โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สังคม

มข. วิจัย “หมอลำ” นำ Soft Power ดัน เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพคนอีสาน

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 07 ก.ค. 2565 เวลา 06.39 น. • เผยแพร่ 07 ก.ค. 2565 เวลา 06.45 น.

มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิจัย พัฒนา "หมอลำ" นำ Soft Power ดัน เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพคนอีสาน ต่อยอด "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ปรับเปลี่ยนเชิงธุรกิจของหมอลำ ในสังคมปัจจุบัน

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับ นักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรม The Soft Power of Molam 4.0 ภายใต้การดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” ตามแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้ร่วมงาน รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวรายงานต่อ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ โดยมี ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หัวหน้าส่วนงานในจังหวัดขอนแก่น และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด ณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กิจกรรม งาน The Soft Power of Molam 4.0 ในครั้งนี้ ได้นำวง หมอลำ “ระเบียบวาทะศิลป์” มาแสดงในงาน ซึ่งเป็นหมอลำมืออาชีพที่จัดแสดงหมอลำในรูปแบบใหม่ เป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจหมอลำที่ปรับเปลี่ยนการแสดงสู่ยุคดิจิทัล และใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อคงธุรกิจให้อยู่รอดในปัจจุบัน

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอขอบคุณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 ที่ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อศึกษาและยกระดับพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมสู่ความเป็นสากล นับเป็นความภาคภูมิใจของเรา ชาวมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีทีมนักวิจัยที่มุ่งมั่นศึกษา และสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาสังคมตามปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

"หวังว่าการจัดงาน The Soft Power of Molam 4.0 นอกจากความสนุกสนานที่จะเกิดขึ้นแล้ว ยังก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทางด้านวัฒนธรรม และมีส่วนช่วยผลักดันให้หมอลำเป็น soft power ได้ในอนาคตต่อไป”

ทุนวัฒนธรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ เผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม เพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และนักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ และวิทยาลัยการปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกันดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

"โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือหมอลำ ในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการปรับเปลี่ยนเชิงธุรกิจของหมอลำให้อยู่รอดในสังคมปัจจุบัน รวมถึงการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ชมหมอลำ และนำมาปรับใช้ในการออกแบบการให้บริการ และการดำเนินธุรกิจหมอลำเพื่อให้สามารถแข่งขัน และต่อยอดจนสามารถเป็น soft power ได้ในอนาคต”

“การจัดงานในวันนี้ถือเป็นการเผยแพร่ผลการศึกษาในรูปแบบใหม่ โดยจำลองผลการศึกษาเสมือนจริง และใช้วงหมอลำมืออาชีพวงหลักอย่าง วงระเบียบวาทะศิลป์ ในการร่วมแสดงหมอลำแบบใหม่ ที่ต่อยอดจากการศึกษาวิจัย โดยมุ่งให้ผู้ร่วมงานเห็นภาพ และสร้างผลกระทบในมุมกว้าง และเกิดแรงบันดาลใจในการยกระดับหมอลำให้สามารถเป็น soft power ได้ในอนาคต” รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ กล่าว

ต่อยอด "หมอลำ" สู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์

ด้าน ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กล่าวว่า “งาน The Soft Power of Molam 4.0 ระเบียบวาทะศิลป์ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการ “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ในวันนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจและชื่นชมยินดีอย่างยิ่งในการศึกษาวิจัยในมิติทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมมิติใหม่ที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาหมอลำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และต่อยอดการเป็น soft power ของทุนวัฒนธรรมอีสานสู่สากล ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงในการต่อยอดองค์ความรู้และนวัติกรรมใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ขออวยพรให้การจัดงานเป็นไปด้วยความราบรื่นและประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้”

สำหรับโครงการวิจัย เรื่อง “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาไปใช้ประโยชน์ โดยคณะผู้วิจัยได้นำต้นแบบการแสดง (prototype) ที่เหมาะกับกลุ่มผู้ชมเดิม และ สร้างความต้องการใหม่ (new demand) ถ่ายทอดให้กับผู้ที่มีส่วนกี่ยวข้องในอุตสากรรมหมอลำ ได้แก่

  • ผู้บริหารคณะหมอลำ
  • ผู้เชี่ยวชาญทางด้านออกแบบการแสดง
  • ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรี
  • ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรม
  • ผู้มีอิทธิพลทางสื่อโซเชียลเกี่ยวกับหมอลำ

เพื่อเป็นแนวคิดในการออกแบบรูปแบบการแสดงของคณะหมอลำในฤดูกาลปี 2565-2566 นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะ ให้คณะหมอลำประยุกต์ใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้เกิดความสะดวกกับผู้ชมหมอลำในยุคปัจจุบันให้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น

  • การถ่ายทอดสดการแสดง (Live Streaming) ควบคู่กับการแสดงหน้าเวที
  • การเปิดจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าทางออนไลน์เพื่อให้สะดวกต่อการรับชมหน้าเวทีมากขึ้น

รวมไปถึงการนำเทคนิคและนวัตกรรมมาต่อยอดเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ อาทิ การใช้ Studio ถ่ายทำ หรือการทำภาพสามมิติในการแสดงหมอลำซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการต่อยอด นอกจากการแสดงหน้าเวทีอย่างเดียว ซึ่งข้อมูลนี้จะนำไปสู่การปรับรูปแบบการให้บริการ และการดำเนินธุรกิจหมอลำเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น