โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"ตรุษจีน 2566" เสริมดวง ไหว้ศาลเจ้าที่ไหนได้บ้าง

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 18 ม.ค. 2566 เวลา 14.14 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2566 เวลา 14.05 น.

"ตรุษจีน 2566" มีวันสำคัญ 3 วัน วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันอะไร ,ฤกษ์ไหว้เจ้าตรุษจีน ,ข้อห้ามในช่วงเทศกาลตรุษจีน และศาลเจ้าที่ควรไปกราบไหว้สักการะกว่า 20 แห่งทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล

ล่วงเข้าปีใหม่ 2566 ตามปฏิทินสากลทั่วโลก แต่ในความเชื่อของชาวจีนจะยังคงเป็นปีเก่า จนกว่าจะผ่านพ้นวันตรุษจีน 2566 ตรงกับวันที่ 22 มกราคม ไปเสียก่อน ซึ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน จะมีวันสำคัญ 3 วัน คือ

วันจ่าย ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม 2566 ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปหาซื้ออาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ มาเตรียมไว้

วันไหว้-วันสิ้นปี ตรงกับวันตรงกับวันที่ 21 มกราคม 2566 ทุกคนต้องไหว้เทพเจ้า ด้วยอาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้

วันเที่ยว-วันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ 22 มกราคม 2566 ทุกคนต้องแต่งกายสวยงามสีสันสดใส ออกไปเที่ยว ไปไหว้ขอพรจากญาติผู้ใหญ่ ทำตัวดีๆ พูดจาดีๆ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไปทั้งปี

Cr.Kanok Shokjaratkul

  • ฤกษ์ไหว้เจ้า ตรุษจีน 2566

ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ช่วงเช้ามืด 06.00-07.00 น. เพื่อขอบคุณเทพเทวดาผู้คุ้มครองบ้านเรือน ไหว้เสร็จ ให้รอสักครู่แล้วเผากระดาษเงินกระดาษทอง หรือไม่เผาจะได้ไม่มี PM 2.5

ไหว้บรรพบุรุษ ช่วงสาย 10.00-11.00 น.เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที ไหว้บรรพบุรุษตั้งโต๊ะไหว้ไม่เกินเที่ยง รอจนธูปหมด ก็นำของไหว้มารับประทานร่วมกัน

ไหว้สัมภเวสี ช่วงบ่าย 14.00-16.00 น. ไหว้เสร็จ ให้จุดประทัดขับไล่สิ่งชั่วร้ายและต้อนรับความเป็นสิริมงคลของวันตรุษจีน

ไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย เทพแห่งโชคลาภ ช่วงดึก ในยามแรกของปี คือ เวลา 23.00- 05.00 น. ตั้งโต๊ะหันไปทางทิศตะวันออก อัญเชิญเทพเจ้าแห่งโชคลาภลงมาประทับในบ้านของเรา เพื่อความเป็นสิริมงคล

Cr.Kanok Shokjaratkul

  • ข้อห้ามในเทศกาลตรุษจีน

1)พูดแต่สิ่งที่ดี ถ้าพูดดี ชีวิตจะดีทั้งปี ส่งเสริมให้พบเจอแต่เรื่องดี ๆ

2)แต่งกายด้วยชุดสีแดง สีมงคล หรือเสื้อผ้าสีสดใส หลีกเลี่ยงสีดำและสีขาว

3)ยิ้มแย้มแจ่มใส ห้ามร้องไห้เด็ดขาด เพราะจะทำให้โศกเศร้ามีเรื่องเสียใจทั้งปี

4)เก็บเงินขวัญถุง ตั้งแต่วันแรกของวันปีใหม่ เพื่อดึงดูดเงินให้เข้ามา

5)จุดประทัดให้เทพเทวดารับรู้ มองเห็นความกตัญญูและอำนวยพรให้ตลอดทั้งปี

6)ประดับบ้านด้วยของสีแดง เสริมสิริมงคลให้กับคนในบ้าน ขับไล่ภูตผีปีศาจออกนอกบ้าน

7)ให้ผลไม้แก่แขกคนแรกที่มาบ้าน เชื่อว่าเป็นผู้นำโชคลาภมาให้ มักเตรียมผลไม้มงคลไว้มอบให้แขกคนแรกเสมอ

8)เก็บทรัพย์ไว้ในบ้าน ไม่ทำความสะอาดบ้าน ห้ามจับไม้กวาด จะทำให้กวาดทรัพย์สินเงินทองออกนอกบ้าน

9)แจกอั่งเปาให้เด็กๆ ผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ เป็นการเริ่มต้นปีด้วยความบริสุทธิ์ ส่วนการยื่นโชคลาภให้ผู้อื่นจะทำให้โชคดีทั้งปี

Cr.Kanok Shokjaratkul

  • ศาล เจ้า ย่านเยาวราช

เริ่มต้นด้วย การเดินทางที่สามารถไปได้ง่ายๆ ด้วยรถไฟฟ้า MRT ในกรุงเทพฯ ย่านเยาวราชมีศาลเจ้ามากมาย

1) วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ วัดแรกที่ทุกคนนึกถึงเมื่อจะมาแก้ชง มังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ มีส่วนหัว ส่วนตัวและส่วนหาง วัดเล่งเน่ยยี่ถือว่าเป็นวัดมังกรส่วนหัว

สร้างปี พ.ศ. 2414 สถาปัตยกรรมเแบบจีนตอนใต้สกุลช่างแต้จิ๋ว ตามแบบวัดหลวง มีวิหารท้าวจตุโลกบาล ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังเป็นวิหารเทพเจ้า ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน 3 องค์

คือ พระโคตมพุทธเจ้า, พระอมิตาภพุทธะ, พระไภษัชยคุรุพุทธะ (ซำป้อหุกโจ้ว) พระอรหันต์ 18 องค์ เทพเจ้าต่างๆ เช่น เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา (ไท้ส่วยเอี๊ยะ) เทพเจ้าแห่งยา (หั่วท้อเซียงซือกง) เทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ)

ที่ตั้ง : 423 ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ เปิด : 7.00-18.00 น การเดินทาง: ลง MRT สถานีวัดมังกร เดิน 230 เมตร

2) ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า สร้างปี พ.ศ.2445 ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมปางประทานพร แกะสลักจากไม้จันทร์หอม สีทอง รูปแบบราชวงศ์ถัง อัญเชิญมาจากประเทศจีนปี พ.ศ.2501 เป็นโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ รักษาแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีน

ที่ตั้ง: 606 ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เปิด : 24 ชั่วโมง การเดินทาง: MRT สถานีวัดมังกร เดิน 550 เมตร

3) ศาลเจ้าไต้ฮงกง มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สถาปัตยกรรมจีนตอนใต้ สร้างปี พ.ศ.2452-2461 โดยชาวจีนอพยพที่ศรัทธา หลวงปู่ไต้ฮงกง พระภิกษุชาวจีนที่ช่วยเหลือประชาชนเจ็บป่วยและบำเพ็ญกุศลฌาปนกิจศพไร้ญาติ เกิดเป็นคณะเก็บศพไต้ฮงกง ปัจจุบันคือมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง

ที่ตั้ง: 326 ถนนเจ้าคำรพ เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ เปิด : 6.00-20.00 น.การเดินทาง: ลง MRT สถานีวัดมังกร เดิน 400 เมตร

4) ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ศาลเจ้าแต้จิ๋วอายุกว่า 300 ปี สร้างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พ.ศ.2331 สถาปัตยกรรมแบบจีน มีเสามังกร มีแท่นบูชาเทพเจ้าหางมังกรและฮูหยิน

มีแท่นบูชาเทพเจ้ากวนอู พระแม่สวรรค์ มีระฆังโบราณสมัยราชวงศ์ชิง มีจารึกโบราณ 2 แผ่นสมัยจักรพรรดิกวังซฺวี่ ราชวงศ์ชิงและจารึกราชวงศ์หมิง ให้เขียนฮู้ไปผูกกับขาโต๊ะรูปมังกรที่ตั้งกระถางธูป

ที่ตั้ง: ซอยเจริญกรุง 16 ตรอกอิสรานุภาพ เยาวราชซอย 6 เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ เปิด : 7.00-17.00 น. การเดินทาง: ลง MRT สถานีวัดมังกร เดิน 150 เมตร

5) ศาลเจ้าหลีตี๊เมี้ยว ศาลเจ้าลื้อตี่เบี่ย สร้างขึ้นปี พ.ศ.2445 ผสมผสานระหว่างศาลเจ้าและพระราชวัง มี 4 ชั้น ชั้นล่างประดิษฐานพระสังกัจจายน์ ชั้นสองประดิษฐานองค์หลีไทตี้ ชั้นสามประดิษฐานองค์พระอรหันต์ ชั้นสี่เป็นศาลเง็กเซียนฮ่องเต้

ที่ตั้ง: ถนนพลับพลาไชย เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ เปิด : 7.00 – 17.00 น. การเดินทาง: ลง MRT สถานีวัดมังกร เดิน 150 เมตร

Cr.Kanok Shokjaratkul

  • นอกจากเยาวราช ยังมีศาลเจ้าอีกหลายแห่ง

1) ศาลเจ้าเล่าปุนเถ้ากง ถนนทรงวาด อายุร้อยกว่าปี เป็นเทพเจ้าคุ้มครองรักษาชุมชน เดิมเป็นสถาปัตยกรรมสกุลช่างแต้จิ๋วแบบซี่เตี้ยมกิม แต่ปัจจุบันบูรณะใหม่ปี พ.ศ.2460

ที่ตั้ง : 833 ซอยอิศรานุภาพ ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เปิด : 07.00-17.00 น.

2) ศาลเจ้ากวนอู และ เทพเจ้าม้า ทุกเดือนสิงหาคมของทุกปีจะมีงานเทศกาลวันเกิดเทพเจ้ากวนอู

ที่ตั้ง : ตรอกโรงโดม ถนนเยาวราช ซอยอิสรานุภาพ (เยาวราช 11) กรุงเทพฯ (ตลาดเก่าเยาวราช)

3) ศาลเจ้าแม่ประดู่ ศาลเจ้าเล่าปิงเถ่าม่า ศาลเจ้าเก่าแก่ในชุมชนตลาดเก่า เยาวราช มีอายุยาวนานกว่า170 ปี

ที่ตั้ง : 60 ถนนเยาวพานิช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เปิด : 07.00-17.00 น.

4) ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย ไต่เสี่ยฮุกโจ้ว สร้างสมัยรัชกาลที่ 2 ประดิษฐานเจ้าพ่อเห้งเจีย ปางสำเร็จเป็นอรหันต์ ประทับนั่งขัดสมาธิบนดอกบัว

ที่ตั้ง : 66 ถนนพระราม 4 เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เปิด : 08.00-16.00 น.

5) ศาลเจ้ากวางตุ้ง (สมาคมกว๋องสิว) สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ประดิษฐานซำป้อหุกโจ้ว พระไตรรัตนพุทธ เจ้าแม่กวนอิมปางประทานพรเทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าขงจื๊อ เทพเจ้าเหงินฉ่างตี้ชุน (เง็กเซียนฮ่องเต้) เทพเจ้าลู่ปาน

เดิมเป็นสมาคม สร้างเป็นศาลเจ้าพ.ศ.2423 อัญเชิญเทพเจ้ามาจากประเทศจีน

ที่ ตั้ง: ถนนเจริญกรุง แยกแปลงนามกับถนนพลับพลาไชย กรุงเทพฯ เปิด : 7.00 – 20.00 น.

6) วัดไตรมิตรวิทยาราม วัดสามจีนใต้ ประดิษฐานพระสุโขทัยไตรมิตร พระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพระพุทธทศพลญาณ เป็นพระประธาน มีพิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร

ที่ ตั้ง: ถนนมิตรภาพไทย-จีน แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เปิด 08:00-17:00 น.

Cr.Kanok Shokjaratkul

  • ศาลเจ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล

นอกจากย่านเยาวราชแล้วในกรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีศาลเจ้าอีกหลายแห่ง เช่น

1) ศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลเจ้าลัทธิเต๋า คนจีนเรียก “ตั่วเล่าเอี้ย” ประดิษฐานเฮี้ยงเทียนเซียงตี่, เจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู, เจ้าแม่ทับทิม

ที่ตั้ง : 468 ถนนตะนาว เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิด : 06.00-17.00 น.

2) วัดทิพยวารีวิหาร (วัดกัมโล่วยี่) สร้างสมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. 2319 ประดิษฐานองค์เทพบุ่งเชียง, เทพไท้อิม (จันทราเทพ), เทพไท้เอี๊ยง (สุริยะเทพ), เทพฮั่วท้อ, เทพฮั้วกวงไต่ตี่ (เทพสามตา), เทพไท้เอี๊ยง, เทพมังกรเขียว

ที่ตั้ง: 119 ซอยทิพยวารี ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิด : 06.00-18.00 น.

3) ศาลเจ้าพ่อกวนอู เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ประดิษฐานองค์ไฉ่ซิงเอี๊ย, เจ้าพ่อเสือ

ที่ตั้ง: ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในชุมชนสมเด็จย่า ใกล้กับสวนสมเด็จย่า หลังวัดอนงคาราม ย่านคลองสาน ฝั่งธนบุรี กรุงเทพฯ

4) วัดโพธิ์แมนคุณาราม (วัดโพวมิ้งปออึงยี่) วัดจีนในพุทธศาสนานิกายมหายาน ผสมผสานศิลปะจีน-ไทย-ทิเบต สร้างพ.ศ.2502 มีซุ้มประตูม้า 5 ตัวกำลังลากราชรถ ที่มีพระศรีศากยมุนี มีวิหารบูรพาจารย์ ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน มีพระคัมภีร์วัชรยาน (ทิเบต) นิกายมนตรายาน ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก

ที่ตั้ง : 323 ซอยสาธุประดิษฐ์19 (นราธิวาสฯ 24) ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ เปิด : 08.30-15.30 น.

5) วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) สถาปัตยกรรมคล้ายพระราชวังต้องห้ามในประเทศจีน เป็นวัดพุทธนิกายมหายานในอุปถัมภ์คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ประดิษฐานองค์ไท้ส่วยเอี๊ย, องค์แป๊ะกง, เจ้าแม่กวนอิม, เทพฮั่วท้อ

ที่ตั้ง : 959 หมู่ 4 ถนนเทศบาล 9 ตำบลโสนลอย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เปิด : 09.00-18.00 น.

Cr.Kanok Shokjaratkul

  • ศาลเจ้าในจังหวัดต่างๆ

1) วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่) ถือเป็นวัดมังกรส่วนท้อง ประดิษฐานองค์ ไฉ่ซิงเอี้ย เทพแห่งโชคลาภ องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ที่ตั้ง : 291 ถนนศุภกิจ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา (ตรงข้ามตลาดบ้านใหม่ 100 ปี) เปิด : 08.00-17.00 น.

2) วัดมังกรบุปผาราม (วัดเล่งฮัวยี่) ถือเป็นวัดมังกรส่วนหาง สถาปัตยกรรมพุทธศิลป์ไทย-จีนภาคใต้ ด้านหน้าเป็นวิหารท้าวจตุโลกบาล ประดิษฐานพระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์และท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่

เช่นเดียวกับวัดเล่งเน่ยยี่และวัดเล่งฮกยี่ มีอุโบสถทรงจีนหลังคาซ้อน 3 ชั้น ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาประธานสามพระองค์

ที่ตั้ง: ริมถนนสุขุมวิท ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

3) วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม (ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ) เป็นวิหาร 4 ชั้น สถาปัตยกรรมจีน มีศิลปวัตถุรูปปั้นมังกร 2,840 ตัว กระถางธูปศักดิ์สิทธิ์ เสาฟ้าดิน มีองค์ไท้ส่วยเอี้ย (ดาวเทพคุ้มครองดวงชะตาประจำปีเกิดของมนุษย์) ครบ 60 องค์ และองค์เทพเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ

ที่ตั้ง : 1/13 หมู่ 5 ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เปิด : 08.00-17.00 น.

4) ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี อุทยานมังกรสวรรค์ มีเทวรูปพระนารายณ์สององค์ สลักจากหินเขียว มีอาคารรูปมังกรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านมังกรสวรรค์

ที่ตั้ ง :491/1 ถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เปิด: 07.00-17.00 น.

5) ศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ เจ้าแม่ทับทิม ปากน้ำโพ อายุกว่า130 ปี เดิมเป็นศาลไม้ใต้ถุนสูงริมต้นน้ำเจ้าพระยา สร้างใหม่พ.ศ. 2452 ประดิษฐานเทพเจ้าบุ๊นเถ่ากง, เทพเจ้ากวนอู, เจ้าแม่ทับทิม

ที่ตั้ง : 469 ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เปิด : 08.00-17.00 น.

6) ศาลเจ้าแสงธรรม อ๊ามเต่งก้อง สร้างพ.ศ.2434 สถาปัตยกรรมจีน มีรูปปั้นมังกรและตุ๊กตาประดับบนหลังคา มีเทพเจ้าหลายองค์ มีภาพจิตรกรรมฝาหนังบอกเล่าประวัติศาสตร์จีน มีภาพจิตรกรรมขาวดำอายุร้อยกว่าปี

ที่ตั้ง: ถนนพังงา ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

7) ศาลเจ้าปุงเถ่ากง จ.เชียงใหม่ อายุกว่า 139 ปี สถาปัตยกรรมจีน ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นและจิตรกรรมแบบจีน ชาวจีนในเชียงใหม่นิยมมากราบไหว้แก้ชง

ที่ตั้ง : 64-66 ถนนไปรษณีย์ ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เปิด : 07.00-18.00 น.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0