พยาบาล ไม่มีความสุขในการทำงาน คิดลาออกจากอาชีพ ร้อยละ 70.8
วิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา นับเป็นประสบการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้ทุกคนบนโลกต้องปรับตัวในการดำเนินชีวิตในแทบทุกด้าน เช่นเดียวกับ วิชาชีพพยาบาล ที่ต้องพบรอยสะดุดจากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากการทำงานที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วย อีกทั้งยังต้องประสบกับภาวะต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานจนมีความคิดจะลาออก ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์เกือบทั่วโลก
รศ.ดร.รักชนก คชไกร อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงผลสำรวจวิจัยจากพยาบาลวิชาชีพกว่า 2,000 รายทั่วประเทศไทยเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ก่อนช่วงวิกฤต COVID-19 พบว่า มีพยาบาลวิชาชีพที่ประสบปัญหาจากการทำงานจนมีความคิดจะลาออกถึงร้อยละ 70.8
ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่พบคล้ายคลึงกันเกือบทั่วโลก โดยสาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากความไม่พึงพอใจความเหมาะสมของสิ่งแวดล้อมในการทำงาน อาทิ ที่ประเทศโปแลนด์ สำรวจพบ พยาบาลวิชาชีพที่ประสบปัญหา จนมีความคิดจะลาออกถึงร้อยละ 50 ในขณะที่ทางแอฟริกาใต้พบร้อยละ 55
รศ.ดร.รักชนก ชี้ว่า สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้พยาบาลวิชาชีพไทยต้องประสบปัญหาจากการทำงานจนมีความคิดจะลาออก เนื่องจากไม่มีความสุขในการทำงาน การขาดอัตรากำลัง ประกอบกับสถานการณ์การเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ของประชาชนไทยมีมากขึ้น ทำให้ภาระงานหนักมากเกินไป
แม้ที่ผ่านมาจะมีการส่งเสริมสุขภาวะ แต่เมื่อได้พิจารณาถึงภาระงานของพยาบาลวิชาชีพไทย พบว่า พยาบาลบางแห่งต้องปฏิบัติหน้าที่มากที่สุดถึง 12 เวรต่อสัปดาห์ บางรายขาดการพักผ่อนที่เพียงพอจนถึงขั้นประสบอุบัติเหตุขับรถหลับใน
จากนโยบายที่ผ่านมา แม้จะมีการให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาวะทางกาย และสุขภาวะทางปัญญา แต่ยังไม่ค่อยเด่นชัดในเรื่องการส่งเสริมที่ครอบคลุมสุขภาวะด้านจิตใจ
ซึ่งทางออกสำคัญที่ รศ.ดร.รักชนก ได้นำเสนอเพื่อลดปัญหาดังกล่าว ได้แก่ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีในการปฏิบัติงาน โดยการลดเครียดจากการปฏิบัติงาน การลดภาระที่เกินจำเป็นนอกเหนือจากการใช้ทักษะทางวิชาชีพ การเพิ่มความปลอดภัยในทำงาน และการให้ค่าตอบแทนที่สมเหตุผล
นอกจากนี้ จากการสำรวจที่ผ่านมา ยังพบรอยสะดุดสำคัญ จากการยอมรับความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานทางวิชาชีพ ซึ่งหากได้รับการแก้ไขโดยส่งเสริมให้เกิดเอกสิทธิ์ หรืออิสระทางวิชาชีพในการปฏิบัติงาน ก็จะสามารถเพิ่มความมั่นคงทางวิชาชีพมากขึ้นได้
คุณภาพชีวิตที่ดี จะนำไปสู่ผลการปฏิบัติที่ดี วิชาชีพพยาบาลไม่ได้เป็นเพียง “ผู้ดูแล” แต่จำเป็นต้องได้รับการดูแลทั้งสุขภาวะทางกาย สุขภาวะใจ และสุขภาวะทางปัญญา เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการดำเนินชีวิต ลบรอยสะดุด และทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาวิชาชีพต่อไป
ความเห็น 6
m.pongsak
มีงานไหน บ้าง ที่ทำแล้ว ไม่เหนื่อย ไม่เบื่อ..อยากรู้ จัง ?
21 ม.ค. 2566 เวลา 05.25 น.
Maithai 1
ปัญหาจะรุนแรงไปเรื่อยและมากขึ้นเพราะต่อไปเราจะเป็นเมืองที่มีคนป่วย คนแก่ มาอยู่แยะเพราะคุณภาพและราคาประทับใจ มีบริการภาคเอกชนมากขึ้น ขอเสนอ 1.การให้บริการที่ยุงยาก ซับซ้อน เหนื่อย เครียด งานที่มีความเสี่ยง และต้องป้องกันความผิดพลาดสูง ควรแบ่งเวลาทำงานแค่ 6ชม.ต่อคาบ ไม่ใช่ 8ชม.ต่อคาบ 2. อัตราค่าตอบแทน อาจพิจารณาเพิ่มเติมตามความเสี่ยงความยากง่าย 3. การใช้เครื่องอำนวยความสะดวก เครื่องป้องกัน ระบบ และอื่นๆๆเพื่อป้องกันความผิดพลาด เพื่อความรวดเร็ว เพื่อคุณภาพ ต้องพัฒนาต่อเนื่องอยู่เสมอ
21 ม.ค. 2566 เวลา 02.42 น.
BP
เป็นอาชีพที่เสมอตัวและถูกด่า เท่านั้น
21 ม.ค. 2566 เวลา 04.33 น.
Nick
เอกชนเงินเดือนจ่ายหนักไม่ใช่เหรอ?
22 ม.ค. 2566 เวลา 23.31 น.
Mossi
เอาจริงนะ คือคุณพยายาลเค้างานหนักมาก เเต่รายได้เค้าอ่ะ มันไม่สมกับการที่หนักหนาขนาดนี้ คุณควรเพิามเงินเดทอนให้บุคคลากรทางการแพทย์ให้สมกับสิ่งที่เค้าทำ เค้าจะได้มีคุณภาพชีวิตต่างๆที่ดีขึ้นอย่างน้อยเค้าจะรู้ว่างานหนักเเต่ได้อะไรกลับมา
23 ม.ค. 2566 เวลา 00.15 น.
ดูทั้งหมด