ร่องรอย “เหล้าอาวาโมริ” เหล้าญี่ปุ่นผลิตจากข้าวไทย ฤๅเป็นมรดกจากราชสำนัก “อยุธยา” ?
โอกินาวา หรือชื่อเดิมเรียกว่า “ริวกิว” เป็นดินแดนที่มีปฏิสัมพันธ์ทำการค้าขายกับอาณาจักร “อยุธยา” มาเนิ่นนาน มีการขุดค้นพบชิ้นส่วนไหจากอยุธยา เป็นจํานวนมาก สันนิษฐานกันว่าไหเหล่านี้ถูกใช้ในพิธีทางศาสนาของริวกิว อาจจะเอาไว้ใส่เหล้าซึ่งใช้ในพิธีบวงสรวงเทพเจ้า
ในเอกสารของริวกิวมีการอ้างอิงถึงเหล้าจากอยุธยา ไหเหล่านี้เดิมจึงน่าจะเป็นภาชนะใส่เหล้าซึ่งเรือริวกิวนําเข้ามา จากเอกสารของริวกิวชื่อ “เรคิไดโฮอัน” อยุธยาส่งพระราชสาส์นพร้อมของขวัญมาให้ริวกิวหลายครั้ง เพื่อตอบแทนการที่ริวกิวช่วยเหลือลูกเรืออยุธยาที่เรืออับปาง ระหว่างการเดินทางไปริวกิวในช่วงปลายศตวรรษที่ 15
ในรายการของขวัญที่ส่งให้นอกจากจะมีผ้าจากอินเดีย ไม้ฝาง และงาช้างแล้ว สิ่งที่เด่นชัดคือเหล้า ซึ่งมีจํานวนกว่า 70 ไห เช่น “เหล้าขาว” “เหล้าแดง” “เหล้าแดงกลิ่นดอกไม้” และ “เหล้ากลิ่นดอกไม้ข้างในมีมะพร้าวอยู่”
เหล้าเหล่านี้ในเอกสารไม่ได้บอกว่าเป็นเหล้าชนิดใดและมาจากไหน อาจจะเกิดคําถามว่าเหล้าเหล่านี้เป็นของสยามหรือไม่ หรือว่าสยามนําเข้ามาจากที่อื่นอีกที แต่ในเอกสารของจีน “หยิงหยาเชิงหลั่น” (เขียนปี ค.ศ. 1416) มีบันทึกไว้ว่า ที่สยามมีเหล้า 2 ชนิด คือ เหล้าที่ทําจากข้าวและเหล้าที่ทําจากมะพร้าว
นักวิชาการญี่ปุ่นลงความเห็นว่า ไหที่พบน่าจะเป็นภาชนะใส่เหล้าจากสยาม นอกจากนี้ยังมีบางทฤษฎีบอกว่า เหล้าจากสยามเป็นต้นแบบการกลั่น “เหล้าอาวาโมริ” ของโอกินาวา ซึ่งใช้ข้าวจากไทยเป็นวัตถุดิบในการหมัก แล้วจึงนําไปกลั่น มีกรรมวิธีการกลั่นคล้ายเหล้าโรงของไทย แม้ในปัจจุบันก็ยังใช้ข้าวไทยหมัก
เหล้าอาวาโมริ เริ่มกลั่นขึ้นเป็นครั้งแรกในปลายศตวรรษที่ 16 เนื่องมาจากการติดต่อระหว่างริวกิวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หมดลง แต่ความต้องการเหล้ายังมีอยู่ คนริวกิวจึงเริ่มกลั่นเหล้าเอง ในปัจจุบัน อาวาโมริ คือเหล้าซึ่งถือเป็นสินค้าโอทอปอย่างหนึ่งของโอกินาวา
อย่างไรก็ตาม บางทฤษฎีบอกว่า ต้นแบบของ เหล้าอาวาโมริ น่าจะมาจากฮกเกี้ยน หรือไม่ก็แถบอื่นทางตอนใต้ของจีนมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าสนใจคือเหล้าอาวาโมริใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต่างจากเหล้าสาเกที่ใช้ข้าวญี่ปุ่นทํา
เว็บไซต์ของสมาคมโรงกลั่นเหล้าจังหวัดโอกินาว่า อธิบายว่า “เหล้าอะวาโมริ เป็นเหล้ากลั่นที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ว่ากันว่ามีประวัติยาวนานประมาณ 600 ปี เป็นการนำข้าวไทย (ข้าวอินดิกา) มาผลิตข้าวโคจิ และหมักโดยการเติมน้ำและยีสต์ แล้วจึงกลั่นแบบทับ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันมามากกว่า 600 ปี ที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย”
อ่านเพิ่มเติม :
- เหล้า กับการฉลองปีใหม่ของเจ้านายในอดีต
- ร้านขายเหล้าต่างประเทศ ยุคแรกของไทย
- เมื่อแรก “เหล้าฝรั่ง” บุกในไทย มีครบเบียร์-ไวน์-บรั่นดี ฯลฯ
อ้างอิง :
ปิยดา ชลวร. “พาณิชย์สัมพันธ์ สยาม-ริกิว ร่องรอยไหจากเตาเผาสุโขทัยที่ ‘ปราสาทชูริ’ เกาะโอกินาวา”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์.
https://okinawa-awamori.or.jp/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2563
ความเห็น 0