โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศาลเเพ่ง สั่ง ตำรวจ คฝ. ซิ่งบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย ชดใช้ 27.3 ล้าน

PPTV HD 36

อัพเดต 26 มี.ค. เวลา 10.01 น. • เผยแพร่ 26 มี.ค. เวลา 06.47 น.
ศาลเเพ่ง สั่ง ตำรวจ คฝ. ซิ่งบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย ชดใช้ 27.3 ล้าน
ศาลเเพ่ง สั่ง ตำรวจ คฝ. ซิ่งบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่ายเสียชีวิต ชดใช้ค่าเสียหายให้พ่อเเม่หมอ 27.3 ล้านบาท ยกฟ้องสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาคดีที่นายแพทย์อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล เป็นโจทก์ที่ 1-2 ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก จำเลย 1-2 ในคดีละเมิด กรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็ว พุ่งชน “หมอกระต่าย” หรือ แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ขณะเดินข้ามทางม้าลายบริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ และไม่ให้การช่วยเหลือ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565

โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีละเมิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพเป็นเงินจำนวน 539,493 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 537,505 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวน 72,266,301 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 72,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)ไม่ได้กระทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง เหตุคดีนี้เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 (ส.ต.ต.นรวิชญ์) โดยลำพัง จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการเฉพาะตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 บัญญัติให้ผู้กระทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย ในกรณีทำให้เขาถึงตาย

ส่วนการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าว สำหรับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายตามจารีตประเพณีตามความจำเป็นและเหมาะสม ตลอดจนฐานานุรูปของผู้ตายนั้น ศาลเห็นว่าค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่นๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 331,230 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว กำหนดให้ตามขอ ส่วนค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย ค่าไอแพด กระเป๋า รองเท้า และเสื้อผ้าของผู้ตาย ไม่ใช่ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตามคำขอจึงไม่กำหนดให้ รวมทั้งส่วนค่าเรือลอยอังคาร ซึ่งเป็นเรือของตำรวจน้ำไม่คิดค่าใช้จ่าย จึงไม่กำหนดให้

สำหรับค่าขาดไร้อุปการะนั้น ศาลเห็นว่า หากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามประสบการณ์และอายุการทำงาน เมื่อคำนึงถึงโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ แม้จะมีรายได้จากเงินเดือน แต่อยู่ในวัยชรา มีปัญหาสุขภาพต้องไปพบแพทย์และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง มีภาระค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวต่อเดือนจำนวนค่อนข้างสูง เห็นสมควรกำหนดค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คนละ 13,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงิน 331,230 บาท 13,500,000 บาท และ 13,500,000 บาท ตามลำดับ นับแต่วันทำละเมิดวันที่ 21 ม.ค. 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

โดยศาลพิพากษาให้ จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 331,230 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ชำระเงิน 13,500,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 13,500,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศาลฎีกาให้ประกันตำรวจ คฝ. ควบบิ๊กไบก์ชนดับ "หมอกระต่าย"

ด่วน! ศาลอุทธรณ์สั่งเเก้เพิ่มโทษคุก 10 ปี 2 เดือน ตำรวจ คฝ.ควบบิ๊กไบก์ชนดับ "หมอกระต่าย"

"มูลนิธิเมาไม่ขับ" ชวนทำกิจกรรม ส่งแสงเพื่อรำลึกถึง "หมอกระต่าย"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0