ในยุคไวรัสระบาดแบบนี้ หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็หนีไม่พ้นธุรกิจร้านอาหารนะครับ เราจะเห็นว่าในช่วงที่มีคำสั่ง Lock down ให้ปิดเมือง ปิดร้านอาหารนั้น ร้านอาหารหลาย ๆ ที่ก็ต้องรับผลกระทบต้องปิดร้านเป็นเวลานาน พอกลับมาเปิดก็ยังไม่สามารถเปิดแบบเต็มรูปแบบได้ และบางร้านก็ไม่สามารถกลับมาเปิดได้อีกเลย สำหรับร้านที่กลับมาเปิดได้ก็ต้องพยายามหากลยุทธ์ทุกทางเพื่อดึงลูกค้าให้กลับมาให้ได้
ในญี่ปุ่น ร้านอาหารในญี่ปุ่นนั้นก็มีทั้งล้มหายตายจาก ต้องปิดร้านถาวรทั้ง ๆ ที่เปิดมาอย่างยาวนาน ในส่วนของเครือธุรกิจใหญ่อย่างเช่นร้านข้าวหน้าเนื้อชื่อดังก็ได้รับผลกระทบจนต้องลดสาขาลง รวมถึงเครือธุรกิจร้านอาหารสำหรับครอบครัว Family restaurants (ファミレス) ในญี่ปุ่นก็มีบางเจ้าที่ต้องปิดกิจการไป (คำว่าร้านอาหารสำหรับครอบครัวในญี่ปุ่นหมายถึงร้านอาหารราคาไม่สูงนักที่จะมีอาหารสำหรับทุก ๆ คนในครอบครัว โดยกลุ่มเป้าหมายหลักก็คือเด็ก ๆ ที่มากับพ่อแม่นั่นเอง )
เกส่วนร้านที่เหลืออยู่ก็ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในวิถีใหม่ ซึ่งหลาย ๆ ร้านก็เลือกที่จะออกโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ลดราคา เพิ่มปริมาณ หรือเพิ่มบริการส่งถึงบ้านเพิ่มมากขึ้น แต่ทว่ากลับมีร้านอาหารสำหรับครอบครัวบางร้านในญี่ปุ่นที่เลือกใช้กลยุทธ์แหวกแนวไม่เหมือนใคร นั่นก็คือ
“กลยุทธ์การ ขึ้นราคาสินค้าเพื่อผู้บริโภค” !!
หืออออ มันจะเป็นไปได้ยังไง ขึ้นราคาเพื่อลูกค้าเนี่ยนะ ถ้าลดราคายังพอเข้าใจ แต่เพิ่มราคาแล้วจะมาบอกว่าทำเพื่อผู้บริโภคนี่มันก็ดูแปลก ๆ รึเปล่า ?
ร้านอาหารที่มีไอเดียการขึ้นราคาอาหารเพื่อลูกค้า ก็คือร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่งในเครือร้านอาหารสำหรับครอบครัวเจ้าใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งอาหารในร้านนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารอิตาเลี่ยน เช่น พิซซ่า พาสต้า ที่ราคาไม่สูงนัก เพื่อให้สามารถมารับประทานกันได้ทั้งครอบครัว ใครที่มาเที่ยวญี่ปุ่นก็คงจะเคยเห็นหรือเคยเข้าไปใช้บริการร้านป้ายเขียว ๆ นี้อยู่บ่อย ๆ ซึ่งร้านนี้ก็จะขึ้นชื่อเรื่องอาหารราคาไม่แพง (สำหรับคนญี่ปุ่นอะนะ…) โดยราคาจะเริ่มต้นที่ราว ๆ 299 เยน (ประมาณ 90 บาท)
แต่ปัญหาที่เขาพบ จนนำมาสู่การขึ้นราคาเพื่อลูกค้านี้ ก็มาจากการที่ราคาอาหารในร้าน มักจะถูกตั้งไว้เป็นแบบราคาเชิงจิตวิทยา เช่น 299 เยน 399 เยน ไปจน 1,099 เยน ก็มี ก็เหมือนกับบ้านเราที่ขายราคา 99 บาท ซึ่งราคาแบบนี้จะมีผลทำให้คนที่ซื้อนั้นรู้สึกว่า เออ ราคามันถูกนะ มันไม่ถึง 100 บาท แล้วก็จะมีความรู้สึกอยากซื้อมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ มันก็ต่างกันแค่ 1 บาทเท่านั้น
ทางร้านก็เล็งเห็นว่าจริง ๆ แล้วการตั้งราคาเชิงจิตวิทยานั้น มันเป็นผลประโยชน์ต่อทางร้านมากกว่าลูกค้า เพราะลูกค้าที่มาติดกับดักราคาจิตวิทยานี้ก็จะรู้สึกว่าราคาไม่แพง ทั้งที่จริง ๆ แล้วเงิน 1 เยนในญี่ปุ่น นั้นมีมูลค่าน้อยจนแทบจะเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า จนร้านบางร้านวางเหรียญ 1 เยนเอาไว้ตรงที่คิดเงินเพื่อให้ลูกค้าหยิบไปใช้ในตอนจ่ายเงินเพื่อให้พอดีกับมูลค่าสินค้าได้ตามสบายด้วยซ้ำ
ทว่าเนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ไวรัสระบาด ดังนั้นการตั้งราคาจิตวิทยาแบบนี้ ก็ทำให้ต้องเกิดการทอนเงินมากขึ้น เป็นการเพิ่มการสัมผัสโดยไม่จำเป็น นั่นจึงเป็นที่มาของการประกาศขึ้นราคาอาหารมากกว่า 140 เมนูของร้านอีก 1 เยน เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภคนั่นเอง
โดยหลังจากนี้ทุกเมนูของร้านก็จะลงท้ายด้วย 00 หรือ 50 เพื่อให้ลดเหรียญในการทอนเงิน รวมถึงยอมลดราคาในบางเมนูที่ราคาครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพื่อให้ราคากลายเป็นเลขกลม ๆ จากเดิมที่ถ้าจ่ายเงินก็อาจจะต้องทอนเหรียญ 1 เยนมา แต่ปัจจุบันก็ไม่ต้องทอนเงินอีกแล้วเพราะการขึ้นราคาของร้าน นอกจากนั้นร้านก็พยายามเพิ่มโปรโมชั่นให้กับคนที่จ่ายเงินแบบไม่ใช้เงินสดให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ซึ่งก็ดูเหมือนว่านโยบายการขึ้นราคาของร้านก็จะได้รับการต้อนรับที่ดีจากลูกค้า แม้จะมีลูกค้าที่แอบบ่นว่าก็รู้สึกเหมือนราคาแพงขึ้นในทุกเมนู แต่ก็ทำให้สะดวกขึ้นในตอนจ่ายเงิน และเพราะว่าร้านแบบนี้เป็นร้านที่เขามักจะพาลูก ๆ ไปเป็นประจำและมีเด็ก ๆ อยู่ในร้านค่อนข้างเยอะ ดังนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ที่จะขึ้นราคาสินค้าเพื่อแลกกับการลดการสัมผัส
กลยุทธ์การขึ้นราคาเพื่อลูกค้าก็เป็นเรื่องที่คิดไม่ถึงเหมือนกันว่าจะมี แต่มันก็เป็นจริงขึ้นมาในยุคไวรัสระบาดแบบนี้ เพราะร้านที่จะอยู่รอดได้ก็คือร้านที่รู้จักปรับตัวเท่านั้น !
อ้างอิงข่าวจาก toyokeizai ,livedoornew
ติดตามบทความใหม่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้และเรื่องแปลก ๆ ของประเทศญี่ปุ่นทาง LINE TODAY: TOP PICK TODAY จากผมได้ทุกวันเสาร์นะครับ
ช่องทางการติดตามเพิ่มเติม
Facebook :Eak SummerSnow
Youtube : Eak SummerSnow
ความเห็น 3
นั่นคงอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ได้รู้ถึงในเรื่องของความห่วงใยในเรื่องสุขภาพที่ผู้ประกอบการนั้นได้มีให้ต่อลูกค้าอย่างนั้นหรือปล่าว.
23 ส.ค. 2563 เวลา 05.53 น.
636Por_Indy956😎
หลายๆร้านปรับมาเน้นเดลิเวอรี่ พวกหมูกระทะ ปิ้งย่าง ที่จำเป็นต้องกินในร้าน เจอเคอฟิวโควิท19 เข้าไป เจ๊งไปหลายร้านแล้ว เหลือแต่พวกยักษ์ใหญ่ที่มีหลายสาขา
22 ส.ค. 2563 เวลา 10.42 น.
พัฒน์ เอี่ยมเอม
อาหารไทยมีไม่กินกินญี่ปุ่นคนไทยต้องกินอาหารไทยครับ
22 ส.ค. 2563 เวลา 11.20 น.
ดูทั้งหมด