โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยกับ 'นิดนก' คุณแม่อารมณ์ดีที่สมัครใจ 'อยู่บ้าน' เพื่อเติบโตไปพร้อมๆ กับลูก

INTERVIEW TODAY

เผยแพร่ 11 ส.ค. 2564 เวลา 17.00 น. • AJ.

ไฮไลต์

  • ‘นิดนก’ หรือ ‘พนิตชนก ดำเนินธรรม’ เป็นคุณแม่ที่ลาออกจากงานประจำมาดูแลลูกสาว ‘น้องณนญ’ (ปัจจุบันอายุ 4 ขวบ) แบบเต็มเวลา โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากเฝ้ามองการเติบโตของลูก
  • นิดนกยังเป็นพอดแคสต์ครีเอเตอร์และนักเขียน รวมถึงเป็นเจ้าของเพจหนังสือนิทาน โดยหน้าที่ทั้งหมดนี้ เธอจัดการไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงลูกแบบฟูลไทม์ ที่ต้องปรับตัวกันทั้งคุณแม่ คุณพ่อและคุณลูก ให้การอยู่บ้านด้วยกันในยุคโควิด-19 เป็นไปอย่างสงบสุข
  • เธอเชื่อว่าเรื่อง‘แม่และเด็ก’ คือเรื่องของทุกคน เพราะหากเข้าใจการเติบโตของเด็ก ก็จะเข้าใจการเติบโตของตัวเอง และการเลี้ยงลูกไม่จำเป็นต้องทำตามค่านิยมเสมอไป

หากคุณเป็นนักอ่าน อาจเคยเห็นผลงาน ‘นิดนก’ ผ่านหนังสือ ‘Power Bride เจ้าสาวที่กลัวสวย' หรือ ‘Two Be Continued โปรดติดตามตอนแต่งไป' เรื่องราวของเจ้าสาวสายลุย และการปรับตัวในฐานะคู่รัก ‘วัยรุ่น’ ที่ไม่ได้มีแต่ความหวานชื่น แต่เจือปนด้วย ‘ความจริง’ ที่อ่านแล้วมันช่างตรงใจคนเจนฯ ใหม่ (อย่างเรา) เป็นที่สุด

แต่ถ้าไม่คุ้นชื่อนักเขียนคนนี้ เราอยากแนะนำให้รู้จักนิดนกในฐานะ ‘คุณแม่’ ที่แม้เธอจะนิยามตัวเองเป็น ‘มือสมัครเลี้ยง’ แต่เรากลับพบว่าทัศนคติและวิธีเลี้ยงลูกของเธอนั้นเต็มไปด้วยพลังบวกแบบไม่เหมือนใคร การพูดคุยกับนิดนกจึงเหมือนได้ครุ่นคิดถึง ‘ความเป็นแม่’ จากมุมคนไม่เคยอุ้มท้องไปด้วย ว่าแท้จริงบทบาทแม่นั้นไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบอย่างที่ใครต่อใครกดดัน แต่คือการเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้นเท่านั้นเอง

และถ้าคุณเชื่อว่า ‘แม่’ ทุกคน แสนดีที่สุดในโลกของลูกเสมอ มาทำความรู้จัก ‘นิดนก’ คุณแม่แสนเท่คนนี้ไปด้วยกันกับเราเลย!

‘คุณแม่นิดนก’ กับภารกิจเลี้ยงลูกเต็มเวลา

สำหรับผู้ใหญ่ที่มีงานประจำ เราอยากรู้ว่าอะไรทำให้นิดนกตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาทำงานที่บ้าน จนถึง ‘ลาออก’ เพื่อมาเลี้ยงลูกแบบเต็มเวลา?

“ตอนที่เราคลอดลูก กฎหมายไทยมันลาคลอดได้ 3 เดือน ซึ่งสำหรับเรามันน้อยมาก เด็กบางคนคอยังไม่ทันแข็งเลย เราก็เลยขอเขาลาต่อเป็น 6 เดือน แต่ปรากฏว่าพอเลี้ยงไปถึง 6 เดือนแล้วมันยังไม่โตอะ เรารู้สึกว่าเขายังเล็กอยู่ ก็เลยปรึกษากับแฟน สรุปกันว่ามันน่าจะคุ้มกว่าถ้าเราเลือกอยู่บ้านกับลูกอย่างจริงจัง

ซึ่งเหตุผลจริงๆ คือเราอยากเห็นการเติบโตของลูก ก่อนหน้านี้ที่เรามีลูกเพราะเราอยากเห็นการเติบโตของคนน่ะ ดังนั้นถ้าเรามีลูกแล้วเราไม่เลี้ยง มันก็เหมือนไม่ตอบเป้าหมายของเราแต่แรก ที่เราอยากจะเห็นพัฒนาการของเขา การเติบโตของเขา แล้วถ้าจะให้ไปฝากคนอื่นเลี้ยงมันก็ไม่น่าจะตอบเหตุผลของการอยากมีลูกของเรา ซึ่งโชคดีที่บริษัทสมัยใหม่มันมีความเข้าใจมนุษย์มากขึ้น มีความยืดหยุ่นประมาณหนึ่ง อย่างวันไหนไม่มีเรื่องยุ่งเขาก็ให้เราทำงานจากที่บ้านได้

ทีนี้หลังจาก 6 เดือน เราก็เปลี่ยนรูปแบบมาทำงานที่บ้านเลย ช่วงแรกๆ เราเข้าออฟฟิศอาทิตย์ละวัน มาตัดสินใจลาออกตอนลูก 2 ขวบ แล้วก็เป็นฟรีแลนซ์มาตลอดจนถึงปัจจุบันค่ะ"

ความยากของหน้าที่ ‘คุณแม่ฟูลไทม์’ ที่ลูกก็ต้องปรับตัว

“จริงๆ สมัยก่อนตอนที่ยังไม่มีโควิด การเลี้ยงลูกที่บ้านมันไม่ได้ยากขนาดนี้ ตอนที่เขายังไปโรงเรียนได้ เราก็ยังพอมีเวลาของเรา ได้พักทำงาน อัดรายการตอนกลางวันอะไรก็ว่าไป แต่ช่วงนี้มันยากขึ้นจริงๆ เพราะลูกก็ต้องการเราในเวลากลางวันด้วย

อีกอย่างเรารู้สึกว่าเขาเองก็อาจจะเครียดเหมือนกัน คือพอเขาไม่ได้ออกไปไหนเขาก็จะเรียกร้องจากพ่อแม่เป็นพิเศษ จนบางทีเราต้องทำข้อตกลงกัน ว่าเวลานี้พ่อแม่ทำงานนะ ดังนั้นหนูไปเล่นให้เต็มที่เลย ถ้ามีอะไรค่อยเอามาให้ดู แต่ต้องสื่อสารกับเขาว่าบางทีแม่ไม่สามารถตอบสนองหนูได้ทันที

ซึ่งเราคิดว่าเขาก็พยายามจะเข้าใจสถานการณ์นะ คิดดูว่าเด็กในวัย 4 ขวบสามารถนั่งอยู่ข้างๆ เราโดยไม่ส่งเสียงได้ เพื่อให้แม่สามารถประชุมหรืออัดพอดแคสต์ได้จบ เอาจริงๆ มันไม่ใช่ธรรมชาติของเด็กหรอกที่ต้องมานั่งเงียบๆ อะ แต่ว่าเขาอยากมาอยู่กับเรา ดังนั้นเขาต้องฝึกตนให้ทำให้ได้

แล้วเขาได้ไปโรงเรียนปีเดียวเอง คือตอนเตรียมอนุบาล ตั้งแต่ขึ้นชั้นอนุบาลหนึ่งณนญยังไม่ได้ไปโรงเรียนเลย ไม่เคยสัมผัสห้องเรียนตอนอนุบาลหนึ่งด้วยซ้ำ"

The Rookie Mom : คุณแม่มือสมัครเลี้ยง

ว่ากันด้วยที่มาของพอดแคสต์ ‘The Rookie Mom : คุณแม่มือสมัครเลี้ยง’ นิดนกได้ใช้ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกอย่างเต็มที่ในการถ่ายทอดเลยไหม?

“ที่เราทำรายการ ‘The Rookie Mom : คุณแม่มือสมัครเลี้ยง’ เพราะเราอยากแชร์เรื่องความคิดเห็นของการเป็นแม่ คือไม่ใช่ว่าตั้งตนเป็นกูรูอะไรขนาดนั้น วิธีของเราส่วนมากคือจะไปหามาว่ามันมีข้อมูลอะไรน่าเอามาคุยบ้าง ไม่ใช่ว่าให้ทุกคนทำตามฉันนะ! เป็นเหมือนแชร์ๆ กันมากกว่าค่ะ

ความตั้งใจคืออยากให้คนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะนี้ได้เข้าใจน่ะ เราคิดคล้ายๆ หนังสือ'Power Bride' ของเราเหมือนกัน ยกตัวอย่าง อย่างการเป็นเจ้าสาวหรือการแต่งงาน เราอยากให้คนรู้ว่าการเป็นเจ้าสาวมันไม่จำเป็นว่าฉันต้องสวยที่สุด การไปฮันนีมูนมันไม่จำเป็นต้องแพงที่สุด เราอยากทำให้คนรู้สึกว่าเราเป็นคนธรรมดาในสถานะเหล่านี้ก็ได้ เป็นเจ้าสาวธรรมดา เป็นคู่แต่งงานธรรมดา เป็นแม่ธรรมดา ก็ได้ เราไม่ใช่พระโพธิสัตว์ที่ต้องให้อภัยลูกทุกอย่างอะ (หัวเราะ) เราไม่จำเป็นต้องมองว่ามันต้องสมบูรณ์แบบไปหมดก็ได้นะ

แล้วสิ่งหนึ่งที่เราชอบที่สุดของการทำพอดแคสต์คือฟีดแบ็กจากคนที่ไม่มีลูก มันเหมือนตอบเป้าหมายในการทำงานของเรา เพราะแรกเริ่มเราอยากให้ใครก็ได้มาฟังรายการนี้แล้วเข้าใจคนเป็นแม่ เพราะเราคิดว่าเรื่องของแม่และเด็กเป็นเรื่องของทุกคนนะ ถ้าเราเข้าใจการเติบโตของเด็ก เราจะเข้าใจการเติบโตของตัวเองด้วย

อย่างครั้งหนึ่งเคยมีคำถามจากชาวออฟฟิศ ว่าเนี่ย เพื่อนร่วมงานของเขาท้องอยู่ เขาอยากปรึกษาว่าเขาจะช่วยอะไรเพื่อนคนนี้ได้บ้าง ซึ่งเรารู้สึกว่า เออเนี่ยแหละ! คือสังคมที่เราพยายามสร้างอยู่ มันคือโลกที่ทุกคนควรจะช่วยดูแลกันและกัน หรือบางทีก็มีคุณพ่อมาฟังเหมือนกัน เพราะเขาอยากรู้ว่าเมียเขาคิดยังไง ซึ่งบางทีเราก็ได้แต่บอกว่า อืม เมียคุณพ่ออาจจะไม่ได้คิดหยาบคายเท่าเราก็ได้ (หัวเราะ) ”

แม่และเด็ก เรื่อง (ไม่) เล็กที่อาจมีดรามา

คอนเทนต์ ‘แม่และเด็ก’ ในอินเทอร์เน็ตเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างอ่อนไหว ในฐานะที่นิดนกทำคอนเทนต์ประเภทนี้ เคยเจออุปสรรคหรือความลำบากใจบ้างไหม?

“เราเคยเจอเรื่องที่รู้สึกว่าซัฟเฟอร์มาก คือสมัยก่อนคนไม่รู้ว่าการติดเข็มกลัดบนชุดคือการประกาศตนว่าฉันเป็นคนท้องอะ คนในสังคมเราไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าการแยกคนท้องออกจากคนอวบบนรถไฟฟ้าคือการดูเข็มกลัด ซึ่งเราเคยเขียนเรื่องนี้ไปในโซเชียล แล้วมันมีกระแสตอบกลับเยอะมาก แต่ที่รู้สึกไม่โอเคที่สุดคือมีคอมเมนต์ประมาณว่า'why don't f* someone with a car?' ซึ่งที่จริงดรามาพวกนี้เรารู้สึกว่ามันเสียเวลาที่จะคุย เพราะสำหรับเรา คนเรามันมีเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกัน จริงไหม?

ดังนั้นเราเลยคิดว่าเรามีหน้าที่ส่งเสียงของเราให้ทุกคนได้รับรู้ก็พอ ซึ่งหลังจากนั้นก็เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงนะ บนรถไฟฟ้าเขาก็มีการแจกเข็มกลัดให้ผู้หญิงท้อง กลายเป็นว่าทุกคนก็ได้รับการ educate ว่าคนติดเข็มกลัดแปลว่าคนท้องนะแก มันเลยทำให้เราเข้าใจว่าไอ้พวกดรามาก๊อกแก๊กๆ พวกนั้นเราอย่าไปให้ค่ามากแล้วกัน

หรืออย่างตอนที่มีลูกแล้ว เราก็ไม่ได้โพสต์อะไรเกี่ยวกับลูกเยอะ จะคิดเยอะประมาณหนึ่งถ้าเป็นเรื่องของลูก แต่ที่จริงจะอดใจไม่โพสต์ก็ไม่ได้หรอก เพราะลูกเรามันน่ารักอะเนอะ (หัวเราะ) คือเราแอบเป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวของเขาด้วย อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องไม่ดี หรือการที่ลูกโป๊ เราก็จะพยายามปกป้องเขา

แต่เราเข้าใจพ่อแม่ที่ชอบโพสต์เรื่องลูกนะ ก็มันน่ารักน่าอวดอะ แต่สมมติเราทำเพจ หรือทำรายการ เราจะพยายามเล่าให้มันเป็นเรื่องของฝั่งคนเป็นแม่มากกว่า สังเกตไหมว่าส่วนใหญ่เวลาคนดูคอนเทนต์แม่และเด็ก คนจะอยากดูเด็กอยู่แล้ว แต่ส่วนตัวเราไม่อยากให้ลูกเราเป็นตัวเอกขนาดนั้น ไม่งั้นความกดดันมันจะไปอยู่ที่เขา เรากลัวว่าสักวันคนจะมาบอกให้เขายิ้ม ให้เขาเต้น หรือคอยมาถามว่าทำไมวันนี้น้องไม่น่ารักคะ อะไรแบบนี้

ซึ่งเราไม่อยากให้ความคาดหวังของคนดูไปตกอยู่ที่ลูกแบบนั้น เราไม่รู้หรอกว่าคนจะดูหรือไม่ดู แต่เราอยากให้คนดำเนินเรื่องมันเป็นเราเสมอ อย่าเอาลูกเราไปทำมีม (Meme) เลย เราไม่สบายใจอะ (หัวเราะ) หรืออย่างเวลาเห็นคนเอารูปลูกเราไปขึ้นเป็นภาพหน้าจอโทรศัพท์เราก็ไม่ค่อยชอบนะ เซฟอะไรได้ก็เซฟดีกว่า”

‘เป็นตัวเองที่ดีขึ้นกว่าเดิม’ คือบทเรียนจากการเป็นแม่

นอกจากความยากของการเลี้ยงลูกที่บ้านไปพร้อมๆ กับการทำงาน ‘บทบาทแม่’ สอนอะไรนิดนกบ้าง?

“การเป็นแม่มันให้บทเรียนกับตัวเราเองมากๆ เราเคยรู้สึกว่าความเหนื่อยยากทั้งหลายแหล่มันหนักไปไหม แถมเราต้องรับภาระเรื่องการเรียนที่บ้านของลูกอีก ซึ่งเราเคยคิดเหมือนกันว่า โห คนเรามันต้องรับผิดชอบมากมายขนาดนี้เลยเหรอวะ

แต่ถ้าหยุดคิด เราจะรู้ว่ามันใช่เลย มันคือความรับผิดชอบของเรานั่นแหละ เพราะเราเลือกแล้วว่าเราจะเป็นพ่อแม่คน ดังนั้นถ้ามันจะยาก ถ้ามันต้องเจอความหนักหนาสาหัสที่ทับถม มันก็ต้องเจอ ต่อไปนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องเราคนเดียวแล้ว มันมีเรื่องลูกเข้ามาด้วย จะให้ไม่เลี้ยงก็ไม่ได้ เพราะมันไม่มีใครที่เลี้ยงดูเขาได้ถ้าไม่ใช่เรา ดังนั้นการเป็นพ่อแม่มันจะหนักขึ้นแน่นอน แล้วมันทำให้เรารู้ว่าเราต้องแข็งแรงขึ้นนะ ต้องหัดแยกแยะปัญหาของตัวเอง ต้องจัดการตัวเองให้เป็น

ส่วนนิสัยที่เปลี่ยนไปมากๆ คือเราพยายามไม่ดูทีวีเลย จากสมัยก่อนที่ชอบดูหนังมากๆ ตั้งแต่มีลูกคือไม่ดูเลยในเวลาที่เขาอยู่กับเรา แล้วก็มีเรื่องคำพูดคำจานี่แหละ ที่ต้องระวัง (หัวเราะ) บางทีถ้าได้คุยกับเพื่อนเวลาเขาไม่อยู่ใกล้ๆ นี่เพื่อนถึงกับถามว่าทำไมพูดจารุนแรงจัง (หัวเราะ) ก็มีเป็นหมื่นล้านคำในใจอะเนอะ

เราว่าการมีลูกมันทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น ซึ่งมันก็แล้วแต่นิยามของแต่ละคนนะ แต่เรื่องพวกนี้คือดีขึ้นสำหรับเราแล้ว”

ลูกเติบโต ใจแม่ก็พองโต

พูดถึงเรื่องพัฒนาการลูก ก้าวไหนของลูกที่นิดนกภูมิใจเป็นพิเศษ หรือมีวิธีเลี้ยงลูกแบบไหนที่อยากแชร์ไหม?

“สิ่งหนึ่งที่เราภูมิใจมากคือณนญเป็นคนช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งเราไม่รู้หรอกจนกว่าเราจะได้เห็นกับตา เวลาเราพาเขาไปเล่นข้างนอก สิ่งที่เราสังเกตคือเขาสามารถกินของว่างเองได้ สามารถเข้าห้องน้ำ เดินไปล้างมือได้ มีบางทีคุณครูก็จะเดินมาบอกว่า น้องใช้ได้เลยนะคะ ซึ่งเราจะรู้สึกว่า อ๋อ ที่เลี้ยงเขามามันก็สำเร็จประมาณหนึ่งนะเนี่ย (หัวเราะ)

คือเราพยายามทดสอบกับความเชื่อเดิมๆ ที่เด็กไทยโตมากับมันด้วย อย่างที่เรารู้กันว่า โอ้โห เด็กไทยต้องหัดคัดมือตั้งแต่เด็กเลยนะ ซึ่งเราเชื่อในแนวทางที่มันไม่ต้องทำขนาดนั้น บ้านเรายังไม่มีโปสเตอร์ A-Z เลย (หัวเราะ) ไม่เคยสอนเอาหรือมานั่งให้ท่องศัพท์เลย แต่ว่าสุดท้ายแล้วณนญทำได้เองจริงๆ อย่างตอนนี้ณนญ 4 ขวบ เขาสามารถเขียนชื่อตัวเขาเองได้ แต่เขาก็จะรู้แค่นี้แหละ (หัวเราะ) รู้ชื่อตัวเอง จักรวาลแห่งเอบีซีเขารู้แค่นี้

มันทำให้เราได้รู้ว่ามนุษย์เรามันเรียนรู้ได้เว้ย มันไม่ต้องไปเร่งไปสอนเขา แล้วมันเป็นกับทุกเรื่องด้วยนะ อย่างเวลาณนญเล่นเปียโน ซึ่งเอาจริงก็มีบ้างแหละที่เราแบบ ‘ทำแบบนี้สิลูก ทำแบบนี้ๆๆ’ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราปล่อยให้เขาเล่นแล้วเราลองเฝ้ามองดู เขาก็ทำได้นี่ ดังนั้นเราเลยรู้สึกว่ากับเด็กวัยนี้ มันอาจจะไม่จำเป็นต้องให้เขาไปเรียนอะไรมาก เราเห็นเด็กบางคนหัดท่องสูตรคูณแล้วน่ะ แต่ลูกเรายังนับเลขข้ามอยู่เลย (หัวเราะ)

อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจมากคือเขาเป็นคนที่รู้จักเป็นห่วงเป็นใยคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ อย่างบางทีเวลาเขาอ่านหนังสือ เขาจะรู้สึกอยากช่วยเหลือตัวละครในเล่มด้วย

เล่าก่อนว่าการอ่านหนังสือช่วยได้มาก เพราะเขาได้เห็นเรื่องราวของคนเยอะ แต่ละเล่มเรื่องราวมันก็ไม่เหมือนกัน อย่างคนนี้ในเล่มนี้เป็นมีชีวิตแบบนี้ แต่คนนี้ในอีกเรื่องก็เป็นอีกแบบ ซึ่งมันทำให้เขาสามารถนึกถึงความรู้สึกของคนอื่นได้ แล้วเราก็พบว่าเขาเป็นคนที่เป็นห่วงเป็นใยต่อเพื่อนมนุษย์ดีนะ ซึ่งสำหรับเรา การมีจิตใจที่ดีมันมีค่ามากกว่าการที่เขาเป็นคนเก่งกาจหรือเรียนเก่งมากๆ เลย

แต่เขาใจร้อนเหมือนกันนะ หน้าพ่อนิสัยแม่อะ มีความกวนประสาท มีความ Free-Spirited สูงมาก (หัวเราะ) เวลาเขาเล่นอะไรก็ตาม เราจะปล่อยให้เขาเป็นเจ้าของการเล่น เป็นเจ้าของความคิดของเขาไป อะไรที่ทำเองได้ก็จะปล่อย เรามีหน้าที่กางเต็นท์ สร้างฉากละครอะไรให้เขาเท่านั้น

แล้วจากการที่เราได้ฟังเวลาโรงเรียนเขาสอนมา เด็กๆ เขามักจะจัดการตัวเองได้ถ้าเรามีพื้นที่ให้เขาเล่นเพียงพอ อย่างณนญเขาจะมีโต๊ะทำงานของตัวเอง มีปากกาดินสอ มีมุมหนังสือ มีของเล่น เขาจะรู้จักการเอนเตอร์เทนตัวเอง ไม่ต้องฆ่าเวลาด้วยมือถือเสมอไป”

คุณพ่อคุณแม่ยุคโควิด ชีวิตที่ต้องเยียวยาหัวใจ

การเลี้ยงดูลูกที่บ้านพร้อมๆ กับ Work from Home คือด่านยากสำหรับพ่อแม่ยุคนี้เหมือนกัน นิดนกมีคำแนะนำสำหรับครอบครัวที่กำลังเผชิญความยากลำบากอยู่ไหม?

“การเป็นคุณพ่อคุณแม่ยุคโควิดมันเหนื่อยจริงๆ แต่อยากให้รู้ว่าเราไม่ได้เหนื่อยอยู่คนเดียว อย่างโรงเรียนลูกเราก็มีวันที่ให้ผู้ปกครองมาคุยปรับทุกข์กันนะ ทำให้เราได้รู้ว่า โห บ้านที่เขามีลูกสองคนคือยากกว่าเรามาก หรือบางคนไม่มีเวลาเลย พ่อแม่ต้องประชุมทั้งวัน แต่ละบ้านมันมีรูปแบบปัญหาที่แตกต่างกันน่ะ เอาจริงมันไม่มีใครแย่กว่าใครหรอก ดังนั้นเราไม่ได้ลำบากอยู่คนเดียว พ่อแม่ทุกคนเจอด่านหินหมด

สิ่งที่เราทำได้คือต้องหาคนที่เราคุยด้วยได้ ถ้าคู่ของเราคุยด้วยไม่ได้ ก็หาเพื่อนที่ระบายได้ อย่างเมื่อสัปดาห์ก่อนเรารู้สึกว่าเราเครียดมาก เราเลยโทรไปคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง แล้วมันหายเลย คือเพื่อนยังไม่ทันแนะนำเลย แค่เราได้ระบายก็พอ เราว่าสุดท้ายแล้วพ่อแม่ก็ต้องมีคนที่ดูแลหัวใจด้วยเหมือนกัน เพราะอย่าลืมว่าเราก็ทำหน้าที่ดูแลหัวใจลูกอยู่ด้วย ไม่งั้นตายพอดี”

เอกชัย (คุณพ่อ) / นิดนก / ณนญ
เอกชัย (คุณพ่อ) / ณนญ / นิดนก

‘เด็กสมัยนี้’ ที่น่าเห็นใจกว่าเด็กยุคไหนๆ

เชื่อว่าไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่ลำบาก เพราะเราเห็นกันอยู่แล้วว่าเด็กๆ ที่เติบโตในยุคโควิด-19 ก็น่าเห็นใจไม่แพ้กัน นิดนกคิดว่าครอบครัวต้องเกื้อกูลกันอย่างไรให้เด็กๆ ไม่รู้สึก ‘พลาด’ สิ่งต่างๆ ในชีวิต?

“ถึงไม่มีโควิด มันก็มีงานวิจัยที่ออกมาบอกว่าเด็กทั่วโลกมีแนวโน้มเป็น ‘โรคขาดธรรมชาติ’ กันอยู่แล้ว เพราะว่าปัจจุบันปัจจัยภายนอกมันย่ำแย่ เดี๋ยวก็มีฝุ่น ไม่ก็สภาพผังเมืองมันไม่ได้เอื้ออำนวย มันทำให้เด็กยุคใหม่มีภาวะนี้ แล้วพอมาบวกกับโควิดก็ยิ่งน่ากังวล ซึ่งมันจะส่งผลต่อภูมิคุ้มกันของเขาไง เพราะเขาจะไม่ค่อยเจออากาศบริสุทธิ์ แล้วการอยู่ในธรรมชาติมันคือการวิ่งปีนป่ายน่ะ แต่อยู่ในบ้านมันทำไม่ได้ มันก็กลายเป็นความเครียดของเด็กด้วยค่ะ เราเลยคิดว่ามันค่อนข้างน่าเป็นห่วง

อ่านบทความ : โรคขาดธรรมชาติ (Nuture Deficit Disorder) มีด้วยเหรอ?

เรารู้สึกนะ ว่าถ้ายังไม่มีครอบครัว อยู่คนเดียวหรืออยู่กับแฟนสบายกว่า (หัวเราะ) แต่ถ้ามีลูกแล้ว ขอให้พ่อแม่มีหลักการ มีความคิด เป็นคนที่มีตรรกะ ยังไงพ่อแม่ก็น่าจะเป็นหลักให้ลูกได้เสมอไม่ว่าลูกจะไปอยู่ในระบบการศึกษาหรือบ้านเมืองแบบไหน ถ้าพ่อแม่ยืนอยู่บนความมีเหตุผลและตรรกะ หรือหลักการที่ถูกต้องนะ ยังไงเขาจะปลอดภัยเสมอ ส่วนตัวเราถ้าลูกต้องเข้าไปในระบบการศึกษาแล้วเขาไม่ไหวหรืออะไรก็ตาม เราว่าเราก็พร้อมสู้เพื่อเขานะ

เราอยากให้เขาเป็นคนดูแลตัวเองได้ เชื่อมั่นในตัวเอง ยิ่งความเป็นผู้หญิงเนอะ อาจจะมีความกังวลว่าเดี๋ยวฉันเป็นแบบนั้นแบบนี้แล้วจะไม่สวยไหม ไม่ดีไหม คือวัยรุ่นมันต้องกังวลแหละ แต่เราอยากให้ตัวตนของเขาแข็งแรง แล้วเราเชื่อว่าเขาจะมีชีวิตรอดไปได้เอง”

ประสบการณ์ที่ขาดหายไปของเด็กวัยกำลังโต

“เราเติมเต็มให้ลูกได้ไม่หมดหรอก สถานการณ์ตอนนี้ไปสวนสาธารณะยังไม่ได้เลย ซึ่งสำหรับเด็ก 3-4 ขวบ สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องอยู่กับเขา อย่างบ้านเราก็พยายามไปซื้อต้นไม้มาวางๆ เหมือนกัน ให้มันพอมีพื้นที่สีเขียวบ้าง

สิ่งที่เราเสียใจคือพวกพื้นที่เล่นของเด็ก หรือกิจการที่เขาทำให้เด็กโดยเฉพาะ อย่างพวก Play Group หรือ Playground มันปิดกันไปแล้วด้วยอะ แล้วเราไม่รู้ว่าวันหนึ่งที่เด็กๆ กลับไปสู่โลกภายนอกได้แล้วมันจะกลับมาเปิดอีกไหม อย่างณนญเรียนคลาสดนตรี ซึ่งส่วนตัวเราชอบคลาสนี้ เพราะมันทำให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องของดนตรี เรื่องของจังหวะ ตั้งแต่เขายังอยู่ในท้องเลย แต่กลายเป็นว่าโอกาสของเด็กที่จะได้เข้าคลาสนี้ก็หมดไปแล้ว เพราะเขาโตเกินไปแล้ว มันเยอะแยะมากนะ สิ่งที่เด็กๆ ต้องพลาดไปในชีวิต

เราว่าถ้าไม่นับเรื่องเศรษฐกิจ คนที่น่าสงสารมากๆ คือเด็กนี่แหละ เพราะว่าเขาโตขึ้นทุกวัน มันไม่เหมือนเราที่เป็นผู้ใหญ่ อย่างปีที่แล้วเราอายุ 34 ปีหน้า 35 ประสบการณ์มันไม่ต่างกันสักเท่าไหร่หรอก แต่ถ้าเทียบกับเด็กที่ปีที่แล้วอายุ 3 ขวบ ปีนี้กำลังจะ 4 ขวบ เขาพลาดอะไรไปเยอะเลยนะ”

ติดตามผลงานของ ‘นิดนก’

The Rookie Mom : คุณแม่มือสมัครเลี้ยง(พอดแคสต์) - "รายการนี้ใครก็ฟังได้นะ เพราะเรื่องของแม่และเด็กเป็นเรื่องของทุกคน ฟังแล้วจะรู้ว่าฟังแล้วมันคือเรื่องของเราเนี่ยแหละ ถ้าเราเข้าใจการเติบโตของเด็ก เราจะเข้าใจการเติบโตของตัวเองด้วย"

M.O.M : Mood of the Motherhood - "เราเป็นหนึ่งในทีมครีเอทีฟและเขียน มีให้อ่านใน LINE TODAY ด้วย"

BooksBunny ร้านหนังสือตราเด็กส่งกระต่าย - "เพจขายหนังสือนิทานของเราเอง อาจจะตอบช้าบ้างเพราะทำเองคนเดียว จุดประสงค์ของการทำเพจนี้คือเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมการอ่านให้เด็กด้วย"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0