"Pride Month" เดือนมิถุนายน เดือนแห่งความภาคภูมิใจที่กลุ่ม LGBTQIAN+ หรือ ผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก จะเฉลิมฉลอง สิทธิ เสรีภาพ ของความเสมอภาคเท่าเทียม ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีแผนการจัดงานหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
แต่ที่ได้จัดไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อ 1 มิถุนายน ที่กรุงเทพฯ บุคคลจากหลากหลายวงการเข้าร่วมขบวนพาเหรด “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองเข้าร่วม ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่ารัฐบาลพร้อมผลักดัน ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ให้สำเร็จรวมทั้งคำนำหน้าชื่อ Sex worker ด้วย
ประจวบเหมาะกับที่กำลังจะมีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ ที่วุฒิสภา กำหนดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ในวาระ 2 และ3 วันที่ 18 มิ.ย. นี้
ความพยายามผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น มีมาตั้งแต่ปี 2544 สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ ชินวัตร แต่ไม่สำเร็จ จนมาการเสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2555 แต่ไม่สำเร็จ
เข้าสู่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2563 เริ่มที่ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน จุดประเด็น สมรสเท่าเทียม ขณะที่พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่างกฎหมายต่อสภา แต่ก็เจอปัญหาสภาล่ม ตอนปี 2565 ทำให้ร่างกฎหมายต้องตกไป
จนถึงช่วงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปี 2566 มีการเสนอร่างเข้าสภา และหยิบยกขึ้นพิจารณาพร้อมกัน 4 ฉบับ ประกอบด้วยของรัฐบาล 1 ฉบับ สส.พรรคก้าวไกล 1 ฉบับ สส.พรรคประชาธิปัตย์ 1ฉบับ และ ภาคประชาชน 1ฉบับ และผ่าน 3 วาระของสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา
ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมมี 68 มาตรา ซึ่งในชั้น กรรมาธิการของวุฒิสภา ไม่ได้แก้ไขเนื้อหาที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ยังคงเนื้อหาให้ทุกเพศสามารถสมรสกันได้โดยต้องมีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ใช้สถานะคำว่า คู่สมรส แทน สามี-ภริยา
และ คู่สมรส มีสิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส/รับบุตรบุญธรรม/ลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย
รวมถึงได้สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล
หลายฝ่ายคาดหวัง บังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ภายใน ปี 2567 ซึ่งหากผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา ในวาระ 2 และ 3 วันที่ 18 มิถุนายนแล้ว จะต้องเข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ความเห็น 0