โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เก็บตกทุกคำถาม - คำตอบ กับ 'ไอติม พริษฐ์'

LINE TODAY

เผยแพร่ 04 ก.พ. 2562 เวลา 10.14 น.

ไอติมคือเด็กหนุ่มอายุ 25 ที่เต็มไปด้วยพลังงานและความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาประเทศไม่ว่าตัวเองจะอยู่ในบทบาทไหนก็ตาม ตลอดเวลาที่เราได้คุยกับเขา เราจะเห็นความพยายามที่จะไม่พูดภาษาไทยปนอังกฤษเลย ถึงแม้ไอติมจะออกตัวมาก่อนว่าเขาเพิ่งได้กลับมาอยู่ที่ไทยแบบถาวรได้ไม่นานมานี้ เห็นถึงความสบายๆ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และมุมตลกๆ ของเขาที่ผสมความจริงจังทุกครั้งที่เราเริ่มยิงคำถามเกี่ยวกับแผนการในชีวิต

เราถามไอติมว่าทำไมเขาถึงอยากทำงานด้านการเมือง ไอติมบอกว่ามันคืออาชีพที่เขาจะช่วยทำให้ชีวิตของคนในจำนวนมากดีขึ้นได้และถูกปลูกฝังอยู่ในสายเลือด จากคุณพ่อและคุณแม่ที่เป็นหมอทั้งคู่ ถ้าตัดสเตตัสที่เขาถูกชูให้เป็นหลานของนักการเมืองชื่อดัง และมองไอติม พริษฐ์จากมุมมองและวิถีการคิด เขาก็คือวัยรุ่นอนาคตไกลคนหนึ่งที่มาพร้อมความตั้งใจในทุกๆ เรื่องที่ทำในชีวิตและความตั้งใจนั้นก็เพื่อความสุขของคนอื่น ๆ ด้วย

ไอติมกับงานการเมือง เป็นยังไงบ้าง?

ตอนนี้ผมได้เริ่มเข้ามาทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ “ประชาธิปัตย์ยุคใหม่” ซึ่งคนจะมองว่าผมก็คือประชาธิปัตย์อยู่แล้วตั้งแต่เด็ก เพราะเคยฝึกงาน มีภาพออกไป และเป็นหลานของอภิสิทธิ์ด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วผมกับคุณน้าไม่ได้สนิทอะไรกันเลย เจอกันแค่ในงานรวมญาติปีละครั้งเท่านั้น แต่ที่เลือกเริ่มจากจุดนี้ก็เพราะว่าผมเชื่อว่าประชาธิปัตย์มีทิศทางที่จะปรับ และมีอุดมการณ์ที่เหมือนกันกับสิ่งที่ผมยึดถือ

“ประชาธิปัตย์ยุคใหม่” ที่ไอติมคิดภาพเอาไว้ จะเดินไปในทิศทางไหน?

"ยุคใหม่คือต้องชัดเจนขึ้นในสามอย่าง หนึ่งคือในอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์ออกตัวว่าเป็นผู้สนับสนุน แต่หลังๆ เราจะเห็นว่ามีความขัดแย้งทางการเมือง มีการเชื่อมโยงตัวพรรคกับกปปส. ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าประชาธิปัตย์ยังเป็นประชาธิปไตยอยู่รึเปล่า 

อย่างที่สองคือยุคใหม่จะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการบริหารพรรคและตัดสินใจ คนชอบบอกว่าการตัดสินใจของพรรคล่าช้า ผมมองว่าเหตุผลนึงคือเพราะความ เป็นประชาธิปไตยในตัวสูง พรรคไม่ได้มีเจ้าของ พรรคไม่ได้มีนายทุนที่จะชี้สั่งอะไรก็ได้ คนมีความคิดหลากหลาย เวลาที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน ต้องมีการสำรวจความคิดเห็นของทุกคนซึ่งใช้เวลา แต่เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

นโยบายอย่างที่สามคือมองว่าโลกเปลี่ยนไปเยอะมาก จาก 4 ปีที่แล้ว เริ่มรู้สึกว่านโยบายที่มีอยู่ไม่สามารถต่อยอดจากอะไรเดิมๆ ยกตัวอย่างเช่น GDP เราคุ้นเคยว่ามันคือตัวชี้วัดระดับเศรษฐกิจ ก็จะเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้บอกว่า GDP โตขึ้นเยอะมาก แต่ถ้าไปถามคนในแต่ละพื้นที่จริงๆ จะได้คำตอบว่าคุณภาพของชีวิตเขาไม่ได้ดีขึ้น ก็เลยมานั่งคิดว่าจริงๆ แล้ว GDP สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจรึเปล่า ถ้าผมกลับบ้านแล้วรถติด 2 ชั่วโมงเนี่ย GDP ขึ้น เพราะน้ำมันเยอะขึ้น ถ้าผมต้องไปซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองจากมลพิษ GDP ขึ้น ถ้ามีเวลาเล่นกับลูกหรือสัตว์เลี้ยงที่บ้าน (ซึ่งผมไม่มีทั้งสองอย่างนะ) อันนี้ GDP ไม่ขึ้น ถ้าคนมาเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยงานการกุศล ไม่รับรายได้ GDP ก็ไม่ขึ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการใช้ GDP เป็นเป้าหมายของนโยบายเศรษฐกิจมันล้าหลังไปแล้ว มันไม่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้สะท้อนถึงสิ่งแวดล้อมหรือการเข้าถึงระบบสาธารณสุขต่างๆ ที่ตอนนี้มันควรจะมี ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆ อย่างหนึ่งที่ผมมองว่านโยบายของประชาธิปัตย์ยุคใหม่ต้องไม่ใช่แค่การต่อยอดอะไรเดิมๆ แต่มีการปรับบ้าง"

ไม่ใช่การล้างทั้งกระดานแต่เป็นการเลือกปรับ?

"คือไม่เปลี่ยนทั้งหมด แต่เราใช้หลักการ Re-invent หรือสร้างใหม่ สมัยก่อนตอนที่มีหลอดไฟแล้วเปลี่ยนเป็น LED ถามว่าเราจะต้องรื้อสิ่งที่โทมัส เอดิสันคิดเอาไว้ไหม มันก็ไม่ต้อง เราก็มองว่าถ้าจะให้มันประหยัดไฟฟ้า จะปรับตรงไหนได้บ้าง กับงานการเมืองก็เหมือนกันผมเห็นว่าพรรคมีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว เช่นความเป็นประชาธิปไตย การไม่มีเจ้าของพรรค อุดมการณ์ที่ยึดมั่นในหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตย สิ่งที่ดีก็เก็บไว้และปรับบางสิ่งเพื่อที่จะให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนไป"

ทำไมถึงไม่เลือกที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา?

"อันนี้ก็เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยเหมือนกัน ผมมองว่าถ้าไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ อาจจะเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าแต่อาจจะเป็นทางเลือกที่ไม่ได้ยั่งยืนที่สุด เพราะว่าการที่ผมเข้ามาทำงานในพรรคที่มีคนทำงานมาก่อนแล้ว มันได้ประโยชน์ 2 ด้าน ด้านแรกคือเราได้ฟังมุมมองจากคนรุ่นก่อนซึ่งอาจจะมีความคิดที่แตกต่างกันไปและเป็นเรื่องดี ยกตัวอย่างเช่นเรื่องโรงพยาบาลที่มีการปรับระบบ นำเอาดิจิตอลเข้ามา ลดทอนการใช้กระดาษ คนรุ่นใหม่ก็จะคิดว่ามันดีกว่า เร็วกว่าและมีประสิทธิภาพกว่า แต่ผมเคยไปพบคุณหมอท่านหนึ่งที่บอกว่าเขาจะลาออก เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเร็วเกินไป และเปลี่ยนกระบวนการการทำงานของเขามากเกินไป ก็เลยสะท้อนให้เห็นว่าถ้าเราไม่คำนึงถึงความต้องการของคนรุ่นก่อน ประเทศเรา เหมือนกับโรงพยาบาลนี้ ก็จะเสียความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของคนกลุ่มนี้ไป"

ถ้าได้มีโอกาสทำงานเพื่อประเทศจริงๆ สิ่งที่ไอติมอยากทำอย่างแรกเลยคืออะไร?

"เพิ่มความหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำ คืออุดมการณ์ที่ผมยึดมั่น เพิ่มความหลากหลายเนี่ย ผมเชื่อว่าคนเรามีอิสรภาพที่จะกำหนดว่าตัวเองจะใช้ชีวิตยังไง ตราบใดที่เราไม่ได้ไปสร้างความทุกข์ให้คนอื่น ถ้ามองให้เป็นรูปธรรมก็คือทำให้คนที่รักร่วมเพศสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย มันไม่ใช่แค่การให้เกียรติกับความรักของเขาแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ด้วย ได้รับผลประโยชน์ทางภาษี สิทธิคุ้มครองประกันสุขภาพ และสามารถกู้ร่วมได้ เป็นต้น 

การลดความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำมีหลายประเภท ที่เห็นได้ชัดก็คือความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพกับจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ควรจะถูกแก้ไขเป็นอย่างมาก มองว่ามันคงใช้เวลานาน แต่ขั้นตอนแรกที่ควรจะทำก็คือการกระจายอำนาจ ถึงขั้นที่ว่ามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของทุกจังหวัด เพราะถ้าได้คนในพื้นที่มาบริหารจังหวัดนั้นจริงๆ คงจะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นได้มากกว่าคนที่ถูกส่งไปประจำการจากส่วนกลาง"

คอนเซปต์ของการลดความเหลื่อมล้ำให้เท่ากับศูนย์ค่อนข้างเป็นอะไรที่อยู่ในอุดมคติ ในความเป็นจริง ไอติมว่าความเป็นไปได้อยู่ที่ตรงไหน?

"ผมเชื่อเรื่องความเสมอภาคในโอกาส คือถ้าคนสองคนเกิดมา โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตควรจะมีเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ภูมิลำเนาบ้านเกิดอยู่จังหวัดไหน ปกติหรือว่าพิการ มีเพียงแค่ปัจจัยที่ตัวเองควบคุมได้ อย่างเช่นความขยันหรือความขี้เกียจ เป็นตัวควบคุม"

พบกับตัวตนที่แท้จริงของนักการเมืองหนุ่ม 'ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ' ในรายการ ‘The OutLINE’ คุยนอกกรอบ ตอบนอกเส้น with สุทธิชัย หยุ่น ที่จะพาไปรู้ทุกประเด็นที่ไม่เคยรู้ของนักการเมืองเลือดใหม่คนนี้! ทุกเรื่องของเขาจะถูกเปิดเผยที่นี่ 7 ก.พ. นี้ 2 ทุ่มตรง บน LINE TODAY เท่านั้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0