โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เพราะ! อคติใช่ไหม ? ใจถึงห่างไกลจากความดี - chai payangluang

LINE TODAY SHOWCASE

เผยแพร่ 30 พ.ค. 2565 เวลา 07.39 น. • chai payangluang

เพราะ! อคติใช่ไหม? ใจถึงห่างไกลจากความดี

เพราะความวุ่นวายทางอารมณ์ที่สั่งสมมาเนิ่นนาน กลายเป็นความลำเอียงของจิตใจ และก่อเกิดเป็นความ “อคติ” ที่ยากจะหาทางเยียวยารักษาสถานภาพความเป็นมิตร

การอยู่ร่วมกัน ทำงานด้วยกัน สิ่งเดียวที่ทุกคนควรมีคือ “ความสามัคคี” ใช้เหตุผลในการพูดคุย ไม่เอาอารมณ์บูดเน่าเสียภายในใจ ออกมาพร่ำเพ้อระบายด้วยความอคติ เพราะ! นี่คือความโสมมของการยับยั้งชั่งใจของคนที่ได้ชื่อว่า “สามัญสำนึกความเป็นคนดี” สิ่งนี้ไม่มีและหาไม่ได้สำหรับคนที่คิดการใหญ่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ที่คนเราจะมีความลำเอียง และเข้าข้างสถานะหน้าตาในสังคม ความมีเกียรติ แต่ในภาวะจำยอม หากเอาหลักเหตุผลมาตัดสิน การใช้อารมณ์ปรนเปรอด้วยคำพูดที่หาความดีไม่ได้ เป็นการทำลายตัวเองและบ่งบอกถึงวุฒิภาวะความเป็นผู้นำได้จบลง ในขณะที่ผรุสวาทคำพูดแรกพลั้งเผลอหลุดออกมาจากปาก

การอยู่ร่วมกันในสังคม ย่อมมีกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นปกติธรรมดา จะถือสาหาโทษไปทำไมให้เปลืองสมอง เว้นแต่สิ่งที่เราแสดงออกมาทางกาย หรือการพูดส่อเสียดเหยียดหยันผู้อื่น ไม่ว่าจะจงใจหรือเจตนา เราก็ไม่ควรพึงกระทำเช่นนั้น เพราะหากคนอื่นปฏิบัติกับเรา อย่างที่เราปฏิบัติกับเขา เราชอบหรือไม่? คำตอบที่ไม่ต้องการคำชี้แจงคือ ทุกคนล้วนไม่ชอบให้ใครมาแสดงกิริยาก้าวร้าวต่อหน้าบุคคลในที่สาธารณะ

“การไม่ถือสาหาโทษ อโหสิต่อกัน ถือเป็นอภัยทาน

แต่! คนที่สำเหนียกดัดจริต จิตใจต่ำ ย่อมทำไม่ได้”

เช่นเดียวกันการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ชุมชน ควรเอื้ออารี แบ่งปัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย สิ่งไหนที่ผิดหลักระเบียบก็คุยกันโดยเอาเหตุผลมากล่าวอ้าง ไม่ควรเอาอารมณ์เป็นเครื่องตัดสิน เพราะพฤติกรรมเช่นนี้บ่งบอกถึงความกลับกลอกตอแหลของคนที่ไร้ซึ่งวุฒิภาวะ และย่อมนำไปสู่ความแตกแยก เป็นรอยร้าวยากที่จะเชื่อมสมานให้เกิดความสามัคคีได้ เพราะ!แต่ละคนมีทิฐิของตนเองทั้งนั้น

การอยู่ด้วยกันในสังคมควรยึดนำเอาหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาด้วย การมีผาสุกวิหารธรรม คือ ธรรมอันเป็นเครื่องอยู่อย่างเป็นสุข ไม่ว่าอยู่ในแวดวงสังคมไหน เราควรยึดหลักธรรม 6 ประการ คือ

1. เมตตากายกรรม คือ มีเมตตาต่อกัน ทำอะไรด้วยกายที่ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

2. เมตตาวจีกรรม คือ จะพูดอะไรต้องมีเมตตาต่อกัน โดยสำนึกถึงความเสียหายของผู้อื่น ไม่พูดให้เกิดความเข้าใจผิด หรือแตกแยกความสามัคคี

3. เมตตามโนกรรม คือ คิดอะไรต้องมีจิตเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีความปรารถนาดี ไม่คิดร้าย คิดทำลาย ไม่คิดแก้แค้น คิดแต่ในทางที่ดีเป็นกุศล

4. การแบ่งปันลาภที่ตนได้มาแล้วโดยชอบธรรม ให้แก่ผู้อื่นที่สมควรให้ โดยไม่หวงไว้ใช้หรือบริโภคแต่เพียงผู้เดียว

5. มีความประพฤติเสมอกัน คือ จะต้องมีศีลบริสุทธิ์เหมือนกัน ไม่รังเกียจผู้อื่น ต้องเคารพในสิทธิอันเสมอภาคกัน

6. มีความคิดถูก คิดดีเหมือนกัน คือ มีความคิดเห็นที่ประเสริฐ เป็นความคิดที่เกื้อกูลไปสู่ความสุข ความเจริญ และพ้นทุกข์ ไม่วิวาทกับใคร ๆ เพราะมีความเห็นผิดกัน

เราบอบช้ำมามากพอแล้ว การอยู่ร่วมกันในสังคมควรที่จะยึดเอาหลักคุณธรรม ความดี มาพูดคุยเชื่อมความสามัคคี ต่อยอดให้เราค้นพบกับความสุข อย่าเอาทิฐิมาตัดสินใครผิด ใครถูก เพราะทุกคนมีสามัญสำนึกครอบงำจิตใจของตนเองอยู่แล้ว จะมาซ้ำเติมให้ขุ่นเคืองกันทำไม อะไรที่เอื้อต่อกัน ก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้ว่าการทำโดยที่ไม่มีใครเห็น อย่างน้อยเรารู้ตัวเองดีว่าสิ่งที่เราทำนั้นผิดหรือถูก อย่าให้กิเลสความโกรธมาครอบงำเป็นพอ

“อย่าซ้ำเติมตัวเอง ด้วยความอคติของคนอื่น และอย่านำความเครียดของคนอื่นมาเติมใส่สมองของเรา ควรปล่อยวางให้ชีวิตว่างเปล่า ยึดแต่สิ่งที่ดีบำรุงจิตใจให้สงบสุขทุกลมหายใจเข้าออก” หากทำได้ เท่ากับเราสลัดทุกข์ ออกจากมโนอารมณ์ของตนเองแล้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0