สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานวันนี้ (31 มี.ค.) ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตลอดหนึ่งปีต่อจากนี้อยู่ในทิศทางขาลงหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์แหล่งข่าวของบลูมเบิร์ก เผยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้อาจเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในการประชุมเดือนหน้าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
แผ่นดินไหวครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตในประเทศเมียนมาอย่างน้อย 1,700 คน ได้สั่นสะเทือนกรุงเทพฯ อย่างรุนแรง โดยมีผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ อย่างน้อย 18 ราย นอกจากนี้ยังมีคนงานกว่า 70 คนที่ยังสูญหายจากเหตุอาคารที่กำลังก่อสร้างพังถล่ม ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงสูงสุดถึง 1.7% ในวันจันทร์ โดยได้รับแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มการเงิน
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับความเสียหายรุนแรงเหมือนประเทศเมียนมา แต่แผ่นดินไหวครั้งนี้ก็ยังคงเป็นข่าวร้าย เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับปัจจัยลบจากสงครามการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง และการจองที่พักของนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ในเดือนก.พ. เนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง
"ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ไม่สดใสอยู่แล้วจากปัจจัยลบรอบด้าน และแผ่นดินไหวครั้งนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก" นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าว พร้อมอธิบายเสริมว่า "เหตุการณ์นี้เพิ่มโอกาสที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันในการประชุมเดือนเม.ย. และอาจมีการปรับลดอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี"
ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก เผยว่า ธปท.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบเซอร์ไพรซ์ตลาดในเดือนก.พ.และต.ค.เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ถึงแม้จะเปลี่ยนท่าทีจากแนวนโยบายที่เข้มงวด ธปท. ก็ยังลังเลที่จะมุ่งสู่วงจรการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเต็มรูปแบบแม้จะมีแรงกดดันทางการเมืองให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น
ด้านธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด จำกัด ระบุในรายงานซึ่งเผยแพร่วันนี้ว่า เนื่องจากธปท. ยืนยันว่านโยบายการเงินของตน "ขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ" ภาพรวมเศรษฐกิจที่แย่ลงนี้จึงเพิ่มโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนเม.ย.
"การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจเป็นหนึ่งในทางเลือก" ที่ธนาคารกลางพิจารณา ซิตี้ รีเสิร์ช กล่าวในรายงานอีกฉบับหนึ่ง โดยเสนอแนะว่า ธปท. อาจขอให้ธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารให้การสนับสนุนลูกค้ามากขึ้น
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจในทันทีจากแผ่นดินไหวไว้ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท (590 ล้านดอลลาร์) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการลดลงของการใช้จ่ายด้านอาหารและบริการในช่วงปลายเดือน หลังจากประชาชนนับล้านในกรุงเทพฯ ต่างหนีเอาชีวิตรอดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้สั่งการให้สถาบันการเงินขยายมาตรการบรรเทาภาระหนี้พิเศษสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ซึ่งคล้ายกับมาตรการที่ใช้ในกรณีน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. จะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 30 เม.ย.
ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเคยคาดหวังว่าจะเฟื่องฟูขึ้นจากการที่ประเทศไทยได้เป็นสถานที่ถ่ายทำในฤดูกาลล่าสุดของซีรีส์ทีวีเรื่อง"The White Lotus" สมาคมโรงแรมไทยคาดการณ์เมื่อวันอาทิตย์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลง 10-15% หรือมากกว่านั้นในช่วงสองสัปดาห์นับจากวันอาทิตย์
ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการขายคอนโดมิเนียม จะได้รับแรงกดดันเช่นกัน เนื่องจากผู้คนจำนวนมากคิดหนักเรื่องการซื้ออาคารสูง นักวิเคราะห์กล่าว นางสาวณัฐพรจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า ความกลัวเรื่องแผ่นดินไหวจะล่าช้าการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถูกกดดันจากคอนโดมิเนียมที่ยังขายไม่ออก
อ้างอิง: Bloomberg