ซึ่งเป็นศีลข้อที่แทบทุกคนมักรักษาไม่ได้

พูดแบบไหนไม่ผิดศีลข้อ 4

หลายคนสงสัยว่าการโกหกบอกปัดเพราะไม่อยากบอกไปตรง ๆ ให้เสียน้ำใจ หรือพูดเพื่อให้สบายใจ คุยเล่น หยอกล้อกันแบบแรง ๆ โดยไม่ได้ตั้งใจจะถือว่าผิดศีลข้อ 4 หรือไม่ 

อย่างที่บอกว่าศีลข้อ 4 คือการละเว้นจากการพูดปด โกหกต่าง ๆ รวมถึงพูดจาส่อเสียด ไร้สาระ เพ้อเจ้อ หรือพูดเพื่อทำให้คนอื่นเข้าใจผิด ทั้งหมดทั้งมวลถือว่าผิดศีลข้อ 4 

หากถามว่าพูดโกหกโดยมีเจตนาที่ดีจะผิดศีลหรือไม่ คำตอบคือ “ผิด” ไม่ว่าจะโกหกเพื่อความสบายใจ โกหกสีขาว หรือการบอกว่า “ใช่” ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว “ไม่ใช่” ไม่ว่าจะเพื่ออะไรก็เป็นการโกหกอยู่ดี จะยกเหตุใด ๆ มาอ้างก็หนีไม่พ้นการผิดศีลด้วยกันทั้งนั้น

อย่างที่บอกว่าศีลข้อนี้เป็นข้อที่พุทธศาสนิกชนรักษาไว้ได้ยากที่สุด ดังนั้นถ้าไม่อยากผิดศีลก็ต้องมีสติ คิดก่อนพูดเสมอ ตั้งมั่น ระวังจิต ระวังใจ พูดแต่ความจริง หรือถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็เลือกที่จะไม่พูดดีกว่าการโกหก ถ้าทำได้แบบนี้ อย่าว่าแต่ศีลข้อเดียวเลย ไม่ว่าจะศีล 8 หรือศีล 10 ก็ย่อมรักษาได้แน่นอน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0