โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พญายักษ์วัดแจ้ง ตำนานแห่งวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร - chai payangluang

LINE TODAY SHOWCASE

เผยแพร่ 28 มิ.ย. 2565 เวลา 08.00 น. • chai payangluang

พญายักษ์วัดแจ้ง

ตำนานแห่งวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วันหยุดพักผ่อนของคนที่ทำงานมาทั้งอาทิตย์ มีพักเพียงเสาร์กับอาทิตย์ เวลาน้อยนิดใช้ให้คุ้ม ให้รางวัลกับตนเอง กิน ชอป เที่ยว หรือจะนอนพักอยู่บ้าน หากิจกรรมทำก็เป้นทางเลือกที่ดีเช่นกัน แต่มีอีกหลายคนที่ไม่อยากอยู่บ้าน อยากเที่ยว เดินชิล ๆ หาอาหารกินให้เอมอิ่มสำราญ หรือไม่ก็แวะเวียนไปเที่ยวต่างจังหวัด เที่ยวทะเล น้ำตกหรือเที่ยวใกล้ ๆ ไหว้พระขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล เสริมโชคลาภให้กับตนเอง

วันหยุดพักผ่อน มีสถานที่ท่องเที่ยวมาแนะนำให้ไปชมกับสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น งดงาม ไปกราบไหว้พญายักษ์และขอพรพระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร พระประธานในพระวิหารปางมารวิชัย ชมพระปรางค์ที่ประดับประดาตบแต่งอย่างสวยงาม เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่ได้ไปสัมผัสมองเห้นความอลังการด้วยสายตา

สถานที่ที่กล่าวมาคือวัดวัดอรุณราชวราราม วรมหาวิหาร หรือที่เรารู้จักคุ้นเคยกับชื่อ “วัดแจ้ง” ซึ่งตามประวัติมีเรื่องเล่าว่า “วัดแจ้ง” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ ตามประวัติมีการบัทึกเอาไว้ว่า วัดอรุณราชวราราม วรมหาวิหาร มีมาตั้งแต่ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมทีนั้นมีชื่อว่า “วัดมะกอก”

มูลเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้แต่เดิมว่า “วัดมะกอก” นั้น ตามทางสันนาฐานเข้าใจว่าคงจะเรียกคล้อยตามตำบลที่ตั้งวัด ซึ่งสมัยนั้นมีชื่อว่า “บางมะกอก” (เมื่อนำมาเรียกรวมกับคำว่า “วัด” ในตอนแรกๆคงเรียกว่า “วัดบางมะกอก” ภายหลังเสียงหดลงคงเรียกสั้นๆว่า “วัดมะกอก” ) ตามคติเรียกชื่อวัดของไทยสมัยโบราณ เพราะชื่อวัดที่แท้จริงมักจะไม่มี จึงเรียกชื่อวัดตามชื่อตำบลที่ตั้ง เช่น วัดบางลำพู วัดปากน้ำ เป็นต้น ต่อมาเมื่อได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกันนี้ แต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกชื่อวัดที่ตั้งใหม่ว่า “วัดมะกอกใน” แล้วเลยเรียกวัดมะกอกเดิมซึ่งอยู่ตอนปากคลองมะกอกใหญ่ว่า “วัดมะกอกนอก” เพื่อให้ทราบว่า เป็นคนละวัด

ส่วนที่เปลี่ยนเป็นเรียกว่า “วัดแจ้ง” นั้น เล่ากันเป็นทำนองว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยา สำเร็จเรียบร้อย ใน พ.ศ. 2310 แล้ว มีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรี จึงเสด็จกรีฑาพลล่องลงมาทางชลมารค พอถึงหน้าวัดนี้ ก็ได้อรุณหรือรุ่งแจ้งพอดี ทรงพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมหามงคลฤกษ์ จึงโปรดให้เทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าน้ำ เสด็จขึ้นไปทรงสักการบูชาพระมหาธาตุ ขณะนั้นสูงประมาณ 8 วา ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหน้าวัด แล้วเลยเสด็จประทับแรมที่ศาลาการเปรียญใกล้ร่มโพธิ์ ต่อมาได้โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดแจ้ง”

จวบจนสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เถลิงถวัลยราชสมบัติ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ พระองค์เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ โดยพระราชทานนามวัดว่า “วัดอรุณราชวราราม” และกลายเป็นวัดประจำรัชกาลในพระองค์

หากท่านไปเที่ยววัดอรุณ อย่าลืมไปไหว้สักการะ พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 6 ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทอง

ตามประวัติได้เขียนว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ฝั่งพระนคร ประดิษฐานอยู่บนแท่นไพทีเหนือฐานชุกชีขนาดใหญ่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2496 ได้พบพระบรมธาตุ 4 องค์ บรรจุในโกศ 3 ชั้น คือ เงิน นาค และทอง เป็นชั้น ๆ โดยลำดับ อยู่ในพระเศียร เหตุที่พบก็เพราะเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาส ขณะนั้นยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ ได้เห็นแสงสว่างปรากฏในห้องที่จำวัด และก่อนหน้านั้นพระครูใบฎีกาเจริญ ผู้เฝ้าพระวิหารได้เห็นแสงพระรัศมี ลอยฉวัดเฉวียนอยู่ที่พระพุทธรูปสำคัญ แล้วหายไปที่พระเศียรถึง 2 ครั้ง ท่านจึงให้พระครูใบฎีกาเจริญ ขึ้นไปดูที่พระเศียรจึงพบพระบรมธาตุดังกล่าว เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2496

นอกจากนี้สิ่งที่สายมูต้องไปคือ ไหว้พญายักษ์วัดแจ้ง ขอพร ของานขอโชคลาภวาสนา ซึ่งพญายักษ์วัดแจ้งนั้น ตามประวัติกล่าวเอาไว้ว่าหน้าประตูซุ้มยอดมงกุฎมี 2 ตัว มือทั้งสองกุมกระบอง ยืนอยู่บนแท่น สูงประมาณ 3 วา ว่ายักษ์ที่ยืนด้านเหนือ (ตัวขาว) คือ สหัสเดชะ ส่วนด้านใต้ (ตัวเขียว) คือ ทศกัณฐ์ ปั้นด้วยปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายรูปลักษณะและเครื่องแต่งตัว รูปยักษ์คู่นี้เป็นของทำขึ้นใหม่

หากท่านใดที่ไปจะเห็นพญายักษ์สูงใหญ่ โดดเด่น สง่างาม น่าเกรงขาม ทุกท่านกราบไหว้ขอพร อธิฐานจิตสวดคาถาดังนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคล

คาถาบูชาพญายักษ์วัดแจ้ง

****

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

(๓ จบ)

ยักโข โย อรุเณ รัมเม วราราเม ปติฏฐิโต

ยักขานังธิปะตี ยักโข ยักเข โส อภิปาละโก

หิริโอตตัปปะสัมปันโน ธัมมิโก ภาคะมาวะโห

เอตัสเสวานุภาเวนะ สทา โสตถี ภวันตุ เม ฯ

พญายักษ์วัดแจ้งตนใด ประดิษฐานที่วัดอรุณราชวราราม พระอารามหลวงอันรื่นรมย์ พญายักษ์วัดแจ้งตนนั้น ยิ่งใหญ่เหนือประดายักษ์ ปกปักรักษา คุ้มครองเหล่ายักษ์และมนุษย์ มีหิริโอตัปปะละบาปดำรงพุทธธรรม นำโชคลาภยศศักดิมงคล ด้วยอานุภาพของพญายักษ์วัดแจ้งตนนั้น ขอความสวัสดิมงคลจงเกิดมีแก่ข้าพเจ้าในกาลทุกเมื่อเทอญ.

นอกจากนี้ยังมี พระอรุณ หรือ พระแจ้ง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งองค์พระและผ้าทรงครองทำด้วยทองสีต่างกัน หน้าตักกว้างประมาณ 50 ซม. ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหน้าพระพุทธชัมภูนุทฯ ตามประวัติกล่าวว่า เป็นพระพุทธรูปที่ได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ.2401 และได้นำไปประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้อัญเชิญมาไว้ในพระวิหารนี้ ด้วยทรงพระราชดำริว่า นามพระพ้องกันกับวัด

วัดแจ้ง เป็นสถานที่ ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบมาชมสถาปัตยกรรม ความงดงามที่ยังคงให้เราได้สัมผัส และชมงานศิลปะ งานจิตรกรรมและงานประติมากรรม อีกทั้งได้กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบริเวณวัดอีกด้วย นับว่าเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีโอกาสแล้วต้องไปให้ได้สักครั้ง เพราะมีอะไรมากมายที่เรายังไม่เคยเห็น จะได้เห็นความสวยงาม อลังการงานฝีมือที่จะผ่านมากี่ยุคสมัย ความสวยงามก้ยังให้เราได้ชื่นชม แม้จะบูรณะมาสักกี่ครั้ง ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากไปกว่าเดิม ที่เพิ่มเติมคือความโดดเด่น สวยงามคู่กับความเป็นไทย

สำหรับการเดินทางมาเที่ยววัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหารหรือวัดแจ้ง สามารถเดินทางเรือข้ามฟากหรือเรือด่วนเจ้าพระยา มาลงที่ท่าวัดอรุณฯ หรือนั่งรถโดยสารหรือขับรถส่วนตัวมาเข้าทางหอประชุมกองทัพเรือ ส่วนการแต่งกายขอให้เหมาะสมถูกกาลเทศะ และปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้หญิงควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ไม่ใส่เสื้อสายเดี่ยว แขนกุด เอวลอย หรือเสื้อที่เว้าโชว์สัดส่วนไม่ใส่กระโปรง กางเกงรัดรูป ให้ใส่กระโปรง กางเกงยาวเลยเข่า ส่วนผู้ชายพึงใส่กางเกงขายาว และเสื้อเชิ้ตมีแขน

วันหยุดขอให้เที่ยวพักผ่อนกันอย่างสนุกสนาน เต็มอิ่ม ให้คุ้มกับวันหยุด ชาร์ตแบตเติมพลังให้เต็มที่แล้วไปทำงานกันอย่างสบายใจ มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ และหากท่านใดยังไม่รู้ว่าวันหยุดไปเที่ยวไหน ขอแนะนำให้ไปเที่ยว วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดแจ้ง ชมพระปรางค์ ที่งดงาม โดดเด่นเป็นสง่า และเป็นวัดเดียว ที่ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสี อย่างงดงามและประณีต บางลายใช้จานชามของโบราณ เป็นของเก่าหายาก เช่น ชามเบญจรงค์ มาประดับตกแต่งและที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดคือการถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นและตก เป็นมุมมองผ่านเลนส์ที่สร้างความสุขประทับใจให้กับเรานั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วน https://www.watarun1.com/th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0