“ข้าวเสียโป” มักเข้าใจว่าเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ที่พ่อค้าชาวจีนหาบเร่ขายอยู่หน้าโรงบ่อน ซึ่งมีการพนันแบบหนึ่งที่เรียกว่า“โป” (ลักษณะเป็นการทอยลูกเต๋าเพื่อทายแต้ม) ลูกค้าที่รับประทานข้าวเสียโปจึงเป็นนักพนันทั้งหลาย พอออกจากโรงบ่อนก็มากินอาหารจานนี้ จนเกิดเป็นที่มาของคำว่าข้าวเสียโป เพราะนักพนันเมื่อ “เสียโป” จนแทบหมดเนื้อหมดตัว เหลือเศษเงินแค่พอกินข้าวสวยกับเศษหมูย่าง เป็ดย่าง กุนเชียง ที่พ่อค้าชาวจีนหาบเร่ขายในราคาถูก
ดังที่ พจนานุกรม ฉบับเปลื้อง ณ นคร อธิบายว่า “เสียโป น. ข้าวนึ่งมีกับหลายชนิด โดยมากมีเป็ดย่าง ผักบุ้ง เครื่องในเป็ด แต่ก่อนจีนหาบขายตามโรงบ่อน เป็นอาหารราคาถูก ว่าพวกเสียโปกิน จึงเรียกเสียโป, คำนี้อาจเพี้ยนเสียงจาก เจียะปึ้ง ในภาษาแต้จิ๋วแปลว่ากินข้าว”
แต่แท้จริงแล้วนามเรียก “ข้าวเสียโป” ไม่ได้มีที่มาจากการพนันเลย!!!
“ข้าวเสียโป” (บ้างเรียก ข้าวเฉโป, ข้าวสวยโป) ประกอบด้วยบรรดาเนื้อสัตว์ย่างอย่างจีนหลากชนิด ทั้ง หมูย่าง เป็ดย่าง กุนเชียง และเครื่องในสัตว์สารพัด นำมาสับเป็นชิ้นพอคำ โปะบนข้าวสวย แล้วราดด้วยน้ำปรุงรสอาหารจานนี้มีต้นกำเนิดมาจากตอนใต้ของประเทศจีน ถูกนำเข้ามาพร้อมกับชาวจีนโพ้นทะเลจากแถบมณฑลกวางตุ้ง
คำว่าเสียโปมาจากภาษาจีน ก่อนถูกเรียกเพี้ยนในภายหลัง
จากการค้นคว้าของ ณัฎฐา ชื่นวัฒนา พบคำในภาษาจีนที่ใกล้เคียงกับคำว่าเสียโปอยู่หลายคำ เช่น
燒肉 แปลเป็นไทยว่า เนื้อสัตว์อบหรือย่าง สำเนียงแต้จิ๋วว่า เชีย-เหน็ก หรือ เชีย-บะ, สำเนียงกวางตุ้งว่า ซิว-หยก, สำเนียงฮกเกี้ยนว่า เสีย-บะ
三寶飯 แปลเป็นไทยว่า ข้าวหน้าเนื้อสัตว์ย่าง(3 อย่าง) สำเนียงแต้จิ๋วว่า ซา–ป้อ–ปึ่ง, สำเนียงกวางตุ้งว่า ส้าม–โต๋ว–ฝ่าน, สำเนียงฮกเกี้ยนว่า ซา–โป–ปึง
四寶飯 แปลเป็นไทยว่า ข้าวหน้าเนื้อสัตว์ย่าง(4 อย่าง) สำเนียงแต้จิ๋วว่า สี่–ป้อ–ปึ่ง, สำเนียงกวางตุ้งว่า เซ–โต๋ว–ฝ่าน, สำเนียงฮกเกี้ยนว่า สี่–โป–ปึง
ณัฎฐา ธิบายว่า คำว่า “ซา–ป้อ” กับ “ซา–โป” และ “สี่–ป้อ” กับ “สี่–โป” นี้ มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถออกเสียงเพี้ยน จนกลายเป็นคำว่าเสียโปได้มากกว่าคำอื่น ๆ
แต่อีกคำหนึ่ง คือคำว่า 燒臘鋪 แปลเป็นไทยว่า ร้านขายเนื้อย่าง สำเนียงแต้จิ๋วว่า เชีย–ละ–โพ่, สำเนียงกวางตุ้งว่า ซิว–หลาบ–โผว, สำเนียงฮกเกี้ยนว่า เสีย–หลาบ–พู้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกเรียกเพี้ยน จนกลายเป็นที่มาของคำว่าเสียโปเช่นกัน
ดังนั้น การเล่นโปเสียพนัน จึงไม่ได้เป็นที่มาของนามเรียก “ข้าวเสียโป” คงเป็นคนไทยที่ได้ยินพ่อค้าชาวจีนหาบเร่ขายอาหารจานนี้ตะโกนร้องคำว่าเสียโป จึงเรียกเพี้ยนตามที่ตนได้ยิน
เรื่องพ่อค้าชาวจีนตะโกนร้องเช่นนี้ จากการสืบค้นของ กฤช เหลือลมัย พบในงานเขียนของ “เหม เวชกร” เล่าไว้ในฉากหนึ่งของเรื่อง “เป็ดเหาะ” หนึ่งในรวมเรื่องผีชุดปีศาจไทย เล่ม “ใครอยู่ในอากาศ” เมื่อราวปลายทศวรรษ 2470-80 ว่า
“เสียโปเป็นอาหารกวางตุ้งที่หาบขาย มีเป็ดย่าง หมูแดง หมูย่าง ข้าวสวยนึ่งอย่างดี หาบขายและร้อง ‘เสียโป ! เสียโป !’ไปในยามค่ำคืน เพื่อคนหิวกลางคืนจะได้ซื้อกิน”
“ได้ยินเสียง ‘เสียโป !’ผมก็นึกอยากกินขึ้นมา และทั้งอยากให้ลูกสาวกินด้วย…เดินตามเสียงร้อง ‘เสียโป !’**มาพบเอาที่ห่างคนมาก จึงเรียกหาบเสียโปเข้ามาที่เก้าอี้ยาว โคนมะฮอกกานี สั่งสับเป็ดย่างหนึ่งจาน หมูแดงหนึ่งจาน หมูย่างบ้าง ราคาหรือครับ 10 สตางค์บ้าง 5 สตางค์บ้าง ข้าวนึ่งก็ถ้วยละ 2 สตางค์บ้าง 3 สตางค์บ้าง ลูกสาวชอบมาก ไม่เคยกิน”
แม้ไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่า เสียโปที่คนไทยได้ยินมาจากคำใดในภาษาจีน จะเป็นสำเนียงจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน หรือกวางตุ้ง ก็ไม่ทราบได้ แต่คำนี้มาจากภาษาจีนเป็นแน่ ครั้นคนไทยได้ยินจึงเรียกเพี้ยนเป็นเสียโป ภายหลังพลอยจับแพะชนแกะเอาข้าวเสียโปไปเชื่อมโยงกับโรงบ่อนเล่นโปเล่นพนัน
“ข้าวเสียโป” จึงไม่ได้เป็น “ข้าวเสียพนัน” แต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามรอย “ควันไฟ” ความอร่อยในครัวจีน ที่มาของสำนวน “กินควันกินไฟในเมืองมนุษย์”
- เกาเหลา ของอร่อยที่คนไทยคุ้น แต่ไม่มีในอาหารจีน ปาท่องโก๋ ต้นฉบับก็คนละแบบ
- สัมพันธ์คนจีน “แต้จิ๋ว” กับ “หมู” ไม่ได้มีแค่เรื่อง เซ่นไหว้-หัวหมู อาหาร-ตือคาตั่ง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ณัฎฐา ชื่นวัฒนา. (มกราคม, 2563). “ความไม่ชอบมาพากลของข้าวเสียโป : เมื่อเรื่อง พูดเล่นกลายเป็นตำนาน?” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 : ฉบับที่ 3
กฤช เหลือลมัย. (มกราคม, 2563). “ไขสำรับปริศนา ‘เสียโป-เฉโป'” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 : ฉบับที่ 3
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2565
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ข้าวเสียโป” อาหารจากชาวจีนโพ้นทะเล ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการพนัน!
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
ความเห็น 0