โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

คนไม่ตลก ทำหนังตลก | วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร - Exclusive Writer

Ad Addict

อัพเดต 13 ก.ค. 2565 เวลา 06.01 น. • เผยแพร่ 13 ก.ค. 2565 เวลา 06.05 น. • วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร
คนไม่ตลก ทำหนังตลก | วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร - Exclusive Writer

โฆษณาจากญี่ปุ่นมักทำให้ผมรู้สึกประทับใจ ว่าประเทศนี้คิดงานได้กล้าหาญ และบ้าบอ (ในทางที่ดี) ไปพร้อมๆกันได้สม่ำเสมอมาก แต่พอโตขึ้นได้เจอคนทำหนังหรือครีเอทีฟจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงญี่ปุ่นเอง ทุกคนกลับพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

ประเทศมึง (ไทย) นั่นแหละ

ที่คิดงานได้บ้า และฮาที่สุดแล้ว

ใครมีโอกาสได้เดินทางไปตัดสินงานในเวที International ต่าง ๆ น่าจะได้รับ feed back ไปในทางเดียวกัน อาจจะเพราะเราอยู่ใกล้ไปเลยไม่ได้สังเกต

ในความเห็นของผม เครดิตนี้จะตกเป็นของใครไปไม่ได้นอกจาก พี่ต่อ ธนนชัย ศรศรีวิชัย และพี่มั่ม สุธน เพชรสุวรรณ์ 2 ผู้กำกับที่ปักหมุดรสชาติงานตลกแบบไทย ให้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าในเวทีโลกตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

ขึ้นชื่อว่าเป็นคนโฆษณาไทย ผมเชื่อว่าน่าจะมีอย่างน้อยสักครั้งที่เราพยายามทำหนังตลก ผมก็เช่นกัน และด้วยความที่ตัวผมเองไม่ได้เป็นคนตลก แต่ไม่อยากให้งานออกมาเป็นแบบ พยายามจะตลก ทำให้เวลาคิดมันมีความกังวลอยู่มากพอสมควร เพราะความตลกมักถูกมองเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เป็นศิลปะ เป็นพรสวรรค์

โชคดีที่สมัยเป็นครีเอทีฟ ผมได้มีโอกาสทำหนังกับผู้กำกับที่เรียกว่าเป็น เทพของหนังตลก แน่นอนผมคาดหวังอย่างเต็มที่ นึกภาพห้องประชุมเต็มไปด้วยมุขที่สาดใส่กันจนท้องแข็ง

คัทโป๊ะ… กริบ แห้ง เครียด มีความแป๊กแซมเป็นระยะ ส่วนใหญ่ถูกถมท่วมด้วยความเงียบ และควันบุหรี่

ผมแอบคิดเบา ๆ ว่า จริง ๆ พี่เค้าก็ไม่ได้ฮานี่หว่า ขณะที่ทุกคนพยายามช่วยกัน develop งาน ผมมีความหวังขึ้นมาทันที (ซึ่งไม่เกี่ยวกับงานที่ทำอยู่) ว่าเราอาจจะทำหนังให้ตลก โดยไม่ต้องเป็นคนตลกก็ได้

พอมีความหวัง และลองตั้งใจวิเคราะห์ดู ก็พบว่า pattern ความตลกของหนังโฆษณาส่วนมาก แบ่งเป็น 2 สายหลักๆ

1. ตลก Acting

สายนี้เป็นตลกที่เห็นง่ายที่สุด เป็นความสามารถเฉพาะบุคคล เป็นศิลปะ เป็นพรสวรรค์ พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือนักแสดงเป็นผู้อุ้ม moment ทั้งหมดไว้ด้วยความสามารถเฉพาะตัว เมื่อนักแสดงปล่อยมุขออกมาด้วยน้ำเสียง ท่าทาง จังหวะที่ลงตัว ในบางครั้ง คำพูดเรียบง่ายธรรมดา แต่ทำให้เราหัวเราะจนปวดท้อง หลายครั้งแทบไม่ต้องพึ่ง moment ก่อน หรือหลังจังหวะที่ยิงมุขเลย

ยิ่งถ้านักแสดงเก่งมาก ๆ แทบจะใช้ long take ไม่ต้อง cut ยังได้ บางทีสคริปไม่ตลก แต่นักแสดงเก่งพอ หนังก็รอด ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นคือ หลาย ๆ ครั้ง นักแสดงต้องนอกบท หรือ improvise ขึ้นมาเอง ทำให้เราต้องหาทางประกอบ moment นั้นเข้าสู่ตัวหนังในขั้นตอนการตัดต่อ

จุดสังเกตที่น่าสนใจมาก ๆ คือ มันจะมีเคสที่ครีเอทีฟ หรือผู้กำกับ เล่าสคริปหนังให้ลูกค้าฟังตอน present ก่อนถ่าย แล้วลูกค้าชอบมาก หัวเราะจนทำงานต่อไม่ได้ แต่พอถ่ายออกมาเป็นหนัง บางทีจืดสนิท ไม่มีอารมณ์เหมือนตอนที่ฟังครั้งแรก

หลาย ๆ ครั้งเป็นเพราะ ครีเอทีฟ หรือผู้กำกับที่เป็นคนเล่าเรื่อง อาจจะมีความสามารถเฉพาะตัวในการเล่าเรื่องให้ตลกสูงเกินไป โดยเฉพาะขณะ present ซึ่งส่วนมากจะเป็นการเล่าปากเปล่า ไม่ก็เล่าประกอบภาพใน storyboard เปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้เติมจินตนาการของตนเองเข้าไปจนมุขสมบูรณ์กว่าที่จะสามารถหานักแสดงคนอื่นมายิงมุขเดียวกันแล้วตลกเท่ากันหรือตลกกว่าได้ในการถ่ายทำ

เพราะความตลกต้องเกิดขึ้นในบริบทเฉพาะมาก ๆ ประโยคเดียวกัน คนพูดเป็นครีเอทีฟที่เป็นคนคิดเรื่องเอง กำลังพยายามขายงานให้ผ่าน ยืนอยู่ในห้องประชุมรก ๆ พูดแบบดิบ ๆ กับคนพูดเป็นคาแรกเตอร์ในเรื่อง แต่งตัวสะอาดเนี๊ยบ ยืนอยู่ใน set จัดไฟสวยงาม แต่บางทีกลับได้ผลต่างกันราวฟ้ากับเหว

สกิลตลก Acting ที่สูงเกินไปของผู้ present

อาจกลายเป็นกับดักที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นปัญหา

2. ตลกโครงสร้าง

ตลกด้วยภาษาหนัง และวิธีการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น camera-placement, shot size หรือการตัดต่อ ที่ขาดไม่ได้คือตัวสคริปเอง

ทางนี้มักเป็นทางที่ความตลกเกิดจากการทำงานร่วมกันของหลายองค์ประกอบ แทนที่นักแสดงคนใดคนหนึ่งจะเป็นคนปล่อยมุข บางทีความตลกอาจเกิดหลังจังหวะที่ตัวหนังสือปรากฏขึ้นมาทับภาพ หรือหลังการตัดภาพจากคัทหนึ่งไปอีกคัท เช่น ชายคนหนึ่งคุยโม้เสียงดังกับเพื่อนๆชายล้วน ว่าคนกลัวเมียน่าสมเพชขนาดไหน บรรยากาศฮึกเหิมครึกครื้น แล้ว cut ดื้อ ๆ มาที่เดิม บรรยากาศเงียบ เพื่อน ๆ ยังคงนั่งอยู่ที่โต๊ะ แต่ชายคนเดิมคุกเข่าก้มหน้าอยู่ที่พื้น ตรงหน้าเมียยืนกอดอกมองลงมา

หรือ คนวิ่งมาซื้อกระดาษทิชชู่ใน minimart เพราะต้องรีบเข้าห้องน้ำเดี๋ยวนี้ ตัดภาพไปรับพนักงานแคชเชียร์เป็นคนแก่ที่ช้ามาก ๆ เท่ากับว่า เราแค่ต้องหานักแสดงที่แสดงได้ชัดว่าปวดท้องมาก ๆ กับคนแก่ที่ดูแล้วเชื่อว่าหูตาฝ้าฟางเคลื่อนไหวช้า แทนที่จะต้องหาคนที่ปล่อยมุขคมซึ่งหายากราวกับผมหงอกบนหัวเด็กอนุบาล แน่นอนว่ายิ่งถ้าได้นักแสดงที่เข้าใจการแสดงตลก จังหวะคม หนังจะยิ่งพิเศษ แต่ต่อให้ได้นักแสดงที่พอเล่นได้ หนังก็ยากที่จะพลาด เพราะโครงสร้างแข็งแรง

ตรงข้ามกับแบบแรก สคริปประเภทนี้เวลาเล่าด้วยปากเปล่า ห้องประชุมอาจเงียบกริปจนน่าอึดอัด เพราะความตลกจะเกิดเมื่อถ่ายทำ และตัดต่อออกมาแล้ว ข้อดีคือมีโอกาสในการเลือกนักแสดงที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นเพราะพึ่งความสามารถเฉพาะตัวน้อยลง เหมาะกับงานโฆษณาที่มีเวลาเตรียมตัวน้อย พูดง่าย ๆ คือย้ายมาพึ่งสกิลของผู้กำกับ, คนตัดต่อ หรือครีเอทีฟแทน

ในแง่การทำงานถือว่าปัจจัยความเสี่ยงน้อยลงมาก เพราะการตัดสินใจของนักการตลาดมักเกิดในห้องประชุมที่ครีเอทีฟ หรือผู้กำกับเป็นผู้เล่าสคริปให้ฟัง เมื่อเคาะแล้ว ถึงค่อยหานักแสดง เท่ากับว่า project ได้ตัวผู้กำกับมาทำงานแน่ ๆ แล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้นักแสดงคนไหนมาเล่น ซึ่งพึ่งดวงอยู่เยอะพอสมควร (ระวังเคสที่เล่าเป็นคำพูดแล้วไม่ตลก ถ่ายออกมาก็ไม่ตลกเหมือนกับที่เล่า อันนี้ตัวใครตัวมัน)

พอลองค้นคว้าต่อ พบว่ามีตลกโครงสร้างที่ถูกทำเป็นทฤษฎีอยู่แล้วมากมาย

หนึ่งในนั้นคือนักแสดงตลก classic ระดับโลก Charlie Chaplin ทฤษฎีของเค้า ถูกย่อยออกมาอย่างเรียบง่าย มีอยู่ว่า

ชายคนหนึ่ง เห็นเปลือกกล้วย… เค้ายิ้ม
เขาเดินไปหยุดที่หน้าเปลือกกล้วย… เค้ายิ้ม

เขายกเท้าซ้าย ข้ามเปลือกกล้วย… เค้ายิ้ม
เขายกเท้าขวาข้ามเปลือกกล้วย… เขาตกท่อ

ครับ… อ่านจบ ผมก็ไม่ได้หัวเราะ แต่พอลองวิเคราะห์ดูดี ๆ จะเห็นความอัจฉริยะเหนือมนุษย์ของ Charlie Chaplin จนอยากเอาหัวตัวเองเขกโต๊ะ ยิ่งพอนึกว่าทฤษฎีของเค้าถูกใช้มาตั้งแต่หนังยังไม่มีเสียง

เค้า set scene ด้วยสิ่งที่คนทั่วไปมีข้อมูลอยู่แล้ว คือ ชายคนหนึ่ง และเปลือกกล้วย ซึ่งไม่ว่าใครก็เดาได้ว่าจะจบด้วยการลื่นล้ม เท่ากับว่าเค้าใช้ข้อมูลในหัวคนดู เป็นเครื่องมือในการ distract และกลบฝังการมาของ infomation ท่อ ให้มิดที่สุด เพื่อรอเวลาที่เหมาะสมในการสร้าง twist

ในขณะที่คนดูจะรู้สึกว่าตัวเองฉลาดกว่าตัวละครในหนังเสมอ โดยที่ตัวละครไม่ได้ทำสิ่งที่เดาได้ และน่าเบื่อจนคนกด skip เพราะเค้าให้คาแรคเตอร์มองเห็นเปลือกกล้วยตั้งแต่แรก และยิ้ม ซึ่งคนดูจะอยากดูต่อ ที่น่าแปลกคือคนส่วนมากยังคงเดาว่าเดี๋ยวจะลื่นล้มอยู่ดี

(Credit ภาพจาก YouTube)

แรก ๆ ผมก็ยังมองไม่ออกว่าการนำไปใช้จะออกมาเป็นยังไง จนวันหนึ่งขณะรอหนังฉายในโรงภาพยนตร์ บังเอิญได้ดูตัวอย่างหนังตลก ที่แสดงโดยคุณเท่ง และคุณโหน่ง

เปิด scene มาที่ประตูรั้วทึบกั้นทางรถเข้าหน้าบ้านขนาดใหญ่หลังหนึ่ง คุณเท่ง คุณโหน่งดูตัวเล็กไปเลย ทั้งคู่น่าจะมีความจำเป็นที่ต้องมาพบกับเจ้าของบ้าน

คุณโหน่งเอามือเคาะไปที่ประตูใหญ่เต็มแรง แต่เสียงดังแค่ "ก๊อก ก๊อก"

ไม่มีทางที่คนในบ้านจะได้ยิน

เพี๊ยะ ! คุณเท่งตีมือคุณโหน่งพร้อมด่า “โง่จริงๆ”

ขณะที่ชี้ไปที่ออตไฟฟ้าบนเสาข้างประตู การ set up เรียบร้อย คุณเท่งเอื้อมมือไปเหมือนจะกด แต่กลับ twists โดยการเอามือเคาะบนฝาออตแทน

เปรี้ยง ! คุณโหน่งตบหัวคุณเท่งพร้อมด่า “โง่” แบบขยี้ลากเสียง

คุณโหน่งเปิดฝาออตให้คุณเท่งดู ภาพ close up เห็นด้านในมีปุ่ม คุณเท่งทำหน้ายอมรับในความฉลาดกว่าของคุณโหน่ง ไม่ว่าใครคงคิดว่า scene จะจบตรงนี้ จนคุณโหน่งแทนที่จะกดปุ่ม

กลับพับฝาออตกลับลงมากระแทกประตูดัง "แก๊ก ๆ"

ในจังหวะที่คนดูคิดว่า ชาตินี้ทั้งคู่ไม่น่าจะได้เข้าบ้านแน่ ๆ ประตูดันเปิด พร้อมมีคนในบ้านออกมาถามว่า

“มาหาใคร ?”

ถึงจะคนละชาติ คนละภาษา ที่สำคัญ คนละศตวรรษ

โครงสร้างเดียวกันก็ยังเอามาปรับใช้ได้ผลอยู่นะครับ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0