โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รุ่นพี่ชี้แนะ! รีวิว สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มศว เรียนอะไรบ้าง จบแล้วได้ใบประกอบวิชาชีพเลยไหม?

Dek-D.com

เผยแพร่ 10 มิ.ย. 2565 เวลา 07.00 น. • DEK-D.com
รุ่นพี่ชี้แนะ! รีวิว สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มศว เรียนอะไรบ้าง จบแล้วได้ใบประกอบวิชาชีพเลยไหม?
รุ่นพี่ชี้แนะ! รีวิว สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มศว เรียนอะไรบ้าง จบแล้วได้ใบประกอบวิชาชีพเลยไหม?

เมื่อพูดถึงคำว่า “สาธารณสุข”น้องๆ นึกถึงอะไรกันบ้าง? บางคนอาจจะนึกถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บไข้ ได้ป่วย หรือการบำบัดรักษาผู้คนในโรงพยาบาลอะไรทำนองนี้กันใช่มั้ยคะ จริงๆ แล้วงานด้านสาธารณสุขไม่ได้มีแค่เฉพาะในโรงพยาบาลเพียงเท่านั้น แต่ยังคงมีด้านอื่นๆ อีก เช่น สุขอนามัยและความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม หรือการควบคุมและจัดการปัญหามลพิษด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม อีกด้วยค่ะ

รุ่นพี่ชี้แนะ! รีวิว สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มศว เรียนอะไรบ้าง จบแล้วได้ใบประกอบวิชาชีพเลยไหม?

สำหรับบทความนี้ ขอเอาใจน้องๆ ที่สนใจใน สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ กันบ้างค่ะ วันนี้พี่แป้งจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาดูกันว่ามีทั้งหมดกี่เอก แล้วแต่ละเอกได้เรียนอะไรกันบ้าง พร้อมทั้งปิดท้ายด้วยรีวิวจากรุ่นพี่ตัวจริงเสียงจริงจากสาขานี้กันค่ะ เพื่อไม่ให้เสียนาฬิกา เอ้ย! เวลา ไปมากกว่านี้ มาเริ่มกันเลยดีกว่า

มาทำความรู้จักกับ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มศว กัน!

สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) เป็นหนึ่งในสาขาของคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งมีการเรียนการสอนอยู่ที่วิทยาเขตองครักษ์ จังหวัดนครนายก โดยหลักสูตรของสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มีคุณภาพตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาและผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมุ่งเน้นให้นักศึกษาสามารถวิเคราะห์และแก้ปัญหาสุขภาพของบุคคล ครอบครัว และชุมชนที่เนื่องมาจากปัญหาสาธารณสุขชุมชน ปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อม และปัญหาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมทั้งสามารถวางแผนและปฏิบัติงานสาธารณสุขในแต่ละด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ประกอบด้วย 3 วิชาเอกได้แก่

สาธารณสุขชุมชนอนามัยสิ่งแวดล้อมอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มศว แต่ละเอกจะได้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

1) สาธารณสุขชุมชน : การพัฒนาสาธารณสุขชุมชน การสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สุขภาพจิตและการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาสุขภาพที่ยั่งยืน การวางแผนและประเมินผลสาธารณสุขชุมชน รวมทั้งเทคโนโลยีสาธารณสุขและคอมพิวเตอร์สำหรับสาธารณสุขชุมชน

2) อนามัยสิ่งแวดล้อม : การสุขาภิบาลอาหารและความมั่นคงทางอาหาร การควบคุมมลพิษทางเสียง มลภาวะทางอากาศ การกำจัดขยะอันตราย การจัดการสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสะอาด การจัดการน้ำเสียในอุตสาหกรรม รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

3) ชีวอนามัยและความปลอดภัย : การประเมินและจัดการความเสี่ยงทางอุตสาหกรรม การป้องกันและควบคุมอัคคีภัยและสารเคมีรั่วไหล การบริหารจัดการด้านชีวอนามัยและความปลอดภัย การเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม จิตวิทยาอุตสาหกรรม รวมทั้งกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

คุณสมบัติของผู้ศึกษา

  • มัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า
  • สายการเรียน วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
  • ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์และข้อบังคับตามที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด

อัตราธรรมเนียมการศึกษา (อัปเดต ปีการศึกษา 2564)

  • สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ภาคการศึกษาละ 20,000 บาท
  • ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

เรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง

สามารถประกอบอาชีพที่สัมพันธ์กับแขนงวิชาที่สำเร็จการศึกษาได้ ดังนี้

  • นักวิชาการสาธารณสุข
  • นักวิชาการสุขาภิบาล
  • นักวิชาการสิ่งแวดล้อม
  • นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ
  • นักชีวอนามัย หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ตามที่กฎหมายกำหนด
  • เป็นผู้ประสานงานและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงาน

รีวิวจาก พี่ฟ้า นักศึกษาปี4 สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ เอกชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

*เนื้อหาต่อจากนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น*

สาขานี้มีทั้งหมด 3 เอก ต้องเลือกเอกตอนปีไหน ถ้าเรียนแล้วรู้สึกไม่ชอบสามารถย้ายเอกได้หรือเปล่า?

สำหรับสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ของ มศว จะต้องเลือกเอกตั้งแต่ยื่นคะแนนสอบเข้ามาเลยค่ะ ถ้าหากว่าเรียนไปแล้วรู้สึกว่าเอกนี้ยังไม่ใช่สำหรับเรา และต้องการที่จะย้ายไปอีกเอกนึงจะไม่สามารถย้ายได้ในเวลานั้นค่ะ จะต้องซิ่วแล้วสอบใหม่เพื่อยื่นสมัครเข้ามาในเอกใหม่ที่ต้องการจะเรียนค่ะ ซึ่งถึงแม้ว่าจะต้องเลือกเอกตั้งแต่สอบเข้ามาเลย แต่ว่าก็มีวิชาที่ได้เรียนร่วมกับเพื่อนๆ ในเอกอื่นอยู่บ้าง เช่น วิชาของมหาวิทยาลัย หรือวิชาพื้นฐาน

ทำไมถึงเลือกเรียนเอกชีวอนามัยและความปลอดภัย

ที่เลือกสาขาสาธารสุขศาสตร์ เอกชีวอนามัยและความปลอดภัย เพราะมองว่าเอกนี้น่าสนใจ ตอนแรกที่เลือกเอกนี้เราก็ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่ด้วยความที่เราเห็นว่ามันคือสาธารณสุขที่ได้เรียนเกี่ยวกับหลักของวิศวกรรมควบคู่ไปด้วยก็เลยเลือกเรียนเอกนี้ เพราะว่าได้เรียนอะไรที่หลากหลายด้วย เหมือนเราได้เรียนทั้งสายสุขภาพและสายวิศวกรรมไปพร้อมๆ กันค่ะ เวลาที่เราเรียนจบออกไปสายงานเรามันค่อนข้างกว้างมากเลย เราสามารถทำได้ทั้งในโรงงาน โรงพยาบาล สถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า ซึ่งอาชีพของเราหลังเรียนจบคืออาชีพ จป. วิชาชีพ (เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ระดับวิชาชีพ)

อีก 2 เอกที่เหลือ หลังจากเรียนจบแล้วสามารถทำงานเป็น จป ได้มั้ย?

จริงๆ แล้วมีเอกเราแค่เอกเดียวที่หลังจากเรียนจบออกมาเป็น จป วิชาชีพ เพราะถ้าเป็นเอกสาธารณสุขชุมชนจบมาก็อาจจะทำงานในส่วนของราชการ หรือถ้าเป็นเอกอนามัยสิ่งแวดล้อมจบมาอาจจะได้ทำงานสายเดียวกับเราเหมือนกัน แต่ว่าจะต้องไปเรียนเพิ่มอีก 2 ปี เพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพ หรือให้มีวุฒิหลักสูตรที่เกี่ยวกับการเป็น จป. วิชาชีพ ค่ะ

เรียนจบแล้วได้ใบประกอบวิชาชีพเลยมั้ย

หลังจากที่เรียนจบแล้วจริงๆ จะยังไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพค่ะ แต่จะได้เป็นวุฒิการศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) ก่อน และด้วยความที่หลักสูตรของเราตรงกับที่ทางกฎหมายกำหนด คือ เรียนจบ 4 ปี ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับชีวอนามัยและความปลอดภัย เมื่อไปสมัครงานตามสถานประกอบการต่างๆ แล้ว เราก็สามารถขึ้นทะเบียนเพื่อเป็น จป. วิชาชีพ ได้เลย ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เราจะได้ใบประกอบวิชาชีพก็ต่อเมื่อเรามีงานทำก่อน แล้วค่อยเอาชื่อและข้อมูลต่างๆ ของเราไปยื่นที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อขึ้นทะเบียนเป็น จป. วิชาชีพ ประจำสถานประกอบการที่เราทำงานอยู่นั่นเองค่ะ

พูดถึงภาพรวมของการเรียนในแต่ละปีหน่อย

สำหรับภาพรวมการเรียนการสอนในแต่ละชั้นปีของเอกชีวอนามัยและความปลอดภัย นอกจากวิชาในสายสุขภาพแล้ว เรายังได้เรียนวิชาในแขนงของวิศวะอีกด้วย ในแต่ละปีความยากความท้าทายของรายวิชาก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ ถ้าแบ่งออกเป็นในแต่ละชั้นปี

ปี1 : เราก็จะได้เรียนพวกวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ชีววิทยา เคมี ได้ทำแล็บของทั้ง 2 วิชา แล้วก็มีวิชาพื้นฐานของมหาลัยที่ได้เรียนรวมกับคณะอื่น เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย รวมไปถึงเรียนกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ด้วยค่ะ

ปี 2 :ยังได้เรียนวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์อยู่ก็คือฟิสิกส์กับเคมี เริ่มมีเรียนวิชาเฉพาะทางด้วย เช่น แล็บไมโคร แล็บปรสิต แล้วก็เรียนพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องของความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรม

ปี 3 :ก็จะเริ่มหนักหน่อย เพราะส่วนมากจะได้เรียนวิชาที่เป็นเนื้อหาเฉพาะทางของสายงานนี้เลย เช่น วิศวกรรมความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรม พิษวิทยาอาชีวอนามัย จรรยาบรรณวิชาชีพ และกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แล้วก็จะได้เรียนการทำวิจัยด้วย

ปี 4:ตอนเทอม 1 จะได้ทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมสร้างความปลอดภัย ได้ทำแบบจำลอง (DOJO) ต่างๆ เช่น แบบจำลองการตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน แบบจำลองการสวมใส่อุปกรณ์ PPE จัดสัมมนาที่มีหัวข้อเกี่ยวกับความปลอดภัย แล้วก็ได้ซ้อมอพยพหนีไฟ ทำแผนฉุกเฉินสำหรับการรับมือต่างๆ ส่วนตอนเทอม 2 จะได้ฝึกงาน 4 เดือน ตามสถานประกอบการที่เราเลือก

สาขานี้เหมาะกับใครบ้าง

เหมาะกับน้องๆ ที่ชอบความท้าท้าย เพราะสาขานี้จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเลย แล้วก็เหมาะกับคนที่ไม่ได้อยากเรียนเฉพาะทางในส่วนของหมอจ๋า หรือวิศวะจ๋า ขนาดนั้น เพราะว่าเราจะได้เรียนรู้รายละเอียดงานที่เกี่ยวข้องกับ 2 ด้านนี้ก่อน ถึงจะสามารถทำงานร่วมกับพวกเขาได้ รวมถึงเหมาะกับน้องๆ ที่ตอนแรกยังไม่กล้าแสดงออกด้วย เพราะสาขานี้จะทำให้เราพูดบ่อยมากขึ้นค่ะ55555 เพราะงานหลักของเราก็คือการพูดโน้มน้าวให้ผู้ฟังปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เราได้ชี้แนะไป เป็นสาขาที่ได้ดึงศักยภาพของเราออกมาจริงๆ

ฝึกงานตอนไหน สามารถไปฝึกที่ไหนได้บ้าง

สำหรับการฝึกงานสามารถฝึกได้ตั้งแต่ช่วง ปี 2 ขึ้น ปี 3 และ ปี 3 ขึ้น ปี 4 ก็คือฝึกในระหว่างที่ปิดเทอม ระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งอันนี้ทางสาขาวิชาไม่ได้บังคับจะฝึกหรือไม่ฝึกก็ได้ แต่ถ้าใครที่อยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในช่วงปิดเทอมก็สามารถยื่นขอฝึกงานได้ค่ะ ส่วนที่บังคับเลยก็คือตอน ปี 4 เทอม 2 ทุกคนจะต้องไปฝึกงานทั้งหมด 4 เดือน เราสามารถเลือกได้เลยว่าเราจะฝึกที่สถานประกอบการหรือโรงงานไหน ซึ่งโรงงานก็จะมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผลิตอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตยา หรือโรงพยาบาล รวมถึงจะต้องทำโปรเจกต์ให้กับสถานประกอบการที่เราไปฝึกงานด้วย

พูดถึงสังคมในมหา’ลัยหน่อยว่าเพื่อนเป็นยังไงบ้าง?

สังคมค่อนข้างโอเคเลย เพราะว่าเพื่อนๆ ทุกคนในเอกช่วยกันเรียน วันๆ นึงเราไม่ได้เจอกันใครเพราะอยู่แค่ในมหาลัย กินนอนด้วยกัน ไปไหนก็ไปด้วยกัน พอถึงช่วงสอบก็ช่วยกันติว ช่วยกันแบก ด้วยความที่ช่วงสอบที่องครักษ์จะเปิดห้องเรียนรวม 24 ชั่วโมง เปิดห้องสมุดให้นานขึ้นไปถึงช่วงดึก เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าไปติวกัน ส่วนใหญ่เราก็จะได้ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนๆ แต่ละคนก็น่ารักมากๆ มีอะไรก็คอยช่วยเหลือกันตลอด ทั้งในเรื่องการเรียน รวมถึงการใช้ชีวิตในมหาลัย

ชีวิตความเป็นอยู่ที่องครักษ์เป็นยังไงบ้าง

น้องๆ หลายคนอาจจะคิดว่ามาอยู่องครักษ์แล้วจะใช้ชีวิตลำบาก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรทำนองนี้กันใช่มั้ย แต่ความจริงแล้วไม่ได้แย่แบบที่คิดเลย สำหรับจะรถตู้ที่เราสามารถเดินทางไปยังฟิวเจอร์ปาร์ครังสิตได้ค่ะ แถมตอนนี้ก็ยังมีโลตัสองครักษ์ที่เราสามารถไปช้อปปิ้งพวกสิ่งเครื่องใช้ อาหารการกิน มาตุนไว้ได้ ส่วนภายในมหาวิทยาลัยก็มีตลาดพลาซ่า ที่ไปเดินหาของกินได้ มีฟิตเนส มีสระว่ายน้ำ พร้อมสำหรับใครที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย บอกเลยว่าสถานที่ในมหาลัยกว้างขวาง อาหารการกินก็โอเคราคาไม่แพง อยู่ได้แน่นอน

ยกตัวอย่างกิจกรรมในสาขาหรือหลักสูตรหน่อยว่ามีอะไรบ้าง?

สำหรับกิจกรรมของสาขาวิชานี้ก็คือ พิธีลอยเทียนเป็นพิธีบายสีสู่ขวัญ ต้อนรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทั้ง 3 เอก รวมกันเลย ซึ่งในพิธีก็จะมีอาจารย์กับรุ่นพี่ร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เพื่อมาผูกแขนให้กับน้องๆ ปี 1 แล้วก็มีกิจกรรมพี่ตระกูล น้องตระกูล คล้ายๆ กับการจับสายรหัสเลยค่ะ พี่ๆ ปี 2 จะทำการจับสลากน้องๆ เพื่อเข้ามาอยู่ในตระกูลของเรา ซึ่งก็มีชื่อตระกูลที่แต่ละคนคิดสร้างสรรค์กันขึ้นมาเยอะแยะเลย อีกกิจกรรมก็คือด้วยความที่สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์อยู่ในคณะพลศึกษา เราจะต้องทำกิจกรรมรับน้องในฉบับเด็กคณะพลศึกษา คือ การไปวิ่งตอนเช้าตอนตี 5 ของทุกวัน ประมาณ 2 เดือน แต่วันไหนที่ฝนตกก็ไม่ได้ไปวิ่งนะ หลายคณะก็คงจะงงว่าทำไมคณะนี้ถึงมาวิ่งกัน55555 แต่พอนึกย้อนกลับไปแล้วก็สนุกดีค่ะ เพราะพอขึ้นปี 2 มาก็ไม่มีโมเมนต์แบบนั้นอีกเลย

ความยากหรือความท้าทายของการเรียนสาขานี้

ความยากก็คือ เราได้เรียนเนื้อหาที่ค่อนข้างหลากหลายมากๆ ตอนปี 1 - 2 เราต้องเรียนวิชาพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันต้องตัดเกรดร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ ดังนั้นก็จะค่อนข้างยากพอสมควร เรียกได้ว่าต้องอ่านหนังสือกันโต้รุ่งเลย เพื่อให้เราสามารถคว้าเกรดที่ต้องการมาให้ได้ ส่วนตอนปี 3- 4 มันยากเพราะว่าเราจะได้เรียนในวิชาเฉพาะของเราแล้ว บางวิชาเรามองว่ายากมากๆ เช่น วิชาพิษวิทยาอาชีวอนามัย และการระบายอากาศในงานอุตสาหกรรม เนื่องจากว่าจะต้องมีการคำนวณ บวกกับเนื้อหาที่ค่อนข้างซับซ้อน เรียกได้ว่าทั้ง 2 วิชานี้เป็นวิชาปราบเซียนเลยค่ะ

ส่วนความท้าทายก็คือ อาจารย์จะให้เราได้สร้างโรงงานจำลองของตัวเองขึ้นมา ให้เราได้จำลองเป็นผู้ประกอบการ กับให้เพื่อนอีกหนึ่งกลุ่มเป็นทีมงานรับตรวจสภาพแวดล้อมของโรงงานเรา เช่น การตรวจแสง ตรวจเสียง ตรวจความร้อน ตรวจฝุ่น จำลองสถานการณ์การทำงานจริงๆ ดีลงานกัน พูดคุยต่อรองราคา ท้าทายมากๆ เพราะเราต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการพูด ต้องมีกลยุทธ์ ในการโน้มน้าวด้วย ข้อดีคือเราก็จะมีทักษะติดตัวสำหรับการทำงานในอนาคตด้วย

ความประทับที่ได้เรียนในสาขานี้

เพื่อน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชอบเลย คือในรุ่นจะมีกันอยู่ 40 กว่าคน ทุกคนคอยช่วยเหลือกันตลอด ช่วยกันเรียน ช่วยกันทำงาน มันเลยทำให้บรรยากาศในห้องเรียนน่าเรียนมากขึ้น ส่วนอาจารย์มีแค่ 3 คน แต่ว่าอาจารย์จะคอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำอยู่ตลอด สามารถพูดคุยกับอาจารย์ได้ทุกเรื่องเลย อีกหนึ่งเรื่องก็คือ พอเราเรียนแล้วทำให้เรามี Safety Mind เป็นของตัวเองมากขึ้นเวลาไปไหนมาไหน หรือใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน เราก็จะคำนึงถึงความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา เช่น เวลาเราเห็นสายไฟที่บ้านที่ใกล้จะพังแล้ว แต่เรายังดันทุรังที่จะใช้ต่อไป วันแรกมันอาจจะยังไม่พัง แต่วันต่อไปก็ไม่แน่ ซึ่งมันทำให้เราระมัดระวังกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเรามากขึ้น

อยากแนะนำหรือฝากอะไรถึงน้องๆ ที่อยากจะเรียนต่อสาขานี้มั้ย

สำหรับน้องๆ ที่สนใจอยากจะเรียนสาขานี้ ต้องบอกก่อนเลยว่า มันไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนกัน คือทุกๆ สาขาวิชามันมีความยากง่ายที่แตกต่างกันออกไป แต่ถ้าหากน้องๆ ที่ชื่นชอบความท้าทายในการเรียนรู้วิชาใหม่ๆ อยากเรียนรู้วิชาที่หลากหลาย ก็ยินดีต้อนรับน้องๆ เข้าสู่สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มศว ค่ะ อีกหนึ่งอย่างที่อยากจะฝากก็คือ ภาษาอังกฤษ สำคัญมาก หากน้องมี Passion อยากเข้าทำงานในองค์กรใหญ่ๆ ถ้าเราได้ภาษาหรือมีสกิลด้านนี้ ชีวิตการทำงานของเราก็จะก้าวหน้าในทุกสายอาชีพเลยค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะน้องๆ สำหรับรีวิวสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่พี่แป้งนำมาฝากในวันนี้ บอกเลยว่านี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น สายงานด้านสาธารณสุขยังมีสาขาที่ย่อยออกไปอีก รวมไปถึงยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในศาสตร์นี้ หากน้องๆ คนไหนที่สนใจก็สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนได้เลยค่ะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0