การแก้ปัญหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นหนึ่งในนโยบายที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศที่จะเร่งแก้ไขนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 และจะหาข้อสรุปการแก้ปัญหาภายใน 1 เดือน นับจากเข้ารับตำแหน่ง
ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหานี้ระหว่างกรุงเทพมหานคร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมามีการเจรจาชำระหนี้ และมีการจ่ายหนี้ค่าจ้างวางระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 เพื่อชำระหนี้ค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ส่วนต่อขยายที่ 1 อ่อนนุช-แบริ่ง , สะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ , หมอชิต-คูคต วงเงิน 23,091 ล้านบาท
ในขณะที่หนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ยังไม่มีการชำระถึงแม้ว่าศาลปกครองสูงสุด จะมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2567 ให้กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายให้ BTS
สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงที่กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระแบ่งเป็น 4 ส่วน รวมหนี้ถึงวันที่ 25 ก.ค.2567 มีวงเงินถึง 39,402 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.)หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ถึง พ.ค.2564 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 ถึง พ.ค.2564 ซึ่งคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ชำระ 11,755 ล้านบาท ภายใน 180 วัน พร้อมดอกเบี้ยสําหรับลูกค้า รายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) บวก 1% ต่อปี รวมแล้วประมาณ 14,000 ล้านบาท
2.)หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 ถึง ต.ค.2565 วงเงิน 11,811 ล้านบาท โดย BTS ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางวันที่ 22 พ.ย.2565 และอยู่ขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครองกลาง โดยถ้ามีคำพิพากษาในทิศทางเดียวกับคดีแรกจะทำให้กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคาร จำกัด ต้องชำระอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน
3.)หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 ถึง มิ.ย.2567 วงเงิน 13,513 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้ายังไม่ได้ยื่นฟ้องตอศาลปกครองกลาง
4.)หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2567 ถึงปัจจุบัน โดยสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายจะสิ้นสุดปี 2585
ศาลชี้สัญญาจ้างชอบด้วยกฎหมาย
รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้นายชัชชาติ ยังไม่ได้นัด BTS เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด วงเงินพร้อมดอกเบี้ย 14,000 ล้านบาท รวมถึงยังไม่มีการเจรจาถึงการชำระหนี้แต่ละก้อนทั้งหนี้ที่มีคำพาพากษาศาลปกครองสูงสุดและหนี้ที่กำลังฟ้องร้อง รวมถึงหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวัน ถึงแม้ว่าจะมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเป็นแนวปฏิบัติให้กับกรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว โดยได้อ้างถึงเหตุผลกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2566 แจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพวกรวม 13 คน
กรณีว่าจ้าง BTS เพื่อเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ถึงปี 2585 โดยหลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
ในขณะที่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้ระบุถึงสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ถึงแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะมีการอ้างถึงสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ยังไม่เสนอสภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ ซึ่งทำให้ต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถดังกล่าว เพราะการที่ ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาในประเด็นดังกล่าว ไม่มีผลต่อสัญญา
ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานคร ระบุถึงการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.เป็นการทำสัญญาส่วนต่อขยายที่ 1 แต่ปัจจุบันกรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้มีการจ่ายเงินส่วนที่ขาดของค่าโดยสารให้ BTS
ต้องจ่ายดอกเบี้ยวันละ 7 ล้านบาท
ทั้งนี้ การที่กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ยังไม่ชำระหนี้ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดถึงแม้จะยังไม่ครบ 180 วัน แต่มีผลทำให้กรุงเทพมหานครจะต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีการคำนวณเบื้องต้นอยู่ที่วันละ 7 ล้านบาท นับตั้งแต่มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อปี 2565
ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2561 เกี่ยวกับข้อพิพาทของหน่วยงานรัฐ โดยเห็นว่าเพื่อบรรเทาความสูญเสียและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐ และเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของทางราชการกรณีหน่วยงานของรัฐมีข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองเป็นคดีเดียวหรือหลายคดีในประเด็นเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกัน
โดยกรณีมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่นำไปสู่การฟ้องคดีในศาลปกครองสูงสุด โดยผลของคำวินิจฉัยชี้ขาดให้หน่วยงานรัฐต้องชดใช้ค่าเสียหายหรืออื่นใด จึงมีมติให้หน่วยงานของรัฐอาจเจรจาต่อรองกับคู่พิพาทเพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐและให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้ โดยให้ดำเนินการอย่างโปร่งใสชอบด้วยกฎหมายและคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ
"กทม.-กรุงเทพธนาคม”ส่งตีความปม ปปช.
นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การชำระค่าจ้างงานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียว วงเงิน 11,755 ล้านบาท ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2567
ขณะนี้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับประเด็นข้อกล่าวหาที่เกี่ยวเนื่องต่อการทำสัญญาจ้างงาน O&M เพื่อทำให้เรื่องนี้มีความละเอียดรอบคอบก่อนการชำระค่าจ้างงานดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ประเด็นข้อกล่าวหาที่บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และกรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการตีความ คือ กรณีที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้อง ทำสัญญาจ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวเนื่องหรือไม่กับการทำสัญญาจ้างงานดังกล่าว ทำให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และกรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างตรวจสอบประเด็นนี้อย่างละเอียด
“กรุงเทพธนาคม” หวังยื่นฟื้นคดีใหม่
ทั้งนี้ หากท้ายที่สุดมีการชี้มูลว่าสัญญาจ้างผิดจริงนั้น บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และกรุงเทพมหานคร อาจต้องยื่นขอรื้อฟื้นคดีข้อพิพาทเกี่ยวกับการจ้างงานเดินรถ O&M เพื่อให้เข้าสู่กระบวการศาลปกครองพิจารณา
แต่หากสัญญาจ้างงานดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และกรุงเทพมหานครก็พร้อมที่จะดำเนินการชำระค่าจ้างงาน O&M ตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินไว้ โดยขณะนี้ขอให้รอการตีความเกี่ยวกับข้อมูลจาก ป.ป.ช.ให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนออกมาก่อนครบกำหนดศาลให้ชำระค่าจ้างแต่เอกชนภายใน 180 วันนับจากวันที่ศาลมีคำตัดสิน
ความเห็น 0