โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นายกฯ วอนอย่ากดดันศาล รธน. วินิจฉัยปมวาระ 8 ปี-มติ ครม. จัดมาตรการหนุน “EECa” เป็นเขตปลอดภาษี-ค้าเสรี

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 10 ส.ค. 2565 เวลา 13.24 น. • เผยแพร่ 09 ส.ค. 2565 เวลา 20.56 น.
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ หาทางอุ้มค่าไฟต่อ ชี้ที่ผ่านมาอุดหนุนเป็นแสนล้าน-สั่งพลังงานหามาตรการช่วยคนรายได้น้อย-วอนอย่ากดดันศาล รธน.วินิจฉัยปมนั่งนายกฯ 8 ปี-มติ ครม. มติ ครม. จัดมาตรการชุดใหญ่หนุน “EECa” เป็นเขตปลอดภาษี-ค้าเสรี-ผ่านแผนยกระดับเกษตรสมัยใหม่ใน EEC วงเงิน 2,845 ล้าน-จัดงบกลาง 4,019 ล้าน ให้ 5 กระทรวง บริหารจัดการน้ำ-กำหนดปริมาณยาเสพติด ถือครองไม่ถึงเกณฑ์-ไม่ถือเป็นโทษร้ายแรง

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) บริเวณตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี

ระดมพลรับมือน้ำท่วมช่วงฤดูฝน 24 ชม.

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้ เป็นช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายภูมิภาค โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานและทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงด้วยช่วยกันเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ถนนชำรุด และให้มีการบูรณาการอย่างใกล้ชิด เตรียมเครื่องจักรกลสาธารณภัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และกำลังพลให้พร้อม 24 ชั่วโมง ต้องระวังจุดต่างๆ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

ขณะเดียวกัน พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาในภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมการระบายน้ำต่างๆ แต่ก็ต้องพิจารณาถึงเรื่องการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูต่อไปด้วย

ชวน ปชช.ร่วมงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี”

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 90 พรรษา รัฐบาลได้จัดกิจกรรมหลากหลายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนในกรุงเทพฯ จัดที่ถนนราชดำเนิน ปัจจุบันมีคนมาเข้าชมประมาณ 20,000 คน จึงขอเชิญชวนประชาชนด้วย

นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ ยังเชิญชวนเข้าร่วมงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี” วันที่ 12-14 สิงหาคม 2565 ณ งาน ชาแลนเจอร์อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อให้ประชาชนสาามารถเลือกซื้อผลงานหัตถศิลป์อันทรงคุณค่าและสุดยอดสินค้าโอท็อปทั่วไทยได้

ชื่นชมโครงการเยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่น

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงโครงการเยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่นว่า โครงการดังกล่าว เป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายคนไทยในต่างแดนให้มีความเหนียวแน่น เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยมีโอกาสกลับมาเยี่ยมเยือนแผ่นดินบรรพบุรุษ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีไทย ให้เกิดสำนึกรักแผ่นดินและภาคภูมิใจในความเป็นไทย

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “นี่คือแผ่นดินเกิด แผ่นดินแม่ของเขา เขาอาจจะไปอยู่เมืองนอก โตที่นู่น มีหน้าที่ของเขา แต่หน้าที่อีกอันคือ เข้าอกเข้าใจความเป็นไทย ไม่ว่าอยู่ที่ไหน หัวใจก็เป็นไทยแล้ว”

“เราเองถึงเป็นประเทศไม่ใหญ่ พื้นที่ไม่มากนัก แต่เรามีศักยภาพของเรา มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์เหล่านี้ตกทอดมาช้านาน ปัจจุบันประเทศไทยก็จะต่อยอด soft power เหล่านี้ได้” พลเอก ประยุทธ์กล่าว

ผ่านแผนยกระดับเกษตรสมัยใหม่ในอีอีซี

ที่ประชุม ครม. วันนี้ได้มีการพิจารณาการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตร ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2566-2570 โดย พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า “แม้จะมีการพัฒนาอีอีซี เราไม่ได้คำนึงถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเท่านั้น เราจำเป็นต้องยกระดับภาคเกษตรกรรมของเราด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่คู่ขนานกันไปด้วย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม คนไทยเก่ง มีการทำเกษตรกรรมอยู่ในสายเลือด ต้องพัฒนาต่อยอดให้เป็น smart farmer เพื่อจะเพิ่มมูลค่า ราคา และได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ”
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภาคเกษตรจะต้องเน้นการสร้างบรรยากาศเข้าสู่ธุรกิจเกษตรสมัยใหม่ แผนปฏิบัติการนี้จะเป็นเป้าหมายรวม เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร และมูลค่ามวลรวมให้ดีขึ้น

ทั้งนี้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2566-2570 แบ่งพื้นที่การพัฒนาออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ผลไม้คุณภาพสูง เศรษฐกิจใหม่ พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ สมุนไพรครบวงจร และเกษตรมูลค่าสูง ทั้งหมดคือ จุดแข็งของการปรับโครงการในพื้นที่อีอีซีที่เชื่อมโยงกับภาคการเกษตรอื่นๆ และระบบโลจิสติกส์ที่มีความพร้อมสูง ซึ่งเป็นต้นแบบการพัฒนาการเกษตรของไทย อีกทั้งรัฐบาลมีแนวคิดส่งเสริมในลักษณะเดียวกันอีก 10 แห่งในอนาคต

มอบเกษตรช่วยชาวนาบริหารการใช้น้ำ

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “วันนี้เน้นย้ำเรื่องการเกษตร ผมก็เป็นห่วง กังวลเรื่องการใช้น้ำทำนา ผมสั่งการให้ศึกษาให้วิธีการดำเนินการ แต่ที่พี่น้องเกษตรกรได้ทำไปบ้างแล้ว คือ การใช้น้ำให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกข้าว เพราะข้าวบางทีมันใช้น้ำเป็นระยะๆ ถ้าเราใช้มากเกินไป ก็ไม่เป็นผลดีต่อช่วงท้าย หรือ ช่วงเก็บเกี่ยว จะทำยังไงให้บริหารการใช้น้ำให้เป็นไปตามความต้องการของพืช วันนี้มีการทดลองทำแล้ว ได้ผลผลิตขึ้นมา 800 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้ามัน 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ก็น้อยไป ก็ไปหาวิธีการ”

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “กระทรวงเกษตรฯ รับเรื่องนี้ไปแล้ว ผมก็ให้ขยายไปทุกพื้นที่ มีบางเวลาที่น้ำเข้า น้ำออก ถ้าน้ำออกมาแล้ว ข้าวไม่ต้องการน้ำตอนนี้ ก็เอาน้ำออกมาเก็บไว้ คือ เราใช้น้ำค่อนข้างมากกว่าที่หลายประเทศทำกัน”

มั่นใจไม่เกิน 10 ปี “อีอีซี” เจริญแบบก้าวกระโดด

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้เห็นชอบให้กำหนดเป็นพื้นที่เมืองการบิน airport city จำนวน 1,032 ไร่ ในเขต EEC และสันทนาการเพื่อรองรับการใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยนโยบายดังกล่าวจะเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ประเทศในอนาคต

“อีอีซีเป็นรากฐานแห่งความเจริญแบบก้าวกระโดด ไม่เกินสิบปี และสร้างชื่อเสียงประเทศไทย ทั้งภาคการเกษตร อุตสากรรมสมัยใหม่ การพัฒนาขนส่ง นวัตกรรม การวิจัย เทคโนโลยีบีซีจี การพัฒนาที่ยั่งยืน มั่นคง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งไทยและโลกอีกด้วย” พลเอก ประยุทธ์กล่าว

หาทางอุ้มค่าไฟต่อ ชี้ที่ผ่านมาอุดหนุนเป็นแสนล้าน

พลเอก ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวประเด็นการปรับขึ้นค่าไฟว่า “เมื่อวาานก็หารือกันนะ เพราะเป็นการวางแผนล่วงหน้าของคณะกรรมการต้องทำอยู่แล้ว เป็นการพิจารณาช่วงต่อไปเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2565 พิจารณาว่าทำยังไงให้เกิดความเดือดร้อนน้อยที่สุด”

“หลายคนพูดว่าค่าไฟจะเพิ่มเป็น 4 บาท ตอนนี้ปัจจุบันมัน 3 บาทกว่าอยู่แล้ว การขึ้นหรือไม่ขึ้น ยังไม่รู้ ถ้าขึ้น มันขึ้นเป็นสตางค์ เข้าใจเปล่า คุณอย่าไปบิดเบือนว่าค่าไฟจะขึ้นเป็น 4 บาทอยู่แล้ว ถ้าขึ้นเพราะอะไร ต้องหาเหตุมันให้เจอ เข้าใจไหม วันนี้เราก็ใช้เงินมาอุดหนุนทุกวัน ทั้งไฟฟ้า พลังงาน แก๊ส ใช้เงินเป็นแสนล้านไปแล้ว ต้องไปดูว่าจะดูแลช่วยเหลือกันได้มากน้อยเพียงไหน ขอให้เข้าใจในภาพรวมด้วย” พลเอก ประยุทธ์กล่าว

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวย้ำอีกว่า “อะไรก็ตามที่ประชาชนเดือดร้อน ผมก็ไม่อยากให้คนเดือดร้อน แต่ก็ต้องรับฟังเหตุผล และความจำเป็นบ้าง จะทำให้ดีที่สุด”

ซื้อลำไย 2,000 ก.ก.แจกเจ้าหน้าที่-สื่อ

ด้านดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและคำปรารภของนายกรัฐมนตรีว่า นายกฯ ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรสวนลำไย โดยนำร่องซื้อลำไยจากเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 2,000 กิโลกรัม มาแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่แต่ละกระทรวง สื่อมวลชน พร้อมย้ำให้ทุกฝ่ายช่วยเหลือเกษตรกร

หาแนวทางลดปริมาณการใช้น้ำปลูกข้าว

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ ปรารภถึงการใช้น้ำในการปลูกพืช โดยเฉพาะการปลูกข้าวที่มีการใช้น้ำจำนวนมาก ให้เปรียบเทียบกับปริมาณการใช้น้ำกับประเทศอื่นๆ ว่าเหมือนประเทศไทยหรือไม่อย่างไร เพื่อหาแนวทางลดการใช้น้ำ สร้างการรับรู้และความเข้าใจการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่อยากให้ใช้น้ำมากเกินไปในการทำนา เพราะขณะนี้มีเทคโนโลยีและผลการวิจัยต่างๆ ที่ทำให้รู้ว่าใช้น้ำไม่มาก แต่ได้ผลผลิตจำนวนมาก

ยืนยันเจตนารมณ์ลดโลกร้อนผ่านเวที “TCAC”

ดร.ธนกร กล่าวถึงเรื่องพลังงานและโลกร้อนว่า นายกฯ ย้ำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยวันที่ 5 สิงหาคม 2565 นายกฯ ได้เดินทางเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม TCAC (Thailand Climate Action Conference) ภายใต้แนวคิด ‘อนาคตไทยอนาคตโลก โอกาสและความรับผิดชอบ’ ณ สยามพารากอน เพื่อยืนยันเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกลดโลกร้อนและขอให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติอย่างจริงจัง

สั่งพลังงานหามาตรการลดภาระค่าไฟ

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้หารือกับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันหามาตรการใหม่ๆ มาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเพื่อลดผลกระทบภาระค่าไฟและพลังงานโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

วอนอย่ากดดันศาล รธน. วินิจฉัยปมนั่งนายกฯ 8 ปี

ดร.ธนกร ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ส่งมาในไลน์เรื่อง “วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี” ว่า “อำนาจทุกอย่างเป็นของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้วินิจฉัย เพราะฉะนั้นแล้ว เราก็ต้องเคารพการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ก็ไม่ควรไปก้าวล่วงศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ควรมีการเคลื่อนไหวชุมชนกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย”

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม ครม. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม ครม. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

จัดงบกลาง 4,019 ล้าน ให้ 5 กระทรวง บริหารจัดการน้ำ

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ งบกลาง กรอบวงเงิน 4,019.80 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งปี 2565/2566 จำนวน 1,361 รายการ ให้กับ 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้งในปี 2565/66 โดยพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย/ ภัยแล้งตามที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด และ พื้นที่เสี่ยงที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไข บรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งโดยเร่งด่วน ตามที่หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ใน 5 กลุ่มประเภทโครงการ ได้แก่ 1. การซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ เช่น ซ่อมแซม/ปรับปรุงพนังกั้นน้ำ คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ คลองส่ง/ระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีโทรมาตร เป็นต้น 2. การปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การระบายน้ำและการจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ 3. การขุดลอกคูคลอง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 4. การเตรียมความพร้อมวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำเครื่องมือเครื่องจักร ยานพาหนะขนย้าย และ5. การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เป็นการจัดหาแหล่งน้ำรองรับน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งถัดไป เช่นสระ /อ่างเก็บน้ำ ระบบกระจายน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน ขุดเจาะบาดาล ปฏิบัติการฝนหลวง เป็นต้น

โดย 5 กระทรวง 13 หน่วยงาน ที่จะดำเนินการตามโครงการฯ จำนวน 1,361 รายการ กรอบวงเงิน 4,019.80 ล้านบาทประกอบด้วย

1) กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกและหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จำนวน 32 รายการ วงเงิน 23.31 ล้านบาท

2) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จำนวน 2 รายการ วงเงิน 76.45 ล้านบาท

3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 411 รายการ วงเงิน 1,190.43 ล้านบาท

4) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จำนวน 139 รายการ วงเงิน 432.91 ล้านบาท

5) กระทรวงมหาดไทย โดยเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล เทศบาลนคร จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล รวม 777 รายการ วงเงิน 2,296.70 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สทนช. ประเมินว่า หากดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 35,723 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 34.02 ล้านลูกบาศก์เมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 36,735 ครัวเรือน และสามารถกำจัดผักตบชวา/วัชพืชน้ำได้ประมาณ 4.74 ล้านตัน รวมถึงสามารถซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ให้สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 394 แห่ง รวมทั้ง ยังเป็นการเพิ่มการลงทุนภาครัฐโดยการช่วยกระตุ้นการซื้อวัสดุและจ้างแรงงานคนในท้องถิ่นด้วย

กระชับความร่วมมือไทย-มาเลเซีย

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างบันทึกการประชุมของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ 14 (The Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย (The Joint Development Strategy (JDS) for Border Areas) ซึ่งร่างบันทึกการประชุมทั้ง 2 ฉบับนี้ จะมีการรับรองในการประชุมระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2565 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมที่กรุงเทพมหานคร หลังจากทั้งสองประเทศว่างเว้นการประชุมมานานกว่า 6 ปี สำหรับสาระสำคัญของร่างบันทึกการประชุมแต่ละฉบับมีดังนี้

ฉบับแรก ร่างบันทึกการประชุมของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ครั้งที่ 14 มีวัตถุประสงค์ เพื่อติดตามความคืบหน้าความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียอย่างรอบด้านและขับเคลื่อนความร่วมมือในทุกระดับทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี โดยดำเนินการผ่านความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ

ด้านการเมืองและความมั่นคง อาทิ (1)กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนมากขึ้น เตรียมพร้อมรับมือกับการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ และร่วมมือแก้ไขประเด็นบุคคลสองสัญชาติและสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย 2)ขจัดการลักลอบค้ายาเสพติด 3)ความร่วมมือด้านการทหาร

ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อาทิ 1) ตั้งเป้าการค้าร่วมกันที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 2) อำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนข้ามแดน 3) เชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยและพื้นที่ทางเหนือของมาเลเซีย 4) ร่วมมือด้านแรงงาน โดยไทยขอให้มาเลเซียพิจารณาการอำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทำงานในมาเลเซีย

ด้านสังคมและวัฒนธรรม อาทิ 1) ให้มีการแข่งขัน Goodwill Games ต่อไป ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาระหว่าง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กับ 6 รัฐ ทางตอนเหนือของมาเลเซีย 2) สร้างความเข้าใจด้านวัฒนธรรม 3) รวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูล และพัฒนาฐานข้อมูลทรัพยากรทางธรณีวิทยาตามแนวชายแดน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ อาทิ การเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านระบบดิจิทัลด้วย QR ระหว่างไทยกับมาเลเซีย

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า ฉบับที่สอง คือ ร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ระหว่างไทยกับมาเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ และแสดงเจตนารมณ์ร่วมในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ

1. จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย ปี 2022-2026 เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณชายแดน

2. เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่ไร้รอยต่อตามพื้นที่ชายแดน เช่น เร่งรัดการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ – ด่านบูกิตกายูฮิตัม บูรณาการเชื่อมต่อรถไฟทางคู่เส้นทางระหว่างเมืองอีโปห์ – เมืองปาดังเบซาร์ และเมืองปาดังเบซาร์ – อำเภอหาดใหญ่ เร่งรัดการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้าโก-ลกแห่งใหม่ ที่อำเภอตากใบ – เปิงกาลันกุโบร์ และสะพานมิตรภาพสุไหงโกลก – รันเตาปันยัง แห่งที่ 2

3. เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งไทย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ที่ จังหวัดสงขลา เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนราธิวาส ที่จะจัดตั้งใหม่

4. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความร่วมมือด้านการเงินและการธนาคาร อาทิ 1)จัดอบรมทักษะอาชีพ การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย 2)แลกเปลี่ยนการพัฒนาระบบการเงินอิสลาม และบทบาทของสถาบันการเงิน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่ม MSME และนักธุรกิจท้องถิ่นในพื้นที่ชายแดน

จัดมาตรการชุดใหญ่หนุน “EECa” เป็นเขตปลอดภาษี-ค้าเสรี

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ: เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ ซึ่งเรื่องนี้สืบเนื่องจากมติ ครม. เมื่อ 1 มีนาคม 2565 ที่เห็นชอบโครงการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ: เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) พื้นที่รวม 6,500 ไร่ เป็นโครงการตัวอย่างนำร่องด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี และไม่ใช่ภาษี และกำหนดให้พื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก (Airport City) จำนวน 1,032 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EECa เป็นเขตประกอบการค้าเสรี (EECa Free Trade Zone) โดยให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเสมือนพื้นที่นอกประเทศ ซึ่งไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายหลายประการ พร้อมจัดให้มีกิจกรรมและสันทนาการรองรับการใช้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เช่น โรงแรม 5 ดาวขึ้นไป ห้างสรรพสินค้าและ Duty Free ร้านอาหารระดับ Michelin Star งานแสดงสินค้าพื้นที่จัดการประชุม บริการความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับสู่การเป็นสนามบินระดับโลกและเป็นศูนย์กลางการบินและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยกรมศุลกากร และได้รับการสนับสนุนมาตรการสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นและเหมาะสม

มาตรการสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ: เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ที่ ครม. เห็นชอบในวันนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ

1.กลุ่มผู้ประกอบกิจการในพื้นที่เมืองการบิน รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ (1) ดำเนินกิจกรรมสันทนาการตลอด 24 ชั่วโมง (2) จำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง (3) ตั้งด่านนำเข้าและส่งออกสุราและยาสูบ (4) กำหนดเขตปลอดอากรและจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน (5) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุดไม่เกิน 15 ปี และยกเว้นให้ไม่ต้องนำเงินปันผลจากการประกอบกิจการไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

2. กลุ่มคนทำงาน รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ (1) การผ่อนปรนข้อจำกัดด้านกฎหมายแรงงาน โดยให้คนต่างด้าวสามารถทำงานบางประเภทได้ (2) ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนสิทธิประโยชน์ที่อยู่ระหว่างการหารือ คือ การปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

3. กลุ่มคนเดินทางและนักท่องเที่ยว รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ การยกเว้นภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่เมืองการบินในช่วง 10 ปีแรก ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ยังอยู่ระหว่างการหารือ ได้แก่ (1) การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าในพื้นที่ EECa Free Trade Zone รวมไม่เกิน 20,000 บาท/คน/ปี เฉพาะช่วง 10 ปีแรก และ (2) ขยายการยกเว้นภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับของติดตัวผู้เดินทางระหว่างประเทศขาเข้าให้ครอบคลุมสินค้าที่ซื้อในพื้นที่ EECa Free Trade Zone รวมไม่เกิน 200,000 บาท/คน/ปี เฉพาะช่วง 10 ปีแรก

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุมให้ สกพอ. นำความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาเพิ่มเติม อาทิ 1) ควรกำหนดการซื้อหรือปริมาณการนำเข้าสุราและยาสูบที่เหมาะสม เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบนำสินค้าออกมาจำหน่ายนอกพื้นที่เมืองการบิน 2) มาตรการด้านเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยในสนามบินที่จะนำมาใช้ ควรต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย PDPA 3) การกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบกิจการใน EECa ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับที่ BOI ให้การส่งเสริม 4) ควรพิจารณาความจำเป็นในการผ่อนผันข้อจำกัดทางกฎหมายให้คนต่างด้าวสามารถทำงานที่ไทยไม่ได้ขาดแคนหรือขาดทักษะ เช่น งานแกะสลักไม้ งานตัดผม งานเสริมสวย และงานขายของหน้าร้าน

ยกระดับเกษตรสมัยใหม่ใน EEC วงเงิน 2,845 ล้าน

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566-2570 ซึ่งร่างแผนปฏิบัติการฉบับนี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ประกอบด้วย 101 โครงการ กรอบวงเงินรวม 2,845.55 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณจากภาครัฐ 1,535.55 ล้านบาท และภาคเอกชน 1,310 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายพัฒนาการเกษตร แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.เป้าหมายรวม เช่น ยกระดับรายได้เกษตรกรภายในปี 2580 และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในสาขาเกษตรเพิ่มขึ้น 2.เป้าหมายระดับจังหวัด เช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงอุตสาหกรรม จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งพืชพลังงาน และ จังหวัดระยอง เป็นแหล่งรวบรวมผลไม้และอาหารทะเลสด และ 3.เป้าหมายคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพและดำเนินการได้ทันที ซึ่งประกอบด้วย 5 คลัสเตอร์ ได้แก่

1) ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง เช่น ทุเรียน มังคุด มะม่วง ในพื้นที่จังหวัดระยองและฉะเชิงเทรา

2) ประมงเพาะเลี้ยง เน้นการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการผลิตและสร้างเศรษฐกิจใหม่ เช่น กุ้งก้ามกราม กุ้งขาว และปลานิล ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและระยอง

3) พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ เน้นยกระดับผลผลิตมันสำปะหลังให้มีคุณภาพและมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งเสริมการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าสินค้า ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี

4) พืชสมุนไพร เน้นการพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชาย กัญชงและกัญชา ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรี

5) เกษตรมูลค่าสูง เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าสู่ตลาดสินค้ามูลค่าสูง เช่น เนื้อโคพรีเมียมคุณภาพสูงและไข่ไก่อินทรีย์ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

สำหรับการขับเคลื่อนร่างแผนปฏิบัติการ จะดำเนินการภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับผลิตภาพการผลิตโดยเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จำนวน 34 โครงการ วงเงิน 596.21 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมและการตลาด จำนวน 24 โครงการ วงเงิน 845.54 ล้านบาท และยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภาคเกษตรและสร้างบรรยากาศเข้าสู่ธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ จำนวน 43 โครงการ วงเงิน 1,403.8 ล้านบาท โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก (พ.ศ.2566-2567) เน้นเตรียมการปรับโครงสร้างการพัฒนาการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการเกษตรและดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ ระยะกลาง (พ.ศ.2568-2570) เน้นการขับเคลื่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่ากับภาคเกษตร พร้อมทั้งต่อยอดคลัสเตอร์การเกษตร เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายสมัยใหม่ และระยะถัดไป (พ.ศ.2571 เป็นต้นไป) มุ่งเน้นให้เกิดนวัตกรรมทั้งในการผลิตและการพัฒนาสินค้า ซึ่งต้องตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดสินค้าเกษตรและตอบสนองต่อความต้องการอาหารรูปแบบใหม่ๆ

ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากร่างแผนปฏิบัติการนี้ เป็นการปรับโครงสร้างการเกษตรในพื้นที่ EEC ให้เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ และเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคการเกษตรในประเทศไทย ที่เน้นการประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดสินค้าเกษตรไทย และเกิดการกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกร

รับทราบ “ตุรกี” เปลี่ยนชื่อเป็น “ทูร์เคีย” เลือกใช้ได้ 2 แบบ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการเปลี่ยนชื่อประเทศของ Republic of Turkey (สาธารณรัฐตุรกี) เป็น Republic of Türkiye สำหรับชื่อในภาษาไทยนั้นราชบัณฑิตยสภาได้ให้ความเห็นว่า ผู้ใช้สามารถเลือกใช้ชื่อใดชื่อหนึ่งระหว่าง สาธารณรัฐตุรกี หรือ สาธารณรัฐทูร์เคีย ได้ตามที่เห็นสมควร

“กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือขอให้ราชบัณฑิตยสภาพิจารณาถอดทับศัพท์ชื่อประเทศ Republic of Türkiye เป็นภาษาไทย ซึ่งราชบัณฑิตยสภาให้ข้อคิดเห็นว่าน่าจะถอดชื่อว่า สาธารณรัฐตุรกี และชื่อเรียกอย่างสั้น ตุรกีไว้เช่นเดิม เมื่อคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของสาธารณชนไทยเป็นสำคัญ โดยเป็นชื่อที่สาธารณชนไทยคุ้นเคย มีการใช้อย่างแพร่หลายและเคยปรากฎในพระราชสาส์น สาร หรือเอกสารสำคัญในทางราชการ จึงเห็นควรเขียนทับศัพท์ Republic of Türkiye ว่า สาธารณรัฐตุรกี หรือ สาธารณรัฐทูร์เคีย และ Türkiye ว่าตรุกี หรือ ทูร์เคีย โดยสามารถพิจารณาเลือกใช้ชื่อใดชื่อหนึ่งตามเห็นควร” นางสาวไตรศุลี กล่าว

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับการแจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศนี้ เริ่มจากที่คณะผู้แทนถาวรสาธารณรัฐตุรีประจำสหประชาชาติ ได้แจ้งเวียนสำเนาหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐตุรี ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ แจ้งให้ทราบการเปลี่ยนชื่อประเทศ โดยขอให้รัฐสมาชิกและผู้สังเกตการณ์พิจารณาใช้ Republic of Türkiye หรือเรียกแบบสั้นในภาษาอังกฤษว่า Türkiye ในทุกโอกาสและทุกวัตถุประสงค์ รวมทั้งในการติดต่อและประสานงานด้านทวิภาคี ซึ่งต่อมาสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย ได้แจ้งยืนยันการเปลี่ยนชื่อประเทศดังกล่าว

แจงผลเบิกจ่ายงบฯ ปี’65 รวม 7 เดือน 18 วัน 2.46 ล้านล้าน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและค่าใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 2/2565 โดยภาพรวมของการเบิกจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 2,464,723 ล้านบาท จากแผนการใช้จ่ายรวม 4,060,682 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.70 มีรายละเอียดดังนี้คือ งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,849,332 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59.66, เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี วงเงิน 237,475 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 147,065 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.93, เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจไม่รวมเงินงบประมาณ วงเงิน 309,091 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 133,534 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.20

ส่วนโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท) มีวงเงินตามแผนการใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 106,909 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 79,056 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.95 และโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (กรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท)มีแผนการจ่ายในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 307,207 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 255,736 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.25

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปจำนวน 103 โครงการ มูลค่าโครงการรวมทั้งหมด 2.51 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 83,508 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.36 ของแผนการใช้จ่ายเงินตั้งแต่ 1ตุลาคม 2564-30เมษายน 2565 ซึ่งผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน กระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายสูงสุด ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำสุดได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม

สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้การเบิกจ่ายล่าช้า ประกอบด้วย ด้านการเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินโครงการ เช่นมีการปรับแบบรูปรายการหรือแบบแปลนงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับพื้นที่จริง ด้านการดำเนินงาน เช่น หน่วยรับงบประมาณต้องหารือกับหน่วยงานต้นสังกัดหรือทบทวนราคากลางเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ หรือกรณีมีผู้เสนอราคารายเดียวหรือไม่มีผู้เสนอราคา ทำให้ต้องยกเลิกการประกวดราคาและประกาศเชิญชวนใหม่ และด้านความล่าช้าของโครงการที่เกิดจากผู้รับจ้างสามารถขยายเวลาดำเนินการและการคิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19

ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจนั้น ในปี 2565 รัฐวิสาหกิจมีกรอบลงทุน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 จำนวน 338,126 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายสะสม 99,703 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 ของแผนเบิกจ่ายสะสม หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของกรอบลงทุนทั้งปี สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้าได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. และองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากโควิด 19

กลับลำยกเว้นหน่วยงานรัฐใช้ที่ป่า ไม่ต้องตั้งงบฯ ปลูกป่าทดแทน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ปนระชุม ครม. เห็นชอบทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 เรื่องการดำเนินโครงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐที่มีความจำเป็นจะต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า จากมติ ครม. เดิมระบุว่า ในกรณีที่การดำเนินโครงการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐ มีความจำเป็นต้องเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าและจะต้องมีการปลูกป่าทดแทน เพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ด้วย ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรร หรือ อนุมัติงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนให้กับหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ หรือ หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ดำเนินการปลูกป่าตามเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด โดยถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของโครงการนั้นๆด้วย

ทั้งนี้ได้ทบทวนมติ ครม. ดังกล่าว โดยยกเว้นหน่วยงานของรัฐ หรือ โครงการบางประเภทที่ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณค่าปลูกป่าทดแทนดังนี้คือ โครงการเพื่อสร้างศาสนสถาน และสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติอ้างว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอของบประมาณจากสำนักงบประมาณสำหรับค่าปลูกป่าทดแทนให้แก่วัดต่างๆ, โครงการที่มีวัตถุประสงค์เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ป่าไม้เช่นเดียวกับการปลูกป่าทดแทน จึงอาจทำให้การดำเนินโครงการและการจัดสรรงบประมาณมีความซ้ำซ้อน

โครงการเพื่อการจัดที่ดินที่ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ซึ่งโครงการจัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ขออนุญาตเข้าใช้ที่ดิน แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจในการเสนอของบประมาณสำหรับเป็นค่าปลูกป่าทดแทน และไม่สามารถเรียกเก็บจากประชาชนได้ และโครงการที่เข้าใช้พื้นที่ป่าก่อนได้รับอนุญาตตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 โครงการที่เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตดังกล่าวมีการดำเนินการก่อสร้าง และใช้งบประมาณไปแล้ว จึงไม่สามารถจัดสรร หรือ ของบประมาณเป็นค่าปลูกป่าทดแทนย้อนหลังได้

กำหนดปริมาณยาเสพติด ถือครองไม่ถึงเกณฑ์-ไม่ถือเป็นโทษร้ายแรง

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือ ประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดปริมาณยาเสพติดเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้โอกาสแก่ผู้เสพยาเสพติดที่ครอบครองยาเสพติด หรือ วัตถุออกฤทธิ์ไว้เพื่อการเสพ โดยไม่ถือเป็นโทษความผิดร้ายแรง และพิจารณาให้รับการบำบัดรักษาแทนการรับโทษจำคุก

สำหรับรายละเอียดการกำหนดปริมาณยาเสพติด ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อการเสพ ได้แก่ ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 เช่น เฮโรอีน น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 300 มิลลิกรัม เมทแอมเฟตามีน ปริมาณไม่ถึง 15 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึง 1.5 กรัม หรือ คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 375 มิลลิกรัม แอมเฟตามีนหรือ ยาบ้า ปริมาณไม่ถึง 15 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิ ไม่ถึง 1.5 กรัม

ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 เช่น โคคาอีน น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 600 มิลลิกรัม ฝิ่นยา น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 15 กรัม และยาเสพติดให้โทษประเภท 5 น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 135 กรัม

ส่วนวัตถุออกฤทธิ์ ประเภท 1 เช่น คาทิโนน คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 0.5 กรัม ไซโลซีน ไม่เกิน 0.1 กรัม ไซโลไซบีน ไม่เกิน 0.1 กรัม และประเภท 2 เช่น คีตามีน คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่เกิน 0.5 กรัม ซูโดอีเฟดรีน ไม่เกิน 5 กรัม และไนตราซีแพม ไม่เกิน 0.3 กรัม

ตั้ง สนง.ศุลกากรมาบตาพุดดูแลนำเข้า-ส่งออกสินค้าในอีอีซี

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง (ฉบับที่…) พ.ศ…. โดยมีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งสำนักงานศุลกากรขึ้นใหม่ การให้คงและเพิ่มหน้าที่และอำนาจหน่วยงานที่มีอยู่เดิม

ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ประกอบด้วย สำนักงานศุลกากรมาบตาพุด เพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การจัดเก็บภาษีและรายได้อื่นสำหรับสินค้านำเข้าและส่งออกสินค้าถ่ายลำ สินค้าผ่านแดน และสำนักงานศุลกากรภาคที่5 เพื่อรองรับการอำนวยความสะดวกในการนำของเข้าการส่งของออกและการขยายตัวของระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

พร้อมกันนี้ ให้เพิ่มหน้าที่และอำนาจ ของสำนักงานศุลกากร ดังต่อไปนี้ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด, สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, สำนักศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด, สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และสำนักงานศุลกากรการท่าอากาศยานดอนเมือง โดยให้เพิ่มหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบบันทึก บัญชีและเอกสารที่เกี่ยวกับการนำของเข้า หรือส่งของออก ณ ที่ทำการของผู้นำของเข้า ผู้ส่งของออก หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปราบปรามการฉ้อฉลทางการค้าภายใน สำหรับส่วนราชการที่เหลือภายใต้กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ให้มีหน้าที่และอำนาจคงเดิม

ตั้ง “ธีระเดช เจียรสุขสกุล” นั่งผู้อำนวยการ สสวท.

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

1. นายอนุชา ภาระนันท์ ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2564

2.นางสาวเพ็ญแข จันทร์สว่าง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณเชี่ยวชาญ) สำนักงบประมาณ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ (นักวิเคราะห์งบประมาณทรงคุณวุฒิ) สำนักงบประมาณ ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

2. การแต่งตั้งสมาชิกฝ่ายไทยในศาลประจำอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก (กระทรวงการต่างประเทศ)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งสมาชิกฝ่ายไทยในศาลประจำอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงเฮก จำนวน 2 ราย เพื่อให้ดำรงตำแหน่งสืบต่อไปอีกวาระหนึ่ง และทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามลำดับ โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

1. นายธนะ ดวงรัตน์
2. นายวีรพันธุ์ วัชราทิตย์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

1. นายเชิดเกียรติ อัตถากร รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

2. นายณัฐพล ขันธหิรัญ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

3. นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

4. นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศ ตามข้อ 1 และ 4 ได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

4. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอการแต่งตั้ง นายดนุช ตันเทอดทิตย์ เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป

5. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ แทนตำแหน่งที่ว่าง

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ แต่งตั้ง นางสาวประภา ปูรณโชติ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการเงินการธนาคาร) ในคณะกรรมการคดีพิเศษ แทน นายสราวุธ เบญจกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป

โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ยังอยู่ในตำแหน่ง ทั้งนี้ ในครั้งต่อๆ ไป ให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)

6. การแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอการแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล เป็นผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2541 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป

7. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายมานิต นพอมรวดี เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

8. การแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายประสาน หวังรัตนปราณี และ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีอีกหนึ่งวาระ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2565

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 9 สิงหาคม 2565 เพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0