โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

Lost in Translation กับเพลงประกอบหนัง ที่เดียวดายอย่างโรแมนติก

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 11 ส.ค. 2566 เวลา 01.57 น. • เผยแพร่ 11 ส.ค. 2566 เวลา 01.57 น.
บทความพิเศษ 22 copy

บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์

Lost in Translation

กับเพลงประกอบหนัง

ที่เดียวดายอย่างโรแมนติก

ภาพยนตร์เรื่อง Lost in Translation ของผู้กำกับฯ หญิง โซเฟีย คอปโปล่า เข้าฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนัง Telluride Film Festival ในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมปี 2003

นั่นหมายความว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าหนังเรื่องนี้ก็จะมีอายุ 20 ปีเต็มแล้ว

และในตอนนี้ Lost in Translation ก็ได้กลับมาเข้าฉายอีกครั้งที่โรงภาพยนตร์ House สามย่าน ซึ่งถือเป็นโปรแกรมทองที่คนรักหนังไม่ควรพลาดชม

Lost in Translation ได้รับรางวัลออสการ์หนึ่งสาขาคือบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมโดยโซเฟีย คอปโปล่า รับหน้าที่เขียนบทเอง

หลังรับรางวัลบนเวทีเธอกล่าวขอบคุณครอบครัวและผู้กำกับฯ ระดับตำนานหลายคน หนึ่งในนั้นคือ หว่องกาไว ซึ่งเป็นนักทำหนังชาวฮ่องกงที่เธอนึกถึงหนังของเขาตลอดในระหว่างเขียนบทหนังเรื่องนี้

ในช่วงต้นยุคมิลเลนเนียมรวมถึงปี 2003 ถือเป็นยุคทองของหนังฮอลลีวู้ดที่โดดเด่นทั้งในเชิงพาณิชย์และชั้นเชิงทางศิลปะ รวมถึงหนังอิสระที่ใช้ทุนสร้างน้อยแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยไอเดียที่แปลกใหม่ในการนำเสนอ

หนังเด่นๆ ที่เข้าฉายในช่วงเวลาดังกล่าวมีอาทิ Memento (คริสโตเฟอร์ โนแลน ฉายปี 2000), City of God (เฟอร์นันโด ไมเรลเลส ฉายปี 2002), Kill Bill : Volume 1 (เควนติน ตารันติโน่ ฉายปี 2003) และอีกหลายเรื่อง

ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงหนังรักที่เหงาจับขั้วหัวใจอย่าง Lost in Translation ด้วย

โซเฟีย คอปโปล่า เริ่มเขียนบทหนัง Lost in Translation หลังจากที่เธอได้ใช้เวลาในช่วงสั้นๆ ที่กรุงโตเกียวในระหว่างที่กำลังโปรโมต The Virgin Suicides ผลงานหนังเรื่องแรกที่เธอกำกับฯ

เธอหลงรักเมืองนี้อย่างล้ำลึกและเริ่มวางโครงเรื่องโดยมีตัวละครหลักเป็นหญิงชายต่างวัยคู่หนึ่งมาพบกันโดยบังเอิญและใช้เวลาสั้นๆ ร่วมกันในค่ำคืนหนึ่ง ก่อนที่จะลาจากกันในวันรุ่งขึ้น

Lost in Translation ได้รับคำชมอย่างเป็นเอกฉันท์ในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมของ บิล เมอร์เรย์ และ สการ์เล็ต โจฮานสัน, อารมณ์ขันที่เกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดและความรักของชายสูงวัยและหญิงสาวรุ่นลูกที่ถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่แต่มันจะยังคงซุกซ่อนอยู่ในใจของทั้งคู่ไปชั่วชีวิต

โซเฟีย คอปโปล่า ใช้บทเพลงเป็นสื่อกลางในการเล่าเรื่องด้วย กล่าวคือ เพลงประกอบหนัง Lost in Translation เป็นส่วนหนึ่งของบทภาพยนตร์ เธอเลือก ไบรอัน ไรต์เซลล์ โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงอดีตมือกลองวงพังก์ร็อก Redd Kross ที่เคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเพลงประกอบหนังเรื่อง The Virgin Suicides มารับหน้าที่เดียวกันในหนังเรื่องนี้

โดยโซเฟียกำหนดโจทย์เอาไว้ว่าเพลงที่ใช้ในหนังจะต้องสร้างบรรยากาศที่ล่องลอยและเหงาเศร้าเพื่อให้เข้ากับความรู้สึกของตัวละครหลักทั้งสองคนที่รู้สึกแปลกถิ่น, ไม่เข้าพวก, เจ็ตแล็กอย่างหนัก

และที่สำคัญก็คือด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษาทำให้ต่างฝ่ายต่างก็ไม่สามารถสื่อสารกับใครได้

สิ่งที่เจาะจงเป็นพิเศษก็คือเธออยากได้เพลงในแนวดรีมป๊อปที่ผสมผสานกับดนตรีประกอบหนังที่ไม่ใช่ดนตรีประกอบหนังเสียทีเดียว

โจทย์ที่ไบรอัน ไรต์เซลล์ ได้รับ เรียกได้ว่าทั้งน่าสับสนมึนงงและท้าทายในเวลาเดียวกัน

ศิลปินที่ทั้งโซเฟียและไบรอันเห็นพ้องต้องกันว่าน่าจะเหมาะกับการทำเพลงประกอบหนังเรื่องนี้มากที่สุดก็คือ เควิน ชิลด์ส มือกีตาร์และนักแต่งเพลงแห่งวง My Bloody Valentine ที่อัลบั้ม Loveless ของวงร็อกทางเลือกวงนี้ถือเป็นสาเหลักของดนตรีแนวชูเกซ (Shoegaze) และดรีมป๊อป

โดยไบรอันได้กล่าวยกย่องเควินว่าเป็นผู้ที่ทำให้หนังมีความสวยงามคล้ายงานภาพในหนังของหว่องกาไว ที่กวัดแกว่งฉวัดเฉวียนไปมาได้อย่างงดงาม

แน่นอนว่า Lost in Translation ก็มีงานภาพที่สวยงามเช่นกัน แต่สิ่งที่ส่งเสริมให้หนังเรื่องนี้โดดเด่นมากกว่าคือเพลงประกอบหนัง

“ผมตั้งใจให้ทุกเพลงที่อยู่ในหนังเรื่องนี้เป็นมากกว่าเสียงที่หูคุณจะได้ยิน แต่มันจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนหนังทั้งเรื่องให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ตั้งแต่เริ่มจนจบเรื่อง เพลงในหนังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากพอๆ กับความรู้สึกที่แอบซ่อนเอาไว้ในใจลึกๆ ของตัวละครหลักทั้งสองคน”

เควิน ชิลด์ส เผย

City Girl, Good Bye, Ikebana และ Are You Awake? เป็นเพลงที่มีเสียงกีตาร์ที่ล่องลอย, อ่อนไหวและแตกพร่าในคราวเดียวกัน แฟนเพลงของวง My Bloody Valentine รู้ดีว่านี่คือซาวด์กีตาร์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวงและเป็นต้นแบบของดนตรีแนวชูเกซทั้งมวล

การใช้เอฟเฟ็กต์เสียงก้อง (Reverb) กับดิสทรอชั่นที่ให้เสียงกีตาร์อันบิดเบี้ยวเข้ากันได้ดีกับความรู้สึกของตัวละครที่เหมือนอยู่ในความฝัน, อ่อนแอ, เปราะบางและแตกสลายอยู่ภายใน

หากลงลึกในรายละเอียดแล้วละก็ ธรรมชาติของหนัง Lost in Translation นั้นเงียบงันมาก ความเงียบสะท้อนให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวท่ามกลางเมืองใหญ่ของ บ็อบ (บิล เมอร์เรย์) และชาร์ล็อต (สการ์เล็ต โจฮานสัน) มิตรภาพของทั้งคู่ค่อยๆ เติบโต และเมื่อถึงจุดที่ควรจะเบ่งบานที่สุดมันกลับหยุดชะงักลง คล้ายกับดอกไม้ที่อีกนิดเดียวก็จะถึงจุดที่ผลิดอกได้สวยงามที่สุด แต่มันกลับหยุดเติบโตโดยที่ไม่มีสัญญาณใดๆ บอกล่วงหน้า

“การทำเพลงประกอบหนังที่สะท้อนความรู้สึกที่แอบซ่อนเอาไว้ในตัวละครออกมาได้โดยที่ไม่มีบทพูดเลยเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก สิ่งที่ผมทำก็คือการนำความพร่าเลือนของซาวด์กีตาร์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในอัลบั้ม Loveless มาใช้ ในระหว่างที่แต่งเพลงผมจะอ่านบทสนทนาของตัวละครในแต่ละฉากไปด้วยเพื่อให้แคแร็กเตอร์ของตัวละครเป็นตัวกำหนดทิศทางของเพลงประกอบหนังจริงๆ ความรู้สึกที่บ็อบและชาร์ล็อตมีให้กันนั้นทั้งซ่อนเร้นและละเอียดอ่อนมาก เช่นเดียวกับงานเพลงในหนังที่เมื่อฟังแล้วหัวใจของคุณแทบจะแตกสลายได้เลย”

เควิน ชิลด์ส เผยถึงเคล็ดลับในการทำเพลงประกอบหนังเรื่องนี้

เพลงในหนังเรื่อง Lost in Translation นั้นยอดเยี่ยมถึงขั้นที่คุณสามารถจดจำหลายต่อหลายฉากที่เพลงประกอบบรรเลงไปได้แทบทั้งหมดหรือทั้งหมดจากการดูหนังแค่รอบเดียว

อย่างเช่นเพลง Alone in Kyoto ของวง Air ที่บรรเลงขึ้นในฉากที่ชาร์ล็อตเดินเล่นอยู่ในวัดแห่งหนึ่งในเกียวโต

เสียงกีตาร์ที่แตกพร่าในเพลง Sometimes ของวง My Bloody Valentines ที่เปิดในฉากที่บ็อบและชาร์ล็อตท่องราตรีในกรุงโตเกียวด้วยกัน

ฉากที่บ็อบร้องคาราโอเกะเพลง More Than This ของวง Roxy Music

ฉากที่ชาร์ล็อตนั่งมองความใหญ่โตของเมืองในกรุงโตเกียวบนผ่านบานหน้าต่างของห้องพักในโรงแรมอย่างเดียวดายโดยมี Tommib เพลงอิเล็กทรอนิกส์เหงาๆ ของ Squarepusher บรรเลงเป็นฉากหลัง

และหนึ่งในสุดยอดเพลงแนวนอยซ์ป๊อปและชูเกซตลอดกาลอย่าง Just Like Honey ของวง The Jesus and Mary Chain ที่บรรเลงขึ้นหลังจากที่บ็อบกระซิบคำพูดปริศนาอย่างแผ่วเบาให้ชาร์ล็อตได้ฟัง ก่อนที่ทั้งคู่จะบรรจงจูบลาและเดินจากกันไป

ความรักของบ็อบและชาร์ล็อตนั้นหวานปานน้ำผึ้งเหมือนกับชื่อเพลง แต่ในความหวานก็มีความขมขื่นปะปนกันไป ซาวด์แทร็กประกอบหนัง Lost in Translation มีความพิเศษตรงที่มันสามารถดึงเอาความโดดเดี่ยว, สับสน และสื่อให้เห็นถึงความเป็นคนนอกของตัวละครที่ไม่สามารถสอดผสานเป็นหนึ่งเดียวกับผู้คนแปลกหน้าแปลกภาษาในเมืองใหญ่ได้อย่างน่าทึ่ง

แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความรักเร้นลับแสนสั้นของหญิงชายต่างวัยคู่หนึ่งที่บังเอิญอยู่ผิดที่ผิดเวลาได้อย่างสวยงามด้วย

ไม่น่าแปลกใจที่ทุกเพลงจากอัลบั้มซาวด์แทร็กประกอบหนังเรื่องนี้จะเป็นที่จดจำและเป็นที่รักของทั้ง Film Lover และ Music Lover มาอย่างยาวนานตลอดระยะ 20 ปีที่ผ่านมา

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj

— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น