ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส รุกธุรกิจ EV Charger เล็งเปิดใช้งานตู้ชาร์จ “GINKA (กิ้งก่า)” ไตรมาส 2/2566 สบช่องใช้พื้นที่ขนาดเล็กลานจอดรถ-อาคารพร้อมติดตั้งใช้งานง่ายเหมือนตู้เต่าบิน
วันที่ 24 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานข่าวจาก บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) ผู้ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-paid) และบริการรับชำระเงินออนไลน์ผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ หรือภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตู้บุญเติม” ว่า
ได้มีความพร้อมที่จะให้บริการแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าระบบ AC (Normal Charge) ในชื่อ “กิ้งก่า” หรือ GINKA ที่มีการใช้งานง่ายดายผ่านโทรศัพท์มือถือเหมือนการจ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องดื่มในตู้ “เต่าบิน”
ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส เป็นหนึ่งในเครือบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ออกแบบระบบและพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีโทรคมนาคม ซึ่งได้ขยายธุรกิจไปสู่การจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านตู้อัตโนมัติที่ตอบสนองการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด คือ ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด
ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทลูกที่เข้ามาดูแลการทำตลาดและบริหารจัดการระบบตู้ “เต่าบิน” ที่โด่งดังร่วมกับ ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ผลิตตู้อัจริยะ ทั้งตู้เติมเงินบุญเติม ตู้น้ำมันบุญเติม หรือตู้กดน้ำบุญเติม
แต่สำหรับนวัตกรรมล่าสุด ตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “กิ้งก่า” จะมี ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส เข้ามาดูแลโดยตรง และพร้อมให้บริการภายในไตรมาสที่ 2/2566 โดยจะเน้นติดตั้งบริเวณพื้นที่ขนาดเล็กตามลานจอดรถที่มีกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งจะแตกต่างจากการลงทุนเป็นสถานีชาร์จที่ใหญ่ตรงที่ใช้เพียงตู้ “กิ้งก่า” ไปติดตั้งเท่านั้น
ตู้ดังกล่าวใช้เทคโนโลยีจาก “บุญเติม” และ “เต่าบิน” ด้วยอุปกรณ์เสริมที่หลากหลาย สามารถติดตั้งที่ชาร์จบนผนังหรือบนเสาได้ ระบบดึงสายของเราช่วยให้สายชาร์จและขั้วต่ออยู่เหนือศีรษะ ผ่านสายรัดสปริง ด้วยตัวเลือกการติดตั้งที่ง่ายดาย EV Cable Retractor ใช้สายรัดแบบสปริงเพื่อแขวนและจัดเก็บสายไฟ Retractor จะทำให้พื้นที่ติดตั้งมีความปลอดภัย เป็นระเบียบ และสะอาด
แหล่งข่าวจาก ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า บริษัทมีการประเมินมูลค่าตลาดแท่นชาร์จอีวีจากการเติบโตของยอดการครอบครองรถยนต์อีวี โดยคาดการณ์ว่าในปี 2573 จะมีรถยนต์อีวีกว่า 1ล้านคัน ซึ่งต้องใช้แท่นชาร์จอีกมาก
นอกจากนี้ด้วยการชาร์จไฟฟ้าแบบ Normal Charge หรือแบบ AC ใช้เวลานาน จึงเหมาะกับลานจอดรถ สำนักงาน ที่พักอาศัยบ้านคอนโดที่มีรถยนต์จอดประจำอยู่แล้ว จึงมุ่งเจาะกลุ่ม B2B โดยตั้งเป้าว่าจะมียอดขายปีนี้ 500 – 1,000 เครื่อง ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 4-5หมื่นบาท
นอกจากนี้ ได้มีการนำระบบชำระเงินจากตู้เต่าบินมาปรับใช้กับตู้กิ้งก่า ทำให้การชาร์จไฟมีความง่าย ไม่จำเป็นต้องโหลดแอปใด ๆ ซึ่งเป็น Pain Point ของการจ่ายเงินชาร์จไฟในปัจจุบัน
ความเห็น 0