โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

SMEs-การเกษตร

วช. ส่งเสริมแปรรูป “ขิง” พืชเศรษฐกิจอำเภอเขาค้อ

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 22 ก.พ. 2565 เวลา 08.11 น. • เผยแพร่ 27 ก.พ. 2565 เวลา 21.00 น.
9ขิงเขาค้อ

“เขาค้อ” เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงที่หนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพ พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์แล้ว ที่นี่ยังเป็นทำเลทองของการเพาะปลูกพืชผักไม้ผลนานาชนิด รวมทั้ง “ขิง” พืชสมุนไพรทำเงิน ที่สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวอำเภอเขาค้อมาอย่างยาวนาน

ขิง พืชทำเงิน

ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นชุมชนชาวเขาเผ่าม้งปลูกขิงอย่างแพร่หลายกว่า 30 ปี นอกจากปลูกขิงขายสร้างรายได้แล้ว ยังนิยมบริโภคขิงบำรุงสุขภาพอีกด้วย เนื่องจากขิงเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามากมาย ช่วยขับเหงื่อ ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร และทำให้ร่างกายอบอุ่น หากนำขิงแก่มาต้มน้ำดื่มยิ่งได้ประโยชน์ เพราะขิงแก่มีรสเผ็ดร้อนและมีใยอาหารมาก ใช้ดื่มบำรุงสุขภาพ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะจากโรคไข้หวัดได้อย่างดี

การปลูกขิงให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี เกษตรกรต้องพิถีพิถันในการปลูกดูแล เริ่มจากการคัดเลือกพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม เนื่องจากขิงเป็นพืชที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคพืชและไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ขิงเน่าเสียได้ง่าย เกษตรกรส่วนใหญ่จึงนิยมปลูกบนเชิงเขาเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมขังในแปลงเพาะปลูก

ก่อนปลูกในช่วงเตรียมดิน เกษตรกรจะใส่ปุ๋ยขี้ไก่เพื่อบำรุงดิน นิยมปลูกขิงด้วยเหง้า โดยนำเหง้าขิงไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำไปปลูกในหลุม ใช้เศษใบหญ้าคลุมดินเพื่อบังแสงแดด เมื่อต้นขิงเริ่มเจริญเติบโตจะนำดินมาถมทับรอบกอเพื่อบังคับให้ขิงเกิดการแตกตาแตกหน่อมากขึ้น หลังจากนั้นใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเร่งราก บำรุงใบ ลำต้น และใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเร่งหัวตามลำดับ โดยทั่วไป พื้นที่ปลูกขิง 1 ไร่จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 3-5 ตัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฝีมือการเพาะปลูกและการจัดการปัญหาโรคพืชของเกษตรกรแต่ละรายเป็นสำคัญ

เกษตรกรอำเภอเขาค้อนิยมปลูกขิงช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน เริ่มเก็บเกี่ยวขิงอ่อนออกขายช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน ส่วนขิงแก่จะเก็บขายในช่วงเดือนธันวาคม หลังเก็บเกี่ยวขิงเสร็จ ต้องสลับปลูกขิงในแหล่งใหม่ เพื่อลดการระบาดของโรค ปลูกขิง 1 ครั้งต้องเว้นพื้นที่ไป 4-5 ปี จึงจะกลับมาปลูกได้ใหม่

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณลักขณา พรหมเศรณี เกษตรอำเภอเขาค้อ และคณะ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนแปลงปลูกขิง จำนวน 3 ไร่ ของ คุณอัฐพร ลีพัฒนเศรษฐ์ เกษตรกรผู้ปลูกขิงในพื้นที่ตำบลเข็กน้อย อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยคุณอัฐพรให้ข้อมูลว่า ปีนี้ราคาขิงตกต่ำอย่างมาก โดยแบ่งการขายขิงได้เป็น 3 เกรด คือ เกรด A เกรด B เกรด C โดยเกรด A เป็นเกรดที่ส่งออกยุโรป เกรด B เป็นเกรดที่ส่งออกประเทศมาเลเซีย

ปัจจุบันขิงเกรด A ราคาเพียง 4.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปกติราคาไม่ต่ำกว่า 15 บาทต่อกิโลกรัม และหากขายเป็นขิงรวมจะได้ราคา 3 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาจะไม่ต่ำกว่า 10-12 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนการปลูกขิงปีนี้อยู่ที่ 50,000 บาทต่อไร่ ผลผลิตประมาณ 9 ตันต่อไร่ ซึ่งถ้าราคาขายขิงรวม 3 บาท จะขายได้เพียง 27,000 บาทต่อไร่ ซึ่งจะขาดทุนถึง 23,000 บาทต่อไร่ เกษตรกรจึงยังไม่ขายผลผลิตเพราะไม่คุ้มต่อค่าแรงเก็บเกี่ยว คุณลักขณาจึงได้แนะนำให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันและเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อจะได้วางแผนการผลิต การตลาด พัฒนาคุณภาพสินค้าและมาตรฐาน จนสามารถพัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชนได้ต่อไป

วช. หนุนแปรรูปขิง

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล็งเห็นศักยภาพและโอกาสทางการตลาด ของ “ขิง” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจทำเงิน เป็นของดีเมืองเพชรบูรณ์ จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) พัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์จากขิง จำนวน 2 โครงการ เพื่อนำองค์ความรู้งานวิจัยมายกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นให้เติบโตในเชิงอุตสาหกรรม เกิดผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค อันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าทางการเกษตรของอำเภอเขาค้อ ให้เกิดความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ในพื้นที่ พร้อมเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์

ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ผลงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนจาก วช., สวทช. และ สกสว. ล้วนมีการนำไปต่อยอดแล้วในระดับอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ (SMEs) เกิดผลพวงหลายอย่าง โดยมุ่งเน้นการผลิตเอง ด้านสาธารณสุขในการลดหรือชะลอปัญหาการเกิดโรคต่างๆ จากการบริโภคอาหาร เป็นต้น จึงรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่งานวิจัยได้มีส่วนช่วยต่อการพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์จากขิง เป็นของดีเมืองเพชรบูรณ์ ตอบโจทย์ตลาดคนรักสุขภาพและผู้บริโภคทั่วไป

มทร.ล้านนา พัฒนา 2 สูตร

ผลิตภัณฑ์จากขิง บำรุงสุขภาพ

ผศ.ดร.นิอร โฉมศรี สถาบันเทคโนโลยีเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เจ้าของโครงการการพัฒนาเครื่องดื่มสุขภาพชนิดสปาร์กกิ้งจากขิงออร์แกนิกด้วยเทคนิคการสกัดและการหมัก กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการผลิตเครื่องดื่มประเภทนี้ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งใช้การอัด CO2 เข้าไป แต่เครื่องดื่มที่ทีมวิจัยพัฒนาสูตรให้ผู้ประกอบการจะใช้กระบวนการหมักยีสต์ (จุลินทรีย์ที่ดี) กับขิง น้ำเปล่าและน้ำตาล เป็นเวลา 15 ชั่วโมง ในอุณหภูมิปกติ จนเกิดฟองแก๊สโดยธรรมชาติ มีกลิ่มหอม รสสัมผัสนุ่มละมุน ให้ความสดชื่นและดื่มง่ายมากกว่าเครื่องดื่มจากขิงประเภทอื่นๆ อย่างชัดเจน

ขณะนี้ได้ทดลองบรรจุแบบขวดพาสเจอไรซ์ ให้สามารถเก็บได้อุณหภูมิปกติ พร้อมศึกษาอายุการเก็บรักษาและคุณค่าทางอาหาร ซึ่งขิงมีสรรพคุณช่วยขับลม บรรเทาอาการวิงเวียน อยู่แล้วจากการอ้างอิงของงานวิจัยต่างๆ โดยจะสนับสนุนการควบคุมการผลิตของ SMEs ให้มีคุณภาพสม่ำเสมอในทุกๆ ล็อต

ด้าน ผศ.เฉลิมพล ถนอมวงค์ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก เจ้าของโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สเปรดช็อกโกแลตรสขิงลดไขมัน” กล่าวว่า วิถีชีวิตของคนไทยที่เร่งรีบ และกระแสความนิยมรับประทานขนมปังคู่กับผลิตภัณฑ์ประเภทสเปรดแบบชาวตะวันตกในท้องตลาดทั่วไป นักวิจัยและบริษัท สุธัมบดี จำกัด จึงร่วมกันพัฒนาสูตรอาหารสเปรดช็อกโกแลตไขมันต่ำโดยเสริมขิงผงและข้าวหอมมะลิแดง

เบื้องต้นทีมนักวิจัยสามารถลดองค์ประกอบของไขมันลงไปได้ร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับสเปรดช็อกโกแลตอื่นๆ ในท้องตลาด ได้กลิ่นและรสชาติจากขิงที่ลงตัว วิธีการผลิตคล้ายกับการผลิตแยมผลไม้ทั่วๆ ไป แต่ใช้ต้นทุนต่ำกว่า สามารถรับประทานได้ทุกช่วงวัย ในขั้นต่อไปจะทดสอบสูตรให้ถูกใจผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อที่ SMEs จะได้ผลิตให้ได้มาตรฐานต่อไป

 

“เขาค้อเฮอร์เบอรี” SMEs เขาค้อ

ผู้นำตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์

ด้านผู้ประกอบการ (SMEs) ที่เข้าร่วมโครงการวิจัยในครั้งนี้ คือ บริษัท สุธัมบดี จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แบรนด์ เขาค้อเฮอร์เบอรี (Khaokhoherbary) มาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีแนวคิดผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับการผลิตวัตถุดิบทางการเกษตรที่หลากหลาย เพื่อรักษาคุณภาพ ตลอดจนแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในการผลิต พร้อมถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ดังกล่าวแก่ผู้ที่สนใจทั้งภาครัฐและเอกชนดังที่ได้ปฏิบัติเสมอมา เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ โดยเฉพาะพืชผัก ผลไม้ และสมุนไพร และยังมุ่งหวังให้เป็นศูนย์การผลิต จำหน่าย วิจัยค้นคว้าและพัฒนาอีกด้วย

คุณยงชาติ ชมดี ผู้บริหารบริษัท สุธัมบดี จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมองหาผลิตผลใกล้ตัวในท้องถิ่นมาแปรรูปสร้างมูลค่าโดยเล็งเห็นว่า “ขิง” ซึ่งเป็นของดีในอำเภอเขาค้อ ยังไม่มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในรูปแบบใหม่อย่างจริงจัง จึงร่วมมือกับนักวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องดื่มสุขภาพชนิดสปาร์กกิ้งจากขิงออร์แกนิกด้วยเทคนิคการสกัดและการหมัก และผลิตภัณฑ์สเปรดช็อกโกแลตรสขิงลดไขมัน

บริษัทมีความทักษะความรู้ด้านโรงงานผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ มาตรฐาน GMP อยู่แล้ว เมื่อได้องค์ความรู้ทางการวิจัยมาช่วยสนับสนุน เชื่อว่าจะสามารถขยายไปถึงการส่งออก อัพเกรดสินค้าให้มีความพรีเมี่ยม สามารถผลักดันเป็นสินค้าทางเลือกสู่มือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งช่วยชูโรงเป็นของฝากส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ส่วนหนึ่ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น