จากกรณีแผ่นดินไหว เขย่าประเทศเมียนมา 8.2 แมกนิจูด มีอาฟเตอร์ช็อกตามมาแล้วกว่า 16 ครั้ง แรงสั่นสะเทือนกระทบถึงกรุงเทพและปริมณฑล มีรายงานว่า หลังจากแผ่นดินไหวสงบไปแล้ว แต่ร่างกายของประชาชนจำนวนมกา กลับรู้สึกเหมือนยังสั่นไหวอยู่ตลอดเวลา ภาวะนี้เรียกว่า “Earthquake Sickness” หรือ “อาการเมาแผ่นดินไหว”
อาการเมาแผ่นดินไหว ชื่อทางการแพทย์ว่า “Mal de Debarquement Syndrome (MdDS)” คืออาการเวียนหัว บ้านหมุน หรือรู้สึกโคลงเคลงอย่างต่อเนื่อง แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวจะผ่านไปแล้ว อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะสมองและระบบการทรงตัวของเรายัง “จดจำ” ความรู้สึกสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวเอาไว้ ทำให้ร่างกายยังปรับตัวไม่ได้ทันที
อาการทั่วไปที่พบ
- รู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้
- รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเคลื่อนไหวหรือโคลงเคลงอยู่ แม้จะนั่งหรือนอนนิ่งๆ
- เดินเซหรือทรงตัวยาก
- อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า
- มีอาการวิตกกังวลหรือนอนไม่หลับร่วมด้วย
Earthquake Sickness อันตรายหรือไม่?
ภาวะนี้โดยทั่วไปไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่สามารถรบกวนคุณภาพชีวิตได้มาก โดยเฉพาะหากอาการเป็นรุนแรงหรือเรื้อรัง ผู้ที่ประสบกับอาการนานกว่า 2-3 วัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม
วิธีบรรเทาอาการเวียนหัวจากแผ่นดินไหว
แม้ไม่มีการรักษาที่เจาะจงสำหรับ MdDS แต่ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยวิธีต่างๆ เบื้องต้น ดังนี้
1. พยายามหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวหรือกิจกรรมที่กระตุ้นอาการ ให้นอนราบ ไม่เดินหรือนั่งในพื้นที่โยกเยกได้
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอ ช่วยลดอาการวิงเวียนและอาการคลื่นไส้
3. นวดที่ขมับเบาๆ ด้วยปลายนิ้ว ประคบหน้าด้วยผ้าเย็น
4. กินยาแก้เมารถ ช่วยบรรเทาอาการ และทำให้หลับ ซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ
5. ทำร่างกายให้ผ่อนคลาย เช่น การหายใจลึกๆ หรือการทำสมาธิ สามารถช่วยลดความวิตกกังวลที่อาจกระตุ้นให้อาการแย่ลง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง