“วรศักดิ์-กรพนัช” ชวนทุกคนเจาะลึก “การค้าสำเภาจีน-ไทย” ในเวที BookTalk: จากสุวรรณภูมิสู่แดนมังกร: สองศตวรรษการค้าเรือสำเภาจีน-สยาม
“จีน” และ“ไทย” ถือเป็นสองประเทศที่มีความสัมพันธ์เหนียวแน่นและยาวนาน ถ้าย้อนไปในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในแง่การเมือง ยังคงมีระบบการจิ้มก้องระหว่างสองประเทศ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ จีนเอกชนก็ค้าขายกับสยามมาเนิ่นนานด้วยเรือสำเภา
การค้าทางทะเลสำคัญไฉน ทำไมต้องเป็นการค้าเรือสำเภาจีน-สยาม เมื่อไหร่ที่ไม่มีการค้าเรือสำเภา?
หาคำตอบได้กับ 2 ผู้รู้จริง รศ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล นักวิชาการจีนศึกษา และ รศ. ดร. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ ที่มาร่วมพูดคุยกันด้วยบรรยากาศสบาย ๆ ในเวลาบ่าย พร้อมเพิ่มความสนุกด้วย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ประกาศข่าวมติชนทีวี บนเวที BookTalk: จากสุวรรณภูมิสู่แดนมังกร: สองศตวรรษการค้าเรือสำเภาจีน-สยาม ที่งาน Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพฯ วันที่ 9 มีนาคม 2568 ณ มิวเซียมสยาม
เริ่มต้นพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย-จีน
รศ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล นักวิชาการจีนศึกษา เริ่มต้นการพูดคุยด้วยเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย-จีน”กล่าวว่าแม้ว่าปัจจุบันเราจะเห็นว่าใน พ.ศ. 2568 จีนและไทยจะเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน 50 ปี ซึ่ง 50 ปีที่ว่านั้นนับตามความสัมพันธ์ทางการทูต ที่มีการส่งนักการทูตไปในประเทศจีน แต่เอาจริง ๆ แล้ว ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศกลับมีมาอย่างยาวนาน
ในแง่ความสัมพันธ์แบบการเมือง ไทยมีการจิ้มก้องหรือส่งเครื่องบรรณาการให้จีนมานานมาก ถ้านับตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แต่การจิ้มก้องนี้ก็สิ้นสุดลงไปในรัชสมัยของพระองค์เช่นกัน เนื่องจากในอดีตการแปลเอกสารการจิ้มก้อง ล่ามแปลเพียงบางส่วน มีเพียงบอกว่าจีนได้รับเครื่องบรรณาการเรียบร้อยแล้ว
ทว่ารัชกาลที่ 4 ก็ทรงสงสัยพระราชหฤทัย จึงทรงให้ล่ามแปลภาษาจีนเป็นไทยทั้งหมด ได้ความว่าการส่งจิ้มก้องแบบนี้เสมือนว่าไทยเป็นเมืองขึ้นของจีน ตั้งแต่นั้นมาความสัมพันธ์ในแง่การเมืองของไทยและจีนก็สิ้นสุดลง และมาเริ่มใหม่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ในแง่การค้าเศรษฐกิจนอกเหนือจากราชสำนัก ก็ดำเนินต่อไป รวมถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากสมัยรัชกาลที่ 4
น้ำจิ้มเรื่องความสัมพันธ์การค้าของจีนและไทยในผลงานของ “คุชแมน”
หลังจากปูทางเรื่องความสัมพันธ์ของจีนและไทยจาก อ. วรศักดิ์ มาแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องพูดเรื่องของการค้าระหว่างจีนและไทยหลังจากนั้นว่าเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็เชื่อมโยงกับหนังสือเล่มหนึ่งที่สามารถคลายข้อสงสัยทั้งหมดนี้ได้และพูดเรื่องการค้าสำเภาจีน นั่นคือ “การค้าทางเรือสำเภาจีน-สยาม ยุคต้นรัตนโกสินทร์” (สำนักพิมพ์มติชน) ที่เขียนโดย เจนนิเฟอร์ เวย์น คุชแมน นักประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับ
รศ. ดร. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ พูดถึงเจ้าของผลงานนี้ไว้สั้น ๆ ว่าเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าในวงการศึกษาเรื่องไทยและจีนอย่างมาก เพราะนักวิชาการเรื่องไทยและจีนคนอื่นสมัยนั้น มักจะหยิบยกเอกสารหรือบันทึกตะวันตกมาใช้ แต่คุชแมนกลับหยิบยกเอกสารภาษาจีนค่อนข้างเยอะ ทั้งยังเป็นเอกสารท้องถิ่น ทั้งยังใช้หลักฐานของทางฝั่งไทย เพื่อให้เห็นถึงความเป็นไปของยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ อาจารย์ยังเล่าว่า หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่าประเทศจีนไม่เพียงแค่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรรม แต่ยังให้ความสำคัญทางการค้ามากเช่นกัน และใส่ใจการค้าระดับเอกชนอยู่ เพียงแต่จะเน้นไปที่การค้าแบบรัฐ นั่นคือการจิ้มก้อง
การค้าเรือสำเภาแบบเอกชนเป็นการแก้ไขปัญหาในประเทศได้ อย่างคนจีนแต้จิ๋ว ภูมิศาสตร์ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก ติดทะเล การเดินเรือค้าขายก็ช่วยปัญหาการกินอยู่ของคนจีนได้ และราชสำนักก็ไม่ได้ขัดข้อง เพราะเป็นการค้าขายแบบ “จีนทำ จีนใช้ จีนเจริญ” และคนพวกนี้ทำตามกฎที่ราชสำนักตั้งไว้ มี 3 ข้อสำคัญ คือ เรือต้องเป็นแบบจีน ลูกเรือต้องเป็นคนจีน และเป็นการค้าขายด้วยคนจีน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการค้าสำเภาระหว่างจีน-ไทย หลังรัชกาลที่ 4
อ. วรศักดิ์ เล่าว่า การเปลี่ยนแปลงเรื่องการค้าขายเรือสำเภาของจีนและไทยมีปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ที่สำคัญคือการเมืองภายในและการเข้ามาของตะวันตก การค้าสำเภาจีนเริ่มเปลี่ยนไปในสมัยรัชกาลที่ 4 เทียบกับช่วงเวลานั้น จีนอยู่ในราชวงศ์ชิง ซึ่งกำลังอ่อนแอ
ตอนนั้น “ตะวันตก” พยายามนำการค้าเสรีเข้ามา อยากให้จีนทำการค้าเสรีและค้าขายด้วย แต่จีนยังคงเป็นจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ จึงไม่เปิดรับและเมินเฉย แม้ว่าราชสำนักจีนจะพยายามปรับตัวตั้งแต่สมัยจักรพรรดิกวางซี ขุนนางเริ่มปรับตัว แต่ อ. วรศักดิ์ก็มองว่า การปรับตัวนี้ก็เพื่อต่อต้านตะวันตกเท่านั้น จนมาในช่วงปลายราชวงศ์ชิงที่พยายามจะปรับตัว ก็ไม่ทันเสียแล้ว
ทำให้ต่อมาเกิดการบีบบังคับของตะวันตกต่อจีน เกิดสงครามฝิ่น จนท้ายที่สุดจีนก็ต้องเปลี่ยนแปลงการค้าของตนเอง จากเดิมที่เป็นการจิ้มก้อง ก็เป็นการค้าเสรี
นอกจากนี้ตะวันตกยังนำ “เรือกลไฟ” เข้ามา ซึ่งมีสมรรถนะมากกว่าเรือสำเภา จึงทำให้การค้าที่ใช้เรือสำเภาหายไปเช่นกัน
อ. กรพนัช เห็นด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงของการค้าสำเภาจีนเกิดขึ้นเพราะความอ่อนแอของราชวงศ์ชิงเช่นกัน เพราะแม้ว่าซูสีไทเฮาจะเก่งเรื่องการเมืองภายใน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเก่งเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้มีวิสัยทัศน์สั้น ทั้งจีนยังมองว่าประเทศตนเองใหญ่ เพียงแค่ค้าขายภายในประเทศก็เพียงพอแล้ว จึงทำให้จีนปรับตัวไม่ทัน
การค้าของจีนถึงเปลี่ยนไป ส่งผลต่อกับสยามในเวลาต่อมา
อ. วรศักดิ์ บอกว่าเรื่องของจีนส่งผลมาที่สยาม เมื่อสยามเห็นว่าจีนเปลี่ยนไปจากการเข้ามาของตะวันตก ก็ต้องปรับตัวตาม เกิด “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ที่เรารู้จักกัน คนไทยต้องทำการค้าเสรีกับต่างชาติ
อ. วรศักดิ์ เสริมด้วยว่า แม้การจิ้มก้องจะหายไป แต่การค้าเอกชนของจีนและไทยก็ยังคงเหมือนเดิมและดำเนินต่อไป เพราะชาวจีนที่ทำการค้ากับคนไทยมานาน มีสิ่งที่เรียกว่า “คอนเนคชัน” ซึ่งตะวันตกไม่มี
ถ้าการเมืองภายในจีนนิ่ง การค้าของจีนจะเปลี่ยนไปไหม?
มาถึงเรื่องสุดท้าย แต่ยังไม่ท้ายสุด กับการตั้งคำถามของพิธีกรมากความสามารถของมติชน ที่ตั้งคำถามขึ้นมาว่า แล้วถ้า “การเมืองภายในจีนนิ่ง การค้าของจีนจะเปลี่ยนไปไหม?”
เรื่องนี้ อ. วรศักดิ์ วิเคราะห์ในมุมมองของตนเองว่า ก็มองได้ว่าจะมีทั้งรอดและไม่รอด ถ้ารอดก็จะเป็นช่วงจักรพรรดิกวางซี หากไม่ถูกขัดขวาง เกิดการปรับตัวเรื่องการศึกษา ยกเลิกการสอบจอหงวน ที่มีมาเป็นพัน ๆ ปี แล้วเอาการศึกษาตะวันตกเข้ามา ทุนคนสามารถเข้าถึงการเรียนได้
แต่ในแง่หนึ่งก็น่าจะไม่รอด เนื่องจากสังคมจีนยังคงยึดถือลัทธิขงจื่อเป็นสำคัญ
ส่วน อ. กรพนัช บอกว่า ที่สยามปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงการค้าได้ เพราะเป็นรัฐเล็ก เปลี่ยนได้รวดเร็ว แต่จีนมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าวัฒนธรรมของตนเองมีมานานมาก มีความภูมิใจกับสิ่งนี้ และจีนก็ใหญ่มากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเวที BookTalk: จากสุวรรณภูมิสู่แดนมังกร: สองศตวรรษการค้าเรือสำเภาจีน-สยาม สามารถฟังได้แบบเต็ม ๆ ได้ในไลฟ์ และอ่านเนื้อหาที่ลึกและสนุกกว่านี้ได้ในหนังสือ การค้าทางเรือสำเภาจีน-สยาม ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ของ เจนนิเฟอร์ เวย์น คุชแมน (สำนักพิมพ์มติชน)
อ่านเพิ่มเติม :
- “จิ้มก้อง” การค้าพาณิชย์ “ไทย-จีน” สร้างรายได้มหาศาลในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
- “จิ้มก้อง” การค้าสร้างกำไร และการเมืองเบื้องหลังไทย-จีน
- “ฝิ่น” หมัดเด็ดที่อังกฤษใช้แก้ลำจีนที่กีดกันการค้า และยึดเมืองจีน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “วรศักดิ์-กรพนัช” ชวนทุกคนเจาะลึก “การค้าสำเภาจีน-ไทย” ในเวที BookTalk: จากสุวรรณภูมิสู่แดนมังกร: สองศตวรรษการค้าเรือสำเภาจีน-สยาม
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com