รู้ทันพิษ''แมลงก้นกระดก'' ทำให้ผิวหนังเกิดความระคายเคือง แต่ไม่ได้ทำอันตรายถึงชีวิต
ผื่นแดง รอยแผลไหม้ พุพอง ตามร่างกายที่ปราก เกิดจากการสัมผัสสารพิโดริน ของแมลงก้นกระดก หรือด้วงก้นกระดก เป็นแมลงขนาดเล็ก ประมาณ 7-8 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับปากกา ส่วนหัวมีสีดำ ส่วนท้องมีสีส้มสลับดำ เป็นแมลงที่มีอายุอยู่ได้ยาวนาน มีความว่องไว บินได้เร็ว เวลาวิ่งจะยกปลายท้องตั้งขึ้นทำให้ได้ชื่อว่าแมลงก้นกระดก จะพบเฉพาะในเขตร้อนชื้น อาศัยบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ใกล้หนองน้ำ และชอบออกมาเล่นไฟและแสงสว่างตามบ้านเรือน
ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดแผลไหม้บนผิวหนัง เป็นผื่นแดงจนน่ากลัว ไม่ได้มาจากการกัด หรือ ต่อย แต่มาจากสารพิโดริน ซึ่งสารนี้มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน สามารถทำลายเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังได้
พิษจากด้วงก้นกระดก ทำให้เกิดผื่นระคายเคืองแดงคัน ถ้าสัมผัสสารพิษจำนวนมากจะมีอาการแสบ ร้อน มีตุ่มใสพอง อาการผิวหนังอักเสบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณสารพิษที่สัมผัส โดยอาการจะเกิดหลังสัมผัสแล้วประมาณ 8-12 ชั่วโมง ถ้ามีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์ ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง โดยพิษจากแมลงด้วงก้นกระดกไม่ทำให้มีอันตรายถึงชีวิต
วีธีป้องกันเบื้องต้น หากพบเห็น ''ด้วงก้นกระดก'' -กวาดใส่ถุงพลาสติกปิดปากถุง หรือ หา ภาชนะมาครอบ และนำออกไปทิ้ง -ห้ามสัมผัสโดนตัวหรือบี้ เพราะสารพิษสามารถกระจายไปตามมือและก่อให้เกิดแผลไหม้ลามไปทั่วร่างกาย -เวลากลางคืน พยายามลดแสงไฟภายในบ้าน -ปิดบ้านให้มิดชิดป้องกันแมลง
จากข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านแมลง ระบุอีกว่า ด้วงก้นกระดก ถือเป็น แมลงที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ทางการเกษตร จัดอยู่ ในแมลงตัวห้ำ เนื่องจาก จะกินแมลงในธรรมชาติเป็นอาหาร
พัชรพงษ์ พันสวัสดิ์ ถ่ายภาพพรรษนันท์ ช่างคิด TNN24รายงาน
ความเห็น 0