โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เชื้อพระวงศ์ขวัญใจคณะราษฎร 2475

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 21 มี.ค. เวลา 03.09 น. • เผยแพร่ 21 มี.ค. เวลา 03.08 น.
photo s
พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เจ้านายชั้นสูงถูกจำกัดอำนาจและบทบาท มีความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มอำนาจเดิมกับกลุ่มอำนาจใหม่ อย่างไรก็ตาม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงเป็นเจ้านายที่ทรงเป็นเสมือนสะพานเชื่อมระหว่าง 2 กลุ่ม ด้วยจุดมุ่งหมายสำคัญคือให้ประเทศเดินหน้าพัฒนาต่อไป พระองค์จึงทรงเป็นเจ้านายเพียงไม่กี่พระองค์ที่คณะราษฎรรักก็ว่าได้

พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พระโอรส “เสด็จเตี่ย”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (แรกประสูติคือ หม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา) ทรงเป็นพระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือที่ชาวไทยขานพระนามด้วยความเคารพยกย่องว่า “เสด็จเตี่ย” กับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ประสูติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2447

เนื่องด้วยทรงกำพร้าพระมารดาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระอัยกา คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงทรงมีพระเมตตา และทรงสถาปนาขึ้นเป็น “พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา” กระทั่ง พ.ศ. 2481 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ทรงสถาปนาขึ้นเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ”

พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ทรงได้รับการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ทรงเคยศึกษาวิชาการทหารเรือ ก่อนจะทรงย้ายไปศึกษาด้านประวัติศาสตร์และการปกครอง ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อเสด็จกลับมาทรงเข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย และทรงเป็นเลขานุการในพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)

เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2477 สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ทรงเป็นสมาชิกของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 และหลังจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรก็มีมติให้ทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ แทน

พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ถึง 9 ปี กระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 สิริพระชันษา 42 ปี

ทำไม “คณะราษฎร” ถึงยกย่องสรรเสริญ?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บาหยัน อิ่มสำราญ ขยายรายละเอียดประเด็นนี้ไว้ในบทความ “วรรณคดีสร้างชาติเรื่อง ‘ลิลิตรัถนิยม’” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2567 ว่า

พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ทรงสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ อีกทั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งมีพระองค์ทรงเป็นประธาน ยังช่วยสนับสนุนรัฐบาลและแก้ไขวิกฤตต่างๆ ภายในกรอบรัฐธรรมนูญอีกด้วย

พระองค์ยังทรงมีพระปรีชาสามารถด้านวรรณศิลป์ และทรงนำความเชี่ยวชาญดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะผลงาน “ลิลิตรัถนิยม” ที่ทรงแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485

บริบทสังคมการเมืองไทยในทศวรรษ 2480 เป็นยุคที่รัฐบาลพยายามสร้างประเทศไทย โดยใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสร้างชาติ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ออกประกาศ “รัฐนิยม” 12 ฉบับ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2482 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 ให้คนไทยสร้างตนเอง สร้างครอบครัว และสร้างชาติ เพื่อให้ทัดเทียมอารยประเทศ

วิธีประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรรับทราบและนำไปปฏิบัติ มีทั้งผ่านสื่อกระจายเสียง คือ วิทยุของกรมโฆษณาการ และสื่อสิ่งพิมพ์ คือ หนังสือ “ประมวลรัฐนิยม” ซึ่งอย่างหลังเป็นจุดกำเนิด “ลิลิตรัถนิยม” วรรณกรรมสร้างชาติที่แต่งโดยเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง

พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ทรงนำฉันทลักษณ์โบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอย่าง “ลิลิต” มาใช้ ซึ่งลิลิตเป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองแบบหนึ่ง ใช้โคลงและร่ายต่อสัมผัสกันเป็นเรื่องยาว โดยทรงรักษาขนบจารีตการแต่งไว้อย่างเคร่งครัด อย่างการมีบทนำและบทสรุป

เนื้อหาของลิลิตรัถนิยม ไม่ได้กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ แต่พรรณนาความรุ่งเรืองของบ้านเมืองภายใต้การปกครองระบอบใหม่ ประชาชนมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและมีความมั่นคงทางใจ มีความหวังว่าประเทศจะพัฒนา ภายใต้การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิ์ให้เสียงประชาชน

แม้จะมีการจัดพิมพ์เผยแพร่ด้วยพระองค์เองถึง 2 ครั้ง แต่ด้วยเงื่อนไขความเป็นวรรณคดี ประกอบกับภาษาและสำนวนที่ใช้ ทำให้ประชาชนในวงกว้างอาจไม่ได้รับสารที่ลิลิตรัถนิยมต้องการสื่อ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การที่พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยนี่เอง ทำให้คณะราษฎรยกย่องสรรเสริญพระองค์ว่า “เป็นเจ้าที่รักชาติพระองค์หนึ่ง สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่เจ้าอื่นๆ ได้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

บาหยัน อิ่มสำราญ. “วรรณคดีสร้างชาติเรื่อง ‘ลิลิตรัถนิยม’”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2567.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2568

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เชื้อพระวงศ์ขวัญใจคณะราษฎร 2475

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com