โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เฝ้าระวัง 6 โรคหน้าฝน พร้อมสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกัน

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 17 พ.ค. 2565 เวลา 00.44 น. • เผยแพร่ 17 พ.ค. 2565 เวลา 00.44 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไปก็เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา นอกจากเรื่องลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงแล้ว “โรคหน้าฝน” ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจเพื่อป้องกันสุขภาพให้แข็งแรงอีกด้วย ซึ่งฤดูนี้มีหลายโรคที่ต้องเฝ้าระวัง และต้องป้องกันอย่างไร เรารวมมาให้แล้ว

ไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เป็นหนึ่งในโรคหน้าฝนที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยกัดคนที่เป็นโรคนี้ จากนั้นเชื้อโรคจะเข้าไปฟักตัวอยู่ในยุง แล้วสามารถถ่ายทอดไปสู่คนอื่นๆ ที่ถูกยุงกัดได้ทุกครั้ง มักระบาดหนักในช่วงหน้าฝน ซึ่งแพร่กระจายได้มากกว่าฤดูอื่นๆ ถึง 3 เท่า

อาการของไข้เลือดออก

  • มีไข้สูงแบบเฉียบพลัน และมีอาการไข้สูงตลอดทั้งวันต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 2-7 วัน
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง
  • อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา
  • ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก
  • มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้องและเบื่ออาหาร

วิธีป้องกันไข้เลือดออก

  • เก็บกวาดบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่มีบริเวณอับทึบให้ยุงลายเกาะพัก
  • เก็บขยะ เศษภาชนะทุกชนิดบริเวณรอบบ้าน ทิ้งในถุงดำ มัดปิดปากถุงแล้วนำไปทิ้งในถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขังน้ำให้ยุงวางไข่เพาะพันธุ์ได้
  • เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะที่ไม่ใช้ และเปลี่ยนน้ำในภาชนะเล็กๆ เช่น ถ้วยรองขาตู้ หรือแจกันทุกสัปดาห์
  • ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ หรือปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ เช่น อ่างเลี้ยงไม้น้ำ

ไข้หวัด

ไข้หวัด หรือ โรคหวัด เป็นโรคหน้าฝนที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนต้นที่ส่งผลกระทบต่อจมูกและคอ มักเกิดเมื่ออุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ตัวเปียกฝน อากาศเปลี่ยน ซึ่งสามารถพบได้ทั้งปี แต่จะพบบ่อยในหน้าฝน

อาการไข้หวัด

  • คัดจมูก
  • น้ำมูกไหลลักษณะใส
  • ไอมีเสมหะ
  • จาม
  • เจ็บคอ
  • เสียงแหบ
  • อาจมีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะเล็กน้อย

วิธีป้องกันไข้หวัด

  • ใส่หน้ากาก
  • ล้างมือ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • เลี่ยงสถานที่แออัด

ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคหน้าฝนที่เกิดจากการติดเชื้ออินฟลูเอนซา (Influenza Virus) อาจมีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัด ส่วนใหญ่สามารถหายเป็นปกติได้ใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีความรุนแรงทำให้เกิดปอดอักเสบและเสียชีวิตได้

อาการไข้หวัดใหญ่

  • มีไข้สูงเกิน 38 องศาฯ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก
  • ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หนาวสั่น
  • เบื่ออาหาร
  • คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ
  • บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

  • ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม
  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
  • หลีกเลี่ยงคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง

อหิวาตกโรค

เกิดจากการกินอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียหรือติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดอาการท้องเสียฉับพลัน มักเกิดในชุมชนที่อยู่กันอย่างหนาแน่น และไม่มีน้ำสะอาดใช้อย่างพอเพียง ไม่มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ร้านอาหารไม่สะอาด ถูกหลักอนามัย

อาการอหิวาตกโรค

  • ท้องร่วง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีภาวะขาดน้ำ
  • บางรายอาจมีการถ่ายเป็นมูกเลือด
  • หากมีอาการรุนแรงอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันอหิวาตกโรค

  • ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนกินอาหาร
  • ดื่มน้ำต้มสุกและสะอาด
  • กินอาหารปรุงสุก
  • หลีกเลี่ยงอาหารดิบ
  • รับประทานผลไม้ที่ปอกเปลือกเอง
  • ระวังผลิตภัณฑ์เนยนม

โรคตาแดง

โรคตาแดง เป็นโรคหน้าฝนที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดพร้อมกับโรคหวัดหรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง เช่น สัมผัสกับขี้ตาหรือน้ำตาที่ติดอยู่บนมือหรือสิ่งของที่ผู้ป่วยสัมผัส จากการใช้สิ่งของร่วมกัน และจากการหายใจหรือไอจามรดกัน มักพบในกลุ่มเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กไม่ระมัดระวังในการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคเท่ากับผู้ใหญ่

อาการโรคตาแดง

  • ตาแดง
  • ปวดเล็กน้อยในเบ้าตา
  • คันตา เคืองตา รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา
  • น้ำตาไหล
  • เปลือกตาบวม อาจพบตุ่มเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป
  • ในกรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จะมีขี้ตามากทำให้ลืมตายากในช่วงตื่นนอน

วิธีป้องกันโรคตาแดง

  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ เครื่องสำอาง แว่นตา
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำท่วมขังหรือน้ำสกปรก ระวังไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าตา
    ไม่ควรใช้มือขยี้ตา
  • ผู้ที่เป็นโรคตาแดง ควรงดการใช้ของสาธารณะหรือไปในที่สาธารณะจนกว่าจะหาย
  • ไม่ควรใช้ยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่น ควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการหยอดยาเสมอ

โรคฉี่หนู

เป็นโรคหน้าฝนที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีหนูหรือสัตว์ฟันแทะเป็นพาหะหลัก เชื้อถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะที่ปนเปื้อนอยู่ตามน้ำ ดินที่เปียกชื้น เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก ที่สำคัญคือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการโรคฉี่หนู

แบ่งออกเป็น 2 ระยะด้วยกัน

อาการระยะแรก

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดศีรษะ มีไข้สูง หนาวสั่น
  • ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
  • เจ็บช่องท้อง
  • รู้สึกเหนื่อยล้า
  • ตาแดงหรือระคายเคืองที่ตา
  • มีผื่นขึ้น
  • ไม่อยากอาหาร
  • ท้องเสีย

อาการระยะที่สอง

  • มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ตาอักเสบ
  • หลอดเลือดอักเสบ
  • ปอดอักเสบ
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • เลือดออกในเนื้อปอด
  • ตัวเหลืองตาเหลือง หรือภาวะดีซ่าน
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • ภาวะเลือดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆ และอาจทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวและเป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด

วิธีป้องกันโรคฉี่หนู

  • หลีกเลี่ยงการเดินในที่น้ำขัง มีน้ำสกปรก
  • ล้างเท้าด้วยน้ำสบู่หลังสัมผัสน้ำสกปรก
  • ควรสวมรองเท้าบูตทุกครั้งที่ต้องลุยน้ำสกปรก
  • ควบคุมและกำจัดหนูตามบริเวณที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
  • ควรระบายน้ำตามท่อระบายออกแล้วล้างเพื่อกำจัดน้ำที่ปนเปื้อน
  • หากสงสัยว่ามีอาการของโรคฉี่หนู ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที

โรคมือเท้าปาก

เป็นโรคหน้าฝนที่พบบ่อยในเด็กเล็ก ติดต่อง่าย ไม่มีวัคซีนป้องกัน และมีโอกาสเป็นเพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าฝน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี แต่สามารถเกิดกับเด็กโตและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายป่วยภายในเวลาประมาณ 7-10 วัน

อาการโรคมือเท้าปาก

  • มีไข้
  • เจ็บปาก
  • น้ำลายไหล
  • มีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก
  • มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ
  • อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาได้

วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก

  • แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น
  • ผู้ปกครองควรหมั่นล้างมือเด็ก เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังเด็กคนอื่น
  • หมั่นทำความสะอาดของเล่นและสภาพแวดล้อมทุกวัน
  • ดูแลความสะอาดของน้ำ อาหาร และสิ่งของ ที่เด็กอาจนำเข้าปาก
  • โรงเรียนควรงดรับเด็กป่วยเข้าเรียนจนกว่าจะหายดีเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
  • ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปรักษา พร้อมแจ้งโรงเรียนและเด็กควรหยุดเรียนจนกว่าจะหาย

จะเห็นได้ว่า โรคหน้าฝน ส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคติดต่อ มีทั้งจากสัตว์สู่คนและคนสู่คนด้วยกัน วิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในหน้าฝนที่ดีที่สุดคือ เมื่อรู้ตัวว่าป่วยควรรีบทำการรักษาและหยุดพักเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นจนกว่าจะหายดีเสียก่อน.

ข้อมูลอ้างอิง: กรมควบคุมโรค, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น