โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

หาทางออก..สมัยนี้ยังต้องมี ‘สินสอด’ อยู่ไหม

LINE TODAY

เผยแพร่ 09 พ.ค. 2561 เวลา 09.47 น. • Pimpayod

เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอด สำหรับ ‘สินสอด’ ในงานแต่งงานว่าไม่มีเลยได้ไหม มีน้อย ๆ พอเป็นพิธีได้ไหม พ่อแม่จะคืนไหม พ่อแม่ไม่เคยเลี้ยงดูแต่จะเอาค่าสินสอดก็ได้หรอ และอีกสารพัดปัญหาที่ตอบเท่าไหร่ก็ไม่จบไม่สิ้น ซึ่งเราจะหาทางออกให้กับเรื่องนี้ด้วยกัน

ในทางกฎหมายสินสอดจะมีหรือไม่มีก็ได้ เป็นเพียงข้อตกลงกันระหว่างสองฝ่าย หากมีก็ต้องเคลียร์กันให้ชัดตั้งแต่ก่อนแต่งงานว่าจะเป็นจำนวนเท่าไร และอะไรบ้าง 

ตามธรรมเนียมของการแต่งงานแบบไทย สินสอดคือหลักประกันของฝ่ายหญิง เนื่องจากในอดีตบ่าวสาวมักแต่งงานโดยไม่เคยพบเจอกันมาก่อน ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจึงเรียกสินสอดเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายชายทิ้งการแต่งงาน และเป็นหลักประกันว่าฝ่ายชายมีปัญญาเลี้ยงดูฝ่ายหญิงต่อไปในอนาคต จนกลายเป็นธรรมเนียมที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีการระบุชัดเจนว่าตัวเลขของสินสอดควรเป็นเท่าไร หรือมีอะไรบ้าง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับฐานะและรายได้ของครอบครัวฝ่ายชายเป็นหลัก และเมื่อมอบสินสอดไปแล้ว ทรัพย์เหล่านั้นจะกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ซึ่งจะนำไปทำอะไรนั้น ก็สุดแล้วแต่ บางครอบครัวมอบคืนให้คู่รักไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน แต่บางครอบครัวก็ไม่ได้ส่งคืนให้กับบ่าวสาว

ตามธรรมเนียมมูลค่าของสินสอดขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง โดยจะมีการตกลงเบื้องต้นก่อน หากเป็นจำนวนที่สูงเกินไป ฝ่ายชายก็เจรจาต่อรองจนกระทั่งได้มูลค่าที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนพิธีการสู่ขอจริง ผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะถามเป็นพิธี ส่วนผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงก็จะบอกจำนวนที่ตกลงกันไว้เป็นที่เรียบร้อยไป

สมัยก่อนสินสอดไม่นิยมให้เป็นเงิน แต่จะเป็นทอง เครื่องทอง เครื่องประดับ หรือผ้าพับต่าง ๆ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปทำให้เงินมีบทบาทมากขึ้น จึงนิยมนำเงินมาเป็นสินสอด แต่ก็ยังคงพวกทองและเครื่องประดับต่าง ๆ ไว้เช่นเดิม นอกเหนือจากเงิน ยังมีที่ดิน รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ก็ยังคงได้รับความนิยมนำมาเป็นสินสอดด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าสินสอดจะเป็นอะไรก็ตาม สถานะของสินสอดในอดีตกับปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เดี๋ยวนี้สินสอดไม่ใช่หลักประกัน แต่เป็นเหมือนหน้าตาทางสังคมของครอบครัวนั้น ๆ ซึ่งจำนวนของสินสอดกลายเป็นเครื่องวัดความร่ำรวยของแต่ละบ้านไปโดยปริยาย 

เหตุผลนี้น่าจะเป็นที่มาของปัญหาที่หนุ่มสาวสมัยนี้ถึงกับต้องเอามือกุมหัว อยากแต่งก็อยาก แต่พ่อแม่คิดค่าสินสอดเยอะจนต้องล้มเลิกงานแต่งงาน ซึ่งพอพูดเรื่องนี้ขึ้นมาทีไร หลายคนไม่เห็นด้วยกับสินสอดที่เวอร์เกินพอดี เพราะแต่ละครอบครัวมีบริบทที่ต่างกัน จะไม่ต้องมีสินสอดเลยก็ได้ หรือผู้ใหญ่จะเก็บสินสอดไว้เองทั้งหมดเลยก็ได้อีก ซึ่งไม่มีคำว่าถูกหรือผิด แล้วแต่ความสะดวกและเหมาะสมของแต่ละครอบครัว

อย่างไรก็ตาม อย่าให้ถึงต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าสินสอดเลย แค่เริ่มต้นก็ลำบากซะแล้ว แบบนี้การแต่งงานก็คงไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตครอบครัว แต่เป็นจุดตั้งต้นของการใช้หนี้เสียมากกว่า

ลองมาดูความเห็นของสาวโสดที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงงานแต่งงานให้ความเห็นกับเรื่อง “สินสอด” ในยุคนี้กัน

 “การแต่งงานตามประเพณีไทยยังไงก็ต้องมีสินสอด แต่ไม่จำเป็นต้องมากมายเกินฐานะ เพราะแค่อยากให้ใครต่อใครจดจำ ควรเรียกสินสอดตามความเหมาะสมดีกว่า แต่ก็ต้องคุยต้องเคลียร์กันให้ชัดกับครอบครัวของทั้งสองฝ่าย จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง ยิ่งเดี๋ยวนี้แทรนด์การจัดงานแต่งงานแบบเรียบง่าย เน้นความอบอุ่น กำลังมาแรง ไม่ต้องงานใหญ่ หรูหราอลังการ สินสอดพอประมาณก็พอแล้ว"

ส่วนหนุ่มโสดที่ขยาดกับเรื่องสินสอดจนไม่ได้แต่งงานคนหนึ่ง กล่าวว่า..

“ในแง่เศรษฐศาสตร์ ผมมองว่าสินสอดถือเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้หลาย ๆ คู่ ยังไม่ได้แต่งงาน แม้ว่าจะมีหลายคู่ช่วยกันหาค่าสินสอด แต่ก็ยังมีอีกหลายคู่ที่ยกหน้าที่ให้เจ้าบ่าวเพียงฝ่ายเดียว ไหนจะค่างานแต่งที่ปัจจุบันก็ไม่ใช่ถูก ๆ มาเจอค่าสินสอดอีก ก็ยิ่งต้องใช้เวลาเก็บเงิน หรือวางแผนการแต่งงานนานขึ้น และในแง่สังคม สินสอดคือการฝังรากของวัฒนธรรมการแบ่งแยกชนชั้นให้ลึกขึ้น โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่นิยมเปลือก สินสอดกลายเป็นการอวดความร่ำรวยอีกทางหนึ่ง ตัดสินความยั่งยืนของคู่สมรสจากตัวเลข จนเกิดธุรกิจแปลก ๆ อย่างการให้ยืมเงิน รถ หรือทองเพื่อเอาหน้าในงานแต่ง”

แล้วถ้าเป็นคุณ “สินสอด” ในยุค 4.0 แบบนี้ ยังต้องมีอยู่หรือไม่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0